ละหมาดของเราเพื่ออะไร ?
  จำนวนคนเข้าชม  5301

ละหมาดของเราเพื่ออะไร ?

 

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

         ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา ก็คือมีความยำเกรงต่อพระองค์ เพราะการยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้น หากมีอยู่ในหัวใจของเราแล้ว มันก็จะเป็นเสมือนกำแพงที่ขวางกั้นเรา ไม่ให้ทำสิ่งที่เป็นมะอฺศิยะฮฺ สิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และมันก็จะเป็นแรงผลักดันเราให้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นอะมัลเศาะลิหฺต่างๆ ซึ่งผลสุดท้ายของการที่เรามีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั่นก็คือ การที่เราได้ปกป้องตัวของเราเองให้รอดพ้นจากการถูกลงโทษในไฟนรกของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ และเรายังได้รับชีวิตที่ดีงามในโลกดุนยานี้ และในโลกอาคิเราะฮฺเราก็จะได้รับรางวัลตอบแทนด้วยสวนสวรรค์ของพระองค์ และสิ่งพิเศษมากมายที่อยู่ภายในสวนสวรรค์นั้น

 

     ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในอัลกุรอานซูเราะฮฺฏอฮา อายะฮฺที่ 14อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประกาศพระองค์เองว่า

 

إِنَّنِي أَنَا اللَّهُ لَا إِلَٰهَ إِلَّا أَنَا فَاعْبُدْنِي وَأَقِمِ الصَّلَاةَ لِذِكْرِي

แท้จริง ข้าคืออัลลอฮฺ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดอีกแล้วนอกจากข้าเท่านั้น

ดังนั้นเจ้าจงเคารพอิบาดะฮฺต่อข้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น และจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาดเพื่อรำลึกถึงข้า

 

          พระองค์ทรงสั่งว่า فَاعْبُدْنِي เจ้าจงเคารพอิบาดะฮฺต่อข้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น หมายถึงให้เราทำอิบาดะฮฺ ทำอะมัลเศาะลิหฺต่างๆ ทำทุกอย่างที่ศาสนาบัญญัติไว้เพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียวเท่านั้น นั่นคือทำอย่างอิคลาศ ทำอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ให้มีชิริก ไม่ให้มีภาคีใด ๆทั้งสิ้น ทำโดยไม่โอ้อวดใคร ๆ ไม่เคารพสักการะสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น รวมถึงไม่ยกสิ่งอื่นใดหรือยกใครๆ มาเทียบเคียงกับพระองค์ และไม่เอาความคิดเห็นของคนใดคนหนึ่งมายึดถือ มาปฏิบัติเทียบเคียงกับคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วย เมื่อได้เคารพอิบาดะฮฺต่อพระองค์องค์เดียวแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงสั่งต่อไปว่า

 

وَأَقِمِ الصَّلَاةَ لِذِكْرِي

และ(เจ้าก็)จงดำรงไว้ซึ่งการละหมาดเพื่อรำลึกถึงข้า

 

          “อะกิม” أَقِمِ คือจงดำรงไว้ จงยืนหยัดไว้ซึ่งอัศเศาะลาฮฺ” الصَّلَاةَ การละหมาด อันเป็นการละหมาดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงกำหนดไว้ ...การละหมาดที่ได้ทรงกำหนดไว้หมายถึง การละหมาดที่ได้ถูกกำหนดเวลาไว้อย่างแน่นอน ...การละหมาดที่ได้ถูกกำหนดรูปแบบไว้อย่างแน่นอน เป็นการละหมาดที่ต้องทำตามแบบฉบับที่มาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเท่านั้น การละหมาดที่ไม่ตรงกับรูปแบบของท่านนบี จะไม่ถือว่าเป็นการละหมาดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงกำหนดไว้ และการที่พระองค์ทรงให้เราดำรงการละหมาด ยืนหยัดในการละหมาด ทำละหมาดให้ครบถ้วน لِذِكْرِي เพื่อรำลึกถึงพระองค์นั้น เพราะอะไร ?

