ร่มเงา....แด่เยาวชนผู้ถูกเลือกเฟ้น
  จำนวนคนเข้าชม  2709

ร่มเงา....แด่เยาวชนผู้ถูกเลือกเฟ้น

 

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

คุฏบะฮฺวันอีดิ้ลฟิฏรฺ  ตักบีรวันอีด ดุอาอ์เริ่มคุฏบะฮฺ

 

الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ขอให้เราได้ชุกูร ได้ขอบคุณอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงให้เราได้มารวมตัวกัน ณ ที่นี้ ในวันนี้ ถึงแม้จะเป็นการรวมตัวในสภาพของสถานการณ์โรคโควิด แต่ก็เต็มไปด้วยบะเราะกะฮฺ เราะหฺมะฮฺ ความรักใคร่กัน ..

 

           วันนี้เป็นวันที่ 1 เดือนเชาวาล เป็นวันอีดิ้ลฟิฏรฺ เป็นวันเฉลิมฉลองหลังจากที่เราได้เสร็จสิ้นภารกิจต่าง ๆจากการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนในปีนี้แล้ว เราเฉลิมฉลอง เพราะเรารู้สึกดีใจที่เราได้ปฏิบัติศาสนกิจ ปฏิบัติอิบาดะฮฺสำคัญยิ่งใหญ่ ก็คือได้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ซึ่งเป็นรุกุ่นสำคัญประการที่สี่ของหลักปฏิบัติอิสลาม และยังได้มีโอกาสทำอิบาดะฮฺต่าง ๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการละหมาดกิยามุลลัยน์ การอ่านอัลกุรอาน การบริจาค การจ่ายซะกาต การทำความดีต่าง ๆ รวมถึงการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ทั้งหมดเป็นอิบาดะฮฺที่จะช่วยลบล้างบาปต่าง ๆให้แก่เรา และยังเป็นการเพิ่มขั้นในสวรรค์ให้แก่เราอีกด้วย จึงขอให้เราได้ชุกูร ขอบคุณอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในเนี๊ยะอฺมะฮฺ ความเมตตานี้ ที่ทรงให้โอกาสเราได้ถือศีลอด และทำอิบาดะฮฺต่าง ๆอย่างมากมาย อัลฮัมดุลิลลาฮฺ

 

          ต่อจากนี้เป็นต้นไป ขอให้เราขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เสมอ ๆ ขอให้พระองค์ทรงรับการทำอิบาดะฮฺทั้งหมดของเรา และขอได้ทรงอภัยโทษในบาปทั้งหมดของเรา และขอให้การถือศีลอดที่ผ่านมาของเรา นำเราไปสู่การเป็นผู้ที่มีอัตตักวา ซึ่งเป็นเป้าหมายของการถือศีลอดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงวางบทบัญญัติไว้

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 183 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ

 

     ผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดเป็นฟัรฎู(คือเป็นข้อบังคับ)แก่พวกเจ้า ดั่งเช่นที่ได้ถูกกำหนดแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ تَتَّقُونَ จะได้อัตตักวา...จะได้ยำเกรงต่อพระองค์

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวไว้ว่า อัตตักวา-ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้น ตำแหน่งของมันอยู่ที่ใจ

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 35 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ

 

โอ้บรรดาผู้ศรัทธา ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด...”

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีคำสั่งให้ผู้ที่มีอีมาน มีศรัทธาต่อพระองค์ จงมีอัตตักวา มีความยำเกรงต่อพระองค์ ...อุละมาอ์กล่าวว่า อัตตักวาหรือความยำเกรงนั้นตามหลังอีมาน และเป็นตำแหน่งที่สูงกว่าอีมาน นั่นก็หมายความว่า ทุก ๆคนที่มีอัตตักวา จะต้องมีอีมาน .. แต่ทุก ๆคนที่มีอีมานนั้น อาจจะไม่มีอัตตักวาก็ได้ ...

 

         ดังนั้น จำเป็นที่เราที่เป็นผู้ศรัทธาแล้ว จะต้องสำรวจตรวจสอบตัวเองว่า เราผ่านการถือศีลอดมาปีแล้วปีเล่า เรามีสถานะเป็นผู้มีอัตตักวาแล้วหรือยัง ..

 

          ความหมายโดยสรุปของผู้ที่มีอัตตักวา ก็คือผู้ที่พยายามปกป้องตนเองให้รอดพ้นจากการถูกลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยการพยายามศึกษาหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา แล้วนำมาสู่การปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำอย่างสุดความสามารถ ในขณะเดียวกันก็ต้องออกห่าง และไม่ละเมิดคำสั่งห้ามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺทุกอย่างให้ตรงตามแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย ด้วยเหตุนี้ อัตตักวาจึงถือเป็นกุญแจที่ใช้เปิดประตูไปสู่ความสำเร็จในชีวิตทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ เป็นกุญแจที่ผู้มีอีมานแล้วทั้งหลายจะต้องมีติดตัวไปตลอดชีวิต ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่แห่งหนตำบลใดก็ตาม

 

          อัลหะดีษ (หะซัน เศาะหิหฺ) ในบันทึกของอิมามอัตติรฺมีซีย์ รายงานจากท่านอบูซัรฺ ญุนดุบ บินญุนาดะฮฺ และท่านอบูอับดิรเราะหฺมาน มุอาซ บินญะบัล เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

" اِتَّقِ اللهَ حَيْثُمَا كُنْتَ ، وَأَتْبِعِ السَّيِّئَةَ الحَسَنَةَ تَمْحُهَا ، وَخَالِقِ النَّاسَ بِخُلُقٍ حَسَنٍ

 

ท่านจงมีอัตตักวา มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺในทุก ๆสภาพ ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม ..

และท่านจงตามความชั่วด้วยการทำความดีชดใช้ เพราะความดีนั้นมันสามารถลบล้างความชั่วได้ ..

และท่านจงติดต่อสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยอัคลาค ด้วยจรรยามารยาทอันดีงาม

 

          ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมสั่งสอนเราให้เรามีอัตตักวาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในทุก ๆสภาพ และไม่ว่าเราจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม เราจะอยู่คนเดียว เราจะอยู่ท่ามกลางคนในสังคม จะอยู่ในที่ลับหรือในที่แจ้ง เราก็ต้องอัตตักวาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างเคร่งครัด ..

 

          และเมื่อใดก็ตามที่เราพลาด หลงไปทำความชั่ว พลาดไปทำสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เราก็ต้องหันกลับโดยเร็ว หันกลับมาทำความดี หันกลับมาทำตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งท่านนบีบอกว่า ความดีนั้น มันสามารถลบล้างความชั่วได้ ..และเมื่อใดก็ตามที่เราอยู่ในสังคม หรืออยู่ท่ามกลางผู้คน เราต้องติดต่อสัมพันธ์กับผู้คน กับเพื่อนมนุษย์ด้วยจรรยามารยาทอันดีงาม

 

          ท่านนบีสอนให้เราอยู่ในสังคมโดยให้เรามีจรรยามารยาทอันดีงามทั้งคำพูดและการกระทำ เพราะการที่เรามีจรรยามารยาทอันดีงามจะทำให้เราไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ทำให้เราทำความดีต่อผู้อื่น รู้จักให้อภัยต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็ก ๆ เช่นในครอบครัว หรือสังคมที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย เช่น ในสังคมหมู่บ้านของเรา เราแต่ละคนก็ต้องมีจรรยามารยาทที่ดีต่อกัน เมื่อมีกฎกติกา ก็ต้องรู้จักเคารพและปฏิบัติตาม เมื่อเรามีอิมามเป็นผู้นำ เรามีคณะกรรมการ เราก็ต้องปฏิบัติตามกฎ ตามกติกาที่มีออกมา เพื่อให้สังคมอยู่ในระเบียบ มีความผาสุก มีความปรองดองเพราะเมื่อสังคมดี เราก็พลอยได้รับความสุขไปด้วย ลูกหลานของเราก็ได้รับความสุข ได้รับความปลอดภัย ก็ขอให้เราได้ตระหนักในเรื่องนี้ เพื่อยืนยันการเป็นผู้มีอัตตักวาของเรา

 

الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย และเยาวชนผู้ศรัทธาแล้วทั้งหลาย ขอให้เยาวชนทั้งหลายได้ตระหนักถึงช่วงวัยนี้ของตนเองว่า มีความสำคัญมากแค่ไหน .. เยาวชนทั้งหลายพึงทราบไว้เถิดว่า บรรดาเศาะฮาบะฮฺส่วนใหญ่ของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั้นต่างมีชีวิตอยู่ช่วงวัยเยาวชนทั้งสิ้น .. ที่มีอายุมากที่สุดก็คือ ท่านอบูบักร อัศศิดดิ๊ก เคาะลีฟะฮฺ อัรรอชิดีนท่านแรกของอิสลามมีอายุเพียง 36 ปี จึงอยากให้เยาวชนทั้งหลายได้ตระหนักในเรื่องนี้ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในงานสังคมและงานศาสนา และเยาวชนทั้งหลายพึงทราบไว้เถิดว่า ช่วงวัยเยาวชนนี้ยังเป็นช่วงวัยเดียวเท่านั้นที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้ความสำคัญกับเยาวชนโดยการให้พวกเขาได้รับร่มเงาของพระองค์ในวันกิยามะฮฺอีกด้วย

 

          ในวันกิยามะฮฺ เมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้มนุษย์ทุกคนฟื้นขึ้นมา มนุษย์ทุกคนตั้งแต่มนุษย์คนแรกคือท่านนบีอาดัม อะลัยฮิสสลามจนกระทั่งมนุษย์คนสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่เป็นมุสลิมก็ตาม ทุกคนจะต้องมายืนกันที่ทุ่งมะชัรเพื่อรอกระบวนการตัดสินในสิ่งที่มนุษย์ทุกคนได้กระทำไว้บนโลกดุนยานี้ ความดีความชั่วที่มนุษย์ได้ทำไว้แม้ว่ามันจะเล็กน้อยเป็นฝุ่น เป็นผงธุลีก็จะได้รับการชำระสอบสวนไม่มีละเว้น ในสภาพการณ์ของวันกิยามะฮฺนี้จะเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน ความวุ่นวาย เต็มไปด้วยความทุกข์ทุรนทุราย ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะเราแค่เอื้อม จะอยู่ใกล้ตัวเรามาก แล้วเราต้องยืนอยู่ท่ามกลางความร้อนแรงของดวงอาทิตย์ที่แผดเผาลงมา ผลก็คือ จะมีเหงื่อไหลท่วมตัว 

 

          ปริมาณของเหงื่อที่ไหลท่วมตัวของคนแต่ละคนก็จะขึ้นอยู่กับความดีความชั่วที่เขาได้ทำไว้ บางคนมีเหงื่อท่วมแค่ข้อเท้า บางคนท่วมถึงหัวเข่า บางคนท่วมถึงเอว บางคนต้องจมมิดในเหงื่อของตัวเอง ในสภาพการณ์เช่นนี้แหละที่เราก็อยากจะหาร่มเงาไว้บังกายจากความร้อนแรงของดวงอาทิตย์ เหมือนกับตอนที่เรากางร่มเวลาแดดร้อน หรือหลบความร้อนไปในที่ต่าง ๆ 

 

          แต่ในวันกิยามะฮฺมันจะไม่มีร่มเงาใด ๆ ไม่มีที่กำบังใด ๆที่จะช่วยให้เรารอดพ้นจากความร้อนแรงของดวงอาทิตย์ได้เลย ยกเว้น จะมีแต่ร่มเงาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเท่านั้น และร่มเงาของพระองค์นี้ พระองค์จะประทานให้กับคนเพียงเจ็ดกลุ่มเท่านั้น และหนึ่งในเจ็ดกลุ่มที่พระองค์จะประทานร่มเงาให้แก่พวกเขาก็คือ شَابٌ نَشَأَ فِي عِبَادَةِ اللهِ

 

          กลุ่มของเยาวชนทั้งชายและหญิงที่ยึดมั่นศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตลอดชีวิตวัยเยาวชนของเขานั้นเติบโตมากับการศึกษาหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา แล้วเขาก็นำความรู้มาปฏิบัติ ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นอะมัลศอลิหฺ ปฏิบัติอิบาดะฮฺอยู่อย่างสม่ำเสมอ มีความเข้มแข็งที่จะยืนหยัดอยู่บนหลักการศาสนา แล้วก็ช่วยเหลืองานศาสนา ช่วยเหลืองานของส่วนรวม พวกเขาจึงได้รับสิทธินี้เป็นรางวัลตอบแทน

 

          ดังนั้น จึงขอให้เยาวชนทั้งหลายได้ใส่ใจในเรื่องนี้ ให้ความสนใจ เข้าร่วมช่วยเหลือในกิจการงานของศาสนา งานของส่วนรวม งานของชุมชน ตามความรู้ ความสามารถ ทั้งนี้เพื่อยืนยันการเป็นผู้ที่มีอัตตักวาในหัวใจ

 

الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย และเยาวชนผู้ศรัทธาแล้วทั้งหลาย แท้จริง ผู้ที่มีอัตตักวาจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ..ท่านนบีของเราสอนเราให้เราเมตตาต่อผู้น้อย และให้เราให้เกียรติผู้อาวุโส

 

          อัลหะดีษ (เศาะหิหฺ) ในบันทึกของอิมามอะบูดาวูด และอิมามอัตติรฺมีซีย์ รายงานจากท่านอัมรฺ อิบนิ ชุอัยบฺ จากบิดาของท่าน จากปู่ของท่าน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

لَيْسَ مِنَّا مَنْ لَمْ يَرْحَمْ صَغِيرَنَا، وَيَعْرِفْ شَرفَ كَبِيرِنَا

 

เขาไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในแนวทางของเรา สำหรับผู้ที่ไม่มีเมตตาต่อผู้น้อยของเรา และผู้ที่ไม่ให้เกียรติผู้อาวุโสของเรา

 

          นั่นก็คือ ท่านนบีสอนวิธีการอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่างผู้อ่อนอาวุโส กับผู้ที่อาวุโสกว่า ให้รู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน ..คนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าก็ต้องมีความรัก มีความเมตตาต่อผู้ที่เป็นเด็กกว่า ส่วนผู้ที่เป็นเด็กก็ต้องรู้จักให้เกียรติ ให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ ซึ่งจะทำให้สังคมเกิดความสุข มีความสามัคคี มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน อันเป็นสังคมที่อัลอิสลามต้องการให้เกิดขึ้น

 

          ดังกล่าวข้างต้น นั่นก็คือ ส่วนหนึ่งของกฎกติกาในการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่คนในสังคมในชุมชนต้องใส่ใจ ต้องให้ความร่วมมือร่วมใจ เพื่อยืนยันการเป็นผู้ที่มีอัตตักวาอยู่ในหัวใจ

 

الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในโอกาสวันอีดิ้ลฟิฏรฺนี้ ขอให้เราได้ร่วมกันกล่าวตักบีร ให้ความยิ่งใหญ่เกรียงไกรแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ขอให้เรารำลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ สำนึกถึงความโปรดปรานที่พระองค์ทรงมีต่อเรา ด้วยการกล่าวสรรเสริญพระองค์ และขอบคุณพระองค์ที่ทรงให้เรายังคงมีชีวิตอยู่จนถึงบัดนี้ และให้เราได้ทำอะมัลอิบาดะฮฺต่าง ๆอย่างเข้มแข็ง ...

 

          ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงตอบรับการถือศีลอดของเรา ตอบรับการทำอะมัลศอลิฮฺตลอดจนอิบาดะฮฺ ความดีงามต่าง ๆของเราทั้งหมด และขอพระองค์โปรดให้เราได้มีชีวิตอยู่จนได้พบกับเดือนเราะมะฎอนอีกในปีหน้า ......และเราอย่าลืมการถือศีลอดสุนัต 6 วันในเดือนเชาวาลนี้ โดยเราจะถือติดต่อกันทั้ง 6 วัน หรือจะไม่ติดต่อกันก็ได้ การถือศีลอดสุนัต 6 วันในเดือนเชาวาลหลังจากการถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน จะได้รับผลบุญเสมือนกับการถือศีลอดตลอดทั้งปี และยังเป็นการปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านนบีของเราอีกด้วย

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้โปรดให้เราเป็นผู้ที่ใช้ความพยายามในอันที่จะดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ๆอย่างระมัดระวัง พยายามให้มันอยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนา ปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของพระองค์ โดยพยายามทำให้มันสุดความสามารถของเรา และขอให้เราได้ออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง เพื่อแสดงออกถึงอัตตักวา ความยำเกรงที่เรามีต่อพระองค์ 

 

     และพึงระลึกอยู่เสมอว่า รากฐานการงานและอิบาดะฮฺทั้งหลายที่เราทำนั้น จะต้องตั้งอยู่บนหลัก 2 ประการคือ

      อัลอิคลาศ คือทำการงาน ทำอิบาดะฮฺทั้งหมดเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแต่เพียงพระองค์เดียว โดยเราต้องไม่ยอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือคนหนึ่งคนใดมามีภาคีร่วมกับพระองค์อย่างเด็ดขาด ต้องระมัดระวังเรื่องของการริยาอ์หรือการโอ้อวดที่มันอยู่ในหัวใจของเรา อย่าให้มันมาเจือปนในเนียตหรือเจตนาของเราอย่างเด็ดขาด

 

      และประการที่สองก็คือ ให้การงานอิบาดะฮฺของเราทั้งหมดนั้นตรงตามรูปแบบ ตรงตามแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เราอย่าไปคิดเอาเองว่า ทำแบบนี้ก็ดี ทำแบบนั้นก็ดี แล้วทำมันหมดเลย โดยไม่มีแบบอย่างมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

          ซึ่งรากฐานของการงานอิบาดะฮฺทั้งสองประการนี้ มันจะเป็นสาเหตุให้การงานอิบาดะฮฺต่างๆของเราที่เราลงทุนลงแรงทำไปตั้งมากมายได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และจะทำให้เราได้รับความสำเร็จทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ

     ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 27 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

«إِنَّمَا يَتَقَبَّلُ اللَّهُ مِنَ الْمُتَّقِينَ»

 

แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงรับการงานของผู้ที่มีอัตตักวาเท่านั้น

 

تَقَبَّلَ اللهُ مِناَّ وَمِنْ كُمْ

كل عام وانتم بخير

 

( คุฏบะฮฺวันอีดิ้ลฟิฏรฺ ปี ฮ..1443 มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )