ความละอาย เป็นรากฐานของความดีงาม
  จำนวนคนเข้าชม  1136

ความละอาย เป็นรากฐานของความดีงาม

 

โดย..... อาจารย์อุมัร แสงโก๊ะ

 

          พี่น้องผู้มีอีมานทั้งหลาย หน้าที่ของมุมินนั้น จะต้องเป็นผู้เติมความศรัทธาให้มีมากที่สุด เพื่อที่เขานั้น จะได้เป็นผู้ที่ศรัทธาที่สมบูรณ์ที่สุด และสิ่งที่จะทำให้มุมินนั้น มีความศรัทธาที่สมบูรณ์ก็คือ ความละอายนั่นเอง ดังที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านได้กล่าวว่า

 

ความละอาย เป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)

 

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย พึงทราบเถิดว่า...

          ความละอาย ถือว่าเป็นรากฐานของบรรดาความดีงาม ถ้ามีอยู่ในตัวของผู้หนึ่งผู้ใดแล้ว แน่นอน มันจะช่วยระงับไม่ให้ผู้นั้นปฏิบัติสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม หรือช่วยยับยั้ง ไม่ให้แสดงกริยามารยาทที่ไม่ดี ไม่งาม ไม่ว่าจะเป็นคำพูด การกระทำ และความละอาย มันจะเป็นสิ่งที่มาส่งเสริมให้คนๆ นั้น กระทำแต่สิ่งที่เป็นความดีงามอีกด้วย

          ท่านพี่น้องทั้งหลาย เราลองมาดูถึงความประเสริฐของความละอาย

 

1. ความละอายนั้น คือ กุญแจที่จะนำไปสู่ความดีงาม

          มีรายงานว่า

ความละอายทั้งหมดคือ ความดี

(บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)

 

2. ความละอาย จะต้องมาพร้อมกับการศรัทธา

     ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

แท้จริง ความละอาย และการศรัทธา ทั้งสองจะต้องคู่กันตลอด ถ้าหากสิ่งหนึ่งถูกยกไป อีกสิ่งหนึ่งก็ไม่เกิด

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)

 

3. ความละอาย คือมารยาทที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงรัก

          มีฮะดิษรายงานจาก อะชัจญิ บิน ก็อยซฺ ได้กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

แท้จริง ในตัวของท่านนั้น มีมารยาทสองประการ ที่อัลลอฮฺทรงรัก

ฉันได้กล่าวกับท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า มารยาทอะไรหรือ ?

ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ตอบว่า ความสุขุม กับความละอาย

(บันทึกโดย อัลอัลบานีย์)

 

4. ความละอายนั้น จะนำไปสู่สวนสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

ความละอาย เป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา ผู้ที่ศรัทธา คือชาวสวรรค์

ผู้ที่ไม่มีความละอายนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคนที่ไร้ค่า และผู้ไร้ค่านั้น คือ ชาวนรก

(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์)

 

5. ความละอายนั้น คือ มารยาทของอิสลาม

          ความละอายนั้น ถือว่า เป็นมารยาทที่ประเสริฐสุด รายงานจากท่านอนัส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าว

"แท้จริง ทุกศาสนานั้น มีจริยธรรม มารยาท และมารยาทของอิสลามก็คือ ความละอายนั่นเอง

(บันทึกโดย อิบนุ มาญะฮฺ)

 

6. ความละอายนั้น คือ บทบัญญัติที่มาทุกๆ นบี

     รายงานจากท่านอิบนิ มัสอู๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

แท้จริง สิ่งที่ผู้คนได้รับมาจากคำพูดของบรรดานบียุคแรกก็คือถ้าคุณไม่อายก็เชิญทำตามที่ชอบเถิด

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)

 

7. ความละอาย จะเป็นสิ่งที่จะมาห้ามการกระทำที่ชั่ว ฝ่าฝืนกับหลักของศาสนาได้

แท้จริง สิ่งที่ผู้คนได้รับมาจากคำพูดของบรรดานบียุคแรกก็คือถ้าคุณไม่อายก็เชิญทำตามที่ชอบเถิด

          ท่านพี่น้อง นี่คือ ความประเสริฐของความละอาย ซึ่งถ้ามีอยู่ในตัวใคร แน่นอน คนๆ นั้นถือว่าเป็นผู้มีมารยาทดีงาม อย่างแน่นอน

          แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า มีคนหลายคนที่จะแสดงพฤติกรรมไม่ดีไม่งาม โดยการแต่งกายนั้น พยายามที่จะแต่งตัวเปิดเอาเราะฮฺ หรือมีคนบางกลุ่ม ที่พยายามจะแต่งตัวเลียนแบบกัน เช่น ชายทำตัวเป็นหญิง หญิงทำตัวเป็นชาย พฤติกรรมแบบนี้ มันผิดต่อหลักการของศาสนาอย่างสิ้นเชิง

          ใครที่มีพฤติกรรมแบบนี้ จะได้รับการสาปแช่งจากอัลลอฮฺอย่างแน่นอน อยากจะให้ผู้ปกครองช่วยกันห้ามปราม ถ้าหากเห็นว่า ลูกหลานของพวกท่านมีพฤติกรรมอย่างนี้ เพราะถ้าเราปล่อยไปมันก็จะกระจายไปสู่สังคมอย่างแน่นอน แล้วก็จะทำให้สังคมวุ่นวาย ก็อยากจะให้ผู้ที่มีพฤติกรรมอย่างนี้ ดูฮะดิษบทนี้

 

อัลลอฮฺ ได้สาปแช่งผู้ชายที่ทำตัวเป็นหญิง และหญิงที่ทำตัวเป็นชาย

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)

 

          คำว่าสาปแช่งหมายถึง คนที่ทำตัวห่างไกลจากความดี หรือ คนที่ถูกขับออกจากความเมตตาของอัลลอฮฺ แล้วคนที่มีพฤติกรรมอย่างนี้ เขาจะมีที่อยู่ตรงไหนในวันกิยามะฮฺ

 

 

 

ที่มา : อนุสรณ์ งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 6 มกราคม 2561