อิสลามกับงานศิลป์
  จำนวนคนเข้าชม  13716

 

ทัศนะอิสลามกับงานศิลป์

ศาสตราจารย์ ดร.มะห์มูด ฮัมดี ซักซูก

 

         อิสลามเป็นศาสนาที่ชื่นชมความสวยงามและเรียกร้องให้ทุกอย่างไปสู่ความสวยงาม ดังที่ท่านศาสดามุฮัมมัด  ได้กล่าวว่า

"แท้จริงพระองค์อัลลอฮ์นั้นทรงสง่างามยิ่ง และพระองค์ทรงโปรดปรานความสวยงาม"

          ศิลปะ คือ การสร้างสรรค์สิ่งสวยงามซึ่งไม่ขัดต่ออิสลาม อย่างไรก็ดีอิสลามให้ความสำคัญด้านศีลธรรมมากกว่าด้านความสวยงาม  ประเด็นนี้มิได้หมายความว่าอิสลามต่อต้านงานศิลป์ แต่อิสลามเห็นว่าความสวยงามนั้นขึ้นอยู่กับศีลธรรม นี่คือทัศนะของอิสลามที่มีต่อศิลปะในทุกๆแขนง จึงมีมาตรฐานในอิสลามเกี่ยวกับงานศิลป์ทุกๆแขนง กล่าวคือ "สิ่งที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ดี และสิ่งที่ชั่วร้ายเป็นสิ่งที่ผิด"

          ในคัมภีร์อัลกุรอานมีหลายโองการที่กล่าวถึงความสวยงามในสากลจักรวาล และความสมบูรณ์ของการสร้าง ซึ่งมีปรากฏอยู่ในซูเราะฮ์ อัลฮิจญเราะฮ์ โองการที่ 16 ความว่า

"และโดยแน่แท้ เราให้มีหมู่ดวงดาวในท้องฟ้า และเราได้ประดับให้สวยงามแก่บรรดาผู้เฝ้ามอง"

และในซูเราะฮ์ อัล นะห์ล โองการที่ 6 ความว่า

"และในตัวมันมีความสง่างามสำหรับพวกเจ้าขณะที่มันกลับจากทุ่งหญ้า และขณะที่นำมันออกไปเลี้ยง"

ในซูเราะฮ์ ฟุศศิลัต โองการที่ 12 ความว่า

"ดังนั้นพระองค์ทรงสร้างมันสำเร็จเป็นท้องฟ้าทั้ง 7 ในเวลา 2 วัน และทรงกำหนดในทุกๆชั้นฟ้าหน้าที่ของมัน

และได้ประดับท้องฟ้าแห่งโลกนี้ด้วยดวงดาวทั้งหลาย และเป็นการป้องกัน นั่นคือการกำหนดแห่งพระผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง"

 

         ในที่นี้มิได้หมายความว่าอิสลามปฏิเสธต่องานศิลป์ซึ่งแสดงออกถึงความสวยงาม แต่ถ้าสิ่งเหล่านั้นขัดต่อศีลธรรมอิสลามจะปฏิเสธและไม่ยอมรับ

 

          เมื่อเรียบเรียงจากสิ่งที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่า หากเป้าหมายของงานศิลป์คือการส่งเสริมสติปัญญา และความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนอิสลามก็ไม่ขัดข้อง แต่หากศิลปะเหล่านั้นอยู่นอกเหนือขอบเขต และไม่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ในทางที่ดี ตรงข้ามกลับทำลายและขัดต่อศีลธรรม อิสลามไม่ยอมรับอย่างแน่นอน

         หากบทเพลงมีเนื้อร้องที่ดีละเอียดอ่อน มีเสียงร้องที่ไพเราะ อิสลามก็ไม่ปฏิเสธตราบใดที่อยู่ในขอบเขตของศีลธรรม เว้นแต่จะเป็นบทเพลงที่ส่งเสริมให้ผู้คนกระทำการที่ขัดต่อศีลธรรม แต่ถ้าผู้ใดก็ตามที่แสวงหาศิลปะเพื่อประเทืองความรู้สึกด้านจิตใจ อิสลามเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าชมเชยยิ่ง  และไม่ขัดต่อศีลธรรม ท่านศาสดาได้ชมเชยเสียงของ อบีมูซา อัล อัชอารี่ ซึ่งมีเสียงที่ไพเราะมาก และได้เลือกจากบรรดาสาวกให้ทำหน้าที่เป็นผู้อาซานในการเชิญชวนให้ละหมาด

         ครั้งหนึ่งท่านอบูบักร ได้เข้าไปหาท่านหญิงอาอีซะฮ์บุตรสาว และเป็นภรรยาของท่านศาสดา ในขณะนั้นมีหญิงรับใช้สองคนกำลังร้องเพลงและตีกลอง ท่านอบูบักรได้ห้ามการกระทำดังกล่าว แต่ศาสดาได้กล่าวว่า

"จงปล่อยให้นางทั้งสองไปเถิดเพราะเป็นวันอีด(วันแห่งการรื่นเริง)"

          นอกจากนี้ยังมีรายงานอื่นๆ ที่ท่านศาสดาไม่ได้ห้ามการรื่นเริงตราบใดที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมนั้นเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้

      ส่วนการเต้นรำในอิสลามได้แยกการเต้นรำระหว่างผู้หญิงออกจากผู้ชาย การที่ผู้หญิงเต้นรำต่อหน้าผู้หญิงนั้นสามารถทำได้ แต่ห้ามเต้นต่อหน้าผู้ชาย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการเย้ายวนอันจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ขัดต่อหลักศีลธรรม 

         

ส่วนการทำรูปปั้นนั้น มีตัวบทระบุอย่างชัดแจ้งในคัมภีร์อัลกุรอานว่า ห้ามกระทำการดังกล่าว ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่คนส่วนใหญ่บูชารูปปั้นแทนพระเจ้าที่แท้จริง