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอันกะบูต ช่วงกลางของอายะฮฺที่ 45 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَأَقِمِ الصَّلَاةَ ۖ إِنَّ الصَّلَاةَ تَنْهَىٰ عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنكَرِ ۗ وَلَذِكْرُ اللَّهِ أَكْبَرُ ۗ

 

และจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด (เพราะ)แท้จริง การละหมาดนั้น มันจะระงับยับยั้งการกระทำที่ชั่วช้าลามก

ยับยั้งการกระทำที่มันละเมิดคำสั่งของพระองค์ และ(การละหมาดนั้น)มันเป็นการรำลึกถึงอัลลอฮฺอันยิ่งใหญ่มาก

 

          การที่เราดำรงการละหมาด ยืนหยัดในการละหมาด เราต้องทำให้การละหมาดของเราเป็นการละหมาดเพื่อรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะเมื่อเราทำให้การละหมาดของเราเป็นการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มันก็จะยับยั้งเราจากการละเมิดคำสั่งของพระองค์ มันจะป้องกันตัวเราจากการฝ่าฝืนบทบัญญัติของพระองค์ และการละหมาดถือเป็นการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอันยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่กว่าการประกอบอิบาดะฮฺอื่น ๆทั้งหมด

 

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันกิยามะฮฺ การละหมาดจะเป็นสิ่งแรกที่บ่าวของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะต้องถูกสอบสวน ..ถูกสอบสวนว่าได้ทำไหม ? ทำแล้วทำอย่างครบถ้วนไหม ? ทำแล้วทำอย่างถูกต้อง ดีงามหรือเปล่า ?

 

          อัลหะดีษ(صحيح )ในบันทึกของอิมามอัฏเฏาะบะรอนีย์ รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บินกุรฎฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«أَوَّلُ مَا يُحَاسَبُ بِهِ العَبْدُ يَوْمَ القِيَامَةِ الصَّلَاةُ ، فَإِنْ صَلَحَتْ صَلَحَ لَهُ سَائِرُ عَمَلِهِ ، وَإِنْ فَسَدَتْ فَسَدَ سَائِرُ عَمَلِهِ»

 

     “ในวันกิยามะฮฺ สิ่งแรกที่บ่าว(ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)จะต้องถูกสอบสวน(ในเรื่องระหว่างอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลากับตัวเรา)ก็คือ (เรื่องของ)การละหมาด

     หากว่าการละหมาดดี ถูกต้อง การงานอื่น ๆทั้งหมดของเขาก็ดีไปด้วย ..แต่หากว่าการละหมาดนั้นเสีย ไม่สมบูรณ์ การงานอื่น ๆทั้งหมดของเขาก็เสียไปด้วย

 

          นั่นคือในวันกิยามะฮฺ สิ่งแรกที่เราทุกคนจะต้องถูกสอบสวนอย่างแน่นอน และถูกสอบสวนเป็นลำดับแรกก็คือ เรื่องของการละหมาด มันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ทำให้เราต้องมาพินิจพิจารณาตรวจสอบตัวเรา สอบสวนตัวเราเสียก่อนว่า การละหมาดของเราที่เราทำอยู่ทุกวันนั้น มันดีหรือว่ามันเสีย 

          เพราะถ้าการละหมาดของเราดี ในวันกิยามะฮฺ เราก็ได้กำไร ทำให้เรารอดพ้นจากการถูกลงโทษ ทำให้การงานอื่น ๆของเราได้รับการตอบรับไปด้วย ..แต่ถ้าการละหมาดของเรามันเสีย ในวันกิยามะฮฺ การงานอื่น ๆของเราก็เสียไปด้วย เราก็ขาดทุน ต้องถูกลงโทษในไฟนรกทั้ง ๆที่เราก็ทำละหมาด แต่ละหมาดของเรามันเสียของ เป็นโมฆะ ...

          ด้วยเหตุนี้ เรามาดูการอธิบายของคนในยุคเศาะฮาบะฮฺ คนในยุคสะลัฟบางท่านที่เขาได้รับการถ่ายทอดมาจากท่านนบีว่า อย่างไรที่เรียกว่าการละหมาดดี และอย่างไรที่เรียกว่าการละหมาดเสีย

 

     ท่านอิบนิ อับบาส กับท่านอิบนิ มัสอู๊ด (เศาะฮาบะฮฺคนสำคัญของท่านนบี) บอกว่า 

     “ใครก็ตามที่ละหมาดแล้ว การละหมาดของเขาไม่ได้ทำให้เขาทำความดี ละหมาดแล้ว ยังไม่ทำสิ่งที่ศาสนาสั่งใช้ ..ละหมาดแล้ว การละหมาดของเขาไม่ได้ห้ามเขาจากการทำความชั่ว ละหมาดแล้วก็ยังไปทำความชั่ว ละหมาดแล้วก็ยังไปเล่นหวย เล่นการพนัน ละหมาดแล้ว ก็ยังไปนินทาว่าร้าย ใส่ร้าย คดโกง ลักขโมยคนอื่น

