การขออภัยโทษและการสำนึกผิด
  จำนวนคนเข้าชม  987

การขออภัยโทษและการสำนึกผิด

 

เรียบเรียงโดย.... อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

ความหมายและความสำคัญ

 

     อิสติฆฟาร หมายถึง การขอให้อัลลอฮฺ อภัยโทษให้กับบาปและความผิดที่บ่าวได้กระทำลงไป         

     การเตาบัต คือ การที่ผู้ทำผิดสำนึกตนด้วยกับความเสียใจและจะไม่กลับไปทำอีก 

          อิบนุ ก็อยยิม อธิบายว่า  อิสติฆฟาร คือ การกลับตัว นั่นคือการขอให้อัลลอฮฺอภัยโทษ ลบล้างบาป หมายถึง การยอมรับผิด สารภาพผิดในสิ่งที่เขากระทำด้วยการกลับเนื้อกลับตัว เพื่อหวังความดีมากมายจากพระองค์

 

ความสำคัญ

 

     ♣ การขออภัยโทษนั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะบาปทั้งหลายจะยังคงอยู่กับผู้ทำผิดถ้าหากเขาไม่สำนึกตน ไม่ขออภัยโทษ ไม่ทำความดีลบล้างความผิด และเมื่อความผิดบาปยังอยู่กับตัว เขาก็จะต้องได้รับโทษจากบาปที่เขาทำไว้

♣ อิสติฆฟาร เป็นเครื่องหมายของตักวา 

♣ อิสติฆฟาร เป็นเครื่องป้องกันจากการลงโทษของอัลลอฮฺ 

♣ อิสติฆฟาร เป็นสาเหตุของการบรรเทาความลำบากและเพิ่มปัจจัยยังชีพ

 

 

หลักการ

 

          การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในแต่ละวัน ย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นเสมอ อันเนื่องมาจากความหลงลืมและทำตามอารมณ์ หรือการล่อลวงของชัยฏอน

          ความผิดบาปเป็นสิ่งที่ทำให้หัวใจของผู้กระทำผิดหม่นหมอง ไม่มีความบะเราะกะฮฺ (ความเป็นมงคลหรือความประเสริฐ) ในการดำเนินชีวิต ดังนั้นการชำระจิตใจให้ใสสะอาดและปลอดจากบาปทั้งมวลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อจะให้มีความดีงามเกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์

          อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا تُوبُوا إِلَى اللهِ تَوْبَةً نَّصُوحاً عَسَى رَبُّكُمْ أَن يُكَفِّرَ عَنكُمْ سَيِّئَاتِكُمْ وَيُدْخِلَكُمْ جَنَّاتٍ تَجْرِي مِن تَحْتِهَا الأَنْهَارُ  

 

     “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮ์ด้วยการลุแก่โทษอย่างจริงจังเถิด  บางทีอัลเลาะห์จะทรงลบล้างความผิดของพวกเจ้า   และนำพวกเจ้าเข้าสู่สรวงสวรรค์ซึ่งมีสายน้ำไหลผ่านอยู่เบื้องล่างของมัน

(ซูเราะห์ อัต-ตะห์รีม  8)

 

          วิธีการทำความสะอาดจิตใจนั้นทำได้ด้วยการอิบาดะฮฺต่างๆ และที่สำคัญที่สุด คือ การกล่าวอิสติฆฺฟารฺหรือ การกล่าวขอลุแก่โทษจากอัลลอฮฺ

 

     ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นผู้ที่อัลลอฮฺทรงปกป้องให้บริสุทธิ์จากบาป แม้กระนั้นท่านก็ยังไม่เว้นที่จะทำอิบาดะฮฺ พร้อมทั้งได้ทำตัวอย่างด้วยกล่าวอิสติฆฺฟารฺถึงวันละหนึ่งร้อยครั้ง ท่านได้กล่าวไว้มีความว่า

 

يَا أَيُّهَا النَّاسُ تُوبُوا إِلَى اللَّهِ وَاسْتَغْفِرُوهُ، فَإِنِّي أَتُوبُ إِلَى اللَّهِ، وَأَسْتَغْفِرُهُ فِي كُلِّ يَوْمٍ مِائَةَ مَرَّةٍ

 

โอ้มนุษย์ พวกท่านจงกลับเนื้อกลับตัวต่ออัลลอฮฺ และจงขออภัยโทษ แท้จริงฉันจึงได้กล่าวอิสติฆฺฟารฺหนึ่งร้อยครั้งในแต่ละวัน 

(บันทึกโดยอะหมัด ศ่อเฮี้ยะ อัลบานี)

 

