สิ่งต่างๆที่สะอาด
  จำนวนคนเข้าชม  3152

สิ่งต่างๆที่สะอาด

 

.ฮาซัน เจริญจิตต์

 

ความสะอาด 

 

          ในหนังสือฟิกฮฺทั่วไปบรรดานักนิติศาสตร์อิสลามต่างวางเรื่องความสะอาดไว้ก่อนเรื่องการละหมาดเสมอ เนื่องจากความสะอาดเป็นกุญแจสู่การละหมาดและเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การละหมาดถูกต้อง

 

          ฮะดีษศอเฮี๊ย ฮะซัน บันทึกโดย อะบูดาวูด ติรมีซีและอิบนุมายะฮฺ จากท่านอาลีย์ อิบบิอะบีตอลิบรอฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านรอซูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

مفتاح الصلاة الطهور،وتحريمها التكبير، وتحليلها التسليم

 

ความสะอาดเป็นกุญแจของการละหมาด เข้าสู่การต้องห้าม(ละหมาด)ด้วยการตักบีร และอนุญาต(ออกจากละหมาด)ด้วยการสล่าม

 

     ความสะอาดในความหมายทางศาสนา หมายถึง การสะอาดจากนะญาซะฮฺ(สิ่งสกปรก)ทั้งที่สัมผัสได้(คอบัษ) และทั้งที่เป็นสภาวะการ(หะดัษ)

 

          คอบัษ(  الخبث) คือสิ่งสกปรกตามที่ศาสนากำหนด

          หะดัษ( الحدث )  คือสภาพการที่เกิดขึ้นกับบุคคลและศาสนาถือว่าไม่สะอาด หรือทำให้สภาพที่ศาสนาถือว่าบุคลนั้นสะอาดหมดไป

 

      ความสะอาดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นทางรูปธรรมคือความสะอาดของร่างกาย เสื้อผ้าและสถานที่ละหมาดจากนายิส(สิ่งสกปรก)ต่างๆ หรือในทางนามธรรม ก็คือความสะอาดของอวัยวะที่จำเป็นต้องอาบน้ำละหมาดจากฮะดัษและความสะอาดของอวัยวะทั้งหมดจากญะนาบะฮฺ  อัลลอฮฺ-ซุบฮานะฮูวะตะอาลา-ตรัสว่า

 

 إن الله يحب التوابين ويحب المتطهرين    البقرة/222

 

แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงรักบรรดาผู้กลับเนื้อกลับตัวและทรงรักบรรดาผู้ทำตนให้สะอาด

 

 فيه رجال يحبون أن يتطهروا والله يحب المتطهرين     التوبة /108

 

ใน(มัสยิด)นั้นมีคณะบุคคลที่ชอบจะชำระตัวให้สะอาดบริสุทธิ์ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักบรรดาผู้ที่ชำระตัวให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ

 

          การทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้าและสถานที่จากสิ่งสกปรกนั้นเป็นวาญิบ(จำเป็น) ด้วยดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

 

 وثيابك فطهر   المدثر / 4     และเสื้อผ้าของเจ้า จงทำความสะอาด

 

 أن طهرابيتي للطائفين والعاكفين والركع السجود     البقرة/ 125

 

     “เจ้าทั้งสอง(อิบรอฮีมและอิสมาอีล)จงทำความสะอาดบ้านของข้า เพื่อบรรดาผู้ทำการฏอวาฟ และบรรดาผู้ทำการเอียะติกาฟ และบรรดาผู้ที่ทำรุกัวะและสุยูด

 

 

เงื่อนไขที่ทำให้การทำความสะอาดเป็นวาญิบ 

 

          การทำความสะอาดเป็นสิ่งจำเป็น(วาญิบ)สำหรับผู้ที่การละหมาดถูกบังคับสำหรับเขา ซึ่งมีด้วยเงื่อนไขดังต่อไปนี้

 

     1. นับถือศาสนาอิสลาม คือเป็นมุสลิม ไม่บังคับแก่ผู้ปฏิเสธ (กาเฟร)