     ละหมาดแล้วก็ยังไปทำชิริก ทำบิดอะฮฺ ละหมาดแล้วก็ยังทำสิ่งที่มันผิดหลักการศาสนา ละหมาดของคนประเภทนี้แหละที่เรียกว่าละหมาดเสีย ซึ่งเขาจะไม่ได้อะไรเพิ่มเลย นอกจากการห่างไกลจากความเมตตาของอัลลอฮฺเท่านั้น

 

     ท่านหะซัน อัลบัศรีย์ กับท่านอัลเกาะตาดะฮฺ ( ชาวตาบิอีน คนสำคัญของอัลอิสลาม)บอกว่า 

     “ใครที่ละหมาดแล้ว การละหมาดของเขาไม่ได้ยับยั้งเขาจากการทำความชั่ว นั่นไม่ใช่การละหมาด 

     ท่านหะซันยังได้บอกต่อไปอีกว่า 

     “ในวันกิยามะฮฺ การละหมาดของเขาจะถูกปฏิเสธ ไม่ถูกตอบรับ กลายเป็นโมฆะ และการละหมาดที่เขาทำไว้ ที่มันเป็นโมฆะนั่นแหละ มันจะถูกโยน ถูกขว้างเข้าใส่ใบหน้าของเขา

 

     ส่วนท่านอบู อัลอาลิยะฮฺ (ชาวตาบิอีนคนสำคัญของอัลอิสลาม)บอกว่า

     การละหมาดที่ถูกเรียกว่า وَأَقِمِ الصَّلَاةَ لِذِكْرِي “จงดำรงไว้ซึ่งการละหมาดเพื่อรำลึกถึงข้าหรือ وَلَذِكْرُ اللَّهِ أَكْبَرُ ۗและ(การละหมาดนั้น)มันเป็นการรำลึกถึงอัลลอฮฺอันยิ่งใหญ่มากนั้น จะต้องประกอบไปด้วย 3 ส่วนอันได้แก่

 

     ส่วนที่หนึ่ง ในขณะที่ทำละหมาดอยู่นั้นเราจะต้องมีความอิคลาศ คือการมีความบริสุทธิ์ใจในการทำว่า ทำละหมาดเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียวเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาอื่นใดแอบแฝง ความอิคลาศจะผลักดันเราให้ทำละหมาดอย่างดีงาม สมบูรณ์ แต่งตัวละหมาดอย่างสะอาด สวยงาม แล้วมันก็จะเป็นแรงผลักดันให้เราทำความดี ทำอะมัลเศาะลิหฺอื่น ๆ

 

     ส่วนที่สอง ในขณะที่ทำละหมาดอยู่นั้นเราจะต้องมีคุชั๊วะอ์ คือการมีสมาธิ มีจิตใจมุ่งตรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มีความนอบน้อมในการละหมาดของเรา เมื่อมีคุชั๊วะอ์ เกิดขึ้นในหัวใจของเรา อวัยวะส่วนต่าง ๆของร่างกายเราก็จะสงบนิ่ง สายตาของเราก็จะลดต่ำลง เราจะยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แล้วเราก็จะไม่กล้าที่จะละเมิดคำสั่งของพระองค์ มันจึงเป็นสาเหตุทำให้เราระงับยับยั้งจากการทำความชั่ว

 

     ส่วนที่สาม มีซิกรุลลอฮฺ มีการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ในขณะที่กำลังละหมาดอยู่ ขณะที่เราอ่านอัลกุรอาน หรือฟังอิมามอ่านในตอนละหมาด การอ่านหรือการฟังด้วยใจที่อิคลาศ ด้วยใจที่คุชั๊วะอ์ และยิ่งเราอ่านหรือฟังด้วยความเข้าใจในความหมายของอัลกุรอาน มันจะทำให้ใจของเราเกิดซิกรุลลอฮฺ เกิดการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เมื่อนั้นแหละ การละหมาดของเราก็จะคุ้มครองเราให้พ้นจาก الْفَحْشَاءِ وَالْمُنكَرِ คือให้พ้นจากการกระทำที่ชั่วช้าลามก ยับยั้งการกระทำที่มันละเมิดคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจากช่วงเวลาหนึ่งไปสู่อีกช่วงเวลาหนึ่ง 

 

          นั่นก็หมายความว่า เมื่อเราละหมาดในสภาพที่มีอิคลาศ มีคุชั๊วะอ์ มีซิกรุลลอฮฺ มันจะไม่มีส่วนไหนที่จะปล่อยให้เราไปทำความชั่ว ทำมะอฺศิยะฮฺ ทำสิ่งที่มันละเมิดคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้เลย ท่านอบู อัลอาลิยะฮฺบอกว่า การละหมาดที่ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดจากสามส่วนนี้ ท่านบอกว่าละหมาดอันนั้นไม่ถือเป็นการละหมาด