          หะดีษข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการกล่าว อิสติฆฺฟารฺอย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดและกระชุ่มกระชวยจากอาการปวกเปียกอ่อนแอ ซึ่งเกิดจากพลั้งเผลอหลงลืมและประพฤติผิดบาป ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว การฟื้นฟูจิตใจด้วยการกล่าว อิสติฆฺฟารฺ จึงเป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายและให้ผลที่ดีที่สุด

     จากท่านหญิงอาอีซะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า ท่านนบีกล่าวว่า

 

فَإِنَّ الْعَبْدَ إِذَا اعْتَرَفَ بِذَنْبِهِ ثُمَّ تَابَ تَابَ اللَّهُ عَلَيْهِ

 

 แท้จริงหากบ่าวคนหนึ่งเขานั้น ยอมรับความผิดของเขาด้วยการขออภัยโทษ อัลลอฮฺทรงรับการขออภัยของเขา

(บันทึกโดย: อัลบุคอรียฺ)

 

 

แม่บทของการขออภัยโทษ

 

اللَّهُمَّ أَنْتَ رَبِّي ، لَا إِلَهَ إِلاَّ أَنْتَ خَلَقْتَني وَأَنَا عَبْدُكَ ، وَأَنَا عَلَى عَهْدِكَ وَوَعْدِكَ مَا اسْتَطَعْتُ ، أَعُوذُ بِكَ مِنْ شَرِّ مَا صَنَعْتُ ، أَبوءُ لَكَ بِنِعْمَتِكَ علَيَّ ، وَأَبُوءُ بِذَنْبِي فَاغْفِرْ لِي ، فَإِنَّهُ لَا يَغْفِرُ الذُّنُوبَ إِلاَّ أَنْتَ

 

อ่านว่า:

     อัลลอฮุมม่า อันต้า ร็อบบียฺ ลา อี้ลาฮ่า อิ้ลลา อันต้า ค่อลักต้านี ว่าอ้าน่า อับดุก้า ว่าอ้านา อ้าลาอะฮฺดี้ก้า ว่าวะอฺดี้ก้า มัสต้าเตาะอฺตู้ อ้าอูซู่ บี้ก้า มิน ชัรฺรี่ มา ซ่อนะอฺตู้ อ้าบูอู้ ล่าก้า บี้เนียะอฺม่าติก้า อ้าลัยย่า ว่าอ้าบูอู้ บี้ซัมบียฺ ฟัฆฺฟิรฺลียฺ ฟ้าอินน้าฮู ลา ยัฆฺฟี้รุซซุนูบ้า อิ้ลลา อันต

 

โอ้อัลลอฮฺ พระองค์คือพระผู้อภิบาลของฉัน ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ พระองค์ทรงสร้างฉันมา ฉันเป็นบ่าวของพระองค์ 

ฉันจะรักษาพันธะ และสัญญาของพระองค์เท่าที่ฉันสามารถ 

ฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากความชั่วร้ายของสิ่งที่ฉันได้ทำมา 

ฉันขอกลับตัวสู่พระองค์ด้วย(สำนึกต่อ)ความโปรดปราณที่พระองค์ทรงมีต่อฉัน

ฉันขอกลับตัวสู่พระองค์มาพร้อมกับบาปของฉัน โปรดทรงอภัยให้แก่ฉันด้วยเถิด เพราะไม่มีผู้ใดจะให้อภัยบาปได้นอกจากพระองค์เท่านั้น

 

     ความประเสริฐบทนี้ : "ผู้ที่อ่านดุอาอฺบทนี้ตอนกลางวัน ด้วยความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ในความหมายของดุอาอฺบทนี้ แล้วหากเขาเสียชีวิตในช่วงกลางวันของวันนั้นเขาจะได้เป็นชาวสวรรค์ และผู้ที่อ่านมันตอนกลางคืน ด้วยความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ในความหมายของมัน แล้วหากเขาเสียชีวิตในคืนนั้น เขาจะได้เป็นชาวสวรรค์

(บันทึกโดย: อัลบุคอรียฺ )

 

การปฏิบัติ : เงื่อนไขการเตาบะฮ์

 

     การเตาบะฮ์จากบาปนั้นมีสองประเภท คือ: 

 

     1. การเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของอัลเลาะฮ์ [حَقُّ اللهِ] เช่น ละทิ้งการละหมาด การออกซะกาต การถือศีลอด การคลุมฮิญาบ การดื่มเหล้า การทำซินา การกินดอกเบี้ย เป็นต้น

 

     2. การเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของเพื่อนมนุษย์ [حَقُّ الآدَمِيِّ] เช่น การทรพีต่อบิดามารดา การยักยอกทรัพย์สินผู้อื่น การนินทา เป็นต้น

 

     เงื่อนไข 3 ประการ คือ

 

หนึ่ง: ละทิ้งจากความผิดนั้นๆ

สอง: มีความเสียใจและรู้สึกผิดจากการกระทำความผิด

สาม: มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่กลับไปทำความผิดนั้นตลอดไป

 

          และหากขาดเงื่อนไขหนึ่งในสามประการนั้น ถือว่าการเตาบะฮฺไม่ถูกต้อง และถ้าหากความผิดนั้นเกี่ยวข้องกับลูกหลานอาดัมแล้วมีเงื่อนไขสี่ประการ นั่นคือ สามประการดังที่กล่าวมา และเงื่อนไขที่สี่คือให้ลบล้างความผิดจากสิทธิของเจ้าของ หากเป็นทรัพย์สินหรือสิ่งในทำนองเดียวกันก็ให้คืนทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าของ

 

 

ประโยชน์และคุณค่า

 

     1. มนุษย์ทุกคนไม่มีใครปลอดพ้นจากบาป นอกจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และบรรดารอซูลท่านอื่นๆ

 

     2. บาปเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของมนุษย์ วิธีการฟื้นฟูจิตใจให้ดีขึ้นทำได้ด้วยการกล่าวอิสติฆฺฟารฺ

 

     3. ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ทำตัวอย่างการกล่าวอิสติฆฺฟารฺถึงวันละหนึ่งร้อยครั้งทั้งๆ ที่ท่านเป็นผู้ที่อัลลอฮฺรับรองว่าปลอดพ้นจากบาป

 

     4. มุสลิมต้องพยายามและหมั่นกล่าวอิสติฆฺฟารฺให้มากที่สุดในแต่ละวัน และควรหาเทคนิควิธีง่ายๆ เพื่อให้สามารถทำได้โดยไม่เบื่อและทำสม่ำเสมอ

 

     5. วิธีอิสติฆฺฟารฺอย่างง่ายคือการกล่าวสั้นๆ ว่า

 

«أَسْتَغْفِرُ اللهَ وَأَتُوْبُ إِلَيْهِ»

อ่านว่า : อัซตัฆฺ ฟิรุลลอฮฺ วะ อะตูบุ อิลัยฮิ

ฉันขออภัยโทษต่อพระองค์และกลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์

 

 

ดุอาอฺขออภัยโทษและขอความเมตตา

 

رَبِّ اغْفِرْ وَارْحَمْ وَأَنْتَ خَيْرُ الرَّاحِمِينَ

อ่านว่า : ร็อบบิฆฟิร วัรฺฮัม ว่าอันต้า ค็อยรุรฺ รอฮิมีน

พระผู้อภิบาลของฉัน ขอพระองค์ทรงโปรดอภัยและทรงเมตตา และพระองค์ท่านเท่านั้นทรงเป็นผู้เมตตาที่ดียิ่ง

 (ซูเราะฮฺ อัล-มุอ์มินูน:118)

 

         สำนวนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม มักจะกล่าวบ่อยในวงสนทนาของท่าน จากท่าน อบู ดาวูด อัต-ติรมิซีย์  อิบนุ มาญะฮฺ

 

«رَبِّ اغْفِرْ لِي وَتُبْ عَلَيَّ، إِنَّكَ أَنْتَ التَّوَّابُ الْغَفُورُ

อ่านว่า : ร็อบบิฆฟิรลี วะตุบอะลัยยา อินนะกา อัตตัส เตาวาบุล ฆอฟูร

พระผู้อภิบาลของฉัน ขอพระองค์ทรงโปรดอภัยและยกโทษให้แก่ฉัน แท้จริงพระองค์ผผู้ทรงให้อภัย และ ทรงเมตตายิ่ง

 

ดุอาอฺนบีอาดัมและฮาวา

 

قَالاَ رَبَّنَا ظَلَمْنَا أَنفُسَنَا وَإِن لَّمْ تَغْفِرْ لَنَا وَتَرْحَمْنَا لَنَكُونَنَّ مِنَ الْخَاسِرِينَ

 

อ่านว่า ร็อบบ้านา ซ่อลัมนา อันฟุซ่านา วะอิลลัมตัฆฺฟิรฺ ล่านา วะตัรฮัมนา ล่าน่ากูนันน่า มินัลคอซี่รีน    

 

     เขาทั้งสองได้กล่าวว่า โอ้พระเจ้าของพวกเข้าพระองค์ พวกข้าพระองค์ได้อธรรมแก่ตัวของพวกข้าพระองค์เอง

     และถ้าพระองค์ไม่ทรงอภัยโทษแก่พวกข้าพระองค์และเอ็นดูเมตตาแก่ข้าพระองค์แล้ว แน่นอนพวกข้าพระองค์ก็ต้องกลายเป็นพวกที่ขาดทุน

(อัลอะอฺรอฟ 23)