     ส่วนผู้ที่ตกศาสนา(ตกมุรตัด)แล้วกลับตัวมารับอิสลามใหม่ นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ต้องใช้ละหมาดในระยะที่เขาตกมุรตัดอยู่

 

     2. ต้องมีสติสมบูรณ์ ไม่บังคับเรื่องการทำความสะอาดแก่ผู้เสียสติ วิกลจริต ฟั่นเฟือน สลบหรือเป็นลมหมดสติ นอกจากจะฟื้นขึ้นมาในขณะที่ยังอยู่ในเวลาละหมาด ส่วนผู้ที่สติสัมปชัญญะพร่องอันเนื่องจากความเมายังจำเป็นต้องทำความสะอาด

 

     3. บรรลุศาสนภาวะ ซึ่งมีเครื่องหมายบ่งชี้ดังต่อไปนี้

3.1 การฝันถึงการมีเพศสัมพันธ์เป็นครั้งแรก

3.2 เริ่มมีขนในที่ลับ

3.3 มีประจำเดือน

3.4 มีการตั้งครรภ์

3.5 อายุถึงกำหนด 

 

     4. หมดจากเลือดประจำเดือนหรือเลือดหลังคลอดบุตร

 

     5. เข้าเวลาละหมาด

 

     6. ไม่นอน

 

     7. ไม่ลืม

 

     8. ไม่ถูกบังคับ ผู้ที่นอนหลับ ผู้ที่ลืม ผู้ที่ถูกบังคับ จำเป็นต้องชดใช้ในสิ่งที่ขาดไปในช่วงเวลานั้น

 

     9. ต้องมีน้ำหรือดินสะอาด  สำหรับผู้ที่ไม่มีน้ำหรือฝุ่นดินสำหรับทำความสะอาด มีทรรศนะว่าให้ละหมาดไปก่อนเพื่อรักษาวายิบแล้วชดใช้ภายหลัง บางทรรศนะก็บอกว่าไม่ต้องชดใช้ บางความเห็นบอกว่าไม่ต้องละหมาดแต่ไปชดใช้ในภายหลัง ซึ่งจะได้อธิบายในรายละเอียดต่อไป

 

     10. ปฏิบัติอย่างสุดกำลังความสามารถ

 

 

สิ่งต่างๆที่สะอาด

 

     เราได้ทราบไปแล้วจากบทเรียนที่ผ่านมาถึงความสำคัญและความจำเป็นของการทำความสะอาด ตลอดจนเงื่อนไขและข้อตัดสิน(ฮุกุ่ม)ต่างๆของการทำความสะอาด สำหรับในบทนี้เราจะมาทำความเข้าใจในประเด็นของสิ่งต่างๆที่นับว่าเป็นสิ่งที่สะอาดตามที่ศาสนากำหนดและรวมถึงทรรศนะ และข้อวินิจฉัยต่างๆของบรรดานักวิชาการในประเด็นต่างๆเหล่านั้น

 

   1. สิ่งที่นับว่าเป็นสิ่งที่สะอาดอันดับแรกก็คือมนุษย์ ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตแล้วก็ตาม อัลลฮฺ-อัซซะวะญัลลฺตรัสว่า

 

ولقدكرمنا بني آدم }الإسراء/ 80   และแน่แท้เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอาดัม(มนุษย์)”

 

ส่วนพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า

إنما المشركون نجس } التوبة/ 28   แท้จริงบรรดามุชริก(ผู้ตั้งภาคี)นั้นโสมม

 

          เป้าหมายของอายะฮฺนี้นั้นไม่ได้หมายถึงความสกปรกทางร่างกายเช่นความสกปรกของหมู หรือสุนัข แต่หมายถึงความความโสมมในการเชื่อถืออย่างเลอะเทอะงมงายของพวกเขาและการบูชาเจว็ดรูปปั้น ตลอดจนการดื้อด้านต่อคำเชิญชวนของพระผู้เป็นเจ้า

 

 

   2. พื้นดินและส่วนต่างๆของดิน และแร่ธาตุต่างๆ เช่นทอง เงิน ทองแดง ตะกั่ว เหล็ก ฯลฯ 

 

          และพืชพรรณทั้งหมดแม้จะเป็นสิ่งเสพติดก็ตาม ทั้งสิ่งที่ทำให้สติบกพร่อง ลดลงหรือเปลี่ยนแปลงโดยไม่ทำให้หมดความรู้สึกสัมผัส เช่น กัญชา ฝิ่น กระท่อม หรือสิ่งที่ทำให้หมดสติและความรู้สึก เช่นยาสลบ หรือแม้แต่สิ่งที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่นพืชมีพิษต่างๆ พืชต่างๆเหล่านี้ล้วนสะอาดแต่ต้องห้าม(หะรอม)ที่จะใช้มันสำหรับพืชมี่ทำลายสติ หรือทำลายความรู้สึกหรือเป็นอันตรายต่อร่างกาย

          สิ่งที่เป็นน้ำหรือของเหลวจากพืชก็นับว่าสะอาด เช่นน้ำมัน น้ำอ้อย น้ำดอกไม้ น้ำหอม น้ำส้ม น้ำต่างๆเหล่านี้ถ้ามาจากพืชที่เป็นของแข็งที่สะอาดก็ถือว่าสะอาดตราบใดที่ไม่มีนะยิส(สิ่งสกปรกไปปนเปื้อนมัน)

 

 

   3. น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย น้ำมูก ของสิ่งมีชีวิต

 

          ความเห็น  มัซฮับชาฟิอีย์ เห็นว่าสิ่งเหล่านี้สะอาดหากว่าเป็นของสัตว์ที่สะอาด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่อนุญาตให้กินเนื้อหรือไม่ก็ตาม  และชาฟิอียะฮฺยังเห็นว่า พิษงู หรือพิษแมลงป่องก็สะอาด

 

           ส่วนมัซฮับมาลิกีย์ ให้ความหมายของน้ำลายว่าคือสิ่งที่ไหลออกมาจากปาก ทั้งในขณะที่ตื่นหรือนอนหลับ นับว่าสะอาดโดยไม่มีการโต้แย้ง ส่วนสิ่งที่ไหลย้อนมาจากกระเพาะสู่ปากถือว่าเป็นนะยิส และจะรู้ได้จากการเปลี่ยนสี และกลิ่นของมันเช่นกลายเป็นสีเหลืองหรือมีกลิ่นเหม็นถ้าเป็นเช่นนั้นก็จำเป็นต้องขจัดมันออกไป แต่ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ต้อง

 

          มัซฮับฮัมบะลีย์  กล่าวว่า น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย น้ำมูกของสัตว์นั้นสะอาด โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นสัตว์ที่มีขนาดเท่าแมวหรือเล็กกว่าแมวโดยธรรมชาติ และต้องไม่คลอด(เกิด)มาจากสัตว์ที่เป็นนะยิส

 

 

   4. ใข่(ที่ไม่เน่า) และนม ของคนหรือของสัตว์ที่กินเนื้อได้ ส่วนตัวของมันนั้นสะอาดตามธรรมชาติ ยกเว้นบางชนิด ตามรายละเอียดดังนี้

 

          ความเห็น   มัซฮับชาฟิอีย์และฮัมบาลีย์ กล่าวว่ายกเว้นหมูและหมา และสิ่งที่คลอดจากมันทั้งสอง หรือคลอดจากมันทั้งสองกับสัตว์ชนิดอื่น และมัซฮับฮัมบะลีย์เพิ่มสัตว์ที่กินเนื้อไม่ได้ที่มีขนาดใหญ่กว่าแมวตามธรรมชาติ

 

           ฮานะฟีย์ บอกว่าไม่มี่สัตว์ใดเป็นนะยิสเลย นอกจากหมูอย่างเดียว

 

          มาลิกีย์ เห็นว่าสัตว์ทุกชนิดนั้นสะอาด

 

