เดือนเราะมะฎอนแล้ว..อย่าให้ขาดทุน
  จำนวนคนเข้าชม  3097

เดือนเราะมะฎอนแล้ว..อย่าให้ขาดทุน

 

อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีคำสั่งใช้ให้เราป้องกันตัวของเราและครอบครัวของเราไม่ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงให้กับไฟนรกในวันกิยามะฮฺ ดังนั้น การดำเนินชีวิตของเราในทุก ๆวัน เราจึงต้องมีความระมัดระวังตัวเราและครอบครัวของเราไม่ให้ต้องกลายเป็นเชื้อเพลิงให้กับไฟนรก 

 

         โดยการที่เราต้องพยายามศึกษาเรียนรู้ ทำความเข้าใจในบทบัญญัติศาสนาที่ถูกต้องของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เมื่อได้เรียนรู้แล้ว เข้าใจแล้วก็ให้ปฏิบัติในสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ โดยพยายามทำให้มันสุดความสามารถของเรา และในขณะเดียวกัน เราต้องออกห่างและละทิ้งจากสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงห้ามโดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺทุกอย่างให้ตรงตามแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย

 

          อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ขณะนี้ เราเข้าสู่ช่วงปลายของเดือนเราะมะฎอนในปีนี้แล้ว จึงขอให้เราได้ชุกูร ขอบคุณในความโปรดปราน ขอบคุณในความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงมีต่อเรา ที่ได้ทรงให้เราได้มีชีวิตอยู่จนถึงขณะนี้ และให้เราได้ถือศีลอด ได้มีโอกาสใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอนในปีนี้ ซึ่งขณะนี้เดือนเราะมะฎอนยังอยู่กับเรา ก็ขอให้เราได้ระมัดระวังตัวเรา อย่าให้ตัวเราต้องขาดทุนในเดือนเราะมะฎอน

 

        อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่ประเสริฐที่สุด มีความประเสริฐมากมายซ้อนทับอยู่ในแต่ละความประเสริฐ อันเป็นที่มาของผลบุญ และรางวัลตอบแทนอันทบเท่าทวีคูณ ผลบุญตอบแทนที่มากยิ่งกว่ามาก ...

 

    เราะมะฎอน เป็นเดือนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเปิดบานประตูสวรรค์ออกอย่างกว้างขวาง เพื่อต้อนรับบ่าวของพระองค์ที่รู้สำนึกถึงบุญคุณของพระองค์.. ส่วนสำหรับประตูนรก พระองค์ก็ทรงปิดสลักอย่างแน่นหนา เพราะพระองค์ทรงมีความเมตตาไม่อยากให้บ่าวของพระองค์ต้องเข้าไปถูกลงโทษในนรกนั้น ..

 

    เราะมะฎอน เป็นเดือนที่พระองค์ทรงปลดปล่อยบ่าวของพระองค์ ก็คือปลดปล่อยตัวเรา ให้โอกาสแก่ตัวเราให้หลุดพ้นจากการถูกลงโทษในไฟนรก อีกทั้งพระองค์ยังทรงล่ามบรรดาชัยฏอนไว้ ไม่เปิดโอกาสให้มันมาล่อลวงเรา ไม่มาทำให้เราต้องได้รับการลงโทษ...

 

    เราะมะฎอน เป็นเดือนที่มีผลบุญ มีรางวัลตอบแทน มีความดีต่าง ๆมากมายที่จะมอบให้แก่เรา มอบให้แก่บรรดาผู้ศรัทธา แต่ก็มีบรรดาผู้ศรัทธาจำนวนไม่น้อยเลยที่ขาดทุน ไม่ได้รับความดีต่าง ๆจากเดือนเราะฎอน ..

 

          ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงโปรดคุ้มครองเรา ปกป้องเราจากการเป็นผู้ที่ขาดทุนในเดือนเราะมะฎอนด้วยเถิด ... อามีน

 

เรามาดูว่าอะไรบ้างที่ทำให้เราเป็นผู้ที่ขาดทุนในเดือนเราะมะฎอน....! !

 

ประการที่หนึ่ง 

 

          ถือศีลอดแล้วแต่ก็ยังขาดทุน แท้ที่จริงแล้ว การถือศีลอดของเรานั้นมันสามารถลบล้างบาปที่ผ่านมาของเราได้ โดยเราต้องให้การถือศีลอดของเรานั้น เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นว่า การถือศีลอดนั้นมันเป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเรามีความมุ่งมั่น มีความปรารถนาอยากจะได้รับรางวัลจากการถือศีลอดนั้น ต้องมีเงื่อนไขทั้งสองประการนี้ การถือศีลอดของเราจึงจะสามารถลบล้างบาปที่ผ่านมาของเราได้ ถ้าเราขาดเงื่อนไขสองประการนี้หรือขาดข้อใดข้อหนึ่ง เราก็ขาดทุน เพราะไม่ได้รับผลบุญจากการลบล้างบาปของเรา

 

        อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

«مَنْ صَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ»

 

     ผู้ใดก็ตามที่ถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนด้วยจิตใจที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาและหวังผลบุญตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาผู้นั้นจะได้รับการอภัยโทษบาปของเขาที่เขาได้ทำมา

 

        นอกจากนี้ เราถือศีลอดแล้ว แต่ก็ยังขาดทุนอยู่ เพราะเราไม่ละทิ้งคำพูดที่หยาบคาย ไม่ละทิ้งคำพูดที่โกหกพกลม ไม่ละเว้น ไม่ละเลิกจากการนินทาใส่ร้ายด่าทอผู้อื่น ไม่ละทิ้งการกระทำที่หยาบคาย ไม่งดเว้นจากสิ่งไร้สาระ ซึ่งสิ่งต่าง ๆเหล่านี้คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเราขาดทุน

 

         อัลหะดีษ (เศาะหิหฺ อัลญามิอฺ) ในบันทึกของอิมามอิบนุคุซัยมะฮฺ อิมามอิบนุฮิบบาน อิมามมาลิก รายงานจากท่านอะบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

لَيْسَ الصِّيَامُ مِنَ الأَكْلِ وَالشُّرْبِ ، إِنَّمَا الصِّيَامُ مِنَ اللَّغْوِ وَالرَّفَثِ ، فَإِنْ سَابَّكَ أَحَدٌ أَوْ جَهِلَ عَلَيْكَ ، فَلْتَقُلْ : إِنِّي صَائِمٌ ، إِنِّي صَائِمٌ

 

     การถือศีลอดไม่ใช่แค่เพียงการงดอาหารและงดเครื่องดื่มเท่านั้น หากแต่การถือศีลอดที่แท้จริงนั้น ต้องงดจากสิ่งไร้สาระต่าง ๆและต้องระงับอารมณ์ใคร่ใฝ่ต่ำด้วย..และหากว่ามีผู้ใดมาด่าทอท่าน หรือแสดงกิริยามารยาทที่ไม่ดีต่อท่าน

     ดังนั้น ท่านจงกล่าวว่า : ฉันถือศีลอด ฉันถือศีลอด

 

 

ประการที่สอง 

 

        ที่ทำให้เราขาดทุนในเดือนเราะมะฎอนก็คือ การที่เราไม่สนใจ หรือไม่ให้ความสำคัญกับการละหมาดกิยามุลเราะมะฎอนหรือละหมาดตะเราะวิหฺ หรือละหมาดตะเราะวิหฺเหมือนกันแต่ก็ยังขาดทุน เพราะแท้ที่จริงแล้ว การละหมาดตะเราะวิหฺของเรานั้นมันสามารถลบล้างบาปที่ผ่านมาของเราได้ โดยเราต้องให้การละหมาดตะเราะวิหฺของเรานั้น เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นว่า มันเป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเรามีความมุ่งมั่น มีความปรารถนาอยากจะได้รับรางวัลจากการละหมาดนั้น ต้องมีเงื่อนไขทั้งสองประการนี้ การละหมาดตะเราะวิหฺของเราจึงจะสามารถลบล้างบาปที่ผ่านมาของเราได้ แต่ถ้าละหมาดไปโดยไม่ได้สนใจในเงื่อนไขทั้งสองประการนี้ เราก็ขาดทุนจากผลบุญนี้

 

         อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

وَ مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا، غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ

 

     และผู้ใดก็ตามที่ยืนละหมาดยามค่ำคืนเราะมะฎอน(ก็คือละหมาดกิยามุลเราะมะฎอน)ด้วยจิตใจที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาและหวังผลบุญตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาผู้นั้นจะได้รับการอภัยโทษบาปของเขาที่เขาได้ทำมา

 

         นอกจากนี้ การละหมาดกิยามุลเราะมะฎอน (ละหมาดตะเราะวิหฺเป็นญะมาอะฮฺ)ให้เสร็จพร้อมไปกับอิมาม ก็ยังทำให้เราได้รับผลบุญเทียบเท่ากับการละหมาดซุนนะฮฺทั้งคืน แต่หลาย ๆคนก็ขาดทุนจากผลบุญนี้

         อัลหะดีษ (เศาะหิหฺ) ในบันทึกของอิมามอบูดาวูด อิมามอัตติรฺมีซีย์ ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

إنَّهُ مَنْ قَامَ مَعَ الإمَامِ حَتَّى يَنْصَرِفَ كُتِبَ لَـهُ قِيَامُ لَيْلَةٍ

 

