เราะมะฎอน..เดือนแห่งการมุ่งสู่การขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา
  จำนวนคนเข้าชม  3199

เราะมะฎอน..เดือนแห่งการมุ่งสู่การขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา

 

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

        ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยต้องพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา

          ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺทุกอย่างให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺนั่นเอง

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ขอให้เราได้ชุกูร ได้ขอบคุณในความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ได้ทรงให้เราได้มีชีวิตอยู่จนเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนในปีนี้ และได้มีโอกาสใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอนในปีนี้ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ...

 

          เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่ถือว่าประเสริฐที่สุดในบรรดาเดือนทั้งหมด เป็นเดือนแห่งความจำเริญ เป็นเดือนที่ถือเป็นแหล่งรวมการทำอิบาดะฮฺสำคัญ ๆ ซึ่งถ้าหากใครลงทุนลงมือ ลงแรงทำอิบาดะฮฺต่าง ๆนั้น เขาจะได้รับภาคผล ได้รับผลบุญ ได้รับรางวัลตอบแทนอย่างทบเท่าทวีคูณ ได้รับอย่างมากมาย ได้รับมากกว่าที่เขาเคยได้รับในเดือนอื่น ๆ ...นอกจากนี้ การทำอิบาดะฮฺบางอย่างยังมีผลโดยตรงที่ทำให้เขาได้รับการอภัยโทษในบาป ในความผิดต่าง ๆที่เขาได้เคยทำมาอีกด้วย ...

 

          เราจะพบว่า อิบาดะฮฺหลักที่เราทำในช่วงกลางวันของเดือนเราะมะฎอนก็คือ การถือศีลอด และอิบาดะฮฺหลักที่เราทำในช่วงกลางคืนของเดือนเราะมะฎอน ก็คือการละหมาดกิยามุลลัยล์ ซึ่งอิบาดะฮฺสำคัญทั้งสองอย่างนี้ ผลบุญหรือรางวัลตอบแทนหลักที่เราจะได้รับตามที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้บอกให้เราทราบก็คือ การได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          อัลหะดีษมุตตะฟะกุนอะลัยน์ (ก็คืออัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม)รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«مَنْ صَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ»

 

     ผู้ใดก็ตามที่ถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนด้วยจิตใจที่มีความเชื่อมั่นศรัทธา และหวังผลบุญตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาผู้นั้นจะได้รับการอภัยโทษบาปของเขาที่เขาได้ทำมา

 

وَ مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا، غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ

 

     และผู้ใดก็ตามที่ยืนละหมาดยามค่ำคืนเราะมะฎอน(ก็คือละหมาดกิยามุลลัยล์)ด้วยจิตใจที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาและหวังผลบุญตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาผู้นั้นจะได้รับการอภัยโทษบาปของเขาที่เขาได้ทำมา

 

          นอกจากนี้ ในเดือนเราะมะฎอน เดือนแห่งความจำเริญก็ยังมีค่ำคืนที่เป็น ลัยละตินมุบาเราะกะฮฺ มีค่ำคืนที่เป็นค่ำคืนแห่งความจำเริญ นั่นก็คือ ค่ำคืนที่เรียกว่า ลัยละตุลก็อดรฺ เป็นค่ำคืนที่มีความประเสริฐกว่าหนึ่งพันเดือน และยังเป็นค่ำคืนแห่งการอภัยโทษอีกด้วย

 

     อัลหะดีษ المصدر : صحيح الجامع รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บินอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮฺวะซัลลัมกล่าวว่า

 

ليلةُ القدْرِ ليلةٌ سمِحَةٌ ، طَلِقَةٌ ، لا حارَّةٌ ولا بارِدَةٌ ، تُصبِحُ الشمسُ صبيحتَها ضَعيفةً حمْراءَ.

 

"คืนลัยละตุลก็อดรฺเป็นคืนแห่งการอภัยโทษ เป็นคืนที่มีอากาศดี ไม่ร้อนและไม่หนาว ดวงอาทิตย์ในตอนเช้ามีแสง(อ่อนๆ)สวยงาม "

 

          นั่นก็หมายความว่า ผู้ใดก็ตามที่ได้ทำอิบาดะฮฺในค่ำคืนแห่งความจำเริญนี้ เขาก็จะได้รับการอภัยโทษในบาปของเขาที่ผ่านมาเช่นกัน

          เรามาดูอัลหะดีษอีกบทหนึ่ง อัลหะดีษมุตตะฟะกุนอะลัยน์ รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

: «مَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ».

 

      และผู้ใดที่ได้ยืนขึ้น(ทำละหมาด หรือทำอิบาดะฮฺต่าง ๆ) ในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ ด้วยจิตใจที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาและหวังผลบุญตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาผู้นั้นจะได้รับการอภัยโทษบาปของเขาที่เขาได้ทำมา

 

          จากอัลหะดีษที่กล่าวมาข้างต้น เราจะพบว่า อิบาดะฮฺหลัก ๆที่เราทำในเดือนเราะมะฎอนนั้น นำเราไปสู่การได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทั้งสิ้น โดยมีเงื่อนไขของการที่จะได้รับการอภัยโทษนั้นคือ การที่เราต้องทำอิบาดะฮฺนั้น ๆ ด้วยกับความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างแท้จริงว่า มันเป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเราทำอิบาดะฮฺนั้นด้วยกับการที่เรามุ่งมั่นตั้งใจ มีความหวัง มีความปรารถนาอย่างเต็มเปี่ยมว่าเราอยากจะได้รับผลบุญ ได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในการที่เราทำอิบาดะฮฺนั้น ๆ ....จะต้องครบเงื่อนไขทั้งสองประการนี้ เราจึงจะได้รับการอภัยโทษในบาปต่าง ๆของเราที่ผ่านมา...

          นี่ก็คือ อะกีดะฮฺของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺที่จะต้องทำอิบาดะฮฺทุกอย่างด้วยอิคลาศ เชื่อมั่นศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และต้องมุ่งหวังรางวัลตอบแทน มีความหวังอยากจะได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วย ต้องควบคู่ทั้งสองอย่าง

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การเศาะดะเกาะฮฺ หรือการบริจาคก็นับเป็นอิบาดะฮฺสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมส่งเสริมสนับสนุนให้เราทำให้มาก ๆในช่วงเดือนเราะมะฎอน

     อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านอิบนิ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า

 

كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَجْوَدَ النَّاسِ وَكَانَ أَجْوَدُ مَا يَكُونُ فِي رَمَضَانَ

 

ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นผู้ที่ใจบุญที่สุด และท่านจะใจบุญมากยิ่งขึ้นในเดือนเราะมะฎอน

 

          นั่นก็หมายความว่า โดยปกติท่านนบีจะเป็นคนใจบุญอยู่แล้ว ก็คือเป็นคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อ ชอบช่วยเหลือ ชอบที่จะทำเศาะดะเกาะฮฺ ชอบที่จะบริจาค ชอบที่จะให้สิ่งดี ๆ แก่ผู้อื่น และท่านนบีจะเศาะดะเกาะฮฺ จะบริจาคมากยิ่งขึ้นไปอีกในเดือนเราะมะฎอน ทำมากยิ่งขึ้น ทำมากกว่าเดือนอื่น ๆ เพราะท่านนบีทราบถึงผลบุญอย่างหนึ่งของการบริจาค ว่ามันคือการลบล้างความผิด มันคือการที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอภัยโทษในความผิดต่าง ๆให้แก่ผู้ที่ใจบุญสุนทาน

           เรามาดูอัลหะดีษ المصدر : صحيح الترغيب รายงานจากท่านมุอาซ บินญะบัล เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

وَالصَّدَقَةُ تُطْفِئُ الْخَطِيئَةَ كَمَا يُطْفِئُ الْمَاءُ النَّارَ ،

 

เศาะดะเกาะฮฺ(หรือการบริจาค)จะลบล้างความผิด เสมือนน้ำที่ใช้ดับไฟ

 

          นั่นก็คือ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้เปรียบการเศาะดะเกาะฮฺ หรือการบริจาคว่า มันเหมือนกับน้ำที่ใช้ดับไฟ นั่นก็หมายความว่า เศาะดะเกาะฮฺหรือการบริจาคที่เราบริจาคออกไปนั้น มันสามารถที่จะมาชำระล้าง มาลบล้างความผิด ลบล้างบาปให้แก่เราได้

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เราจะพบว่า อิบาดะฮฺสำคัญ ๆที่เราทำในเดือนเราะมะฎอน เพียงสามสี่อย่างที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้น มันคืออิบาดะฮฺที่ให้รางวัลตอบแทนด้วยการได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่า มันเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเอาใจใส่ต่อการได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทั้งนี้เพราะ จุดหมายปลายทางสุดท้ายในโลกอาคิเราะฮฺที่เราทุกคนต้องได้รับนั้น คือ ที่พำนักในสวรรค์หรือไม่ก็ในนรกเท่านั้น ..

 

           ที่พำนักหนึ่งเดียวที่เราจะได้ไปอยู่ก็คือสวรรค์ แต่ถ้าไม่ได้อยู่สวรรค์ก็ต้องอยู่ในนรก ...ซึ่งทั้งนี้ คนที่เขาจะได้เข้าสวรรค์ของ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้น เขาจะต้องเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ไม่มีบาปใด ๆ ทั้งสิ้น จะต้องไม่มีมะอ์ศิยะฮฺที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดไว้ ติดตัวเขาไปเข้าสวรรค์ ดังนั้น ใครก็ตามที่มีบาปติดตัวแม้แต่เพียงผงธุลีเดียว เขาก็ไม่มีสิทธิได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเลย

 

           ด้วยเหตุนี้ ถ้าบนโลกดุนยา เรายังมีความผิดติดตัวมากมายเต็มไปหมด เมื่อไปถึงโลกอาคิเราะฮฺ เราก็ต้องถูกสอบสวน ถูกชำระสะสาง ถูกลงโทษในความผิดต่าง ๆที่เราทำ ความผิดที่เรายังไม่ได้อิสติฆฟาร ยังไม่ได้เตาบะฮฺตัวต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เราจะถูกลงโทษด้วยการลงโทษที่รุนแรง เจ็บปวดและทุกข์ทรมาน ..

          และด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงมีต่อเรา พระองค์จึงทรงให้เราได้ทำอิบาดะฮฺต่าง ๆบนโลกดุนยานี้ ซึ่งมันมีผลในการลบล้างความผิด มีผลให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอภัยโทษแก่เรา เมื่อไปถึงโลกอาคิเราะฮฺ ความรุนแรงจากการถูกลงโทษต่าง ๆก็จะเบาบางลง หรือเราอาจจะได้รับการอภัยโทษโดยไม่ต้องรับโทษใด ๆเลยก็ได้ หากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประสงค์ที่จะให้เป็นเช่นนั้น

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การที่เราพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้พ้นจากการทำผิด ออกห่างจากการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มุ่งสู่การขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มันก็คือ การที่เราพยายามสร้างอัตตักวา หรือสร้างความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้มันเกิดขึ้นในตัวของเรา อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน

     ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 183 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

 يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ

 

     ผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว ดั่งเช่นที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้มาก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ تَتَّقُونَ ยำเกรง

 

     การถือศีลอดนำเราไปสู่การยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งคนที่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาก็จะมีคู่มือการดำเนินชีวิตของเขา

     ในอัลกรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 2 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

ذَٰلِكَ الْكِتَابُ لَا رَيْبَ فِيهِ هُدًى لِّلْمُتَّقِينَ 

 

     คัมภีร์นี้ ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ในนั้นเลย (เป็นคัมภีร์ที่มีแต่ความจริง มีแต่ความถูกต้องเท่านั้น... คัมภร์นี้จึง)เป็นทางนำสำหรับบรรดาผู้ยำเกรงเท่านั้น

 

          คัมภีร์ที่เป็นทางนำ เป็นคู่มือการดำเนินชีวิตสำหรับบรรดาผู้ยำเกรงเล่มที่ว่านี้ก็คือ อัลกุรอาน เป็นกิตาบุน มุบาร็อค เป็นคัมภีร์อันจำเริญ ซึ่งถูกประทานในคืนอันจำเริญ ก็คือคืนลัยละตุลก็อดรฺ ซึ่งคืนอันจำเริญนี้ก็อยู่ในเดือนอันจำเริญก็คือ เดือนเราะมะฎอนเท่านั้น เป็นคัมภีร์ที่ถือเป็นคู่มือการดำเนินชีวิตของผู้ยำเกรง...

          จริงอยู่ที่อัลกุรอานถูกประทานลงมาเพื่อเป็นทางนำแก่บรรดามนุษยชาติทั้งหมดทุกคน.. แต่ทว่า คนที่จะได้รับประโยชน์จากอัลกุรอานจริง ๆ มีแต่เพียงบรรดาผู้ยำเกรงเท่านั้น ดังนั้น ผู้ยำเกรงเท่านั้นที่จะอ่านอัลกุรอานในทุกวันและทุกคืน และอ่านมากยิ่งขึ้นในเดือนเราะมะฎอน นอกจากจะอ่านอย่างมากมายแล้ว ยังศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการอ่าน อีกทั้งยังศึกษาความหมาย เรียนรู้ในสิ่งที่อัลกุรอานได้บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ บอกกล่าวในคำสั่งต่าง ๆของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา 

          การอ่านจะทำให้เราได้รับผลบุญอย่างมากมาย และการปฏิบัติตามในสิ่งอัลกุรอานบอกกล่าว ยิ่งทำให้เราผลบุญมากยิ่งขึ้นไปอีก เป็นผลบุญที่จะเป็นการลบล้างบาปต่าง ๆ และเป็นการเพิ่มขั้นในสวรรค์ให้แก่เรา ก็ขอให้เราได้ทุ่มแรงกาย แรงใจในการทำอิบาดะฮฺต่าง ๆ ในเดือนเราะมะฎอนให้เต็มความสามารถของเรา เพราะผลบุญ รางวัลตอบแทนจากการทำอิบาดะฮฺต่าง ๆ นับว่ามีอยู่อย่างมากมาย ซึ่งที่ได้พูดมาข้างต้น ก็เป็นแต่เพียงบางส่วนเท่านั้นเอง

 

     สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดเมตตาเราให้เราได้มีชีวิตและใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอนอย่างคุ้มค่าทุกเวลานาที 

     โปรดช่วยเหลือเราให้มีความเข้มแข็งในการทำอิบาดะฮฺ และโปรดรับการทำอิบาดะฮฺทั้งหมดของเรา โปรดอภัยโทษ ลบล้างความผิดต่าง ๆให้แก่เรา 

     โปรดให้เราเป็นผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งการรักษาบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา 

     โปรดให้เราได้รับความดีงามจากเดือนเราะมะฎอนในปีนี้ และได้พบกับค่ำคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺกันทุกคน ...อามีน

 

 

( คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )