ซุนนะห์มื้อแรกด้วยกับเนื้อกุรบานในวันอีดเจาะจงแก่ผู้ใด ?
ดาวุด ธิยัน แปลเรียบเรียง
คำถาม :
จำเป็นสำหรับทุกคนในครอบครัวหรือไม่ที่จะยังไม่รับประทานสิ่งใดในวันอีดอัฎฮา จนกว่าจะกินเนื้อกุรบานก่อน หรือจำเป็นเฉพาะหัวหน้าครอบครัว ?
คำตอบ :
فعن بريدة رضي الله عنه قال:كان النبي صلى الله عليه وسلم لا يخرج يوم الفطر حتى
يطعم، ويوم النحر لا يأكل حتى يرجع فيأكل من نسيكته. رواه أحمد والترمذي
จากบุร็อยดะห์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮู่ กล่าวว่า : ปรากฏว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะไม่ออกไปละหมาดอีดฟิฏรี่จนกว่าจะทาน(อินทผลัม)ก่อน และวันอีดอัฎฮา ท่านจะยังไม่รับประทานจนกว่าจะกลับและรับประทานจากเนื้อกุรบานของท่าน
(บันทึกโดยอะห์มัดและติรมีซีย์)
قال النووي: وأسانيدهم حسنة فهو حديث حسن، وقال الحاكم: هو حديث صحيح.
ท่านอิหม่ามนะวาวีย์ กล่าวว่า : สายรายงานของพวกเขานั้นดี เป็นหะดิษระดับฮะซัน และท่านฮากิมกล่าวว่า เป็นฮะดิษศ่อฮิห์
قال الزيلعي في تبيين الحقائق: هذا في حق من يضحي ليأكل من أضحيته، أما في حق غيره فلا.
ท่านอิหม่ามอัซซัยละอีย์ (อัลฮานาฟีย์) กล่าวไว้ในตับยีนิลหะกออิ๊ก ว่า : นี่คือสิทธิ์ของคนทำกุรบานให้กินจากเนื้อกุรบานของเขา ส่วนคนอื่นๆไม่ต้อง (ไม่มีซุนนะห์ให้รอกินเนื้อกุรบานเป็นมื้อแรก)
وقال في كشاف القناع: وكان لا يأكل يوم النحر حتى يرجع، فيأكل من أضحيته، وإذا لم يكن له ذبح لم يبال أن يأكل.
และกล่าวไว้ใน กัชชาฟุลกินาอ์ (ของชัยค์มันศูร อัลบะฮูตีย์) ว่า : และที่ไม่ทานอะไรจนกว่าจะกลับจากละหมาด และกินเนื้อกุรบานของเขา และถ้าหากเขาไม่ได้ทำกุรบาน ก็ไม่เป็นไรที่จะทาน(อะไรก่อนเนื้อกุรบาน)
وفي تحفة الأحوذي: وقد خصص أحمد بن حنبل استحباب تأخير الأكل في عيد الأضحى بمن له ذبح.
