จงออกห่างจากมุชตะบิฮาต – สิ่งคลุมเครือ
ค่อเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยต้องพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺทุกอย่างให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺนั่นเอง
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลหะดีษ (มัรฟัวะอ์ ก็คืออัลหะดีษที่มีสายรายงานสืบกลับไปถึงท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบีอับดิลลาฮฺ ซึ่งก็คือท่านอันนุอ์มาน บินบะชีร เราะฏิยัลลอฮุอันฮุมา ซึ่งเป็นศ่อฮาบะฮฺชาวอันศอรฺ ได้เล่าว่า ท่านได้ยิน ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
إنَّ الْحَلَالَ بَيِّنٌ، “แท้จริง อัลหะลาลหรือสิ่งที่อนุมัตินั้นชัดเจนอยู่แล้ว”
นั่นก็คือ อัลหะลาลเป็นสิ่งที่บทบัญญัติศาสนากำหนดไว้อย่างชัดเจนว่ามันเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอนุมัติ เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ เช่น การบริโภคพืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ เรื่องของการค้าขาย เรื่องของการทำมาหากินที่สุจริต การทำกุรบ่าน การทำอะกีเกาะฮฺ ..ซึ่งใครก็ตามที่ทำสิ่งที่หะลาลนี้ เขาก็จะได้รับความปลอดภัยจากการถูกลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อีกทั้งเขาก็จะไม่ถูกตำหนิจากผู้คนในสังคม
แล้วท่านเราะซูลุลลอฮฺ ได้กล่าวต่อไปอีกว่า
وَإِنَّ الْحَرَامَ بَيِّنٌ، “และแท้จริง อัลหะรอมหรือสิ่งที่ต้องห้ามก็ชัดเจนอยู่แล้ว”
นั่นก็คือ อัลหะรอมนั้นเป็นสิ่งที่บทบัญญัติศาสนากำหนดไว้อย่างชัดเจนว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องห้าม เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงห้ามเราทำ เช่น การทำชิริก การทำบิดอะฮฺ การทำซินา การลักขโมย การดื่มเหล้าดื่มสุรายาเมา การกินริบาหรือกินดอกเบี้ย ..ซึ่งใครก็ตามที่หลงไปทำสิ่งที่หะรอมนี้ เขาก็จะต้องได้รับการลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อีกทั้งเขาก็จะต้องถูกตำหนิจากผู้คนในสังคม
ท่านเราะซูลุลลอฮฺ กล่าวต่อไปอีกว่า
وَبَيْنَهُمَا أُمُورٌ مُشْتَبِهَاتٌ لَا يَعْلَمُهُنَّ كَثِيرٌ مِنْ النَّاسِ،
“และในระหว่างทั้งสองนั้น (ก็คือระหว่างอัลหะลาลกับอัลหะรอม)นั้น มันก็มี أُمُورٌ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็น مُشْتَبِهَاتٌ มุช”
ตะบิฮาต แปลว่าสิ่งที่คลุมเครือ ซึ่งผู้คนจำนวนมากไม่รู้(ในสิ่งที่คลุมเครือนั้น)
นั่นก็คือ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้คนจำนวนมากไม่รู้ถึงสิ่งคลุมเครือนั้น ก็คือไม่รู้ว่า สิ่งนั้นมันจะหะลาลหรือมันจะหะรอม...
ซึ่งตรงนี้ท่านเราะซูลุลลอฮฺใช้คำว่า كَثِيرٌ مِنْ النَّاسِ ซึ่งแปลว่า ผู้คนจำนวนมาก ..
ท่านเราะซูลุลลอฮฺไม่ได้ใช้คำว่า النَّاسِ اكثَرُ ซึ่งแปลว่า ผู้คนส่วนใหญ่ ..
คำพูดที่ว่า النَّاسِ اكثَرُ لَا يَعْلَمُهُنَّ จะแปลว่า ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้
ซึ่งนั่นหมายความว่า มีผู้คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่รู้ ..ก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ มีแต่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้..
