ความโลภ..เป็น..ความอัปยศ
  จำนวนคนเข้าชม  2119

 

ความโลภ..เป็น..ความอัปยศ

 

เรียบเรียงโดย.... อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

          ความหมาย   คือความโน้มเอียงของจิตวิญญาณ ที่จะปรารถนาบางสิ่งบางอย่าง ที่อารมณ์นั้นปรารถนา 

          ความโลภเป็นความอัปยศที่เกิดจากความโลภ ความเกียจคร้าน และความไม่รู้ในสิ่งที่อัลลอฮฺพระผู้สร้างทรงกำหนด  ความอยากได้,ความมักมาก การไม่รู้จักพอ ความโลภจะว่าเป็นความชั่วของมนุษย์มันแฝงอยู่ในมนุษย์ทุกรูป ด้านทรัพย์สิน เงินทอง ชื่อเสียง ตำแหน่งหน้าที่

 

 

หลักการ

 

         โลกใบนี้ได้ถูกประดับประดาให้สวยงาม ยิ่งนานวันมันถูกพัฒนามีการแข่งขัน มีการละเล่นมากมาย ที่ทำให้ผู้คนหมกมุ่นอยู่กับมัน ความรักของมนุษย์เราในเรื่องทรัพย์สิน เกียรติยศตำแหน่งหน้าที่ ลูกหลาน เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ทำอย่างไรให้ความรักต่อสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับคำสอนของอิสลาม

อัลลอฮฺ ตรัสว่า 

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا تُلْهِكُمْ أَمْوَالُكُمْ وَلَا أَوْلَادُكُمْ عَن ذِكْرِ اللَّهِ ۚ وَمَن يَفْعَلْ ذَٰلِكَ فَأُولَٰئِكَ هُمُ الْخَاسِرُونَ 

 

"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย อย่าให้ทรัพย์สินของพวกเจ้าและลูกหลานของพวกเจ้า หันเหพวกเจ้าจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺ

และผู้ใดกระทำเช่นนั้น ชนเหล่านั้นคือพวกที่ขาดทุน"

 

         จากหะดีษ กะฮฺบ บิน มาลิก อัลอันซอรีย์ รอฎิยัลลอฮูอันฮู จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

مَا ذِئْبَانِ جَائِعَانِ أُرْسِلَا فِي غَنَمٍ، بِأَفْسَدَ لَهَا مِنْ حِرْصِ الْمَرْءِ عَلَى الْمَالِ وَالشَّرَفِ لِدِينِهِ

 

     “หมาป่าสองตัวที่หิวโหย ถูกส่งไปยังแกะ จะไม่สร้างความเสียหายได้ เท่ากับความโลภของคน ๆ หนึ่ง ในทรัพย์สินและชื่อเสียงที่จะมีต่อศาสนาของเขา

(อิหม่ามอะหมัด)

 

          ความหมายของหะดีษนี้มีความลึกซึ้งมาก เป็นการเปรียบเทียบที่เห็นภาพและเข้าใจได้ง่าย ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้เปรียบเทียบบุคคลที่จิตใจของเขาผูกพันกับการมีชีวิตในโลกนี้เท่านั้น เปรียบเสมือนหม่าป่าสองตัวที่มันหิวโหยที่ถูกส่งไปยังแกะตัวหนึ่ง การหมกมุ่นกับการหาทรัพย์สินและการแสวงหาเกียรติยศ โดยไม่ได้สนใจแสวงการงานที่ยังประโยชน์ในโลกหน้า หลงกับการมีชีวิตโลกนี้เท่านั้น แน่นอนสองประการนี้จะทำลายศาสนา ทำให้คนไม่สนใจในศาสนา หันหลังให้ศาสนา เหมือนกับหมาป่าสองตัวที่ดุร้ายที่มันถูกส่งไปยังแกะ

 

          เป็นการเปรียบเทียบบุคคลที่หลงดุนยา เขาจะเอาใจใส่ในการแสวงหาทรัพย์สิน และตำแหน่งในโลกนี้ เหมือนหมาป่าสองตัวที่หิวโหยจ้องที่จะตะครุบแกะตัวหนึ่ง และทั้งสองประการนั้นมันทำให้มันสร้างความเสียหายกับศาสนา มากกว่าหมาป่าสองตัวที่หิวโหย ที่ถูกส่งไปยังฝูงแกะเสียอีก

 

      ท่านคอลีฟะห์อุมัร อิบนุ คอฏฏอบ กล่าวว่า คนที่โลภคือคนที่ทะเยอทะยานสู่ความอัปยศอดสู 

 

      ความโลภ คือความจน และ ความพอเพียง คือความร่ำรวย

 

     ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังกล่าวอีกว่า

 

لَوْ كانَ لِابْنِ آدَمَ وادِيانِ مِن مالٍ لابْتَغَى ثالِثًا، ولا يَمْلَأُ جَوْفَ ابْنِ آدَمَ إلَّا التُّرابُ، ويَتُوبُ اللَّهُ علَى مَن تابَ.

     

หากว่าลูกหลานอาดัมนั้น มีหุบเขาสองหุบเขาที่เต็มไปด้วยเงินทอง เขาก็ปรารถนาที่จะมีหุบเขาที่สาม

และไม่มีสิ่งใดที่จะมาเติมเต็ม (ทำให้เขาพอเพียง) ท้องของลูกหลานอาดัมได้ นอกจากดินเท่านั้น(ความตาย)

และอัลลอฮฺจะทรงให้อภัยแก่ผู้ที่กลับเนื้อกลับตัว

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)

 

          จงระวังการสะสมทรัพย์สมบัติเพราะว่ามันจะครอบงำจิตใจของพวกท่าน ผู้ใดที่ทรัพย์สมบัติเป็นเจ้านายอยู่เหนือตัวของเขา เขาก็จะพบกับความผิดหวัง พังทลายและขาดทุน และเขาไม่ให้ความสำคัญกับทรัพย์สินที่เขาแสวงหามาได้นั้น ว่ามาจากสิ่งที่ฮะลาลหรือฮะรอม บางคนอาจได้มาจากการลักขโมย การติดสินบน การแข่งขัน การหักหลัง หันหลังให้กัน เนรคุณต่อครอบครัว ญาติมิเพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่ง การละเมิดเอาสิทธิของผู้อื่นมาเพื่อตนเอง

 

 

ลักษณะพฤติกรรมที่อนุญาต

 

♦ ความโลภคืออยากที่จะให้อัลลอฮฺขออภัยโทษ

♦ ความโลภคืออยากที่จะเข้าสวรรค์

♦ ความโลภ คืออยากให้อัลลอฮฺทรงเมตตา

 

 

ลักษณะพฤติกรรมที่ต้องห้าม

 

♣ ความโลภในด้านทรัพย์สิน เงินทอง

♣ ความโลภในด้านตำแหน่ง หน้าที่การงาน

♣ ความโลภในด้านการกิน ใช้สอย ชีวิตที่หรูหรา 

 

 

สาเหตุที่นำไปสู่ความโลภ

 

♠ รักโลกนี้ รังเกียจความตาย

♠ ไม่รับรู้ถึงจุดจบของคนโลภ

♠ การศรัทธาที่อ่อนแอ

♠ คบเพื่อนที่มีแต่ความโลภ

♠ อยากมีอยากได้เหมือนกับคนอื่นเขา

♠ หัวใจไม่ได้รับการขัดเขลาด้วยหลักคำสอนที่ถูกต้อง

 

 

วิธีการระงับความโลภ

 

♥ เรียนรู้วิถีชีวิตของท่านนบี

     ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ได้กล่าวว่า

 

ما شبِع آلُ محمَّدٍ من خُبزِ الشَّعيرِ يومَيْن مُتتابعَيْن حتَّى قُبِض رسولُ اللهِ

    

      ครอบครัวของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ไม่เคยได้อิ่มท้องจากอาหารหลัก (ขนมปังจากข้าวบาร์เลย์) สองวันติดต่อกันจนถึงวันที่ท่านร่อซูลุลลอฮฺได้จากโลกนี้ไป

(บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)

 

♥ มองคนที่ด้อยกว่า อย่ามองคนที่สูงกว่าเรา 

     ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สอนเราให้มองคนที่มีฐานะต่ำกว่า ยากจนลำบากกว่าเรา ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

انْظُرُوا إِلَى مَنْ هو أَسفَل مِنْكُمْ وَلا تَنْظُرُوا إِلَى مَنْ هُوَ فَوقَكُم؛ فهُوَ أَجْدَرُ أَن لا تَزْدَرُوا نعمةَ اللَّه عَلَيْكُمْ

 

     ท่านทั้งหลาย จงมองดูผู้มีฐานะต่ำกว่าท่าน และอย่ามองดูผู้ที่มีฐานะเหนือกว่าพวกท่าน เพราะแท้จริง มันเป็นการสมควรยิ่งในการที่พวกท่านจะไม่ดูแคลนความเมตตาของอัลลอฮฺ ที่มีต่อพวกท่าน

(บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)

 

 

ดุอาอฺ

 

اللَّهُمَّ إِنِّي أَعُوذُ بِكَ مِنْ قَلْبٍ لاَ يَخْشَعُ، ومِنْ دُعَاءٍ لاَ يُسْمَعُ، وَمِنْ نَفْسٍ لاَ تَشْبَعُ، وَمِنْ عِلْمٍ لاَ يَنْفَعُ، أَعُوذُ بِكَ مِنْ هَؤُلاَءِ الأَرْبَعِ

     

          “โอ้องค์อภิบาลของฉัน ฉันขอความคุ้มครองจากพระองค์ ให้พ้นจากหัวใจที่ไม่นอบน้อม, ดุอาอฺที่ไม่ถูกรับฟังและจากชีวิตที่ไม่รู้จักเอิบอิ่ม และจากความรู้ที่ไม่ยังประโยชน์ ฉันขอความคุ้มครองจากพระองค์ ให้พ้นลักษณะสี่ประการนี้ด้วยเถิด"

          ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงโปรดให้เรา และท่านทั้งหลายมีความมั่นคงในอิสลาม มีหัวใจที่ยำเกรง มิจิตใจที่พอเพียง ไม่ละโมบโลภมากด้วยเถิด