และในตุห์ฟะตุลอะห์วะซีย์ (ของอิหม่ามอัตติรมีซีย์) และอิหม่ามอะห์มัดเจาะจงสนับสนุนให้ล่าช้าจากการทาน(อาหาร)ในวันอีดอัฎฮา สำหรับคนทำกุรบาน
สิ่งที่นำเสนอดังกล่าว มีสองประเด็น :
1. การไม่ทานอะไรในเช้าวันอีดจนกว่าจะทานเนื้อกุรบานนั้นเป็นซุนนะห์ไม่ใช่วาญิบ
2. การไม่ทานนี้เจาะจงเฉพาะคนทำกุรบาน(เจ้าของกุรบาน หรือ เจ้าของหุ้นกุรบาน) ไม่ใช่ทุกคนในครอบครัวเขา ดังที่ปรากฏในความหมายของตัวบทหะดิษ และคำพูดของนักวิชาการ
ส่วนการเจาะจงทานตับสัตว์กุรบานเป็นสิ่งแรกนั้น มีรายงานหะดิษ แต่เป็นหะดิษที่สายรายงานอ่อน ชัยค์ฟัรกูซ กล่าวว่า : เป็นทัศนะของอุละมาอ์มัสฮับชาฟิอีย์ บางท่าน ที่สนับสนุนเจาะจงให้ทานตับสัตว์กุรบานเป็นมื้อแรก โดยยึดหะดิษที่ว่า :
حديثِ بُرَيْدة رضي الله عنه قال: «كَانَ رَسُولُ اللهِ صلَّى الله عليه وسلَّم إِذَا كَانَ يَوْمُ الفِطْرِ لَمْ يَخْرُجْ حَتَّى يَأْكُلَ شَيْئًا، وَإِذَا كَانَ الأَضْحَى لَمْ يَأْكُلْ شَيْئًا حَتَّى يَرْجِعَ، وَكَانَ إِذَا رَجَعَ أَكَلَ مِنْ كَبِدِ أُضْحِيَتِهِ»، والحديثُ ضعيفٌ لا تقوم به حجَّةٌ
จากบุร็อยดะห์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮู่ กล่าวว่า : “ ปรากฏว่าท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะวัลลัม เมื่อถึงวันอีดฟิฏรี่ท่านจะยังไม่ออกไปจนกว่าจะทานสิ่งใดก่อน และเมื่อถึงวันอีดอัฎฮาท่านจะยังไม่ทานสิ่งใดจนกว่าจะกลับ และเมื่อกลับท่านก็ทานตับจากสัตว์กุรบานของท่าน "
ชัยค์ฟัรกูซกล่าวว่า : เป็นการเพิ่มคำว่า "และท่านนบีทานตับจากสัตว์กุรบานของท่าน" ผู้รายงานส่วนเพิ่มมานั้นเป็นมุดัลลิซ รวมถึงชัยค์อัลบานีย์ที่ให้สถานะหะดิษบทนี้ว่าฎ่ออีฟ (สายรายงานอ่อน)
ชัยค์อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า : การทานตับเป็นสิ่งแรกนั้นเป็นเพียงทัศนะของนักวิชาการ ไม่ใช่ในแง่มุมของการทำอิบาดะห์(ไม่มีตัวบทที่ถูกต้องรายงาน) เหตุผลเพราะตับนั้นทานง่ายและสุกเร็ว
ส่วนเหตุผลที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ล่าช้าจากการทานอาหารในเช้าวันอีดอัฎฮานั้นชัยค์ฟัรกูซ กล่าวว่ามีอยู่สองเหตุผล :
1. เพื่อท่านนบีจะได้มีส่วนร่วมกับคนยากคนจนในการรับประทานเนื้อกุรบาน
2. และเพื่อให้อาหารมื้อแรก เป็นอาหารที่มีบะรอกะห์จากเนื้อกุรบาน
และความเข้าใจผิดที่แพร่หลายในบางท้องที่ ที่เข้าใจกันว่า ให้ถือศีลอดในช่วงเช้าของวันอีดอัฎฮาและละศีลอดด้วยกับเนื้อกุรบาน ความเข้าใจดังกล่าวคลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะท่านนบีห้ามถือศีลอดในวันอีด ดังที่ท่านนบี ศ็อลลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :
عن أبي عُبَيدٍ مولى ابنِ أزهَرَ، قال: ((شَهِدْتُ العيدَ مع عُمَرَ بن الخطَّابِ رَضِيَ اللهُ عنه فقال: هذان يومانِ نهى رسولُ الله صلَّى اللهُ عليه وسلَّم عن صيامِهما: يومُ فِطْرِكم من صيامِكم، واليومُ الآخَرُ تأكلونَ فيه من نُسُكِكم ))
จากอบีอุบัยด์ เมาลา อิบนิ อัซฮัร กล่าวว่า : ฉันได้ร่วมวันอีดกับท่านอุมัร บิน ค็อตตอบ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮู่ ท่านได้กล่าวว่า :
“สองวันนี้ที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมห้ามถือศีลอด คือ วันที่พวกท่านสิ้นสุดจากการถือศีลอด(อีดฟิฏรี่) และอีกวันคือ วันที่พวกท่านกินเนื้อกุรบานของพวกท่าน(อีดอัฎฮา)"
(บันทึกโดยบุคอรีย์)
วัลลอฮุอะอ์ลัม