ถ้อยคำแห่งปวงปราชญ์ 26
วันละหนึ่งความคิด....แปลเรียบเรียง
-เชค ซอและห์ เฟาซาน หะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ-
ผู้รู้บางท่านได้กล่าวถึงความหมายของคำพูดของท่านนบี صلى الله عليه وسلم เกี่ยวกับสัญญาณวันกิยามะฮฺที่ว่า:
"ทาสีจะให้กำเนิดนายหญิงของนาง"
ว่าหมายถึง ในยุคสุดท้ายนั้นจะมีการเนรคุณต่อพ่อแม่ปรากฏขึ้นอย่างมากมาย กระทั่งว่าลูกสาวจะเป็นเสมือนเจ้านายของแม่ตัวเอง คอยออกคำสั่งกับแม่ และคอยสั่งห้ามแม่ของตัวเอง
*คำอธิบายในวงเล็บสรุปจากคำอธิบายของเชคเฟาซาน หะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ
ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า:
"แท้จริง ก่อนหน้าที่วันสิ้นโลกจะมาถึงนั้น จะมีการให้สลามเฉพาะคน (สลามกันแต่คนที่รู้จักเท่านั้น)
การทำมาค้าขายจะปรากฏอย่างดาษดื่น (สนใจแต่เรื่องทำมาหากิน ไม่เอาใจใส่เรื่องศาสนา)
กระทั่งภรรยาต้องออกมาช่วยสามีทำมาค้าขาย (ประเพณีปฏิบัติจะเปลี่ยนแปลงไป จากที่สามีต้องหาเลี้ยงครอบครัว และภรรยาเลี้ยงลูกดูแลบ้านช่อง แต่เธอกลับต้องช่วยสามีทำงาน พะวงอยู่กับการหารายได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่เคยมีปรากฏในอดีต)
มีการตัดขาดญาติมิตร (อันเนื่องจากยุ่งอยู่กับเรื่องของดุนยาจนไม่มีเวลาติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติ)
ปากกาจะปรากฏแพร่หลาย ( จะมีการเรียนการสอนอย่างมากมาย มีการเปิดโรงเรียน สถานศึกษามากมายเพื่อให้คนได้ร่ำเรียนเขียนอ่าน ประเทศต่างๆ จะแข่งขันกันขจัดคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ให้หมดไปจากสังคม ทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้ชายหรือผู้หญิงจะเขียนหนังสือได้ ไม่มีใครไม่เขียนหนังสือ นี่คือสัญญาณหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนวันสิ้นโลก )
มีการเป็นพยานเท็จปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน ( นับเป็นบาปใหญ่ที่รุนแรงที่สุด ซึ่งจะมีมากมายในยุคสุดท้าย )* และจะมีการปิดบังการเป็นประจักษ์พยานที่ถูกต้อง"
( อิมามอัลอัลบานีย์ ระบุว่าเป็นหะดีษระดับศ่อฮีฮฺ)
- เชคอับดุลร็อซซ้าก อัลบัดร์ หะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ -
คนต่อกี่คนมาแล้ว ที่อัลลอฮฺทรงนำทางพวกเขา ทรงทำให้หัวอกของพวกเขาชื่นมื่นอิ่มเอม
และทำให้อีหม่านฝังลึกอยู่ในหัวใจของพวกเขา เพียงเพราะอายะฮฺเดียวเท่านั้นที่ตรงเข้าสู่หัวใจของเขา
ด้วยเหตุนี้เอง การคิดใคร่ครวญ พินิจพิจารณา (ในความหมายของอัลกุรอาน) จึงถือเป็นรากฐานสำคัญของประเด็นนี้
เวลาที่อ่านอัลกุรอาน อย่าได้สนใจแต่เพียงว่าเมื่อไหร่จะอ่านจบซูเราะฮฺ
แต่จงให้ความสนใจของท่านเวลาที่ท่านกำลังอ่านอัลกุรอาน อยู่ที่ (การคิดว่า) เมื่อไหร่กันที่ฉันจะได้รับทางนำด้วยอัลกุรอาน
เมื่อไหร่ที่ฉันจะได้รับประโยชน์จากอัลกุรอาน เมื่อไหร่ฉันจึงจะได้เป็นพลพรรคแห่งอัลกุรอาน
พลพรรคของอัลลอฮฺ ผู้เป็นบุคคลพิเศษเฉพาะของพระองค์เท่านั้น
*สรุปคำอธิบายของเชคสุลัยมาน อัรรุฮัยลีย์ หะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ จาก ชัรฮฺกิตาบอัลอิคลาศ บทเรียนที่ 6
ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า:
"3 ประการที่ฉันขอสาบาน และขอบอกกับพวกท่านเอาไว้ ดังนั้น พวกท่านพึงจดจำเอาไว้ให้ดี:
ทรัพย์สินเงินทองของบ่าวในการบริจาคทานนั้นจะไม่ลดน้อยพร่องลง
