การหารายได้ที่ไม่ชอบธรรมในอิสลาม
โดย... เชคอาลี อีซา ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ
อิสลามส่งเสริมให้ทำงาน ยกย่องให้เกียรติผู้ที่ทำงานและต่อต้านการไม่ทำงาน....
อิสลามส่งเสริมให้ทำงาน และเปิดทางให้ผู้คนทั้งหลายแสวงหารายได้ แต่อิสลามก็ไม่ได้เปิดประตูให้กับผู้ที่หน้าเลือด แสวงหาความมั่นคง โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นด้วยวิธีใด จะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม อิสลามได้วางหลักเกณฑ์การหารายได้อันเป็นที่อนุมัติ ให้ห่างไกลจากความคลุมเครือในการแสวงหาประโยชน์ การขูดรีด หรือการครอบครองทรัพย์สมบัติของผู้อื่นโดยมิชอบ ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงห้ามการกินดอกเบี้ย การเล่นพนัน การลักขโมย การค้าประเวณีและอื่น ๆ อีก
การหารายได้โดยไม่ชอบธรรม
ส่วนหนึ่งจากการหารายได้โดยไม่ชอบธรรม เช่น ผู้ขายนมสดบางคนเจตนาผสมน้ำเข้าไปในนม เพื่อให้ได้ปริมาณที่มากขึ้น หรือพ่อค้าผลไม้ เอาผลไม้เน่าเสีย ปะปนไปกับผลไม้ดี ๆ และพ่อค้าบางคนฉ้อฉลในทางการตวงและการชั่ง บางคนผูกขาดกักตุนสินค้าเพื่อเอาไว้ขายในตลาดมืด หรือฉวยโอกาสขูดรีดเมื่อเห็นว่ามีผู้ตกอยู่ในภาวะคับขัน ต้องการเงิน เขาก็ให้เงินแก่คนนั้นไปแต่คิดเอาดอกเบี้ย
เช่นเดียวกัน การทำงานของคนงาน ซึ่งมีการคดโกงหรือผิดข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้ หรือพ่อค้าที่ต้องการให้สินค้าของตนขายคล่องขายดี ก็หันไปใช้วิธีการโฆษณาที่โกหก หลอกลวง โฆษณาสรรพคุณสินค้าของตนเกินความจริง และสิ่งอื่น ๆ อีก ซึ่งเรียกว่าเป็นการได้ทรัพย์สมบัติมาในหนทางที่ฮะรอม (ต้องห้าม) ตลอดจนการที่ข้าราชการบางคนยักยอก ฉ้อโกงเอาเงินของรัฐไปใช้โดยไม่มีสิทธิ์ ก็ถือว่าได้เงินมาโดยวิธีการที่ต้องห้าม (ฮะรอม) เช่นกัน
การหารายได้โดยไม่ชอบธรรม มีดังนี้
1. การพนัน
ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ที่ประพฤติตัวเหลวไหล อันหมายถึงทุก ๆ การละเล่นที่ผู้ชนะได้เงินจากผู้แพ้ (ผู้เสีย) เช่น การเล่นไพ่ เล่นม้า เล่นหวย เล่นบอล และอื่น ๆ เป็นต้น
ศาสนาห้ามการเล่นประเภทนี้ เพราะมันทำให้เสียเวลา ทำให้เสียการงาน ทำให้มุสลิมเผอเรอต่อการทำอิบาดะฮ์ (เคารพภักดี) ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นเหตุให้นำมาซึ่งการเป็นศัตรูกัน และปลูกฝังความอิจฉาริษยา เกิดความเครียดขึ้นในจิตใจ และบางทีก็เป็นเหตุให้เกิดอันตรายร้ายแรง นอกจากมันจะทำให้สุขภาพผู้เล่นอ่อนเพลีย เนื่องจากต้องใช้ความคิดมาก และมีอาการทางประสาท ฯลฯ ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งการหารายได้ และเกรงว่าจะเกิดการสูญเสียทรัพย์สินโดยใช่เหตุ
ล็อตเตอรี่ก็เป็นการพนันอีกประเภทหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นล็อตเตอรี่ประเภทใด หรือเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการได้เงินมาไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนา ในเรื่องการพนันนี้ มีอายาตอัลกุรอานและฮะดิษมากมายได้ห้ามปรามไว้
2. ดอกเบี้ย
คือเงินเพิ่มที่เจ้าหนี้คิดเอาจากลูกหนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ที่ลูกหนี้ได้รับในการเอาเงินไปใช้ การกินดอกเบี้ยนี้นับว่าเป็นวิธีหารายได้ที่ชั่วร้ายที่สุด อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงคาดโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดอกเบี้ยไว้ด้วยการลงโทษที่รุนแรงที่สุด ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า
“บรรดาผู้ที่กินดอกเบี้ย พวกเขาจะไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ นอกจากประหนึ่งผู้ที่มาถูกมารร้ายเข้าสิงสู่ ครอบงำ ทำให้เป็นบ่า จนงงงวย”
(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 275)
มีรายงานจากท่านญาบิร ร่อฎิยัลลลออุอันฮุ กล่าวว่า
“ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สาปแช่งผู้ที่กินดอกเบี้ย ผู้ที่มอบดอกเบี้ยให้คนอื่น ผู้บันทึก (เสมียน) และพยานของทั้งสองฝ่าย
และท่านกล่าวว่า : คนเหล่านั้น ทุกคนเท่าเทียมกันในการได้รับโทษ”
(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)
อิสลามได้เข้มงวดกวดขันในเรื่องการกินดอกเบี้ย ก็เนื่องจากทำให้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้องมุสลิมเสื่อมคลายลง ขจัดวิญญาณแห่งความร่วมมือ การเอ็นดูเมตตาซึ่งกันและกัน และก่อให้เกิดความอิจฉาริษยาและเกลียดชังระหว่างผู้ให้กู้และผู้กู้ บางทีก็ทำให้ผู้กู้ต้องใช้วิธีการคดโกงและล่อลวงต่าง ๆ นานา เพื่อให้ได้เงินมาใช้หนี้
นอกจากนี้ การกินดอกเบี้ย ยังเป็นวิธีการหาเงินแบบง่าย ๆ อันจะเป็นอุปสรรคต่อโครงการที่สำคัญ ๆ ซึ่งจะนำรายได้และประโยชน์มาสู่มหาชน
อันตรายของการหารายได้โดยไม่ชอบธรรม
หวังว่าทุกท่านคงจะตระหนักดีว่า อิสลามได้ต่อต้านการหารายได้โดยไม่ชอบธรรมอย่างไร เพราะนั่นย่อมนำไปสู่การเกียจคร้าน ทำลายความอุตสาหะของแต่ละบุคคลในการที่จะให้ได้มาซึ่งการหารายได้โดยทางที่อนุมัติ (ฮะล้าล)
การหารายได้โดยไม่ชอบธรรมจะก่อให้เกิดวิญญาณแห่งการฉวยโอกาส ขูดรีด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนา และยังเป็นการครอบครองทรัพย์สมบัติของผู้อื่นโดยไม่มีสิทธิ์ ส่วนมากก็เป็นสาเหตุแห่งการพิพาทและการเป็นศัตรูกัน และในที่สุดก็เกิดอาชญากรรมที่ทารุณโหดร้ายที่สุด นอกจากนั้นยังเป็นการใช้เงินไปในหนทางที่ชั่วร้ายเลวทราม แทนที่จะใช้ไปในโครงการที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะนำความสันติสุขและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศชาติ
ท่าทีของอิสลามที่มีต่อการหารายได้โดยไม่ชอบธรรม
อิสลามได้ต่อต้านการหารายได้โดยไม่ชอบธรรม และได้วางโทษแก่ผู้ที่กระทำสิ่งดังกล่าวในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 188 ที่ว่า :
“และจงอย่าโกงกินทรัพย์สินของกันและกันในหมู่พวกเจ้าโดยมิชอบ (เท็จ)”
ท่านอุมัร อิบนุล ค็อฏฏ็อบ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เลยตรวจนับเงินของข้าหลวงของท่าน ก่อนจะแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้ เพื่อจะได้ตรวจสอบเงินที่เพิ่มขึ้นมาภายหลังจากที่ได้รับตำแหน่งแล้ว ซึ่งบางคนก็อ้างว่า เงินที่ได้เกินมานั้นได้มาจากการค้าขายบ้าง แต่ท่านก็ไม่ยอมรับข้ออ้างของคนเหล่านั้น
ท่านได้เคยใช้ให้พวกเขาเหล่านั้นกลับเข้ามาในเมืองในตอนกลางวัน เพื่อที่จะมองเห็นสิ่งของสัมภาระที่คนเหล่านั้นบรรทุกกลับมา ท่านได้สั่งให้ยามรักษาการณ์ตามด่านต่าง ๆ คอยสอดส่องดูแลด้วย ท่านได้กล่าวแก่บรรดาข้าหลวงว่า : “เราส่งพวกท่านไปเป็นข้าหลวง ปกครองดูแลประชาชน มิใช่ส่งไปเป็นพ่อค้า”
ที่มา : วารสารสายสัมพันธ์ มีนาคม - เมษายน 2560