 

          ดังนั้น เมื่อเราต้องการให้ละหมาดของเราดี เราก็ต้องตรวจสอบการละหมาดของเราอยู่เสมอว่า ละหมาดที่เราทำอยู่เป็นประจำนั้น มันใช่ละหมาดที่ لِذِكْرِي ไหม ? เป็นละหมาดที่ وَلَذِكْرُ اللَّهِ أَكْبَرُ ۗ ไหม ? เราต้องพยายามอย่าให้ละหมาดของเราเป็นละหมาดที่ทำแต่ท่าทาง ทำท่ารุกั๊วะอ์ ทำท่าสุญูด ทำด้วยความโอ้อวด เพราะการทำละหมาดเช่นนี้จะไม่ส่งผลให้เกิดการระงับยับยั้งตัวเองจากการทำความชั่ว 

          ถ้าเราละหมาดด้วยซิกรีย์ لِذِكْرِي ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มันจะส่งผลมาที่หัวใจของเรา ทำให้เรารู้สึกว่า มันเป็นเรื่องใหญ่นะที่เราจะไปทำสิ่งที่มันละเมิดคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มันจะคุ้มครองเราไม่ให้เราไปทำความชั่ว จากเวลาละหมาดหนึ่งไปสู่อีกเวลาหนึ่ง และเมื่อเราต้องทำละหมาดอย่างต่อเนื่อง เราจะเอาเวลาตอนไหนไปทำเรื่องที่มันผิดหลักการศาสนา ..

           ถ้าเราละหมาดด้วยซิกรีย์ لِذِكْرِي เราก็จะไม่ไปเล่นหวย ไม่ไปเล่นการพนัน เราก็จะไม่เห็นดีเห็นงามไปกับการทำชิริก เราก็จะห่างไกลจากการทำบิดอะฮฺ เมื่อไรที่เราสามารถระงับยับยั้งใจไม่ให้ทำสิ่งละเมิดคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ เมื่อนั้นแหละการทำความดี การทำอะมัลเศาะลิหฺต่าง ๆก็จะตามมา

 

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การตรวจสอบการละหมาดของเราก็คือ การมองเข้าไปในหัวใจของเราเองว่า ตลอดเวลาที่เรากำลังทำละหมาดอยู่นั้น หัวใจของเรามุ่งอยู่ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาหรือเปล่า และจงตระหนักเถิดว่า พระองค์จะไม่ทรงสนใจคนที่ทำละหมาดแต่หัวใจไม่ได้มุ่งอยู่ที่พระองค์

 

          อัลหะดีษ(เศาะหิหฺ)ในบันทึกของอิมามอะหฺมัด รายงานจากท่านอบู ซัร أبو ذر الغفاري เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«لَا يَزَالُ اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ مُقْبِلًا عَلَى الْعَبْدِ فِي صَلَاتِهِ مَا لَمْ يَلْتَفِتْ، فَإِذَا صَرَفَ وَجْهَهُ انْصَرَفَ عَنْهُ»

 

     อัลลอฮฺจะยังคงมองไปยังบ่าวของพระองค์ในการละหมาดของเขาตราบใดที่เขาไม่หันหน้าไปทางอื่น เมื่อใดก็ตามที่เขาหันหน้าไปทางอื่น เมื่อนั้นอัลลอฮฺก็จะทรงหันออกไปจากเขา(เช่นกัน)”

 

          นั่นคือ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะไม่ทรงมองการละหมาดของใครก็ตามที่หัวใจของเขาไปทางหนึ่ง ส่วนร่างกายไปอีกทางหนึ่ง เพราะมันหมายถึงว่าคน ๆนั้นไม่มีคุชั๊วะอ์ในการละหมาด และการละหมาดที่ไม่มีคุชั๊วะอ์นั้นมันยังทำให้ผลบุญของการละหมาดหมดไป

 

     อัลหะดีษ(เศาะหิหฺ)ในบันทึกของอิมามอบูดาวูด รายงานจากท่านอัมมาร บิน ยาซิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

إنَّ الرَّجلَ لينصرِفُ ، وما كُتِبَ لَه إلَّا عُشرُ صلاتِهِ تُسعُها ثُمنُها سُبعُها سُدسُها خُمسُها رُبعُها ثُلثُها ، نِصفُها

 

