สถานะและความยิ่งใหญ่ของมัสยิด
  จำนวนคนเข้าชม  3618

สถานะและความยิ่งใหญ่ของมัสยิด

 

นำเสนอโดย อาจารย์มาลิก โยธาสมุทร

จากคุฏบะฮ์ของ ดร.อับดุลมุฮ์ซิน อิบนิ มุฮัมมัด อัลกอซิม อิมามและคอฏิบ ประจำมัสยิดอันนะบะวีย์ นครมะดีนะฮ์

 

     ผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย จงเกรงกลัวอัลลอฮฺอย่างแท้จริงเถิด จงยึดมั่นห่วงโซ่ของอิสลามเอาไว้ให้มั่นคงเถิด

     ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

 

ดินแดนอันเป็นที่รักยิ่ง ณ อัลลอฮฺ ก็คือ บรรดามัสยิด ณ ดินแดนนั้น

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

          ด้วยเหตุนี้ มัสยิดจึงเป็นสถานที่สำหรับการทำอิบาด๊าต การรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเป็นที่ชุมนุมของบรรดาผู้ศรัทธา ตลอดจนเป็นสัญลักษณ์แห่งความใสสะอาดบริสุทธิ์หมดจรดของศาสนาอิสลามเป็นการเฉพาะ

 

 

♥ - มัสยิดที่ประเสริฐที่สุดและสำคัญที่สุดก็คือ มัสยิดอัลฮะรอมในนครมักกะฮ์ เป็นมัสยิดหลังแรกที่ถูกก่อตั้งขึ้นบนโลกใบนี้ เป็นประภาคารนำแสงสว่างให้แก่มวลมนุษยชาติ

     ดังดำรัสของอัลลอฮฺ ที่ว่า :

     “แท้จริง บ้าน (อาคาร) หลังแรกที่ถูกก่อตั้งขึ้นสำหรับมนุษยชาติ คือ บ้าน (อาคาร) ที่มักกะฮ์ อันเป็นสถานที่ที่มีความจำเริญ เป็นการชี้นำทางสู่หนทางอันถูกต้องเที่ยงตรงแก่โลกทั้งผอง

(อะลาอิมรอน 3 : 96)

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกำหนดให้มีการทำฮัจญ์และการเดินเวียนรอบ (ฏอวาฟ) ณ บัยตุลลอฮฺ และทรงให้เป็นกิบละฮ์สำหรับการทำอิบาดะฮ์ของบรรดาผู้ศรัทธา (มุอฺมินีน) และการละหมาดที่มัสยิดอัลฮะรอมนั้น จะได้รับภาคผลเท่ากับหนึ่งแสนละหมาด ไม่มีสถานที่แห่งใดเสมอเหมือน

 

 

♥ - มัสยิดที่สองที่มีความประเสริฐก็คือ มัสยิดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม (มัสยิด อันนะบะวีย์) หรือเราเรียกกันว่า มัสยิดนบี) เป็นมัสยิดที่ถูกก่อตั้งขึ้นด้วยความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ (ตักวา)

          ในวันแรกที่ท่านนบีอพยพไปถึงนครมะดีนะฮ์ การละหมาดที่มัสยิดนบีจะได้รับภาคผลเท่ากับหนึ่งพันละหมาด รองลงมาจากที่มัสยิดอัลฮะรอมที่มักกะฮ์ และเป็นมัสยิดสุดท้ายที่ท่านนบีได้สร้างขึ้น

 

 

♥ - มัสยิดอัลอักซอ เป็นหนึ่งในสองกิบละฮ์ทั้งสองของมุสลิม และเป็นสถานที่ที่ท่านร่อซูลได้เดินทางไปและกลับในค่ำคืนเดียวกันในเหตุการณ์อัลอิสรอฮฺและอัลเมี๊ยะอ์ร็อจญ์ของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มัสยิดอัลอักซอถูกก่อตั้งขึ้นหลังจาก มัสยิดอัลฮะรอมที่มักกะฮ์ 40 ปี

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

     “อย่าได้เตรียมเสบียงเพื่อออกเดินทางไป นอกจากสามมัสยิดเท่านั้นคือ มัสยิดของฉันนี้ (มัสยิดอันนะบะวีย์) มัสยิดอัลฮะรอม และมัสยิดอัลอักซอ

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

     ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮ์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ กล่าวว่า :

     “ไม่มีมัสยิดใด ๆ ที่ถูกกำหนดเจาะจงให้เดินทางไปละหมาดเป็นการเฉพาะ นอกจากมัสยิดทั้งสามแห่งข้างต้นนี้เท่านั้น ด้วยมติเอกฉันท์ของบรรดาอุละมาอ์

 

 

♥ - สำหรับมัสยิดกุบาอ์นั้น ถูกก่อตั้งขึ้นบนพื้นฐานของการตักวาในวันแรกที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อพยพเดิดนทางไปถึงมะดีนะฮ์ และในทุก ๆ วันเสาร์ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะเดินไป หรือไม่ก็ขี่พาหนะไปยังมิสยิดกุบาอ์

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวถึงภาคผลของการไปละหมาดที่มัสยิดกุบาอ์เอาไว้ว่า :

     “ผู้ใดที่ทำความสะอาด (อาบน้ำละหมาด) ที่บ้านของเขา แล้วมาที่มัสยิดกุบาอ์ แล้วละหมาดที่นั่น (สองร็อกอะฮ์) เขาจะได้รับภาคผลเท่ากับการทำอุมเราะฮ์ (หนึ่งครั้ง)”

(บันทึกโดย อิบนุ มาญะฮ์)

          ในโลกใบนี้ ไม่มีมัสยิดใดที่จะได้รับภาคผลในการละหมาดเทียบเท่ากับมัสยิดทั้งสามแห่ง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ และที่มัสยิดกุบาอ์เท่านั้น

 

 

♥ - บรรดามัสยิดคือ บรรดาบ้านของอัลลอฮฺ มีภาคผล มีความประเสริฐ และมีเกียรติ ด้วยตัวอาคารมัสยิด ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และการทำอิบาด๊าตเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

     ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า :

     “และจงรำลึกนึกถึงขณะที่อิบรอฮีมและอิสมาอีลได้ก่อฐานอาคาร (บ้าน) ของอัลลอฮฺ หลังนั้นให้สูงขึ้น (เมื่อเสร็จแล้ว ทั้งสองได้วิงวอนขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺว่า) 

     โอ้ พระเจ้าของเรา ได้โปรดรับการงานนี้ของเราด้วยเถิด แท้จริง พระองค์เป็นผู้ทรงได้ยิน เป็นผู้ทรงรอบรู้ 

     โอ้ พระเจ้าของเรา ได้โปรดให้เราทั้งสองเป็นผู้ที่นอบน้อม ยอมจำนวนต่อพระองค์ 

     และได้โปรดให้บรรดาลูกหลานของเราเป็นประชาชาติที่นอบน้อมยอมจำนนต่อพระองค์ (เป็นมุสลิม) ด้วยเถิด 

     และได้โปรดสอนพิธีการทำฮัจญ์แก่เรา และได้โปรดอภัยโทษแก่พวกเราด้วยเถิด แท้จริง พระองค์เป็นผู้ทรงอภัยโทษ เป็นผู้ทรงเอ็นดูเมตตาเสมอ 

     โอ้ พระเจ้าของเรา ได้โปรดส่งร่อซูลคนหนึ่งจากพวกเขาเองไปยังหมู่ชนของพวกเขาด้วยเถิด เพื่อจะได้อ่านบรรดาอายาตของพระองค์ให้พวกเขาฟังและสอนคัมภีร์และความมุ่งหมายแห่งบัญญัติศาสนา (ซุนนะฮ์) ให้กับพวกเขา ตลอดจน ซักฟอกขัดเกลาพวกเขาให้สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากการตั้งภาคีต่อพระองค์ด้วยเถิด แท้จริง พระองค์คือผู้ทรงเกียรติ เป็นผู้ทรงปรีญาณ 

     และผู้ใดที่ผินหลังให้กับแนวทางของอิบรอฮีม เขาก็คือ ผู้ที่โฉดเขลาเบาปัญญาเท่านั้น และแท้จริง เรา (อัลลอฮฺ) ได้เลือกเขา (อิบรอฮีม) ให้เป็นนบี และเป็นร่อซูลในโลกนี้ และในโลกอาคิเราะฮ์ เขา (อิบรอฮีม) นั้น ย่อมเป็นผู้ที่อยู่หมู่ผู้ที่เป็นคนดี ๆ อย่างแน่นอน

     (จงรำลึกถึง) ขณะที่พระเจ้าของเขา (อิบรอฮีม) ได้ตรัสแก่เขาว่า : “จงเป็นมุสลิมที่ยอมจำนนต่ออิสลามเถิด 

     เขา (อิบรอฮีม) กล่าวว่า : ข้าพระองค์ ยอมสยบจำนนต่อพระเจ้าแห่งสากลโลก (เป็นมุสลิม) แล้ว

(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 127 – 131)

          ขณะที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้มาถึงกุบาอ์ ท่านนบีก็ได้สร้างมัสยิดขึ้นที่นั่น และเมื่อท่านมาถึงตัวเมืองมะดีนะฮ์ ท่านก็ได้สร้างมัสยิดของท่านขึ้นที่นั่นด้วยเช่นกัน

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า :

     “และหากอัลลอฮฺมิทรงขัดขวางมนุษย์ให้มีการรบราฆ่าฟันระหว่างกันและกันแล้ว แน่นอน บรรดาโบสถ์และหอสวด ตลอดจนบรรดามัสยิด ซึ่งใช้เป็นสถานที่กล่าวรำลึกนึกถึงอัลลอฮฺ ย่อมต้องถูกทำลายลงมากมายอย่างแน่นอน

(อัลฮัจญ์ 22 : 40)

          ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺจึงมีบัญญัติให้มีการสู้รบขึ้นแก่มุสลิม เพื่อปกป้องคุ้มกันการละเมิดจากฝ่ายศัตรู และเป็นการรักษาความสงบสันติสุขของประชาชนเอาไว้

 

 

♥ - การสร้างมัสยิดเป็นการกระทำที่จะทำให้ได้ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ และเป็นการอิบาดะฮ์ต่อพระองค์อีกด้วย อัลลอฮฺทรงสัญญาแก่ผู้ที่สร้างมัสยิดว่า จะได้รับสวรรค์เป็นการตอบแทน ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :

ผู้ใดสร้างมัสยิดหลังหนึ่งเพื่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺจะทรงสร้างเช่นเดียวกันนั้นให้กับเขาในสวรรค์

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

     จุดมุ่งหมายก็คือ ได้รับภาคผลตอบแทนอย่างใหญ่หลวง ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

     “ทุก ๆ ย่างก้าวที่เขาก้าวเท้าเดินไป (ยังมัสยิดนั้น) จะได้รับหนึ่งความดี และจะได้รับการยกระดับขั้นให้กับเขาหนึ่งขั้น และยังเป็นการลบล้างบาปความผิดให้แก่เขาอีกหนึ่งความผิดด้วย

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

     มีชายคนหนึ่งกล่าวกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่าฉันอยากจะให้มีการบันทึกภาคผลของการเดินไปและกลับจากมัสยิดให้กับฉันด้วย เมื่อฉันกลับไปถึงบ้านของฉันดังนั้น ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่า :

     “แท้จริง อัลลอฮฺทรงรวมภาคผลดังกล่าวให้กับท่านไว้แล้วทั้งหมด (การเดินไปและกลับจากมัสยิด)

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

 

 

♥ - การเดินทางมามัสยิดจากสถานที่ไกล ๆ และการนั่งรอละหมาดจากเวลาหนึ่งไปจนถึงอีกเวลาหนึ่งนั้น จะได้รับภาคผลเท่ากับผู้ที่ไปประจำอยู่ตามชายแดนเพื่อป้องกันศาสนา (อัรริบ๊าฏ)

      ดังฮะดิษที่ว่า :

ผู้ใดที่ออกไปมัสยิดในตอนเช้าหรือในตอนเย็น อัลลอฮฺทรงเตรียมที่พำนักในสวนสวรรค์ให้แก่เขาทุกเช้าและเย็น ทั้งไปและกลับ

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

     “ผู้ที่ได้รับภาคผลที่ยิ่งใหญ่มากมายที่สุดจากการละหมาด คือ ผู้ที่เดินมาไกลที่สุด และผู้ที่นั่งรอละหมาดพร้อมกับอิมาม จะได้รับภาคผลรางวัลตอบแทนมากมายยิ่งกว่าผู้ที่ละหมาดแล้ว เขาก็นอน

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

 

 

♥ - การเดินทางไปละหมาดที่มัสยิด เป็นสาเหตุแห่งการได้รับการอภัยโทษจากบรรดาบาปความผิดต่าง ๆ

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

     “ผู้ใดที่อาบน้ำละหมาดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อที่จะทำละหมาด แล้วเขาก็เดินไปละหมาดฟัรฎูตามที่ถูกกำหนดเอาไว้ แล้วเขาก็ละหมาดพร้อมกับผู้คนหรือกับญะมาอะฮ์ หรือไปละหมาดที่มัสยิด อัลลอฮฺทรงอภัยโทษให้กับเขาในความผิดบาปของเขาแล้ว

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

     การที่คนเรามีหัวใจผูกพันอยู่กับมัสยิดและรักมัสยิด นับเป็นหนึ่งในเจ็ดสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาได้รับการชี้นำไปสู่หนทางอันถูกต้องและเที่ยงตรง (ฮิดายะฮ์) และได้รับคุณความดี โดยอัลลอฮฺทรงให้เขาได้รับร่มเงาของพระองค์ ในวันที่ไม่มีร่มเงาใด ๆ นอกจากร่มเงาของพระองค์เท่านั้น ดังที่มีระบุอยู่ในฮะดิษที่ว่า :

ผู้ชายที่หัวใจของเขาผูกพันอยู่กับบรรดามัสยิด

     อิมามอันนะวะวีย์ กล่าวว่า หมายถึง ผู้ที่มีความรักมัสยิดอย่างแรงกล้าเป็นที่สุด และผู้ที่มาละหมาดญะมาอะฮ์ที่มัสยิดเป็นประจำนั่นเอง

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

     “และเมื่อมุสลิมคนใดเข้าไปในมัสยิด เพื่อทำการละหมาด (ซุนนะฮ์) ซึ่งมิใช่เป็นฟัรฎูสำหรับเขา มลาอิกะฮ์จะกล่าวซอละวาตขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ให้กับเขาว่า 

     “โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้กับเขาด้วยเถิด โอ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงเอ็นดูเมตตาเขาด้วยเถิด ตราบใดที่เขายังคงอยู่ในกลุ่ม (มัจญ์ลิส) ที่เขาเข้าไปร่วมละหมาดด้วย

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)

 

 

♥ - ส่วนมากของประชาชาติในยุคก่อน ๆ นี้ ต่างก็ให้ความสำคัญกับบรรดามัสยิด ดังที่อัลลอฮฺ ทรงมีบัญชาให้ท่านนบีอิบรอฮีม และท่านนบีอิสมาอีล อะลัยฮิมัสลาม ทำความสะอาดมัสยิดอัลฮะรอม

     ดังคำดำรัสของพระองค์ในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮ์ อายะฮฺที่ 125 ที่ว่า :

     และเรา (อัลลอฮฺ) ได้เอาคำมั่นสัญญา (สั่งเสีย) แก่อิบรอฮีมและอิสมาอีลว่า เจ้าทั้งสองจงทำบ้านของข้า (มัสยิด) ให้สะอาด (ปราศจากการทำชิริก)

เพื่อบรรดาผู้ที่ทำการฏอวาฟ (เดินเวียนรอบก๊ะอ์บ๊ะฮ์เจ็ดรอบ)

บรรดาผู้ทำการเอี๊ยะอ์ติกาฟ (พำนักอยู่ในมัสยิดเพื่อทำอิบาดะฮ์)

บรรดาผู้ที่ก้มรุกู๊อ์ และบรรดาผู้ที่ก้มกราบ (สุญูด) (ทำการละหมาดอยู่ในมัสยิด)”

 

     ภรรยาของอิมรอนมารดาของท่านหญิงมัรยัมได้บนบาน (นะซัร) ว่า จะถวายลูกที่อยู่ในท้อง เมื่อคลอดออกมาให้ทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้มัสยิดอัลอักซอ ดังปรากฏในซูเราะฮฺ อาละอิมรอน อายะฮฺที่ 35 – 37 ว่า :

     “(มุฮัมมัดจงรำลึก) ครั้งเมื่อภรรยาของอิมรอนได้กล่าวว่า : โอ้ พระเจ้าของข้าพระองค์ แท้จริง ข้าพระองค์ได้บนบาน (นะซัร) ต่อพระองค์ว่า จะถวายบุตรที่อยู่ในครรภ์ของข้าพระองค์ (ให้เป็นผู้รับใช้พระองค์ในมัสยิด) ดังนั้น ขอพระองค์ทรงรับการบนบานจากข้าพระองค์ด้วยเถิด แท้จริง พระองค์ท่านเท่านั้น เป็นผู้ทรงได้ยิน เป็นผู้ทรงได้ยิน เป็นผู้ทรงรอบรู้ 

     ครั้นเมื่อนางได้คลอดบุตรออกมานางก็กล่าวว่า : โอ้ พระเจ้าของข้าพระองค์ แท้จริง ข้าพระองค์ได้คลอดลูกออกมาเป็นผู้หญิง และอัลลอฮฺ นั้นทรงทราบดียิ่งกว่าบุตรที่นางคลอดออกมา และใช่ว่าผู้ชายกับผู้หญิงนั้นจะเหมือนกันก็หาไม่

     และข้าพระองค์ก็ได้ตั้งชื่อให้แก่ทารกนั้นว่ามัรยัมและแท้จริง ข้าพระองค์ขอต่อพระองค์ได้โปรดคุ้มครองนาง และลูกหลานของนางให้รอดพ้นจากชัยฏอนที่ถูกสาปแช่งด้วยเถิด 

     แล้วพระเจ้าของนางก็ทรงรับเอามัรยัมไว้เลี้ยงดูเป็นอย่างดี ทรงให้นางเติบโตขึ้นมาอย่างดี (ทั้งร่างกายและจิตใจ) โดยให้ (นบี) ซะกะรียาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโดยตลอด คราใดที่ซะกะรียาเข้าไปที่อัลมิฮฺรอบ (ห้องส่วนตัวสำหรับการภาวนาที่มัรยัมพักอาศัยอยู่ในมัสยิด) ก็พบว่ามีอาหารและผลไม้อยู่พร้อมสรรพ 

      เขา (ซะกะรียา) จึงกล่าวว่า : เธอได้สิ่งนี้มาแต่ใด ? 

     มัรยัมตอบว่า : มันมาจากอัลลอฮฺ แท้จริง อัลลอฮฺประทานริสกีให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ โดยมิต้องคำนวณนับแต่อย่างใด

 

 

♥ - ศาสนาอิสลามมีสถานะที่สูงส่งที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้ที่รับใช้มัสยิดที่สุด 

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถามถึงสตรีคนหนึ่งที่เคยมาทำความสะอาดมัสยิดของท่าน เพราะท่านไม่เห็นมาหลายวัน ก็มีผู้กล่าวว่า : นางได้เสียชีวิตแล้ว ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

     พวกท่านจงชี้ซิว่า หลุมฝังศพของนางนั้นอยู่ตรงไหน? แล้วพวกเขาก็ชี้หลุมฝังศพของนางให้ท่านนบีทราบ

     ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงละหมาดญะนาซะฮ์ให้กับนาง

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)

     มีอาหรับชนบทคนหนึ่งมาปัสสาวะในมัสยิดท่านนบี ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงสั่งให้เอาน้ำมาราดตรงนั้น แล้วท่านก็บอกให้เขารู้ว่า :

ทำเช่นนี้ไม่ได้ เพราะบรรดามัสยิดนั้น ไม่ใช่สถานที่ที่จะมาทำเช่นนี้

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

 

 

♥ - ส่วนหนึ่งจากมารยาทที่พึงปฏิบัติต่อมัสยิดก็คือ ให้แต่งตัวให้สวยงาม เมื่อไปมัสยิด

     ดังดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า :

     “โอ้ ลูกหลานของอาดัม จงตกแต่งประดับประดาร่างกายให้สวยงาม ณ ทุก ๆ มัสยิดที่ไป

     พวกเจ้าจงกิน จงดื่ม แต่อย่าสุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย แท้จริง อัลลอฮฺมิทรงโปรดบรรดาผู้ที่สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย

(อัลอะอ์ร็อฟ 7 : 31)

 

 

♥ - ให้เดินไปมัสยิดด้วยอาการสงบเสงี่ยมสำรวมตน

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

     “เมื่อมีการอิกอมะฮ์ละหมาด ก็จงอย่ารีบเดิน ให้เดินมาด้วยความสงบเสงี่ยมสำรวมตน เมื่อถึงทันแค่ไหนก็ให้ละหมาดไปตามนั้น ถ้าไม่ทัน ก็ให้ละหมาดต่อไปให้ครบจนจบ

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

 

 

♥ - เมื่อไปถึงมัสยิดก็ให้ก้าวเท้าขวาเข้าไปเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่มัสยิด เพราะเป็นสถานที่แห่งการทำอิบาดะฮ์ เป็นสถานที่แห่งความเมตตากรุณา (เป็นเราะฮ์มะฮ์)

     และเมื่อเข้าไปในมัสยิด ก็ให้อ่านดุอาอฺดังต่อไปนี้

โอ้ อัลลอฮฺ ของพระองค์ทรงเปิดบรรดาประตูแห่งความเอ็นดูเมตตากรุณาของพระองค์ ให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

     และเมื่อออกจากมัสยิดให้กล่าวว่า :

โอ้ อัลลอฮฺ แท้จริง ข้าพระองค์ขอให้ได้รับความกรุณาโปรดปรานจากพระองค์ด้วยเถิด

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

 

 

♥ - ผู้ใดที่เข้ามาในมัสยิด ก็อย่าเพิ่งนั่งลง จนกว่าจะละหมาด (ซุนนะฮ์ตะฮียะตุ้ลมัสยิด) สองร็อกอะฮ์เสียก่อน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพมัสยิด

 

 

♥ - การอะซานในมัสยิด เป็นการปกป้องคุ้มกัน และเป็นความคลาดแคล้วปลอดภัย ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยรอฟังเสียงอะซานในขณะทำศึกรุกราน เพราะการได้ยินเสียงอะซานจากฝ่ายข้าศึกจะเป็นการระงับยับยั้ง หรือไม่ก็จะเป็นการบุกเข้าโจมตี

 

     บรรดาผู้รีบเร่งแข่งขัน รุดหน้าในการทำความดี (อัซซาบิกูน) นั้น จะแข่งขันกันอยู่ในแถวแรกในมัสยิด ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

     “หากว่าผู้คนรู้ถึง (คุณค่าและผลบุญที่มีอยู่ใน) การอะซาน และ (การมาทันละหมาดใน) แถวแรก แต่ไม่อาจไขว่าคว้าสิ่งนั้นได้ เว้นแต่ต้องจับฉลากก่อน พวกเขาต้องชิงจับฉลากเป็นแน่

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

 

 

♥ - เมื่อมีการอิกอมะฮ์ละหมาด ก็ไม่มีการละหมาดซุนนะฮ์ใด ๆ อีก นอกจากละหมาดฟัรฎูเท่านั้น ดังกล่าว เป็นการให้เกียรติต่อการละหมาดฟัรฎู

 

 

♥ - ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้อธิบายถึงเคล็ดลับ (ฮิกมะฮ์) ของการบูรณะฟื้นฟูบรรดามัสยิดเอาไว้ว่า :

     ดังดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า :

     “อัลลอฮฺทรงอนุญาตให้มีการเทิดพระเกียรติ และมีการกล่าวพระนามของพระองค์เพื่อเป็นการแซ่ซ้อง สรรเสริญสดุดีพระองค์ ทั้งในยามเช้าและในยามพลบค่ำ ในบรรดาบ้าน (มัสยิด) ของพระองค์

(อันนู๊ร 24 : 36)

 

 

♥ - อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงชมเชยผู้ที่ทำให้มัสยิดมีชีวิตชีวาด้วยการกระทำที่เป็นการเชื่อฟัง ปฏิบัติตาม (ฏออ๊าต) ต่อพระองค์ และทรงแจ้งลักษณะของพวกเขาเอาไว้ว่า เป็นผู้ที่อัลลอฮฺทรงปกป้องคุ้มครองพวกเขาให้พ้นจากฟิตนะฮ์ในโลกดุนยานี้

     ดังดำรัสของพระองค์ในซูเราะฮ์อันนู๊ร อายะฮฺที่ 36 – 37 ที่ว่า :

     “ผู้ที่แซ่ซ้องสรรเสริญสดุดีพระองค์ในมัสยิด ทั้งในยามเช้าและยามเย็น บรรดาผู้ที่การค้าและการขายมิได้ทำให้พวกเขาหันห่างจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺ พวกเขาดำรงละหมาด และจ่ายซะกาต ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะพวกเขากลัววันหนึ่งซึ่งบรรดาหัวใจและสายตาจะเหลือกลานในวันนั้น (วันกิยามะฮ์)”

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงยืนยันว่า พวกเขาคือผู้ที่ศรัทธา และได้รับการชี้นำสู่หนทางอันถูกต้องเที่ยงตรง ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า :

     “แท้จริง ผู้ที่จะมาทำหน้าที่บูรณะฟื้นฟูบรรดามัสยิดของอัลลอฮฺนั้นคือ ผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และวันอาคิเราะฮฺ เป็นผู้ที่ดำรงละหมาด จ่ายซะกาต และเขาไม่เกรงกลัวผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น ดังนั้น จึงหวังได้ว่า ชนเหล่านี้แหละ คือบรรดาผู้ที่ได้รับการชี้นำสู่หนทางอันถูกต้องเที่ยงตรง

(อัตเตาว์บะฮ์ 9 : 18)

 

 

♥ - มลาอิกะฮ์เป็นพยานยืนยันให้แก่ผู้ที่มามัสยิด และฟังคุฏบะฮ์ และจะกางปีกโอบล้อมรอบผู้ที่มาศึกษาหาความรู้ในมัสยิด

     ดังที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

     ไม่มีกลุ่มชนใดที่รวมตัวกันในบ้าน (มัสยิด) หลังใดจากบรรดาบ้าน (มัสยิด) ของอัลลอฮฺ เพื่ออ่านคัมภีร์ของอัลลอฮฺ และซะกีนะฮ์) ลงมายังพวกเขา

     และความเมตตากรุณา (เราะฮ์มะฮ์) ของอัลลอฮฺจะแผ่ปกคลุมพวกเขา และมลาอิกะฮ์จะกางปีกโอบล้อมพวกเขา

     และอัลลอฮฺจะทรงกล่าวถึงพวกเขากับบรรดา (มลาอิกะฮ์) ผู้ที่อยู่กับพระองค์

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

 

 

♥ - การไปแสวงหาวิชาความรู้ที่มัสยิดนั้น ดียิ่งกว่าทรัพย์สินในโลกดุนยา

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

เหตุไฉน คนหนึ่งคนใดในพวกท่านจึงไม่ไปมัสยิดแต่เช้าตรู่ แล้วศึกษาหาความรู้ เล่าเรียน 

หรืออ่านสองอายะฮ์จากคัมภีร์ของอัลลอฮฺ ซึ่งจะเป็นการดีแก่เขา ยิ่งกว่าการได้รับอูฐตัวเมียสองตัว 

และอ่านสามอายะฮ์ จะเป็นการดียิ่งกว่าการได้รับอูฐตัวเมียสามตัว 

และอ่านสี่อายะฮ์จะเป็นการดีแก่เขายิ่งกว่าการได้รับอูฐตัวเมียสี่ตัว 

และอ่านจำนวนหลายอายาต ก็จะเป็นการดีแก่เขายิ่งกว่าการได้รับอูฐตัวเมียสี่ตัว 

และอ่านจำนวนหลายอายาต ก็จะเป็นการดีแก่เขา ยิ่งกว่าการได้รับอูฐตัวผู้เสียอีก

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

 

 

♥ - ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ได้จัดเตรียมสถานที่สำหรับการเรียนการสอนไว้ในบริเวณมัสยิดของท่านด้วย ซึ่งส่งผลให้มีการปฏิบัติสืบทอดกันต่อมารุ่นแล้วรุ่นเล่าจนกระทั่งปัจจุบัน

          ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ส่งเสริมให้มีการไปรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ (ฮะละเกาะฮฺ) ที่มัสยิด เพื่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และศึกษาหาความรู้โดยที่ท่านได้กล่าวถึงคนสามกลุ่มว่า

     “สำหรับหนึ่งในกลุ่มพวกเขานั้น ได้ลงพักอาศัยอยู่กับอัลลอฮฺ ดังนั้น อัลลอฮฺจึงให้เขามีที่พักอาศัยสำหรับอีกกลุ่มหนึ่งนั้น ละอายขวยเขิน ดังนั้น อัลลอฮฺจึงทรงละอายเขา

     และสำหรับอีกกลุ่มหนึ่งนั้น ผินหลังให้ ดังนั้น อัลลอฮฺจึงทรงผินหลังให้เขา

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

 

 

♥ - บรรดามัสยิดนั้น เป็นสถานที่แห่งความสงบ เป็นสถานที่แห่งจิตวิญญาณ ดังนั้น อย่าได้ส่งเสียงดังหรือก่อการทะเลาะวิวาท เอะอะโวยวาย พิพาทโต้เถียงกัน

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

จงระวังตันเอาไว้ให้ดี ผู้ที่เอาบรรดามัสยิดไปทำเป็นตลาด

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

     เมื่อท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้ยินชายสองคนส่งเสียงดังขึ้นในมัสยิด ท่านได้เรียกทั้งสอนคนมา แล้วกล่าวว่า :

     “หากเจ้าทั้งสองเป็นคนเมืองนี้ แน่นอน ข้าจะสั่งสอนพวกเจ้าให้เจ็บตัวเพื่อให้เข็ดหลาบจำเสียบ้าง ในฐานที่เจ้าทั้งสองส่งเสียงดังในมัสยิดของท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)

 

 

♥ - มัสยิดเป็นสถานที่แห่งความปลอดภัย และความสงบอบอุ่นสบายใจ

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

     “ผู้ใดที่พกพาอาวุธ (ธนู) ติดตัวผ่านเข้าไปในบรรดามัสยิดของเรา หรือบรรดาตลาดของเรา ก็ให้เขาปิดเก็บ (กุมหัวลูกธนู) เอาไว้ให้มิดชิด เรียบร้อย เพื่อจะได้ไม่เป็นอันตรายต่อพี่น้องมุสลิมของเขา

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

 

 

♥ - การให้เกียรติ การให้ความสำคัญยิ่งใหญ่ต่อมัสยิดก็คือ การไม่ก่ออันตรายใด ๆ หรือทำร้ายผู้ที่ทำการ อิบาดะฮ์อยู่ในมัสยิด แม้เพียงแค่การสัมผัสแตะต้อง

     มีชายคนหนึ่งเดินก้าวข้ามผ่านศีรษะผู้คนในมัสยิดในวันศุกร์ ดังนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่า :

จงนั่งลง เพราะเจ้ากำลังทำร้ายผู้คน

(บันทึกโดย อิมามอบูดาวูด)

     แม้แต่การทำร้ายผู้คนด้วยกับกลิ่นเหม็นอันเป็นที่น่ารังเกียจ ก็ถูกลงโทษด้วยการห้ามมิให้เข้าไปในมัสยิด ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

ผู้ใดที่กินกระเทียมหรือหัวหอม ก็จงออกไปจากเรา หรือให้ลุกออกไปจากมัสยิดของเราและให้นั่งอยู่ในบ้านของเขา

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

          อิบนุล อะซี๊ร กล่าวว่า : “ดังกล่าวนี้ มิใช่เป็นเป็นปัญหา อุปสรรค หรือข้อแก้ตัว แต่ทว่าเป็นคำสั่งให้พวกเขาแยกตัวออกไปจากมัสยิด เพื่อเป็นการลงโทษ และเป็นบทเรียนแก่พวกเขา เพื่อมิให้ผู้อื่นกระทำตามอีกด้วย

 

 

♥ - มัสยิดเป็นสถานที่พำนัก พักพิง เพื่อนึกถึงอาคิเราะฮ์ และเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับอัลลอฮฺให้เข้มแข็งแนบแน่นยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้ห่างไกลจากดุนยา 

     ดังนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงห้ามมิให้มีการซื้อขายกันในมัสยิด และให้ไล่ตะเพิดออกไปอีกด้วย ดังที่ท่านกล่าวว่า :

เมื่อพวกท่านเห็นผู้ที่ขายหรือซื้อกันในมัสยิด ก็จงกล่าวกับพวกเขาว่าขออัลลอฮฺ อย่าให้การค้าขายของท่านมีผลกำไรเลย

(บันทึกโดย อิมามอัตติรมิซีย์)

     นอกจากนั้น ยังห้ามผู้คนมิให้กลัดกลุ้ม หมกมุ่น กลุ้มอกกลุ้มใจอยู่กับเรื่องของดุนยาอีกด้วย ดังที่ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

     “ผู้ใดที่ได้ยินคนที่ประกาศถามหาสิ่งของ (สัตว์) ที่หายไปในมัสยิด  ดังนั้น ก็จงกล่าวแก่เขาว่าขออัลลอฮฺอย่าได้ให้สิ่งที่หายไปนั้นได้กลัยคืนมาด้วยเลย เพราะบรรดามัสยิดนั้น มิได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ การนี้

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

 

 

♥ - มัสยิดเป็นจุดเริ่มต้นที่มาของความสุข ความถูกต้องเที่ยงธรรม และความซื่อตรง 

เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กลับจากการเดินทาง ท่านจะเริ่มไปที่มัสยิดก่อนอื่นใด แล้วท่านก็ละหมาดที่นั่น

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)

     สิ่งแรกที่ผู้เป็นบ่าวทุกคนจะต้องมีก็คือ ความบริสุทธิ์ใจในศาสนาของเขาต่ออัลลอฮฺ เพียงองค์เดียวเท่านั้น และจะต้องไม่วิงวอนขอต่อผู้ใด นอกจากอัลลอฮฺเป็นอันขาด ทั้งในมัสยิดและนอกมัสยิด ดังดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า 

และบรรดามัสยิดนั้น เป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ดังนั้น พวกเจ้าจงอย่าวิงวอนขอต่อผู้ใดร่วมกับอัลลอฮฺเป็นอันขาด

(อัลญิน 72 : 18)

 

 

♥ - และมัสยิดยังเป็นสถานที่ที่เป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตอยู่ในมัสยิด ไม่อนุญาตให้มีกุบุ๊รอยู่ในมัสยิด เพราะจะเป็นสื่อนำพาไปสู่การอิบาดะฮ์ต่อผู้อื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา (ชิริก)

 

 

♥ - การทำความชั่ว หรือการละเมิดฝ่าฝืนนั้น เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจในทุกเวลาและทุกสถานที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดามัสยิด ซึ่งเป็นบ้านของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ยิ่งน่ารังเกียจเข้าไปใหญ่ เช่น การนินทาว่าร้าย การมองสิ่งอันเป็นที่ต้องห้าม (อัลฮะรอม) การฟังเสียงเพลง เสียงดนตรีจากอุปกรณ์การสื่อสารต่าง ๆ ฯลฯ

 

 

♥ - ส่วนหนึ่งจากบรรดาจุดมุ่งหมายของบทบัญญัติศาสนาเกี่ยวกับบรรดามัสยิดก็คือ ความสนิทสนม กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้มีการแตกแยกขึ้นในสังคม กลายเป็นกลุ่มเป็นพวกต่าง ๆ แล้วก็ขัดแย้งกัน

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า :

     “และบรรดาผู้ที่สร้างมัสยิดหลังหนึ่งขึ้นมาเพื่อสร้างความเดือดร้อน (ฏิร็อร) การปฏิเสธศรัทธา (กุฟรฺ) และก่อให้เกิดความแตกแยก (ตัฟรีก) ขึ้นในระหว่างบรรดาผู้ศรัทธาด้วยกัน ตลอดจนเป็นแหล่งซ่องสุม (อิรซอด) สำหรับผู้ที่ทำสงครามต่อต้านอัลลอฮฺ และร่อซูลของพระองค์มาก่อน

     และพวกเขาจะสาบานว่า ที่เราทำขึ้นมานั้นมิใช่อื่นใด นอกจากเพื่อความดีเท่านั้น แต่อัลลอฮฺทรงยืนยันว่า แท้จริง พวกเขานั้นเป็นผู้ที่โกหก อย่างชัดเจนแน่นอน

(อัตเตาว์บะฮ์ 9 : 107)

 

          ผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย บรรดามัสยิดนั้นเป็นเกียรติยศ เป็นศักดิ์ศรีของอิสลามและมุสลิม และเป็นสัญลักษณ์ (ซิอ๊าร) ที่มีการสร้างมัสยิดขึ้นมาก็เพื่อใช้ละหมาด (อัซซ่อลาฮฺ) และรำลึกถึงอัลลอฮฺ (อัซซิกรฺ) ทำให้มีความสุขสงบ มีจิตใจเบิกบานใช้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนอัลกุรอานและอัซซุนนะฮ์ เป็นการเติมเต็มคำบัญชาของอัลลอฮฺให้ครบถ้วนสมบูรณ์ในการสร้างมัสยิดขึ้นมา เป็นการฟื้นฟูซุนนะฮ์ของท่านร่อซูลุลลอฮฺ เวลาและการทำงานอยู่ในมัสยิดนั้น มีความจำเริญ (บะรอกะฮ์) เป็นความดีแก่ตนเองและลูกหลาน ผู้ใดที่ถูกห้ามมิให้ได้รับความดีนั้น หรือถูกขจัดขัดขวางมิให้ได้รับความดี ก็เท่ากับว่าเขาได้พลาดความประเสริฐอันยิ่งใหญ่ไปเสียแล้ว

 

     “(มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า พระเจ้าของฉันทรงใช้ให้ฉันมีความยุติธรรม และพวกเจ้าจงมอบ (ใบหน้า) กายและใจของพวกเจ้าทุกครั้งที่ละหมาดเถิด

     และจงวิงวอนขอต่อพระองค์ในฐานะผู้ที่มอบการอิบาดะฮ์ทั้งมวลเพื่ออัลลอฮฺด้วยความบริสุทธิ์ใจเถิด

     ดังเช่นที่พระองค์ได้ทรงสร้างพวกเจ้าขึ้นมาตั้งแต่เริ่มแรก แล้วพวกเจ้าก็จะต้องกลับไปพบกับอัลลอฮฺในวันกิยามะฮ์อย่างแน่นอนในที่สุดนั่นเอง

(อัลอะอ์ร็อฟ 7 : 29)

 

 

 

ที่มา : วารสารสายสัมพันธ์ มีนาคม - เมษายน 2560