เริ่มด้วยการตักเตือน
  จำนวนคนเข้าชม  1882

เริ่มด้วยการตักเตือน

 

อ.ยะห์ยา หัสการณ์บัญชา

 

          เมื่อพบคนทำผิดให้เริ่มด้วยการตักเตือนไม่ใช่เริ่มด้วยการออกห่างจากเขาโดยไม่พยายามชี้แจง แม้จะประเมินหรือคาดการณ์ว่าคนทำผิดไม่น่าจะรับฟังคำเตือนก็ตาม ก็จะต้องเตือนก่อนเพราะศาสนาสั่งใช้ให้ตักเตือน

 

     - โดยหากคนที่ทำผิดเป็นผู้น้อย ก็ให้ตักเตือนเขาด้วยความเอ็นดูเมตตาเขาเหมือนที่เราเอ็นดูเมตตาลูกหลานของเรา

     - หากคนที่ทำผิดเป็นผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ก็ให้ตักเตือนเขาด้วยความรักและสุภาพต่อเขาเหมือนที่เรารักและสุภาพกับผู้ใหญ่หรือคนอาวุโสที่เป็นคนในครอบครัวของเรา

          แต่ถ้าตักเตือนแล้ว คนทำผิดยังดื้อรั้น ดึงดันจะทำต่อไป ก็ให้เราออกห่างจากเขา พร้อมกับเตือนเขาเป็นระยะเท่าที่มีความสามารถ พร้อมกับดุอาให้อัลลอฮฺเมตตาและเปิดใจเขา

 

     เพราะท่านนบีได้กล่าวว่า "ผู้ใดที่เห็นความผิดจงเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือ(การกระทำ)เถิด ถ้าไม่สามารถทำได้ให้เปลี่ยนแปลงด้วยลิ้น(คำพูด) และหากไม่สามารถทำได้ให้รังเกียจความผิดนั้นด้วยหัวใจ ซึ่งมันคืออีมาน(ความศรัทธา)ที่อ่อนที่สุด"

 

          ตรงนี้มีข้อสังเกตว่า ท่านนบีบอกว่าเมื่อเห็นความผิดให้เปลี่ยนแปลง นบีไม่ได้บอกให้เริ่มด้วยการออกห่างหนีหน้า หรือละทิ้งคนทำผิดและความผิดนั้น เพราะการยับยั้งคนทำผิดหรือคนล่วงละเมิดด้วยวิธีต่างๆ เช่น การตักเตือน นั้นก็คือการช่วยเหลือเขา

 

     ดังที่ท่านนบีได้กล่าวว่า "จงช่วยเหลือพี่น้องของท่านทั้งผู้ที่ล่วงละเมิดและผู้ที่ถูกล่วงละเมิด" 

          (ช่วยคนที่ล่วงละเมิดผู้อื่นด้วยการยับยั้งเขาไม่ให้ไปอธรรมต่อคนอื่น และช่วยเหลือผู้ที่ถูกล่วงละเมิดด้วยเช่นกัน) เพราะการกระทำนี้มันคือสิ่งที่แสดงออกถึงความจริงใจต่อมุสลิมด้วยกัน

 

          ลองคิดดูว่าถ้าคนที่ทำผิดนั้นเป็นคนในครอบครัวเรา เช่น พ่อ แม่ หรือสามี/ภรรยา และลูก เราจะออกห่างเขาทันทีโดยไม่รับฟังหรือชี้แจงอะไรแก่เขาเลย หรือจะเดินเข้าไปตักเตือนเขา?

 

     ที่ท่านนบีได้กล่าวว่า "ศาสนาคือความจริงใจ"

 

          ซึ่งความจริงใจต่อพี่น้องมุสลิมนั้นก็คือการตักเตือนกันเมื่อทำผิดหลักศาสนา และสนับสนุนกันเมื่อทำสิ่งที่ศาสนาสั่งใช้และส่งเสริม ไม่ว่าจะด้วยความรู้และทรัพย์สิน

 

   ♦ คนมีความรู้ให้สอน

   ♦ คนไม่มีความรู้แต่มีทรัพย์สินเพียงพอก็ให้บริจาคช่วยเหลือการทำงานศาสนา 

   ♦ และคนสอนศาสนาในกรณีที่คนสอนลำบากและมีความจำเป็น คนที่ไม่มีทั้งความรู้และทรัพย์สินก็ให้เรียนและขอดุอาให้คนสอน

 

          ถ้าแต่ละคนรู้หน้าที่และบทบาทของตนเองในสังคม ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้สังคมเราดีขึ้นมาได้ อาจจะไม่มากมายหรือในทันทีแต่มันจะมีผลดีไม่ว่าในระยะสั้นหรือในระยะยาว

 

 

วัลลอฮ์ อะอ์ลัม