     “แท้จริง เมื่อคนๆหนึ่งเสร็จสิ้นจากการละหมาดของเขา แต่เขาไม่ได้ถูกบันทึกความดีงามใดๆ นอกจากเพียงหนึ่งส่วนสิบ หรือหนึ่งส่วนเก้า หรือหนึ่งส่วนแปด หรือหนึ่งส่วนเจ็ด หรือหนึ่งส่วนหก หรือหนึ่งส่วนห้า หรือหนึ่งส่วนสี่ หรือหนึ่งส่วนสาม หรือหนึ่งส่วนสองของการละหมาดของเขา

 

          นั่นก็หมายความว่า ผลบุญของการละหมาดที่แต่ละคนจะได้รับนั้น ผลบุญจะลดหลั่นกันไปตามการมีคุชั๊วะอ์ของผู้ละหมาด หากใครละหมาดอย่างมีคุชั๊วะอ์เต็มที่ เขาก็อาจจะได้รับผลบุญเต็มเปี่ยม ...หากไม่มีคุชั๊วะอ์ เขาอาจจะไม่ได้รับผลบุญอะไรเลย นอกจากผลบุญจากการละหมาดถ้าการละหมาดนั้นทำเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา...แต่ถ้าทำละหมาดอย่างมีชิริก มีการโอ้อวด การละหมาดของเขาก็เป็นโมฆะ ไม่ถูกตอบรับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ...

          และแน่นอนที่สุด การละหมาดวันศุกร์ของเราทุกคนในวันนี้ ทุกคนทำละหมาดเหมือนกันหมด แต่ทันทีที่การละหมาดวันศุกร์นี้เสร็จสิ้นลง ผลบุญของการละหมาดที่แต่ละคนได้รับ จะแตกต่างกันอย่างแน่นอน

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย นั่นก็คือ บางส่วนในเรื่องของการละหมาด ซึ่งเป็นรุ่กุ่นอิสลามหรือหลักอิสลามประการที่ 2 ที่จำเป็นสำหรับเราทุกคนต้องยึดมั่นและปฏิบัติ ... ดังนั้น ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราทุกคนได้เป็นผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการละหมาด เมื่อตระหนักแล้วก็พึงรักษาการละหมาดของเราให้ครบถ้วนและถูกต้องตรงตามแบบอย่างที่มาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเท่านั้น และตรวจสอบการละหมาดของเราอยู่เสมอ พยายามทำให้การละหมาดของเราเป็นการละหมาดที่ดีและสมบูรณ์ เพื่อที่เราจะได้ไม่เป็นผู้ที่ขาดทุนในวันกิยามะฮฺ

 

     อัลหะดีษ(เศาะหิหฺ) ในบันทึกของอิมามอิบนุ ฮิบบาน รายงานจากท่านอับดิลลาฮฺ อิบนุอัมรฺ อิบนุลอาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

: مَنْ حَافَظَ عَلَيْهَا كَانَتْ لَهُ نُورًا وَبُرْهَانًا وَنَجَاةً يَوْمَ الْقِيَامَةِ، وَمَنْ لَمْ يُحَافِظْ عَلَيْهَا لَمْ يَكُنْ لَهُ بُرْهَانٌ وَلاَ نُورٌ وَلاَ نَجَاةٌ، وَكَانَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ مَعَ قَارُونَ وَهَامَانَ وَفِرْعَوْنَ وَأُبَيِّ بْنِ خَلَفٍ.

 

     “ใครที่ระวังรักษาการละหมาด (คือปฏิบัติมันอย่างครบถ้วนและดีงาม) ในวันกิยามะฮฺ การละหมาด(ของเขา)จะมาเป็นรัศมี จะมาเป็นพยานยืนยัน และจะมาเป็นเครื่องช่วยให้เขาพ้นภัย(จากไฟนรก)...

     ส่วนใครที่ไม่ระมัดระวังรักษาการละหมาด (ไม่ปฏิบัติมันอย่างครบถ้วนและดีงาม) ในวันกิยามะฮฺ เขาก็จะไม่มีรัศมี ไม่มีพยานยืนยัน และเขาก็จะไม่มีเครื่องช่วยให้พ้นภัย(จากไฟนรก).... 

     และในวันกิยามะฮฺ ใครที่ทิ้งละหมาดก็จะต้องอยู่กับกอรูน อยู่กับฟิรอูน อยู่กับฮามาน อยู่กับอุบัย อิบนิเคาะลัฟ

 

     ซึ่งทั้งสี่คนนี้ถือเป็นบรรดาหัวหน้ากาเฟร และแน่นอนจุดจบของผู้ที่อยู่กับบรรดาหัวหน้ากาเฟรก็คือการถูกลงโทษอย่างสาหัสสากรรจ์ในไฟนรก

 

 

 

( คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )