การนินทา กล่าวหา ใส่ร้าย !
  จำนวนคนเข้าชม  10765

การนินทา กล่าวหา ใส่ร้าย !

 

เรียบเรียงโดย.... อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

ความหมาย

 

     การนินทา อัล-ฆีบะฮฺ" ( الغِيبَة)   หมายถึง   การกล่าวถึงบุคคลหนึ่งตอนที่อยู่ลับหลังเขา ในสิ่งที่เขาไม่ชอบ เเละไม่ปรารถนาที่จะให้ผู้คนเอาไปพูดถึง เช่น การเรียกชื่อแฝงผู้อื่น การตั้งฉายาให้ (แดงเตี้ย)

 

     การกล่าวหา กุเรื่อง อัล-นะมีมะฮฺ" ( النميمة)   หมายถึง   การเอาคำพูดจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งเจตนาเพื่อสร้างความเสียหายและความชั่วร้ายให้เกิดขึ้น หรือการยั่วยุในหมู่คนและเพื่อให้การฉ้อฉลพวกเขา

 

     ใส่ร้ายป้ายสี อัล-บุฮฺตาน"  (البُهْتَان)  ซึ่งหมายถึงการกล่าวถึงบุคคลหนึ่งๆในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง หากว่าเขากล่าวหาในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ถือว่าเป็นการใส่ร้าย

 

      ท่านอิหม่าม อันนะวาวีย์  การนินทา คือ การที่คน คนหนึ่งได้กล่าวถึงพี่น้องของเขา ในสิ่งที่เขาไม่ชอบ ไม่ว่าในเรื่องของร่างกาย นิสัยใจคอ ทรัพย์สินสมบัติ ลูกๆ และภรรยาของเขา หรือแม้กระทั่งการเคลื่อนไหว  ไม่ว่าจะทำให้เขาไม่พอใจด้วยกับคำพูด หรือ แสดงด้วยการกระทำ เช่น การชี้

 

     ท่านอิบนุ ก็อยยิม  กล่าวว่า การนินทาคือการ กล่าวถึงบุคคลอื่นในเชิงตำหนิ หรือดูถูก

 

 

ข้อบัญญัติของการนินทา

 

         การนินทาถือว่าเป็นบาปใหญ่ ที่เราจะต้องหลีกห่าง และการนินทานั้นจะไม่นำสิ่งใดมานอกจากความแตกแยกในสังคม  ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่จะต้องออกห่างจาการนินทาว่าร้ายผู้อื่น

 

 

หลักการ

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า : 

 

وَلَا يَغْتَب بَّعْضُكُم بَعْضًا ۚ أَيُحِبُّ أَحَدُكُمْ أَن يَأْكُلَ لَحْمَ أَخِيهِ مَيْتًا فَكَرِهْتُمُوهُ ۚ وَٱتَّقُوا۟ ٱللَّهَ ۚ إِنَّ ٱللَّهَ تَوَّابٌ رَّحِيمٌ

 

     “และบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ?

     พวกเจ้าย่อมเกลียดมัน และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ

 (อัล-หุญุรอต : 12)

 

     ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

«أَتَدْرُونَ مَا الْغِيبَةُ؟» قَالُوا: اللهُ وَرَسُولُهُ أَعْلَمُ، قَالَ: «ذِكْرُكَ أَخَاكَ بِمَا يَكْرَهُ» قِيلَ أَفَرَأَيْتَ إِنْ كَانَ فِي أَخِي مَا أَقُولُ؟ قَالَ: «إِنْ كَانَ فِيهِ مَا تَقُولُ، فَقَدِ اغْتَبْتَهُ، وَإِنْ لَمْ يَكُنْ فِيهِ فَقَدْ بَهَتَّهُ 

 

ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่าพวกท่านรู้ไหมอันใดคือการนินทา 

พวกเขากล่าวว่าอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ย่อมรู้ดีกว่า 

ท่านก็กล่าวว่าการที่ท่านกล่าวถึงพี่น้องของท่านในสิ่งที่เขาไม่ชอบ 

มีคนถามขึ้นว่าแล้วท่านยังเห็น(เป็นการนินทา)อยู่ไหม หากในตัวพี่น้องของฉันมีสิ่งที่ฉันพูดถึงจริง 

ท่านตอบว่าหากเขามีสิ่งนั้นจริง ท่านก็นินทาเขา แต่หากเขาไม่เป็นตามนั้น ท่านก็ใส่ร้ายเขา 

(บันทึกโดยมุสลิม)

 

 

ตัวอย่างของการนินทา

 

          ตัวอย่างที่หนึ่ง เช่น เราได้ดูถูกพี่น้องของเราว่าเตี้ยบ้าง สูงบ้าง ตัวดำบ้าง หรืออื่นจากนี้ ซึ่งเป็นการดูถูกเหยียดหยาม

มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา  โดยที่ฉันได้กล่าวแก่ท่านนบีว่า เพียงพอแล้วสำหรับท่าน ซอฟียะ อย่างนั้นๆ

ผู้รายงานได้กล่าวว่า หมายถึง ตัวเตี้ย และ ท่านนบีได้กล่าวว่า

 แน่นอนเธอได้พูดคำพูดหนึ่งหากเอามันไปผสมกับน้ำทะเลแล้ว จะทำให้น้ำทะเลเสีย ...”

(บันทึกโดย อะหมัด อิบนุอะบิดดุนยา)

 

 

โทษของการนินทา ว่าร้ายผู้อื่น

 

ท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

لَمَّا عُرِجَ بِي مَرَرْتُ بِقَوْمٍ لَهُمْ أَظْفَارٌ مِنْ نُحَاسٍ يَخْمُشُونَ وُجُوهَهُمْ وَصُدُورَهُمْ، فَقُلْتُ: مَنْ هَؤُلَاءِ يَا جِبْرِيلُ، قَالَ: هَؤُلَاءِ الَّذِينَ يَأْكُلُونَ لُحُومَ النَّاسِ، وَيَقَعُونَ فِي أَعْرَاضِهِمْ 

 

     “ตอนที่ฉันถูกพาขึ้นฟ้า(ในคืนอิสรออ์มิอ์รอจญ์) ฉันได้ผ่านไปเจอคนกลุ่มหนึ่งมีเล็บที่ทำจากทองแดง กำลังขีดข่วนที่ใบหน้า และอกของพวกเขา 

     ฉันก็ได้ถามว่าพวกเขาเป็นใครกันหรือ? ท่านญิบรีล 

     ท่านญิบรีล กล่าวตอบว่าพวกเหล่านี้คือ ผู้ที่กินเนื้อของผู้คนอื่น และล่วงเกินศักดิ์ของพวกเขา 

(บันทึกโดยอบูดาวูด)

 

จากท่านอิบนุ อับบาส ได้เล่าว่า:ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม

 

خَرَجَ النبيُّ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ مِن بَعْضِ حِيطَانِ المَدِينَةِ، فَسَمِعَ صَوْتَ إنْسَانَيْنِ يُعَذَّبَانِ في قُبُورِهِمَا، فَقالَ: يُعَذَّبَانِ، وما يُعَذَّبَانِ في كَبِيرٍ، وإنَّه لَكَبِيرٌ، كانَ أحَدُهُما لا يَسْتَتِرُ مِنَ البَوْلِ، وكانَ الآخَرُ يَمْشِي بالنَّمِيمَةِ 

 

     ได้เดินออกมาจากกำแพงมะดีนะฮฺแห่งหนึ่ง แล้วท่านก็ได้ยินเสียงของคนสองคนกำลังถูกลงโทษอยู่ในสุสาน แล้วท่านก็กล่าวว่า 

 

ทั้งสองกำลังถูกลงโทษ และทั้งสองไม่ได้ถูกลงโทษเพราะเรื่องที่ใหญ่โต(ในสายตาของมนุษย์)

แต่แท้จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ใหญ่โต(ในข้อตัดสินของอัลลอฮฺ)

คนหนึ่งนั้นไม่ปกปิด(หรือไม่ทำให้เสร็จ)ในการปัสสาวะของเขา ส่วนอีกคนนั้น เขาเที่ยวเดินยุแหย่ตะแคงรั่ว 

(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์, และมุสลิม)

 

มีรายงานจากท่าน อบี ดัรด้าอฺ ว่าท่านนบีมุฮัมมัด  กล่าวว่า

 

مَنْ رَدَّ عَنْ عِرْضِ أَخِيهِ رَدَّ اللهُ عَنْ وَجْهِهِ النَّارَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ

 

"ผู้ใดที่ปกป้องเกียรติ และความสูงส่งของพี่น้องของเขา แน่แท้ในวันกิยามะห์ อัลลอฮ์ จะทรงขจัดไฟนรกออกจากใบหน้าของเขา"

(รายงานโดย อะห์มัด)

 

 

ลักษณะพฤติกรรมที่ต้องอนุญาต

 

     ♠ การร้องทุกข์โดยกล่าวพาดพิงถึงผู้ที่ได้ทำการอธรรม

     ♠ การขอร้องแก่ผู้ที่มีความสามารถที่จะเปลี่ยนความชั่ว โดยกล่าวถึงผู้ที่กระทำความชั่วนั้น

     ♠ การเตือนให้ผู้คนระวังการจากบุคคลที่เป็นอันตรายต่อสังคม

     ♠ การขอให้ชี้ขาดในปัญหาต่างๆโดยกล่าวพาดพิงถึงผู้อื่น เช่น กล่าวว่า เขาได้อธรรมฉันอย่างนั้นๆ

     ♠ การกล่าวถึงความชั่วหรือการกระทำที่เป็นการอุตริขึ้นในศาสนา เช่นการกล่าวถึงภัยของเหล้า

     ♠ การกล่าวถึงลักษณะเฉพาะของบุคคลหนึ่ง โดยมีเจตนาเพื่อให้เป็นที่รู้จัก เช่น การกล่าวถึงลักษณะบกพร่องทางร่างกาย เช่น เป็นใบ้ ขาเป๋ หรืออื่นๆจากนี้

 

 

สาเหตุที่นำไปสู่การนินทาว่าร้าย

 

♠ ความอิจฉา

♠ ความเคียดแค้น

♠ ต้องการความสะใจเมื่อนำเรื่องคนอื่นไปนินทา

♠ มีเวลาว่าง

♠ ต้องการยกตัวเองเหนือคนอื่น

♠ คนที่นำเรื่องคนอื่นไปนินทาเพื่อต้องการดูดีในสายตาของคนอื่น

♠ คบเพื่อนที่ชอบนินทาด้วยกัน


 

ลักษณะพฤติกรรมที่ต้องห้าม

 

♠ การนินทาคนอื่นอันเนื่องเกลียดบุคคลนั้น

♠ การกล่าวถึงคนอื่นในเชิงดูถูกหรือเหยียดยามเขา

♠ ยุยงให้มีการนินทาว่าร้ายกัน

♠ เป็นผู้นำข้อมูลเท็จไปบอกกับบุคคลอื่น

 

 

ประเภทของความผิด

 

     ♦ การนินทาว่าร้าย ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดีอย่างมาก และเป็นการแสดงออกถึงความไร้จรรยามารยาท  ผู้ที่มีจิตใจอ่อนแอและมีจิตใจที่ไร้อีหม่าน จะไม่สามารถหลีกเหลี่ยงจากการกระทำอันนี้ได้ และมันยังเป็นบาปใหญ่ที่มุสลิมจะต้องละทิ้ง การนินทาเปรียบเสมือนการค้าที่ประสบกับการขาดทุน โดยที่ผลของการนินทาจะมากัดกร่อนความดีของเขาให้หมดไป  ความผิดบาปจะเข้ามาแทนที่ความดี

 

     ♦ การนินทาว่าร้ายเป็นบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในสังคมและยังเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล  เพราะคนแต่ละคนมีความรักและห่วงแหนในเกียรติยศของตนเอง การนินทาว่าร้ายถือเป็นการทำร้ายพี่น้องร่วมสังคม ผลของการนินทาไม่ได้เป็นการสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ แต่จะนำมาซึ่งความแตกแยกในสังคม และสร้างความเกลียดชัง ความเป็นศัตรูระหว่างกัน

 

     ♦ ผู้ที่ชอบนินทาคนอื่นมักจะเป็นคนใจแคบขาดการรำลึกถึงอัลลอฮ์  เพราะฉะนั้นการนินทาจึงถือเป็นบาปที่รุนแรงมาก  เราอาจจะคิดว่าการนินทาไม่น่าจะมีบาปและโทษอย่างรุนแรง เพราะแค่เราพูดด้วยคำพูดง่ายๆไม่ได้ลงทุนกระทำสิ่งใด

 

 

ดุอาอฺ

 

اللَّهُمَّ إِنِّيْ أَعُوْذُ بِكَ مِنْ شَرِّ مَا عَمِلْتُ وَمِنْ شَرِّ مَا لَمْ أَعْمَلْ

 

(อัลลอฮุมมะ อินนี อะอูซุบิกะ มินชัรริ มาอะมิลตุ วะมินชัรริ มาลัม อะอฺมัล )

 

โอ้อัลลอฮ์ แท้จริงข้าพระองค์ ขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากความชั่วร้ายที่ข้าได้ทำ และจากความชั่วร้ายที่ข้าไม่ได้ทำ

 

(บันทึกโดยอันนะซาอีย์)