การยำเกรง รวมการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา
คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ขอให้เราได้ชุกูร ได้ขอบคุณอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงเมตตาเรา ให้เราได้มีชีวิตอยู่จนครบเดือนเราะมะฎอนในปีนี้ และยังได้มีโอกาสทำอิบาดะฮฺต่าง ๆอย่างมากมาย จนถึงขณะนี้ที่เดือนเราะมะฎอนปีนี้ได้จากเราไปแล้ว พระองค์ก็ยังทรงเมตตา ให้เราได้มารวมตัวกัน ณ ที่นี้ ในวันนี้ อันเป็นวันที่ 1 เดือนเชาวาล เป็นวันอีดิ้ลฟิฏรฺ เป็นวันเฉลิมฉลองสำหรับบรรดามุสลิมทั่วโลก
ที่ผ่านการใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอนอย่างเข้มแข็ง ตลอดหนึ่งเดือนเต็มที่ได้ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ด้วยการถือศีลอด ได้ละหมาดตะเราะเวี๊ยะหฺ ละหมาดกิยามุลลัยลิ์ อ่านอัลกุรอาน แจกจ่ายอาหารละศีลอด จ่ายซะกาต จ่ายฟิตเราะฮฺ บริจาคเศาะดะเกาะฮฺ ขอดุอาอ์ ซิกรุลลอฮฺ รำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อิสติฆฟารฺ ขออภัยโทษต่อพระองค์ เตาบัต กลับเนื้อกลับตัวกลับใจต่อพระองค์ อดทนทำอะมัลศอลิหฺ ทำอิบาดะฮฺต่าง ๆมากมาย และหลาย ๆท่านยังได้ปิดท้ายภารกิจด้วยการอิอฺติกาฟที่มัสญิดในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนอีกด้วย อัลฮัมดุลิลลาฮฺ
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ต่อจากนี้ไป ขอให้เราขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เสมอ ๆ ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่เราในความผิด ความบกพร่องต่าง ๆของเรา และโปรดทรงลบล้างบาปต่าง ๆทั้งหมดของเรา และขอให้พระองค์ทรงตอบรับการทำอิบาดะฮฺทั้งหมดของเราด้วย และขอให้การถือศีลอดที่ผ่านมาของเรา ได้นำเราไปสู่การเป็นผู้ที่มีอัตตักวา เป็นผู้ที่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งเป็นเป้าหมายของการถือศีลอดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงวางบทบัญญัติไว้
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 183 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ
”ผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดเป็นฟัรฎู(คือเป็นข้อบังคับ)แก่พวกเจ้า ดั่งเช่นที่ได้ถูกกำหนดแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ تَتَّقُونَ ( จะได้เกิดอัตตักวา...เกิดความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา )”
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงให้เราได้ไต่เต้าตัวเอง จากการเป็นผู้ศรัทธาที่เป็นมุสลิมที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ให้เป็นผู้ศรัทธาที่เป็นมุอ์มิน ที่เชื่อมั่นยอมรับและปฏิบัติในรุก่นอีมานทั้งหกประการ และรุก่นอิสลามทั้งห้าประการ ..ซึ่งหนึ่งในรุก่นอิสลามก็คือ การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ซึ่งอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกว่า เป้าหมายของการถือศีลอดนี้คือ เพื่อให้เราเป็นผู้ที่มีอัตตักวา มีความยำเกรง
นั่นแสดงว่า การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงวางบทบัญญัติไว้นั้น มันเป็นวิธีการหรือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้เราเกิดอัตตักวา หรือเกิดความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
ดังนั้น ใครก็ตามที่ทำให้การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนของเขานั้นครบเงื่อนไขของการกระบวนการถือศีลอด แล้วเขาทำกระบวนการทั้งหมดนั้นโดยอิคลาศต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพียงองค์เดียวเท่านั้น และทำอย่างตรงตามรูปแบบหรือแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ..เมื่อนั้น การถือศีลอดของเขาก็จะนำเขาไปสู่เป้าหมายของการถือศีลอด ซึ่งก็คือ อัตตักวา การยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแท้จริง
และนั่นแสดงว่า ผู้ที่มีอัตตักวาทุกคนจะต้องเป็นมุสลิม เป็นมุอ์มิน แต่ไม่ใช่ว่า ผู้ที่เป็นมุสลิม เป็นมุอ์มินทุกคนจะได้เป็นผู้ที่มีอัตตักวา .. อุละมาอ์จึงได้กล่าวว่า สถานะของอัตตักวานั้นจะอยู่สูงกว่ามุอ์มิน ...ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงทรงให้เราใช้การถือศีลอดของเราเป็นบันไดไต่เต้าจากสถานะของมุอ์มิน ไปสู่สถานะของผู้ที่มีอัตตักวาซึ่งเป็นสถานะที่สูงกว่า
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เราผ่านการถือศีลอดมาปีแล้วปีเล่า จนถึงวันนี้ เราได้ทำให้การถือศีลอดของเราเป็นเครื่องมือสร้างอัตตักวาให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเราได้สำเร็จแล้วหรือยัง ? ...การเป็นผู้ที่มีอัตตักวา ก็คือ การที่เราได้ระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา พยายามให้มันดำเนินอยู่ในบทบัญญัติศาสนาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เราจะต้องไม่ทำให้ตัวเราเองต้องเจ็บตัวจากการถูกลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ..