     “แท้จริง ใครก็ตามที่ละหมาด(ตะเราะวิหฺ)พร้อมอิมามจนละหมาดเสร็จ ได้ถูกบันทึกผลบุญสำหรับเขาดังเช่นการละหมาดกิยามุลัยละฮฺ(ละหมาดซุนนะฮฺ)ทั้งคืน

 

 

ประการที่สาม 

 

         ที่ทำให้เราขาดทุนในเดือนเราะมะฎอนก็คือ การที่เราไม่ใส่ใจ หรือไม่ให้ความสำคัญกับการอ่านอัลกุรอาน ซึ่งมีผลบุญของการอ่านในทุก ๆตัวอักษร อีกทั้งเรายังไม่พยายามศึกษาหาความหมาย ไม่ทำความเข้าใจกับอัลกุรอานทั้ง ๆที่เดือนนี้เป็นเดือนแห่งอัลกุรอาน เป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา อีกทั้งยังเป็นเดือนที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมทบทวนอัลกุรอานกับท่านญิบรีล อะลัยฮิสสลามอีกด้วย

 

        อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านอิบนิ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า

كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَجْوَدَ النَّاسِ وَكَانَ أَجْوَدُ مَا يَكُونُ فِي رَمَضَانَ حِينَ يَلْقَاهُ جِبْرِيلُ وَكَانَ يَلْقَاهُ فِي كُلِّ لَيْلَةٍ مِنْ رَمَضَانَ فَيُدَارِسُهُ الْقُرْآنَ فَلَرَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَجْوَدُ بِالْخَيْرِ مِنْ الرِّيحِ الْمُرْسَلَ

 

     “ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นผู้ที่ใจบุญที่สุด และท่านจะใจบุญมากยิ่งขึ้นในเดือนเราะมะฎอน ...

     ขณะที่ญิบรีลได้พบกับท่าน และญิบรีลจะพบกับท่านทุกคืนในเดือนเราะมะฎอน และจะทบทวนอัลกุรอานกับท่าน

     ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นผู้ที่ใจบุญยิ่งกว่าสายลมที่พัดโชย

 

 

ประการที่สี่ 

 

          ที่ทำให้เราขาดทุนในเดือนเราะมะฎอนก็คือ ไม่ให้ความสำคัญกับการขอดุอาอ์ เพราะแท้จริงแล้วดุอาอ์ของผู้ที่ถือศีลอดนั้น เป็นดุอาอ์ที่ถูกตอบรับ

        อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอะหฺมัด (เศาะหิหฺ) รายงานจากท่านอะบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

ثَلَاثَةٌ لَا تُرَدُّ دَعْوَتُهُمْ الْإِمَامُ الْعَادِلُ وَالصَّائِمُ حَتَّى يُفْطِرَ وَدَعْوَةُ الْمَظْلُومِ

 

     บุคคลสามกลุ่มด้วยกันที่การขอดุอาอ์ของพวกเขาจะไม่ถูกปฏิเสธ (นั่นก็ได้แก่) (หนึ่ง) อิมามหรือผู้นำที่มีความยุติธรรม (สอง) ผู้ถือศีลอดจนกว่าจะละศีลอด และ(สาม) การขอดุอาอฺของผู้ที่ถูกข่มเหง

 

          นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่ละศีลอดนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่การขอดุอาอ์นั้นมุสตะญาบ เป็นช่วงเวลาที่ดุอาอ์จะถูกตอบรับเช่นกัน แต่บางทีเราก็ละเลย

         อัลหะดีษ (เศาะหิหฺ)ในบันทึกของอิมามอิบนุมาญะฮฺ รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อัมร์ อิบนิ อาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

إِنَّ لِلصَّائِمِ عِنْدَ فِطْرِهِ لَدَعْوَةً مَا تُرَدُّ

 

แท้จริงสำหรับผู้ถือศีลอดขณะละศีลอดของเขานั้น การขอดุอาอ์จะไม่ถูกปฏิเสธ ( ก็คือถูกตอบรับนั่นเอง)

 

         การขอดุอาอ์ในช่วงระยะเวลาสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ก็นับเป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญ เพราะจะต้องมีสักวันที่ต้องตรงกับคืนลัยละตุลก็อดรฺ ซึ่งดุอาอ์จะถูกตอบรับ และดุอาอ์ที่ท่านนบีชอบที่จะให้กล่าวมาก ๆก็คือ

 

         อัลหะดีษ (เศาะหิหฺ ) ในบันทึกของอิมามอัตติรฺมีซีย์ รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า

     “ฉันได้กล่าวกับท่านเราะซูลุลลอฮฺว่าโอ้ ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ท่านจะเห็นเป็นอย่างไร หากฉันเห็นว่า คืนไหน ๆก็ตามเป็นคืนลัยละตุลก็อดรฺ ฉันควรจะอ่านดุอาอ์ว่าอย่างไร ?...

     ท่านเราะซูลุลลอฮฺกล่าวว่า

لهُمَّ إِنَّكَ عَفُوٌّ كَرِيْمٌ تُحِبُّ العَفْوَ فَاعْفُ عَنِّيالَّ

 

     โอ้ พระเจ้าของพระองค์ แท้จริง พระองค์เป็นผู้ทรงอภัยโทษ พระองค์ทรงชอบที่จะให้อภัยโทษ ดังนั้น ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

 

 

ประการที่ห้า 

 

         ไม่ให้ความสำคัญกับการอิสติฆฟาร และการเตาบะฮตัว ..เราไม่ให้ความสำคัญกับการขออภัยโทษ และการกลับเนื้อกลับตัวต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทั้ง ๆที่เดือนนี้เป็นเดือนแห่งการอภัยโทษ เป็นเดือนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเปิดประตูแห่งการอภัยโทษไว้มอบแก่บ่าวของพระองค์ แต่เราก็ยังหลงลืม เราก็ยังไม่ใส่ใจที่จะขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลากันอย่างจริงจัง

         อัลหะดีษ (เศาะหิหฺ) ในบันทึกของอิมามอัตติรมีซีย์ รายงานจากท่านอะบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

رَغِمَ أَنْفُ رَجُلٍ دَخَلَ عَلَيْهِ رَمَضَانُ ثُمَّ انْسَلَخَ قَبْلَ أَنْ يُغْفَرَ لَهُ

 

     ความพินาศจงประสบแก่บุคคลคนหนึ่ง ที่เมื่อเดือนเราะมะฎอนได้มาหาเขา แล้วมันได้ผ่านพ้นไปก่อนที่เขาจะได้รับการอภัยโทษ ( นี่แหละที่ทำให้มีสภาพขาดทุน..ขาดทุนจริง ๆ)

 

 

ประการที่หก 

 

       ที่ทำให้เราขาดทุนในเดือนเราะมะฎอนก็คือ ไม่ให้ความสำคัญกับการค้นหาค่ำคืนลัยละตุลก็อดร์ ซึ่งก็เป็นค่ำคืนแห่งการอภัยโทษ และผลบุญจากการที่เราทำอิบาดะฮฺต่าง ๆในค่ำคืนนี้ยังทำให้เราได้รับผลบุญมากกว่าทำหนึ่งพันเดือน

 

          การค้นหาค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ ไม่ใช่การไปเฝ้าดูว่า ค่ำคืนนี้ ท้องฟ้ามีลักษณะอย่างไร อากาศเป็นอย่างไร .. แต่การค้นหาค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺก็คือ การที่เรารีบฉกฉวยทำอิบาดะฮฺต่าง ๆ อ่านอัลกุอาน ละหมาดกิยามุลลัยน์ เอี๊ยะติกาฟ ขอดุอาอ์ ทำอิบาดะฮฺต่าง ๆในสิบค่ำคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนอย่างมากมาย ทำอย่างขะมักเขม้น ทำอย่างสุดกำลังความสามารถของเรา สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือการค้นหาค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ 

 

         เพราะ หากเราทำอิบาดะฮฺอย่างนี้ทุกคืน แท้จริงมันก็ต้องตรงกับค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺเข้าสักคืนหนึ่งอย่างแน่นอน และนี่แหละ ผลบุญจากการทำอิบาดะฮฺต่าง ๆนั้น เราจะได้รับอย่างมากมาย และยังได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอีกด้วย

 

          อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

وَمَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ

 

     “ผู้ใดดำรงการละหมาดกิยามุลลัยล์ในคืนลัยละตุลก็อดรฺด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาว่ามันเป็นคำสั่งของอัลลอฮฺฮ ตะอาลา และด้วยความหวังในรางวัลการตอบแทน ..เขาจะได้รับการอภัยโทษจากบาปที่ผ่านมา

 

          นั่นก็คือ ส่วนหนึ่งเท่านั้นของการที่ทำให้เราขาดทุนในเดือนเราะมะฎอน ก็ขอให้เราได้ระมัดระวังและใส่ใจในเรื่องนี้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ขาดทุนในเดือนเราะมะฎอน

 

 

         สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดเมตตาเราให้เราได้มีชีวิตและใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอนอย่างคุ้มค่า โปรดช่วยเหลือเราให้มีความเข้มแข็งในการทำอิบาดะฮฺ และโปรดรับการทำอิบาดะฮฺทั้งหมดของเรา โปรดอภัยโทษ ลบล้างความผิดต่าง ๆให้แก่เรา โปรดให้เราเป็นผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งการรักษาบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โปรดให้เราได้รับความดีงามจากเดือนเราะมะฎอนในปีนี้ และได้พบกับค่ำคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺกันทุกคน ...อามีน

 

 

 

( นะศีหะหฺ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )