รอมะฎอน อันประเสริฐได้จากเราไปแล้ว แต่.....!
  จำนวนคนเข้าชม  2546

รอมะฎอน อันประเสริฐได้จากเราไปแล้ว แต่.....!

 

.ฮะซัน เจริญจิตต์

 

          เราได้ใช้ชีวิตกันมา 1 เดือนเต็มๆในรอมะฎอน เราถือศีลอดในเวลากลางวัน เราละหมาดในยามค่ำคืน เราบริจาคทาน เราเลี้ยงอาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอดทั้งหลาย เราทำความดีเพิ่มเติมมากมายเราหยุดจากสิ่งไม่ดีต่างๆหลายอย่างเช่นเดียวกัน หนึ่งเดือนเต็มมันเพียงพอที่จะส่งผลดีๆต่อหัวใจ แม้นรอมะฎอนจะจากเราไปแล้วแต่เชื่อว่าร่องรอยของมันยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจของพวกเราทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง ลดหลั่นกันไปตามแต่ความมุ่งมั่นทุ่มเทของแต่ละคนในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

 

          ผู้ที่ได้ลิ้มรสความสุขของการฏออะฮฺ เชื่อฟังต่ออัลลอฮฺ อย่างแท้จริง ย่อมไม่เบื่อหน่าย หรืออ่อนล้าในการอิบาดะฮฺ ปรากฏการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับพวกเราทุกคนมาแล้วในเดือนรอมะฎอน เดือนที่เราถือศีลอดอย่างเข้มแข็งตลอดทั้งเดือน เดือนที่เราละหมาดยามค่ำคืนต่อเนื่องทุกๆคืน เดือนที่เราบริจาคได้ทุกๆวันอย่างไม่รู้สึกเสียดายและไม่กลัวหมด 

 

مَنْ عَمِلَ صَالِحًا مِّن ذَكَرٍ أَوْ أُنثَىٰ وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَلَنُحْيِيَنَّهُ حَيَاةً طَيِّبَةً ۖ وَلَنَجْزِيَنَّهُمْ أَجْرَهُم بِأَحْسَنِ مَا كَانُوا يَعْمَلُونَ

 

ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี

และแน่นอนเราจะตอบแทนพวกเขาซึ่งรางวัลของพวกเขา ที่ดียิ่งกว่าที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้

(อัลนะห์ลุ/97)

 

          ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่มีความสุขกับการได้พึ่งพิงอัลลอฮฺ ความสุขที่ได้ติดต่อกับพระองค์ เชื่อมั่นในพระองค์ หัวใจปลอดโปร่งและอ่อนโยนด้วยการภัคดีต่อพระองค์ หัวใจผ่อนคลายด้วยการรักษาสิ่งวายิบที่พระองค์ทรงกำหนด ซึ่งความสุขเหล่านี้ไม่อาจได้มาด้วยการมีเงินทองมาก มีลูกหลานวงศ์วานว่านเครือมาก หรือมีพวกพ้องบริวารมาก

 

          เราเคยได้ยินกันมาซ้ำๆหลายต่อหลายครั้งถึงผลบุญอันมากมายของการถือศีลอดซุนนะฮฺ 6 วันในเดือนเชาวาล การถือศีลอดในวันจันทร์ และ วันพฤหัส ของทุกสัปดาห์ หรือการถือศีลอดในวันขึ้น 13,14 และ 15 ค่ำของทุกเดือน หรือถือศีลอดในวันอะรอฟะฮฺ และวันอาชูรออฺ แต่โดยทั่วไปแล้วพวกเราส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถถือศีลอดในวันต่างๆเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วนเต็มเม็ดเต็มหน่วยกันสักที

 

          แต่ทว่าในเดือนรอมฎอน เรากลับสามารถถือศีลอดได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือนโดยไม่มีวันหยุด โดยไม่เว้นวรรค และไม่พักผ่อน จนกระทั่งสิ้นสุดรอมฎอน ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่า หัวใจของมนุษย์นั้น เมื่อมีความมุ่งมั่นตั้งใจและทุ่มเทแล้ว ก็สามารถที่จะทำในสิ่งที่ต้องการได้ แม้นว่าจะเป็นสิ่งที่เขาเคยบอกกับตัวเองว่าทำไม่ได้ก็ตาม

 

          เราไม่ได้คาดคั้นกับตัวเองถึงขนาดว่า จะต้องใช้ชีวิตให้เหมือนในเดือนรอมะฎอนทุกกระเบียดนิ้ว หัวใจไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีกแล้ว เมื่อรอมฎอนได้จากไป ไม่มีห้วงยามแห่งความประเสริฐเหมือน รอมฎอนอีกแล้ว นอกจากรอมฎอนใหม่ที่จะมาถึง เพียงแต่อยากเตือนสติเราท่านทั้งหลายว่า อย่าตัดสายสัมพันธ์จากการงานดีๆ ที่เคยทำในเดือนรอมฎอนให้ขาดผึงลงโดยฉับพลัน ทันทีที่รอมะฎอนจากไป อย่าปล่อยให้ผลบุญต่างๆขาดหายไปจากบัญชีในทันใด อย่าให้ความชุ่มฉ่ำของการปฏิบัติดีเหือดแห้งไปจากหัวใจเลย

อย่าปล่อยให้ทั้งปีของเรา ไม่มีการถือศีลอดใดๆเลย นอกจาก รอมฎอน

อย่าปล่อยให้ทั้ง 11 เดือนของเรา ไม่มีละหมาดยามค่ำคืนใดๆ เลยหลังจากรอมฎอน

อย่าปล่อยให้ทุกวันหลังรอมฎอนไม่มีการบริจาคใดๆออกจากมือเราเลย

 

จงรักษาละหมาดฟัรฎูให้เข้มแข็ง และเพิ่มเติมด้วยละหมาดซุนนะฮฺ รอวาติบ ของแต่ละเวลาละหมาดให้ครบถ้วนมากที่สุด

ถือศีลอดซุนนะฮฺ ให้ได้เดือนละ 3 วัน

ละหมาดวิตร 3 ร็อกอะฮฺ ก่อนนอนทุกคืน

          นี่ควรจะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่มุสลิมทุกคนควรรักษาไว้ให้ได้ หลังจากเดือนรอมฎอนได้จากไป เพื่อให้หัวใจของเราคุ้นเคย และเคยชินกับการแสวงหาความใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา

 

….وما تَقَرَّبَ إلَيَّ عَبْدِي بشَيءٍ أحَبَّ إلَيَّ ممَّا افْتَرَضْتُ عليه، وما يَزالُ عَبْدِي يَتَقَرَّبُ إلَيَّ بالنَّوافِلِ حتَّى أُحِبَّهُ، فإذا أحْبَبْتُهُ، كُنْتُ سَمْعَهُ الَّذي يَسْمَعُ به، وبَصَرَهُ الَّذي يُبْصِرُ به، ويَدَهُ الَّتي يَبْطِشُ بها، ورِجْلَهُ الَّتي يَمْشِي بها، وإنْ سَأَلَنِي لَأُعْطِيَنَّهُ، ولَئِنِ اسْتَعاذَنِي لَأُعِيذَنَّهُ،….

 

     ท่านรอซูลุลลอฮฺ -ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิ วะซัลลัม- กล่าวว่า อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า 

 

     “ไม่มีการแสวงหาความใกล้ชิดใดที่บ่าวของข้าทำกับข้า จะเป็นที่รักของข้ามากไปกว่าสิ่งที่ข้ากำหนดเป็นฟัรฎูให้แก่เขา ยังไม่พอแค่นั้น 

     บ่าวของข้ายังคงแสวงหาความใกล้ชิดกับข้าด้วยการงานภาคสมัครใจต่างๆ จนข้ารักเขา เมื่อข้ารักเขาแล้ว

ข้าจะเป็นการได้ยินของเขาที่เขาฟังมัน 

ข้าจะเป็นสายตาของเขาที่เขามองกับมัน 

ข้าจะเป็นมือของเขาที่เขาหยิบฉวยกับมัน 

ข้าจะเป็นเท้าของเขาที่เขาก้าวเดินกับมัน 

หากเขาขอสิ่งใดต่อข้าข้าก็จะให้ เขา ถ้าเขาขอความตุ้มครองต่อข้า ข้าก็จะให้การคุ้มครองเขา

(ฮะดีษกุดซีย์ บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ เลขที่ 6502)

 

          อดทน ยืนหยัดทำ 3 สิ่งนี้ ให้ต่อเนื่องจนกลายเป็นกิจวัตร ของเรา จนกลายเป็นอุปนิสัยของเรา จนกระทั่งผลบุญของมันนั้นจะได้รับการคิดคำนวณให้เราอย่างต่อเนื่องแม้ในสถานการณ์ที่เราไม่ได้ทำมัน

 

قالَ رَسولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ: إذَا مَرِضَ العَبْدُ، أوْ سَافَرَ، كُتِبَ له مِثْلُ ما كانَ يَعْمَلُ مُقِيمًا صَحِيحًا. الراوي : أبو موسى الأشعري | المحدث : البخاري | المصدر : صحيح البخاري الصفحة أو الرقم: 2996 | خلاصة حكم المحدث : [صحيح

 

     ท่านรอซูลุลลอฮฺ -ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิวะซัลลัม- กล่าวว่า 

 

     เมื่อบ่าวคนใดป่วยหรือเดินทาง(อันเป็นเหตุให้อิบาดะฮฺของเขาไม่สมบูรณ์เหมือนตอนที่เขาสุขภาพดี หรือเหมือนตอนที่เขาพักอยู่บ้านของเขา) ผลบุญของเขาจะถูกบันทึกให้กับเขาเหมือนกับที่เขาปฎิบัติตอนที่เขาอยู่บ้านและสุขภาพดี

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์)

 

รอมฎอนจากไปแล้ว แต่องค์อภิบาล เจ้าของรอมฎอน ยังคงอยู่

 

فَإِنَّ اللهَ حَيٌّ لَا يَمُوت

 

จงยืนหยัดสักการะ ภักดีต่อพระองค์อัลลอฮฺ จนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ในฐานะบ่าวผู้ขอบคุณ