สิ่งไหนที่เป็นคำสั่งใช้ ก็ให้เราพยายามทำให้มันสุดความสามารถของเรา ..เมื่อปฏิบัติตามคำสั่งใช้ เราก็จะปลอดภัย ไม่เจ็บตัว เพราะไม่ถูกลงโทษ ...และในขณะเดียวกันเรา ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโดยสิ้นเชิง เมื่อไม่ฝ่าฝืนคำสั่งห้าม เราก็จะปลอดภัย ไม่เจ็บตัวเพราะไม่ต้องถูกลงโทษเช่นเดียวกัน.
ดังนั้น พิจารณาตัวเราว่า ... การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนในปีนี้ได้จากไปแล้ว เราได้เกิดความรู้สึกที่พร้อมจะเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้วหรือไม่ ? มากน้อยแค่ไหน ? ..หากเราสามารถทำได้มาก เราก็จะสามารถบรรลุถึงอัตตักวาได้อย่างดี ซึ่งรางวัลตอบแทนสำหรับอัตตักวาที่เราได้รับนั้นก็จะได้รับอย่างมากมาย และไม่สามารถคำนวณนับรางวัลตอบแทนนั้นได้ ซึ่งจะทำให้เราเป็นผู้ที่ได้รับความสำเร็จในชีวิต และได้รับชัยชนะในที่สุด
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 189 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
«وَاتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ»
“จงตักวา จงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ”
คำที่ว่า لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ นั้น ก็คือ ในโลกดุนยา จะได้รับชีวิตที่ดีงาม อีกทั้งยังได้รับความดีต่าง ๆอย่างมากมาย ได้รับริซกี ได้รับทางออกในการแก้ปัญหาต่างๆ ...ส่วนสำหรับในโลกอาคิเราะฮฺก็ได้รับความปลอดภัย ไม่ต้องถูกลงโทษ ได้พบอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้เป็นชาวสวรรค์ ได้เข้าไปพำนักในสวรรค์อันบรมสุขของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และได้พำนักในสวรรค์อันบรมสุขนั้นอย่างตลอดกาล
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อเราผู้ศรัทธาได้สามารถไต่เต้าไปสู่การเป็นผู้ที่มีอัตตักวาแล้ว เรายังต้องเป็นผู้ที่ตะวักกุลอีกด้วย
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 23 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
وَعَلَى ٱللَّهِ فَتَوَكَّلُوٓاْ إِن كُنتُم مُّؤۡمِنِينَ
“และแด่อัลลอฮฺนั้น..พวกเจ้าจงมอบหมายเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา”
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเรียกร้องให้ผู้ศรัทธาได้ตะวักกุลต่อพระองค์เท่านั้น ..การตะวักกุล ในภาษาไทยมักใช้คำว่า การมอบหมายต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ..ซึ่งการตะวักกุลนั้นถือเป็นอิบาดะฮฺหนึ่งที่มีความประเสริฐและสำคัญยิ่งที่เราต้องมอบแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะเป็นหลักเตาฮีดอันสำคัญ ...