แต่ท่านเราะซูลุลลอฮฺได้กล่าวว่า لَا يَعْلَمُهُنَّ كَثِيرٌ مِنْ النَّاسِ ซึ่งก็จะมีความหมายว่า มีผู้คนจำนวนมากที่ไม่รู้ถึงสิ่งที่คลุมเครือนั้น แต่ก็มีผู้คนจำนวนมากอีกเช่นกันที่รู้ถึงสิ่งที่คลุมเครือนั้น นั่นก็คือ มีผู้คนจำนวนมากมายที่ไม่รู้ แต่ส่วนผู้ที่รู้นั้นก็มีจำนวนมากมายเช่นกัน
ท่านเราะซูลุลลอฮฺ กล่าวต่อไปอีกว่า
فَمَنْ اتَّقَى الشُّبُهَاتِ فَقْد اسْتَبْرَأَ لِدِينِهِ وَعِرْضِهِ،
“ดังนั้น ผู้ใดก็ตามที่ระมัดระวังพร้อมทั้งปกป้องตัวของเขาจากสิ่งที่คลุมเครือ ( นั่นก็คือ พอเขาทราบว่า มีสิ่งบ่งชี้หรือมีสิ่งยืนยันว่าสิ่ง ๆนี้เป็นสิ่งที่คลุมเครือ เขาก็จะเอาตัวของเขาออกห่างจากสิ่งคลุมเครือนี้ จะไม่เข้าใกล้ จะไม่ไปทำสิ่งที่คลุมเครือนี้ ) ..(ท่านเราะซูลุลลอฮฺ บอกว่า) แท้จริง เขาได้ทำให้ศาสนาและเกียรติยศชื่อเสียงของเขานั้นใสสะอาดปราศจากมลทิน”
นั่นก็หมายความว่า เมื่อใดก็ตามที่มีสิ่งยืนยันว่าสิ่ง ๆนี้เป็นสิ่งคลุมเครือ ไม่แน่ชัดว่าสิ่งนี้มันจะหะลาลหรือมันจะหะรอม ..เมื่อเราเจอสภาวะดังกล่าวนี้ ท่านเราะซูลุลลอฮฺบอกว่า ถ้าเราออกห่าง ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งคลุมเครือนี้ มันจะทำให้ศาสนาของเราสะอาดบริสุทธิ์ ทำให้เราได้รับความปลอดภัยจากการถูกลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และมันก็ยังจะรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของเรา เพราะเราก็จะไม่ถูกตำหนิจากผู้คนในสังคมว่าทำสิ่งที่ไม่ดี ทำสิ่งที่ผิด
وَمَنْ وَقَعَ فِي الشُّبُهَاتِ وَقَعَ فِي الْحَرَامِ،
แต่ใครก็ตามที่ตกอยู่ในสิ่งที่คลุมเครือ (ก็คือ หลงไปทำสิ่งที่คลุมเครือ ท่านเราะซูลุลลอฮฺบอกว่า ) แท้จริง ก็เสมือนกับว่า เขาได้ตกอยู่ในสิ่งต้องห้าม
นั่นก็หมายความว่า การทำสิ่งที่คลุมเครือนั้นมันเป็นสิ่งที่ต้องห้าม... หรือไม่ก็ มันอาจจะเป็นสิ่งที่นำพาเราไปสู่การทำสิ่งที่ต้องห้ามก็ได้
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อถึงตรงนี้ ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า
كَالرَّاعِي يَرْعَى حَوْلَ الْحِمَى يُوشِكُ أَنْ يَرْتَعَ فِيهِ،
ท่านเราะซูลุลลอฮฺได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า (คนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งคลุมเครือก็) เปรียบดังเช่นผู้ที่เลี้ยงปศุสัตว์ ( ปศุสัตว์ก็อย่างเช่น เลี้ยงอูฐ เลี้ยงช้าง ม้า วัว ควาย แพะ แกะ) ซึ่งเวลาเลี้ยง เราก็จะปล่อยมันไว้ในทุ่งกว้างของเรา ปล่อยให้มันแทะเล็มหญ้าไป มันก็เดินไปตรงโน้นตรงนี้ในที่ดินของเรา พอเป็นอย่างนี้ มันก็มีโอกาสสูงเหมือนกันที่ปศุสัตว์ที่เราเลี้ยงไว้นั้น มันจะเล็ดลอดออกไปแทะเล็มหญ้าในบริเวณที่ดินของผู้อื่นที่อยู่ติดกับที่ดินของเรา ซึ่งที่ดินของผู้อื่นนั้น มันก็ถือเป็นเขตหวงห้าม เพราะเราไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนนั้น
นั่นก็หมายความว่า การที่เราไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่คลุมเครือนั้น ท่านเราะซูลุลลอฮฺ บอกว่า มันมีโอกาสสูงที่มันจะนำเราไปสู่การทำสิ่งที่ต้องห้าม เพราะการที่เราวนเวียนอยู่รอบ ๆเรื่องของสิ่งคลุมเครือ มันก็เป็นการยากที่เราจะหักห้ามใจออกจากการทำสิ่งที่คลุมเครือได้ ดังนั้น เราจึงต้องระมัดระวังตัวเรา และพยายามปกป้องตัวของเรา ไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งคลุมเครือ เพื่อทำให้ตัวเราปลอดภัย จากการไปล่วงละเมิดบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ท่านเราะซูลุลลอฮฺ กล่าวต่อไปอีกว่า
أَلَا وَإِنَّ لِكُلِّ مَلِكٍ حِمًى،
“พึงทราบเถิดว่า แท้จริง กษัตริย์หรือผู้ปกครองทุกๆคน ย่อมมีเขตหวงห้ามของตนเองเป็นการเฉพาะ”
أَلَا وَإِنَّ حِمَى اللَّهِ مَحَارِمُهُ،
“และพึงทราบเถิดว่า แท้จริง เขตหวงห้ามของอัลลอฮฺ ก็คือสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย(ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้)”
นั่นก็คือ ให้เราได้ตระหนัก ให้เราได้ระมัดระวังตัวเราไม่ให้เข้าไปรุกล้ำ หรือล่วงละเมิดเขตหวงห้ามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งเป็น مَلِكٍ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ให้เราได้ปกป้องตัวเราจากการล่วงละเมิดบทบัญญัติศาสนาของพระองค์
ท่านเราะซูลุลลอฮฺได้จบท้ายอัลหะดีษนี้ว่า
أَلَا وَإِنَّ فِي الْجَسَدِ مُضْغَةً إذَا صَلَحَتْ صَلَحَ الْجَسَدُ كُلُّهُ،
“พึงทราบเถิดว่า ในร่างกายมนุษย์นั้นมีก้อนเนื้อก้อนหนึ่ง (เป็นก้อนเนื้อก้อนเล็ก ๆไม่ได้ใหญ่โตอะไร ..ซึ่งหากก้อนเนื้อนี้ )
ถ้ามันดี (มันก็จะทำให้)ร่างกายทั้งหมดดีตามไปด้วย”
وَإذَا فَسَدَتْ فَسَدَ الْجَسَدُ كُلُّهُ، “แต่ถ้าหาก(ก้อนเนื้อนี้)มันเสีย (มันก็จะทำให้)ร่างกายทั้งหมดเสียตามไปด้วย”
أَلَا وَهِيَ الْقَلْبُ “พึงทราบเถิดว่า (ก้อนเนื้อก้อนเล็กๆนี้)มันคือหัวใจ”
นั่นก็หมายความว่า หัวใจเป็นตัวควบคุมการทำงานของอวัยวะร่างกาย ..ถ้าหากหัวใจดี มีจิตใจดี มันก็จะไปควบคุมอวัยวะร่างกายของเราให้ทำสิ่งที่ดี ๆ แต่ถ้าหากมีหัวใจที่ไม่ดี มีจิตใจที่ไม่ดี มันก็จะไปควบคุมอวัยวะร่างกายของเราให้ทำในสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้น จึงจำเป็นที่เราจะต้องดูแลเอาใจใส่หัวใจของเรา คอยขัดเกลาหัวใจของเราให้สะอาด ดูแลหัวใจของเรา จิตใจของเรา ให้ยึดมั่นต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว ซึ่งมันจะมีผลให้เราไม่ทำสิ่งที่ล่วงเกินขอบเขตหวงห้ามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย จากอัลหะดีษข้างต้น ทำให้เราทราบว่า ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรานั้น เราจะพบว่าทุก ๆสิ่งที่เราพบเห็นในชีวิตของเราจะแบ่งเป็นสามประเภท...
ประเภทแรกก็คือ สิ่งที่หะลาลหรือสิ่งที่บทบัญญัติศาสนาอนุมัติให้เราทำได้
ประเภทที่สองก็คือ สิ่งที่หะรอมหรือสิ่งที่บทบัญญัติศาสนาสั่งห้ามเราทำ
ประเภทที่สามก็คือ มุชตะบิฮาตหรือสิ่งที่คลุมเครือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนเห็นต่างกัน บางคนก็เห็นว่าสิ่ง ๆหนึ่งมันเป็นหะลาล แต่บางคนเห็นว่า มันเป็นหะรอม
ซึ่งในยุคปัจจุบัน เราจะพบเรื่องของสิ่งที่คลุมเครืออยู่หลายเรื่อง ซึ่งหลาย ๆเรื่องก็ยังเป็นเรื่องที่อุละมาอ์เห็นต่างกันอยู่ ในสิ่ง ๆเดียวกัน อุละมาอ์บางส่วนก็เห็นว่าหะลาล ในขณะเดียวกันอุละมาอ์บางส่วนก็เห็นว่าหะรอม ซึ่งตอนนี้ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนยังไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของบิทคอยน์หรือคริปโตเคอร์เรนซี่ ...ดังนั้น เมื่อเราพบสภาวการณ์อย่างนี้ ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เราที่เป็นคนเอาวาม เป็นคนธรรมดา ๆ ไม่ใช่อุละมาอ์ จะพึงออกห่างจากเรื่องนั้นเสียก่อน อย่าเพิ่งกระโจนเข้าไปหามัน อย่าเพิ่งเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมัน ไว้รอให้บรรดาอุละมาอ์เขาได้ศึกษาในรายละเอียดและมีข้อสรุปที่ชัดเจนเสียก่อน จึงค่อยตัดสินใจทำอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องตัวของเราให้ปลอดภัยจากการเข้าไปรุกล้ำเขตหวงห้ามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตามที่ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ตักเตือนเราไว้ข้างต้น
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราเป็นผู้ที่ใฝ่ศึกษาเรียนรู้ในบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ และมีความเข้าใจในบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ พร้อมทั้งยืนหยัดปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ โปรดให้เราเป็นผู้ที่ออกห่างจากสิ่งที่บ่งชี้ว่าเป็นสิ่งที่คลุมเครือ โปรดให้เราเป็นผู้ที่เป็นผู้ที่มีอิคลาศต่อพระองค์ และโปรดให้เราเสียชีวิตในสภาพที่นอบน้อมยอมจำนนต่อพระองค์โดยสิ้นเชิง
มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