 

   5. เสลด เสมหะ น้ำเหลือง

 

 

    6. น้ำดีของสัตว์ที่อนุญาตให้กินเนื้อได้หลังจากการเชือดอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา และถุงน้ำดีก็สะอาด มัซฮับชาฟิอีย์ กล่าวว่าน้ำดีเป็นนะยิสและทำให้ถุงน้ำดีเป็นนะยิสไปด้วย แต่ทำให้มันสะอาดได้ด้วยการล้างมัน เช่นเดียวกับกระเพาะของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ถ้าหากว่าสิ่งที่อยู่ภายใน(สิ่งที่สัตว์กินเข้าไป)เป็นนะยิส มันก็จะถูกทำให้เป็นนะยิสไปด้วย

 

 

   7. สัตว์น้ำ ครึ่งบกครึ่งน้ำแม้ว่าจะมีชีวิตอยู่บนบกยาวกว่าในน้ำก็ตาม เช่นจระเข้ กบ เต่าหรือแม้แต่จะมีรูปร่างเหมือนหมู สุนัข หรือคนก็ตาม ไม่ว่าจะตายน้ำหรือขึ้นมาตายบนบกก็ตาม ไม่ว่าจะตายเองหรือมีสาเหตุอื่นมาทำให้ตายก็เช่นเดียวกันยังถือว่าสะอาด แต่ชาฟิอีย์ ยกเว้น จระเข้ กบ และงู นอกจากนี้สัตว์น้ำทั้งหมดถือว่าสะอาด

 

 

   8. เหล้าเมื่อมันกลายเป็นน้ำส้ม ถือว่าสะอาด

 

          ความเห็น  มัซฮับมาลิกีย์ กล่าวว่า เหล้าเมื่อกลายเป็นน้ำส้มนั้นสะอาด แม้ว่าจะเกิดจากการกระทำ(เร่งปฏิกิริยาการเป็นน้ำส้ม)ก็ตามถ้าไม่มีนะยิสตกลงไปก่อนที่มันจะกลายเป็นน้ำส้ม และภาชนะบรรจุมันก็สะอาด

 

          มัซฮับฮานะฟีย์ กล่าวว่าเหล้าเมื่อกลายเป็นน้ำส้มนั้นสะอาด ภาชนะที่บรรจุก็สะอาด เนื่องจากลักษณะของความเป็นเหล้าได้หายไป นั่นคือความขมและความมึนเมา อนุญาตให้เร่งการเป็นน้ำส้ม แม้จะด้วยวิธีการเติมสิ่งใดๆลงไปเช่นเกลือหรือน้ำ  หรือแม้แต้การจุดไฟ และเมื่อเหล้าผสมกับน้ำส้มแล้วเปลี่ยนเป็นมีรสเปรี้ยวถือว่าสะอาดถึงแม้จะมีปริมาณเหล้ามากกว่าน้ำส้มก็ตาม ถ้าหากว่ามีหนูตกลงไปในน้ำองุ่น แล้วนำมันออกมาก่อนที่จะเปื่อยหรือละลายปนกันไป แล้วทิ้งน้ำองุนนั้นไว้จนกลายเป็นเหล้าและทิ้งไว้จนกลายเป็นน้ำส้มถือว่าสะอาด

 

          มัซฮับชาฟิอีย์  กล่าวว่า เหล้าที่กลายเป็นน้ำส้มนั้นจะไม่สะอาดนอกจากจะกลายเป็นน้ำส้มด้วยตัวมันเอง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่มีนะยิสตกลงไปก่อนที่จะกลายเป็นน้ำส้ม แม้ว่าจะรีบนำนะยิสออกโดยทันทีก็ตาม และต้องไม่นำสิ่งที่สะอาดเติมลงไปเพื่อเร่งการเป็นน้ำส้ม ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกมาได้เช่นเป็นน้ำ น้ำก็จะกลายเป็นนะยิสเพราะเหล้า ทั้งหมดก็จะกลายเป็นนะยิส ก็จะเข้าข่ายมีนะยิสลงไปเจือปนทำให้มันไม่สะอาด แต่ถ้าเป็นสิ่งสะอาดที่สามารถแยกออกมาได้เช่นเม็ดองุ่นเล็กๆตกลงไป เมื่อเหล้ากลายเป็นน้ำส้มมันก็สะอาดทำให้เม็ดองุ่นนั้นสะอาดตามมันไปด้วยเหมือนกรณีภาชนะที่บรรจุ  

 

          มัซฮับฮัมบาลีย์  เหล้าเมื่อกลายเป็นน้ำส้มด้วยตัวของมันเองนั้นถือว่าสะอาด แม้ว่าจะมีการย้ายที่จากที่แดดสู่ที่ร่ม หรือที่ร่มไปที่แดด หรือเปลี่ยนภาชนะบรรจุโดยไม่มีเจตนาเพื่อเร่งการเป็นน้ำส้ม และต้องไม่มีนะยิสตกลงไปก่อนจะกลายเป็นน้ำส้ม

 

 

   9. สัตว์กินเนื้อได้ที่ถูกเชือดตามหลักศาสนา

 

 

   10. ผมหรือขน ขนสัตว์ ขนอ่อน ขนนก จากสัตว์ที่กินเนื้อได้หรือกินเนื้อไม่ได้ทั้งขณะที่ยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้วที่ติดอยู่ที่ตัวมัน หรือที่ร่วงหลุดออกมา โดยไม่ใช่การดึงหรือถอนมัน

 

           ความเห็น มัซฮับมาลิกีย์ กล่าวว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดของสัตว์ทุกชนิดนั้นสะอาด ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์กินเนื้อได้หรือไม่ได้ก็ตาม แม้กระทั่งหมูหรือหมาไม่ว่าจะร่วงหลุดออกมาหรือยังติดอยู่กับตัวมัน โดยไม่ใช่การถอนมันออกมาหรือดึงหรือโกน ถ้าหากว่าถอนมันออกมาส่วนโคนของมันจะเป็นนะยิส ส่วนที่เหลือ สะอาด

 

           ชาฟิอีย์ กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ถ้าเป็นของสัตว์ห้ามกินเนื้อที่ยังเป็นๆถือว่านะยิส ถ้าเป็นสัตว์กินเนื้อได้เป็นๆถือว่าสะอาด นอกจากขนที่เกิดจากการถอน ถ้าหากส่วนโคนของมันเปียกหรือมีเลือด หรือมีเศษเนื้อติดออกมาด้วยส่วนโคนของมันเป็นนะยิสส่วนที่เหลือถือว่าสะอาด ถ้าเนื้อทุหลุดออกมาจากการถอนชิ้นใหญ่ถือว่ามันเป็นนะยิสทั้งชิ้น

 

                มัซฮับฮัมบาลีย์ ถือว่าสิ่งเหล่านี้ถ้าหลุดมาจากสัตว์ที่อนุญาตให้กินเนื้อขณะยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้วถือว่าสะอาด หากว่าจะมาจากสัตว์ที่ห้ามกินเนื้อแต่มีข้อตัดสินขณะมันยังมีชีวิตว่าสะอาด-ในทรรศนะของมัซฮับนี้ก็คือมีขนาดเท่าแมวหรือเล็กกว่า และไม่ได้เกิดจากนะยิส-ก็ถือว่าสะอาด ส่วนโคนของขนเหล่านี้ที่ติดอยู่กับผิวหนังของสัตว์ที่เสียชีวิตถือเป็นนะยิสแม้จะไม่หลุดออกมา ส่วนโคนที่ติดกับผิวหนังของสัตว์มีชีวิตที่สะอาดถือว่าสะอาด นอกจากขนที่ถูกดึงออกมาส่วนโคนถือเป็นนะยิส ส่วนที่เหลือสะอาด

 

 

อัลลอฮทรงรู้ดีที่สุดถึงความถูกต้อง   والله أعلم بالصواب