หลักเตาฮีด คือหลักของการมอบความเป็นพระเจ้าแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียวเท่านั้น โดยไม่ยอมให้มีชิริกหรือมีการตั้งภาคีต่อพระองค์อย่างเด็ดขาด .. และการตะวักกุลถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการมีความศรัทธาที่ถูกต้อง และความศรัทธาที่ถูกต้องนี้จะสูญสิ้นไป หากขาดการตะวักกุล ดังนั้น การตะวักกุลจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญมาก
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อุละมาอ์ได้กล่าวว่า การตะวักกุลนั้นเกิดจากอีมาน หรือจิตใจที่ยึดมั่นอย่างแท้จริงว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเป็นผู้ที่ทรงนำสิ่งดี ๆ สิ่งที่มีประโยชน์มามอบให้แก่เรา และปกป้อง ภยันตรายต่าง ๆ ไม่ให้มาประสบกับเรา ไม่ว่าจะในเรื่องของโลกดุนยานี้ หรือในโลกอาคิเราะฮฺ
อีกทั้งการตะวักกุลยังเกิดจากความมั่นใจอย่างเต็มร้อยว่า สิ่งใดก็ตามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวะตะอาลาทรงประสงค์จะให้มันเกิดขึ้น มันก็จะเกิดขึ้น โดยไม่มีใครหรือสิ่งใดจะมาห้ามได้ และในขณะเดียวกัน สิ่งใดก็ตามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประสงค์จะไม่ให้มันเกิดขึ้น มันก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด ถึงแม้จะมีใครหรือมีสิ่งใด ต้องการทำให้มันเกิดขึ้นก็ตาม
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอันอาม อายะฮฺที่ 17 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
وَإِن يَمۡسَسۡكَ ٱللَّهُ بِضُرّٖ فَلَا كَاشِفَ لَهُۥٓ إِلَّا هُوَۖ وَإِن يَمۡسَسۡكَ بِخَيۡرٖ فَهُوَ عَلَىٰ كُلِّ شَيۡءٖ قَدِيرٞ
“และหากว่าอัลลอฮฺ ทรงให้ความเดือดร้อนอย่างหนึ่งอย่างใดประสบแก่เจ้าแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดจะปลดเปลื้องมันได้ นอกจากพระองค์เท่านั้น..
และหากพระองค์ทรงให้ความดีอย่างหนึ่งอย่างใดประสบแก่เจ้า แท้จริงพระองค์นั้นทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง”
นั่นก็หมายความว่า เราทุกคนต้องยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะพระองค์ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง พระองค์ทรงประสงค์จะทำอย่างไรก็ได้ ในขณะที่เราเป็นเพียงบ่าวที่ต่ำต้อย เป็นบ่าวที่อ่อนแอ และมักจะมีปัญหาในการดำเนินชีวิตอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องการการพึ่งพิง ต้องการความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพื่อให้ทรงบรรเทาความทุกข์ให้แก่เรา โดยเราไม่ต้องการไปขอความช่วยเหลือจากใครหรือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น สิ่งนี้แหละ คือการตะวักกุลต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
แต่ถ้าเราหันไปพึ่งพิงสิ่งอื่น ขอความช่วยเหลือต่อสิ่งอื่นในเรื่องที่มนุษย์เราไม่สามารถช่วยเหลือได้ สิ่งนี้มันก็คือเรื่องของชิริก เรื่องของการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ..แต่หากเรามีการตะวักกุลอย่างแท้จริง การตะวักกุลนี้จะช่วยคลายความทุกข์ให้แก่เราได้อย่างแท้จริง และอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเท่านั้นที่พอเพียงสำหรับเราแล้วที่เราจะขอการพึ่งพิง หรือขอความช่วยเหลือ
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัฏเฏาะลาก อายะฮฺที่ 3 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
(وَمَن يَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِ فَهُوَ حَسۡبُهُۥٓۚ)
“และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา”
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เรามาดูตัวอย่างของผู้ที่มีตะวักกุล และมั่นใจอย่างเต็มร้อยว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียวเท่านั้นก็พอเพียงสำหรับเขาแล้ว ที่เขาจะขอความช่วยเหลือ เมื่อมีภยันตรายมาประสบกับเขา และผลตอบแทนที่เขาได้รับจากการตะวักกุลของเขา .. ซึ่งเรื่องราวจากตัฟซีรโดยสรุปมีว่า
ท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม ในขณะที่ได้ทำหน้าที่เรียกร้องเชิญชวนกลุ่มชนของท่าน ให้ละทิ้งการเคารพสักการะกราบไหว้รูปปั้นรูปเจว็ด แล้วหันมาอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว ..แต่พวกเขาไม่เชื่อฟัง ..
