ความรู้ ต้องควบคู่กับ การรับรู้คำตักเตือน
อ.ยะห์ยา หัสการณ์บัญชา
การศึกษาความรู้(ตะอ์ศีล)ต้องควบคู่กับการรับรู้คำตักเตือน(ตะห์ซีร)
เรื่องการเรียนรู้คำสอนศาสนา(ตะอ์ศีล) ในภาคบังคับ คือเรื่องที่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนที่เป็นมุกัลลัฟ(บรรลุศาสนภาวะและมีสติปัญญาปกติดี) เพื่อจะได้มีความรู้ศาสนาในระดับที่ศาสนาบังคับให้เรียนรู้และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้รวมถึงบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดในการเป็นมนุษย์ ก็คือสามารถใช้ในการเคารพบูชาอัลลอฮ์เพียงองค์เดียวด้วยการปฏิบัติความดีเพื่อสะสมไว้เป็นเสบียงในโลกหน้า นี่คือเป้าหมายหลักของการเรียนรู้เรื่องนี้ครับ
เรื่องการรับรู้คำชี้แจงของปราชญ์อาวุโสที่มีต่อครูอาจารย์และนักทำงานศาสนาที่หลงผิดหรือเอนเอียง (ตะห์ซีร)ก็เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อจะได้ออกห่างจากคนไม่ดีและคนพาหลง รวมถึงทำให้รู้ว่าเราจะต้องศึกษาเรียนรู้ศาสนาได้จากใครบ้าง?
นี่คือเป้าหมายหลักของการรับรู้เรื่องนี้ แต่ทุกคนจะเลือกแค่อย่างใดอย่างเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ศึกษาศาสนาโดยตรง หรืออยู่ระหว่างทางของการศึกษา จะต้องให้ความเอาใจใส่การเรียนทั้งสองอย่างนี้ เพราะการจดจ่ออยู่กับการศึกษาเรียนรู้เรื่องใดเพียงด้านเดียว ย่อมทำให้ชีวิตห่างไกลจากหนทางอันถูกต้อง ยังไงหรือ ?
คือ หากว่าคนๆหนึ่งจดจ่ออยู่กับการเรียนความรู้ศาสนาเพียงอย่างเดียวโดยไม่รับรู้เรื่องสถานภาพของนักทำงานศาสนาในสังคมเลย มันก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเกิดความบกพร่องต่อสังคม เช่นไปรับรองคนทำงานศาสนาที่พาหลงว่าเป็นคนดี ว่าเขาอยู่ในแนวทางอันถูกต้อง ไปตำหนิคนที่เตือนสังคมว่าเป็นพวกจ้องจับผิดผู้อื่นในสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะการไม่เอาใจใส่เรื่องตะห์ซีรนั่นเอง
และในอีกด้าน หากว่าคนๆหนึ่งจดจ่ออยู่กับการรับรู้ว่านักทำงานคนไหนในสังคมที่หลงผิดและพาคนอื่นหลงผิด จนกระทั่งรู้ดีว่าใครเป็นใครในสังคม แต่ตัวเองกลับไม่เคยพยายามศึกษาเรียนรู้ความรู้ศาสนาภาคบังคับสำหรับตนเองเลย เช่น
บางคนทำน้ำละหมาดยังไม่ถูกต้องมาเป็นสิบปี
บางคนถือศีลอดโดยไม่รู้ข้อห้ามพื้นฐาน
บางคนอ่านอัลกุรอ่านไม่เป็น
บางคนอ่านเป็นแต่ไม่พยายามไปศึกษาความหมายของอัลกุรอานเลย ละหมาดทุกวันแต่ไม่เคยรู้เลยว่าซูเราะห์อัลฟาติฮะห์สอนอะไรเราบ้าง
บางคนพอมีการสอนหลักศรัทธาอิสลามไม่ชอบเรียน แต่ชอบไปจดจ่ออยู่กับการรับรู้ว่าใครในสังคมเป็นยังไง ทั้งๆ ที่เรื่องศาสนาขั้นพื้นฐานที่เป็นภาคบังคับยังศึกษาไม่พอเลยด้วยซ้ำ ฯลฯ
ฉะนั้นจากที่กล่าวมาทั้งหมด เราผู้เป็นมุสลิม บ่าวของอัลลอฮ์ ผู้พยายามยึดมั่นยืนหยัดในแนวทางที่เที่ยงตรง ก็จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทั้งสองแบบที่ว่ามานี้ควบคู่กัน อย่าเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วละทิ้งอีกอย่างหนึ่ง เพราะมันจะทำให้ชีวิตของเราไม่ได้ตั้งมั่นตามที่อัลลอฮ์ทรงประสงค์ในการสร้างเราขึ้นมา
เพราะพระองค์ตรัสว่า
((وما خلقت الجن والإنس إلا ليعبدون))
“และข้ามิได้สร้างญินและมนุษย์มาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเคารพบูชาข้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น”
บางครั้งสิ่งที่ทำให้คนๆหนึ่งหันเหออกจากแนวทางที่ถูกต้องก็มาจากการใช้สติปัญญาพิจารณาผิดที่ผิดทาง เช่น
เมื่อเราเตือนคนๆหนึ่งว่านักทำงานสอนศาสนาคนหนึ่งเผยแพร่สิ่งที่ผิด หรือมีจุดยืนในการทำงานที่ขัดกับแนวทางสลัฟ แทนที่จะตอบกลับมาว่า ไม่จริงนะ เขาไม่ได้เผยแพร่สิ่งผิดและไม่ได้มีจุดยืนขัดกับแนวทางสลัฟตรงไหนเลย พร้อมกับชี้แจงพร้อมหลักฐาน 1,2,3,4 ... แต่สิ่งที่คนๆนั้นตอบเรากลับมาก็คือ เขาไม่เคยว่าคุณหรือใส่ร้ายคุณลับหลังเลยนะ !! ซึ่งมันคือการใช้สติปัญญาไม่ถูกที่ถูกทาง จนทำให้เขามองไม่เห็นความจริงที่เราพยายามจะเตือนเขาไป
อีกตัวอย่างหนึ่งในการใช้สติปัญญาผิดที่ผิดทาง
เวลาที่เราเตือนคนๆหนึ่งว่า นักทำงานศาสนาคนนี้เขาเผยแพร่สิ่งที่ผิดในสังคม เขาร่วมมือกับพวกหลงผิดในการสอนศาสนาให้สังคมซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อแนวทางของท่านนบีมุฮัมมัดที่ชาวสลัฟดำเนินรอยตาม แทนที่เขาจะตอบว่า ใช่ ในกรณีที่เข้าใจและรับฟัง หรือถ้าไม่เห็นด้วยและไม่รับฟังก็ต้องชี้แจงปกป้องพร้อมหลักฐานว่าเขาไม่ได้ผิดอย่างไร 1234 ...แต่สิ่งที่คนๆนั้นตอบกลับมาก็คือ แต่เขา(นักทำงานศาสนาคนนั้น)ก็สร้างประโยชน์ให้สังคมมากมายนะ เอาเรื่องพวกนั้นมาหักล้าง และให้อภัยเขาในเรื่องนี้ที่ผิดพลาดสิ แล้วคุณทำอะไรให้สังคมได้เหมือนเขามั้ย ....นี่เป็นการใช้สติปัญญาผิดที่ผิดทางในอีกเรื่องเช่นกัน
ฉะนั้นหากเราใช้สติปัญญาพิจารณาหรือใคร่ครวญผิดที่ผิดทางมันก็จะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เรามองไม่เห็นความจริง จนปฏิเสธคำเตือนนั้น แล้วหันเหออกจากแนวทางที่ถูกต้องได้
ขออัลลอฮ์ทรงปกป้องคุ้มครองเราให้รอดพ้นจากพฤติกรรมเช่นนี้ด้วยเถิด....อามีน