(คือ การบริจาคทานจะไม่ทำให้เงินทองลดน้อยหายไปเป็นอันขาด ยิ่งบริจาคยิ่งได้เพิ่ม เพราะอัลลอฮฺจะทรงทดแทนให้เสมอ ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งที่พระองค์จะทรงทดแทนให้ย่อมยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่ได้แจกจ่ายออกไป ทรัพย์สินนั้นจะเป็นทรัพย์ที่มลาอิกะฮฺจะขอพรให้ ซึ่งอัลลอฮฺจะประทานความจำเริญให้แก่เขาผู้นั้น และจากการบริจาคทานนี้เองที่จะเป็นการขจัดความชั่วช้า หรือมลทินต่างๆ ที่มีอยู่ในเงินทองให้หมดไป)
ไม่มีบ่าวคนใดที่เขาถูกอธรรม ไม่ว่าเป็นการอธรรมรูปในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใด แล้วเขาอดทนอดกลั้นอันเนื่องจากการอธรรมนั้น
(อดทน ให้อภัย ระงับคำพูดและการกระทำ ที่จะไม่อธรรมกลับไป)นอกจากอัลลอฮฺจะทรงเพิ่มพูนเกียรติศักดิ์ศรีให้แก่เขา (เขาจะยิ่งมีเกียรติและผู้ที่อธรรมจะยิ่งต่ำต้อย)
และไม่มีบ่าวคนใดที่เปิดประตูแห่งการขอ (รบเร้าขอผู้อื่นในสิ่งที่เกินความจำเป็น,ขอเพราะอยากจะมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งๆ ที่ตัวเองมีพอ)*นอกจากอัลลอฮฺจะทรงเปิดประตู แห่งความยากจนขัดสนให้แก่เขา"
( คือ จะให้เครื่องหมายของความยากจนปรากฏต่อสายตาคนอื่น เขาจะไม่ได้รับประโยชน์จากเงินทอง ที่รวบรวมหามาได้ หรืออาจหมายถึงอัลลอฮฺจะทรงริบทรัพย์สินของเขาไป กระทั่งเขากลายเป็นคนยากจนไปในที่สุด จากที่เคยมีกินมีใช้ แต่พอเริ่มขอใครต่อใคร ก็จะกลายเป็นคนไม่เหลืออะไร และอาจหมายถึง อัลลอฮฺจะทรงทำให้เขามองเห็นแต่ความยากจน ไม่รู้สึกพอเพียงแม้จะมีเพียงพอ หะดีสนี้จึงเป็นการเน้นย้ำในเรื่องการขอ มุสลิมจะไม่ขอพร่ำเพรื่อ นอกจากจะขอเพราะสุดวิสัย มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น)
(บันทึกโดย อิมามอัตติรมีซีย์)
- เชค อับดุรร็อซ้าก อัลบัดร์ หะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ -
หากอยากรู้สถานะของตัวเองในด้านศาสนา รู้สถานะของตัวเองที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า และรู้ระดับความรักของตัวเองที่มีต่อพระองค์แล้ว ก็จงพิจารณาพฤติกรรมของตัวเองที่มีต่ออัลกุรอานเถิด
ดังที่ท่านอิบนิ มัสอู๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ ได้กล่าวไว้ว่า :
" คนหนึ่งคนใดอย่าได้ถามอะไรเกี่ยวกับตัวเอง นอกจากถามในเรื่องของอัลกุรอาน
เพราะหากเขาเป็นคนที่รักอัลกุรอาน เขาก็คือคนที่รักอัลลอฮฺ และร่อซู้ลของพระองค์ด้วยเช่นเดียวกัน"
- ท่านอบี มัยมูน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -
แท้จริงแล้ว การอดทนอดกลั้นนั้นมีเงื่อนไข (ที่ทำให้การอดทนนั้นๆ ได้รับการตอบแทน)
ผู้รายงานถามว่า : แล้วมันคืออะไรหรือ ท่านอะบา มัยมูน ?
ท่านตอบว่า : แท้จริงแล้ว เงื่อนไขของการอดทนก็คือ ท่านจะต้องรู้ว่า ท่านจะอดทนอย่างไร ? อดทนเพื่อใคร ? แล้วท่านปรารถนาอะไรจากการอดทนของท่าน ?
เพียงท่านหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺในเรื่องนั้นๆ และตั้งเจตนาให้ดี ท่านก็จะอดทนได้ตลอดรอดฝั่ง (เป็นการอดทนที่ยังผล) มิเช่นนั้น ท่านก็จะมีสถานะไม่ต่างอะไรกับสัตว์ตัวหนึ่ง มันจะตะเกียกตะกายดิ้นรนยามที่ถูกทรมาน
แต่พอการทรมานยุติสงบลง มันก็สงบ นิ่งเฉย โดยที่มันไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวและไม่ได้เข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อที่มันจะได้หวังในความเมตตาและอดทน ซึ่งความจริงแล้วมันก็ไม่ได้อดทนอะไร และเมื่อการทรมานยุติลง มันก็ไม่ได้รู้สึกถึงความโปรดปรานใดๆ อันเป็นเหตุให้มันต้องสรรเสริญ และแสดงความขอบคุณต่ออัลลอฮฺเลย
๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