ท่านนบีอิบรอฮีมก็เลยวางยุทธศาสตร์ในการทำลายรูปปั้นรูปเจว็ด โดยทำลายอันเล็ก ๆไปหมด แล้วเหลือไว้แต่อันใหญ่ แล้วให้กลุ่มชนของท่านไปถามรูปปั้นอันใหญ่ว่า ใครเป็นคนทำลายรูปปั้นอันเล็ก ๆจนหมดสิ้น ..
ซึ่งเรื่องนี้นำความโกรธแค้นมาสู่กลุ่มชนของท่านนบีอิบรอฮีมเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาเชื่อแน่ว่า เป็นฝีมือของท่านนบีอิบรอฮีม.. พวกเขาต้องการล้างแค้นให้กับพระเจ้าที่เป็นรูปปั้นรูปเจว็ดของพวกเขา พวกเขาจึงลงมติให้จับท่านนบีอิบรอฮีมมาเผาไฟ ซึ่งไฟนี้ไม่ใช่ไฟจากนรก แต่เป็นไฟที่พวกเขาก่อขึ้นมาเอง
โดยพวกเขาให้กลุ่มหนึ่งไปหาฟืนมา อีกกลุ่มหนึ่งก็ขุดหลุม ที่มีความลึกมิดศีรษะ เป็นหลุมที่ใหญ่มาก ขุดกันเป็นเดือน หาฟืนก็หากันเป็นเดือน หามาแล้วก็มาโยนใส่ไว้ในหลุม พอได้เวลาที่พวกเขากำหนด พวกเขาก็สุมไฟขึ้น แล้วพวกเขาก็จับท่านนบีอิบรอฮีมจะเอาโยนลงไปในหลุมนั้น แต่เพราะว่าหลุมมันใหญ่มาก มันกว้างมาก ฟืนก็เยอะมาก เกิดเป็นเปลวไฟพวยพุ่งลุกโชนและร้อนแรง ขนาดนกที่บินผ่านเข้ามาตรงนี้ ยังหันหลังกลับไม่ทัน ทำให้มันต้องตกลงไปในหลุมไฟนั้น
ดังนั้น การที่จะจับท่านนบีอิบรอฮีมโยนเข้าไปในหลุมไฟนั้นจึงทำได้ยาก เพราะทั้งเปลวไฟและความร้อนที่มันร้อนแรง พวกเขาก็เลยต้องหันมาใช้ มันญะนีก الْمَنْجَنِيقِ ..มันญะนีก เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งมีลักษณะเป็นคานดีดที่ใช้ดีดลูกไฟเวลาทำสงครามในสมัยโบราณ ซึ่งถ้าใครลองเปิดกูเกิล แล้วพิมพ์คำว่า เครื่องยิงโบราณ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า catapult มันก็จะขึ้นรูปภาพขึ้นมามากมาย
ซึ่ง มันญะนีก ก็น่าจะมีลักษณะในทำนองนั้นแหละ มีลักษณะเป็นคานดีด ซึ่งพวกเขาก็เอาท่านนบีอิบรอฮีมใส่ไปในเครื่องนั้นแทนลูกไฟ แล้วก็ดีดท่านนบีอิบรอฮีมเข้าไปในหลุมไฟ ..
ขณะที่ท่านนบีอิบรอฮีมถูกดีดกำลังลอยอยู่ในอากาศนั้น ปรากฏว่า มัคลูกต่าง ๆก็มีความเป็นห่วงท่านนบีอิบรอฮีม อยากจะไปช่วยท่านนบีอิบรอฮีมให้พ้นจากกองไฟ
ท่านญิบรีล อะลัยฮิสสลามก็อยากไปช่วย ก็เลยไปขอต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาว่าอยากจะช่วยท่านนบีอิบรอฮีม ..
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็ทรงตอบไปว่า ..ถ้าพวกเจ้าอยากจะช่วยก็ไปช่วยซิ ..
ท่านญิบรีลก็เลยไปหาท่านนบีอิบรอฮีมในขณะที่กำลังลอยอยู่นั้น แล้วบอกว่าท่านต้องการให้ช่วยเหลืออะไร ..
ท่านนบีอิบรอฮีมตอบกลับมาว่า ถ้าเป็นความช่วยเหลือของพวกท่าน ฉันไม่ต้องการ ..
เราลองพิจารณาคำตอบของท่านนบีอิบรอฮีม ท่านนบีอิบรอฮีมไม่ต้องการความช่วยเหลือจากมัคลู๊กอื่นใดทั้งสิ้น ขนาดจะร่วงหล่นไปในกองไฟอันร้อนแรง ยังไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใครอื่นทั้งสิ้น แล้วท่านนบีอิบรอฮีมได้ตอบต่อไปว่าอย่างไร ?
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านอิบนิ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ขณะที่ท่านนบีอิบรอฮีมกำลังถูกโยนเข้าสู่กองไฟนั้น ท่านได้กล่าวว่า
حَسْبُنَا اللَّهُ ونِعْمَ الوَكِيلُ،
“อัลลอฮฺทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เราแล้ว และพระองค์ คือ ผู้ได้รับมอบหมายที่ดีเยี่ยม”
นั่นก็หมายความว่า ท่านนบีอิบรอฮีมตะวักกุลเรื่องราวทั้งหมดไปยังอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียวเท่านั้น ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใครทั้งสิ้น นอกจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเท่านั้น ซึ่งในที่สุดแล้ว ผลตอบแทนที่ท่านนบีอิบรอฮีมได้รับคืออะไร ?
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอัมบิยาอ์ อายะฮฺที่ 69 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
قُلۡنَا يَٰنَارُ كُونِي بَرۡدٗا وَسَلَٰمًا عَلَىٰٓ إِبۡرَٰهِيمَ
“ไฟเอ๋ย จงเย็น และให้ความปลอดภัยแก่อิบรออีมเถิด”
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้ไฟที่ลุกโชนและร้อนแรงนั้นเย็นลง และให้ความปลอดภัยแก่ท่านนบีอิบรอฮีม ก็คือ ไฟเย็นนั้นก็ไม่ได้ทำอันตรายใด ๆแก่ท่านนบีอิบรอฮีมเลย เพราะเราอย่าลืมว่า ความเย็นนั้น ถ้าหากว่ามันเย็นมาก ๆ ก็ทำให้ตายได้เหมือนกัน
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เรื่องราวดังกล่าวข้างต้น ก็คือ ตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ตะวักกุลต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแท้จริง และผลตอบแทนที่เขาได้รับก็คือ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงให้ความปลอดภัยแก่เขา ทำให้เขารอดพ้นจากอันตราย
จงหันกลับมาพิจารณาตัวเรา เราดำเนินชีวิตประจำวัน เราพบปัญหามากมาย ปัญหานั้น ปัญหานี้ ปัญหาจากปัจจัยยังชีพไม่พอใช้ ปัญหาจากสุขภาพ จากโรคภัยที่รุมเร้า
เรามีความทุกข์ยาก เรามีความไม่สบายใจ แล้วเราจัดการกับความทุกข์ยาก ความไม่สบายใจเหล่านั้นอย่างไร ? ..
เราได้ทำการตะวักกุลอย่างแท้จริงไหม ? อย่างถูกต้องไหม ?
ยกตัวอย่างเช่น เงินไม่พอใช้ เราก็ไปกู้หนี้ยืมสินโดยมีดอกเบี้ย แล้วเราก็บอกว่า เราตะวักกุล เรามอบหมายต่ออัลลอฮฺ อย่างนี้ถูกต้องไหม ? ..
หรือเงินไม่พอใช้ แล้วเราก็ไม่ออกไปทำงาน แล้วเราก็บอกว่า เราตะวักกุล อย่างนี้ถูกต้องไหม ?
หรือเราไม่สบาย เราต้องทานยา ต้องหาหมอแล้วเราไม่ทานยา ไม่ไปหาหมอ แล้วเราก็บอกว่า เราตะวักกุล อย่างนี้ถูกต้องไหม ? ...
แท้ที่จริงแล้ว การตะวักกุลที่ถูกต้องนั้น เมื่อเรามีเงินไม่พอใช้ เราก็ต้องออกไปทำมาหากิน และหากินด้วยวิธีการที่ถูกต้องตรงตามบทบัญญัติศาสนา แล้วเราจึงตะวักกุล ได้มาเท่าไร เราก็ยอมรับ ใช้จ่ายไปตามสภาพที่เราได้รับ ...
หรือในกรณีที่เราเจ็บป่วย เราก็ต้องรักษาด้วยวิธีการที่สอดคล้องกับบทบัญญัติศาสนา แล้วเราจึงตะวักกุล เราอย่าไปใช้วิธีการ หรือใช้ยา ใช้การรักษาที่มันขัดต่อบทบัญญัติศาสนาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เช่น หาหมอดูหมอผี ใช้ดนตรี ใช้ยาเสพติด แล้วเราก็บอกว่า เราตะวักกุล เพราะการใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนานั้น มันคงไปกันไม่ได้กับการตะวักกุล เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอะลาย่อมไม่ทรงยอมรับวิธีการที่ไม่ถูกต้องนี้อย่างแน่นอน ..
บางคนอาจจะบอกว่า มันเป็นวิธีการที่ได้ผล แล้วเขาก็หายจากวิธีการที่มันผิดต่อบทบัญญัติศาสนานั้น ..อยากจะบอกว่า นี่มันคือเล่ห์เหลี่ยมของชัยฏอน ที่มันคอยล่อหลอกเรา แล้วเมื่อเรายอมมันไปครั้งหนึ่ง มันก็จะมีครั้งที่สอง ครั้งที่สามตามมา จนในที่สุด เราก็จะออกห่างจากบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไปเรื่อย ๆ ทีละเรื่อง สองเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง
ดังนั้น เราต้องตระหนักในเรื่องเหล่านี้ให้มาก ๆ เราจะต้องไม่แก้ปัญหาต่าง ๆด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติอย่างเด็ดขาด และเมื่อเราใช้วิธีการที่ถูกต้องแล้ว เราก็ต้องยอมรับในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นด้วย นี่แหละคือการตะวักกุล
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 51 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
قُل لَّن يُصِيبَنَآ إِلَّا مَا كَتَبَ ٱللَّهُ لَنَا هُوَ مَوۡلَىٰنَاۚ وَعَلَى ٱللَّهِ فَلۡيَتَوَكَّلِ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ
“( มุฮัมมัด ) จงประกาศออกไปเถิดว่า จะไม่ประสบกับเราอย่างเด็ดขาด นอกจากสิ่งที่อัลลอฮฺได้กำหนดแก่เราไว้แล้ว ซี่งพระองค์เป็นผู้ทรงคุ้มครองเรา ..และแด่อัลลอฮฺ เท่านั้น มุอ์มินทั้งหลายจงมอบหมายเถิด”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราอยู่ในสภาวะคับขัน อยู่ในสภาวะของความไม่สบายใจ ประสบกับความยากลำบากในเรื่องต่าง ๆ ใจของเราจะต้องไม่ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องที่มนุษย์ไม่สามารถช่วยเหลือได้จากผู้ใดหรือสิ่งอื่นใด ใจของเราต้องมอบแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียวเท่านั้นว่า พระองค์เท่านั้นคือที่พึ่งพิงที่แท้จริง และให้เราได้กล่าวเช่นเดียวกับที่ท่านนบีอิบรอฮีมกล่าว
حَسْبُنَا اللَّهُ ونِعْمَ الوَكِيلُ،
“อัลลอฮฺทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เราแล้ว และพระองค์คือผู้ได้รับมอบหมายที่ดีเยี่ยม”
ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกสงบ ไม่หวั่นเกรง สามารถเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆได้อย่างดี และเกิดความมั่นใจว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวะตะอาลาจะทรงประทานทางออกให้แก่เราอย่างแน่นอน ...ก็ขอให้เราได้ปลูกฝังเรื่องของการตะวักกุลให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในโอกาสวันอีดิลฟิฏรฺนี้ ขอให้เราได้ร่วมกันกล่าวตักบีร เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ขอให้เรารำลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ สำนึกถึงความโปรดปรานที่พระองค์ทรงมีต่อเรา ด้วยการกล่าวสรรเสริญพระองค์ และขอบคุณพระองค์ที่ทรงให้เรายังคงมีชีวิตอยู่จนถึงบัดนี้ และให้เราได้ทำอะมัลอิบาดะฮฺต่าง ๆอย่างเข้มแข็ง ขอพระองค์โปรดเมตตาเราให้ได้พบกับเดือนเราะมะฎอนในปีต่อไป ให้ได้ปฏิบัติอะมัลศอลิหฺต่างๆด้วยความอิคลาศ มุ่งหวังตั้งใจเพื่อหวังรางวัลตอบแทนจากพระองค์เพียงองค์เดียว ตัดขาดจากการทำชิริก ห่างไกลจากการทำบิดอะฮฺ ขอให้เราได้รับการอภัยโทษจากพระองค์ในความผิดต่าง ๆที่ผ่านมา
และขอให้เรา อย่าลืมการถือศีลอดสุนัต 6 วันในเดือนเชาวาล คือเดือนนี้ เดือนถัดจากเดือนเราะมะฎอน โดยเราจะถือติดต่อกันทั้ง 6 วัน หรือจะไม่ติดต่อกันก็ได้ การถือศีลอดสุนัต 6 วันในเดือนเชาวาลจะต้องถือหลังจากการถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน ซึ่งจะได้รับผลบุญเสมือนกับการถือศีลอดตลอดทั้งปี และยังเป็นการปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านนบีของเราอีกด้วย
สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้โปรดให้เราเป็นผู้ที่ใช้ความพยายามในอันที่จะดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ๆอย่างระมัดระวัง พยายามให้มันอยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนา ขวนขวายหาความรู้ ทำความเข้าใจในบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เสมอ ๆ และพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของพระองค์ โดยพยายามทำให้มันสุดความสามารถของเรา และในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง เพื่อแสดงออกถึงอัตตักวา ความยำเกรงที่เรามีต่อพระองค์
และพึงระลึกอยู่เสมอว่า รากฐานการงานและอิบาดะฮฺทั้งหลายที่เราทำนั้น จะต้องตั้งอยู่บนหลัก 2 ประการคือ
อัลอิคลาศ คือ การทำอิบาดะฮฺทั้งหมดเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแต่เพียงพระองค์เดียว โดยเราต้องไม่ยอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือคนหนึ่งคนใดมามีภาคีร่วมกับพระองค์อย่างเด็ดขาด ต้องระมัดระวังเรื่องของการริยาอ์หรือการโอ้อวดที่มันอยู่ในหัวใจของเรา อย่าให้มันมาเจือปนในเนียตหรือเจตนาของเราอย่างเด็ดขาด
ประการที่สองก็คือ ให้การงานอิบาดะฮฺของเราทั้งหมดนั้น ตรงตามรูปแบบ ตรงตามแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เราอย่าไปคิดเอาเองว่า ทำแบบนี้ก็ดี ทำแบบนั้นก็ดี แล้วทำมันหมดเลย โดยไม่มีแบบอย่างมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ซึ่งรากฐานของการงานอิบาดะฮฺทั้งสองประการนี้ มันจะเป็นสาเหตุให้การงานอิบาดะฮฺต่าง ๆของเราที่เราลงทุนลงแรงทำไปตั้งมากมายได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และจะทำให้เราได้รับความสำเร็จทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ
ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 27 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
«إِنَّمَا يَتَقَبَّلُ اللَّهُ مِنَ الْمُتَّقِينَ»
“แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงรับการงาน ของผู้ที่มีอัตตักวาเท่านั้น”
تَقَبَّلَ اللهُ مِناَّ وَمِنْ كُمْ
كل عام وانتم بخير
( คุฏบะฮฺวันอีดิ้ลฟิฏรฺ ปี ฮ.ศ.1444 มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )