เตรียมพร้อมสู่เราะมะฎอน
  จำนวนคนเข้าชม  1211

เตรียมพร้อมสู่เราะมะฎอน

 

( อับดุลสลาม เพชรทองคำ )

 

          อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงท้ายของเดือนชะอ์บานแล้ว (24 มี..2565)เดือนชะอ์บานเป็นเดือนที่แปดของปีปฏิทินอิสลาม แสดงว่าในอีกไม่ถึง 10 วัน เราก็จะเข้าสู่เดือนที่เก้าของปีปฏิทินอิสลาม ซึ่งนั่นก็คือเดือนเราะมะฎอนกันแล้ว อินชาอัลลอฮฺ

 

          สำหรับเดือนชะอ์บาน ถือเป็นเดือนที่มีความสำคัญ มีความประเสริฐเช่นกัน แต่มันก็จะเป็นเดือนที่ผู้คนหลงลืม เป็นเดือนที่ผู้คนมักพลาดกัน พลาดในการทำอะมัลต่าง ๆ หลงลืมในการทำอิบาดะฮฺต่าง ๆให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ..ตอนนี้ผ่านเดือนชะอ์บานมายี่สิบวันแล้ว เรามีความรู้สึกไหมว่า เราได้พลาด เราได้หลงลืมในการทำอิบาดะฮฺต่าง ๆให้มันมากยิ่งกว่าเดือนอื่น ๆหรือเปล่า ? เพราะแท้จริงแล้ว เดือนชะอ์บานเป็นเดือนที่อิบาดะฮฺต่าง ๆของเราที่เราทำมานั้น มันจะถูกนำเสนอต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในเดือนนี้

 

          อัลหะดีษ (ระดับหะซัน) ในสุนันของอิมามอันนะซาอีย์ รายงานจากท่านอุซามะฮฺ บินเซด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

ذَلِكَ شَهْرٌ يَغْفُلُ النَّاسُ عَنْهُ بَيْنَ رَجَبٍ وَرَمَضَانَ ، وَهُوَ شَهْرٌ تُرْفَعُ فِيهِ الأَعْمَالُ إِلَى رَبِّ الْعَالَمِينَ فَأُحِبُّ أَنْ يُرْفَعَ عَمَلِي وَأَنَا صَائِمٌ .

 

     “..เดือนที่ผู้คนมักพลาดกัน เดือนที่ผู้คนมักลืมเลือน อันเป็นเดือนที่อยู่ระหว่างเดือนเราะญับกับเดือนเราะมะฎอน (นั่นก็คือ เดือนชะอ์บาน) ...มันเป็นเดือนที่อะมัลอิบาดะฮฺต่าง ๆ(ที่เราทำ)ถูกนำเสนอต่อพระเจ้าแห่งสากลโลก (ก็คือถูกนำเสนอต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ..

     ดังนั้น ฉันจึงพอใจที่จะให้อะมัลอิบาดะฮฺต่าง ๆ ของฉัน ถูกนำเสนอต่อพระองค์ในสภาพที่ฉันกำลังถือศีลอด

 

          นั่นแสดงว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมถือศีลอดซุนนะฮฺอย่างมากมายในเดือนนี้ เพราะท่านนบีปรารถนาที่จะให้อะมัลอิบาดะฮฺต่าง ๆของท่านถูกนำเสนอ ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในสภาพที่ท่านกำลังถือศีลอด

          อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ อิมามมุสลิม รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า

 

كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَصُومُ حَتَّى نَقُولَ لا يُفْطِرُ وَيُفْطِرُ حَتَّى نَقُولَ لا يَصُومُ ، فَمَا رَأَيْتُ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ اسْتَكْمَلَ صِيَامَ شَعْبَانَ فِي مِنْهُ صِيَامًا أَكْثَرَ رَأَيْتُهُ وَمَا ، رَمَضَانَ إِلا شَهْرٍ

 

      ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ถือศีลอดในเดือนนี้ (ก็คือในเดือนชะอ์บาน) จนกระทั่งเรากล่าวว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมไม่ได้ละศีลอดเลย...

     และท่านเราะซูลุลลอฮฺ ไม่ได้ถือศีลอดจนกระทั่งเรากล่าวว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺไม่ได้ถือศีลอดเลย ...และฉันไม่เคยเห็นท่านเราะซูลุลลอฮฺถือศีลอดเต็มเดือนนอกจากเดือนเราะมะฎอน และฉันไม่เคยเห็นท่านเราะซูลุลลอฮฺถือศีลอดอย่างมากมายนอกจากเดือนชะอ์บานนี้

 

          นั่นก็หมายถึงว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถือศีลอดเต็มเดือนในเดือนเราะมะฎอน ส่วนสำหรับเดือนอื่น ๆนั้น ท่านนบีก็จะถือศีลอดซุนนะฮฺในเดือนอื่น ๆ โดยที่ในเดือนชะอ์บานนั้น ท่านนบีจะถือศีลอดซุนนะฮฺมากที่สุด มากกว่าเดือนอื่น ๆ 

          ซึ่งมีคำแนะนำจากอุละมาอ์ให้เราถือศีลอดในช่วงสิบห้าวันแรกของเดือนชะอ์บานให้มาก ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกาย ให้ร่างกายได้คุ้นชินกับการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน และในช่วงสิบห้าวันหลังของเดือนชะอ์บาน ก็ให้เราถือศีลอดให้ห่างออกไป ไม่ได้ถือติดต่อกัน เพื่อเตรียมร่างกายให้มีพละกำลังในการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน

 

         ดังนั้น การถือศีลอดซุนนะฮฺในเดือนชะอ์บานนั้น นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนบีในการถือศีลอดซุนนะฮฺ และที่จะให้อะมัลอิบาดะฮฺของเราถูกนำเสนอต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในสภาพที่เรากำลังถือศีลอดแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับร่างกายในการที่จะถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนได้อย่างเต็มที่

 

           สำหรับใครที่ยังมีศีลอดชดใช้ที่ยังไม่ได้ถือใช้ เขาก็จงเร่งรีบในการถือศีลอดชดใช้เสียให้หมดก่อนที่จะเข้าสู่เดือนเราะฎอน

          นอกจากเตรียมความพร้อมในการถือศีลอดแล้ว ยังต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องอื่น ๆอีก เตรียมพร้อมในการอ่านอัลกุรอาน เตรียมพร้อมในการเตาบะฮฺ ขออิสติฆฟาร ขอดุอาอ์ ละหมาดกิยามุลลัยฮ์ โดยทำให้มันมากขึ้นในเดือนชะอ์บานนี้ เตรียมพร้อมเพื่อให้ทำอิบาดะฮฺต่าง ๆให้ได้มากที่สุด เต็มที่อย่างที่สุด เตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจในอันที่จะเข้าสู่เดือนเราะมะฎอน ...

 

          เดือนเราะมะฎอนอันเป็นเดือนที่เก้าของปีปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่ถือว่าประเสริฐที่สุดในรอบปี เป็นเดือนที่ถือว่ามีเกียรติที่สุดในรอบปี เป็นเดือนที่มีความดีงามมากที่สุดในรอบปี เป็นเดือนที่บรรดาสะละฟุศศอลิหฺ ก็คือบรรดากลุ่มชนที่มีเตาฮีดต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มีความรักต่อท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีคุณธรรมความดีงามในยุคสามร้อยปีแรกของอัลอิสลามต่างเฝ้ารอที่จะให้ตัวเองได้เข้ามาสู่เดือนเราะมะฎอน พวกเขาต่างขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตลอดหกเดือนหลังของปี เพื่อให้พวกเขาได้มีชีวิตอยู่มาจนถึงเดือนเราะมะฎอนในปีที่จะถึง และได้มีโอกาสใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอน ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขาต่างตระหนักถึงความสำคัญของเดือนเราะมะฎอนนั่นเอง

 

          เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงวางบทบัญญัติของการถือศีลอดให้เป็นข้อบังคับแก่มุสลิมทุกคน ...มุสลิมทุกคนที่เข้าเกณฑ์บังคับและครบเงื่อนไขจะต้องปฏิบัติ จะละทิ้งไม่ได้ ถ้าละทิ้งโดยตั้งใจ เขาจะมีสภาพเป็นกาฟิร ผู้ปฏิเสธศรัทธา เพราะการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนเป็นรุก่นประการที่สี่ของรุก่นอัลอิสลาม หรือหลักปฏิบัติที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงวางเป็นบทบัญญัติไว้

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงวางบทบัญญัติในเรื่องของการถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนนี้เพื่ออะไร ? ทำไมต้องให้เรามาอดอาหาร อดเครื่องดื่ม อดอะไรต่อมิอะไรในเดือนเราะมะฎอน ทั้ง ๆที่ในเดือนอื่น ๆเราก็สามารถจะทำได้ แต่ในเดือนเราะมะฎอนนี้ กลับให้เราต้องมาอด ..อดเพื่ออะไร ?

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 183 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ

 

ผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดเป็นฟัรฎู(คือเป็นการบังคับ)แก่พวกเจ้า

ดั่งเช่นที่ได้ถูกกำหนดแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง

 

           จากอายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงวางบทบัญญัตินี้แก่เราเพื่อให้เราได้อัตตักวา ได้เกิดความยำเกรง นั่นแสดงว่าพระองค์ทรงต้องการให้การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนนี้ เป็นเครื่องมือสำหรับเรา ให้เราได้ใช้เพื่อสร้างอัตตักวา หรือสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในตัวของเรา ให้เราเกิดอัตตักวาทั้งในจิตใจของเรา ทั้งในคำพูด ทั้งในการกระทำของเรา

 

อัตตักวา หรือที่ภาษาไทยมักใช้คำว่าความยำเกรงนี้ มันคืออะไร ?

 

     เรามาพิจารณารายงานนี้ ที่ครั้งหนึ่งท่านอุมัร อิบนุลค๊อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เคาะลีฟะฮฺอัรรอชิดีนท่านที่สองของอัลอิสลามได้ถามท่านกะอฺบฺ

ซึ่งเป็นเศาะฮาบะฮฺท่านหนึ่งว่า : ما التقوى؟ “อัตตักวาคืออะไร ? ”

ท่านกะอฺบฺตอบท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรว่า : يا أمير المؤمنين أما سلكت طريقا فيه شوك؟

โอ้ท่านผู้นำแห่งบรรดาผู้ศรัทธา ท่านเคยเดินไปในที่ที่มันมีหนามแหลมคมบ้างไหมครับ ?”

ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรตอบว่า : نعم. “เคยสิ

ท่านกะอฺบฺจึงถามต่อไปว่า : فماذا فعلت؟

แล้วท่านทำอย่างไรเล่าครับ ? (เมื่อเวลาที่ท่านต้องเดินไปในที่มีหนามแหลมคมเช่นนั้น) ”

ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรจึงได้ตอบว่า

: أشمر عن ساقي، وانظر إلى مواضع قدمي وأقدم قدما وأؤخر أخرى مخافة أن تصيبني شوكة.

     ฉันก็จะเตรียมพร้อมด้วยการกระชับเสื้อผ้าของฉันให้มันเรียบร้อย เมื่อเวลาที่ฉันก้าวเท้าเดิน ฉันก็จะมองที่เท้าของฉัน ไม่ให้ไปเหยียบโดนหนาม พอก้าวเท้าหนึ่งออกไปแล้ว ก็ต้องยั้งอีกข้างหนึ่ง ดูให้แน่ใจก่อนว่าไม่ไปเหยียบหนาม จึงจะก้าวเท้าออกไป

ท่านกะอฺบฺจึงกล่าวว่า : تلك هي التقوى “นั่นแหละครับคืออัตตักวา

 

          นั่นก็คือ เมื่อเวลาที่เราต้องเดินไปในที่ที่มันมีหนามแหลมคม เราก็ต้องมีความระมัดระวังในการที่จะก้าวเท้าเดินไปในที่ที่มันมีหนามแหลมคมนั้น เพราะถ้าเราไม่ระมัดระวัง เดินสุ่มสี่สุมห้า ย่ำไป ๆ ก็ต้องเดินเหยียบหนามเข้าจนได้ เมื่อเหยียบหนาม เราก็ต้องเจ็บตัว เพราะหนามมันก็จะตำเท้าของเรา...... การที่เราระมัดระวังตัวเราไม่ให้เจ็บตัวนั่นแหละ มันคืออัตตักวา ตามคำอธิบายจากรายงานนี้

 

          นั่นก็หมายความว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงต้องการให้เราดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ๆของเราอย่างระมัดระวังที่สุด โดยต้องพยายามให้มันอยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนาในทุกเรื่อง เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของพระองค์ ในขณะเดียวกันก็ต้องเชื่อฟังและออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์ เพราะถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทำตามคำสั่งของพระองค์ ไปฝ่าฝืนทำในสิ่งที่มันผิดต่อบทบัญญัติศาสนา มันก็จะทำให้เรามีความผิด เมื่อเรามีความผิด เราก็ต้องเจ็บตัว เพราะเราก็จะต้องถูกลงโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในความผิดนั้น

 

          ดังนั้น เมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงวางเป้าหมายของการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนอยู่ที่อัตตักวา เราก็ต้องวางเป้าหมายในการถือศีลอดของเราให้นำไปสู่อัตตักวาเช่นเดียวกัน การวางเป้าหมายของเราอย่างนี้จึงจะทำให้การถือศีลอดของเราบรรลุผล เพราะเมื่อเรามีความตั้งใจที่จะให้การถือศีลอดของเรา ทำให้เราเกิดอัตตักวา มันก็จะทำให้เราแสวงหาความรู้ในเรื่องนี้ ในเรื่องของการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน 

 

          เมื่อเราแสวงหาความรู้ เราก็จะทราบถึงความประเสริฐของเดือนนี้ว่ามีความประเสริฐอย่างไรบ้าง ทราบถึงความประเสริฐของการถือศีลอดในเดือนนี้ว่ามีอะไรบ้าง ทราบถึงผลบุญมากมายที่เราจะได้รับจากการทำอิบาดะฮฺต่างๆในเดือนนี้ เมื่อเราทราบ เราก็จะพยายามที่จะปฏิบัติตัวอย่างดี เราจะมีความระมัดระวังในการถือศีลอดของเรา เราจะรักษากฎ รักษามารยาทของการถือศีลอด เราจะศึกษาข้อห้ามข้อใช้เพื่อที่จะให้การถือศีลอดของเราถูกต้อง และไม่เป็นโมฆะ รักษาจิตใจของเราให้คิดแต่เรื่องดีๆ รักษาคำพูดของเราให้พูดแต่เรื่องดี ๆ รักษาอวัยวะร่างกายของเราให้ห่างไกลจากสิ่งต้องห้ามและสิ่งไร้สาระทั้งหลาย

 

          การมุ่งหวังที่จะไปสู่อัตตักวาจะทำให้เราศึกษาหาความรู้ว่า อะไรบ้างที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ เราก็จะขวนขวายทำ ..อะไรที่เป็นคำสั่งห้ามของพระองค์ เราก็จะพยายามออกห่าง ซึ่งการที่เราเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานี่แหละ ก็คืออัตตักวา

 

          ดังนั้น เราสามารถเช็คอัตตักวาของเราได้จากการกระทำของเรานี่แหละ ถือศีลอดมาหลายปี เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์เพิ่มขึ้นบ้างไหม ? ถ้าการเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลามันเพิ่มขึ้นทุกปี นั่นก็เป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ว่า เรามีอัตตักวาเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี แต่ถ้าไม่ใช่อย่างนี้ เราก็ต้องหันกลับมาพิจารณาการถือศีลอดของตัวเองใหม่.........

 

          ครั้นเมื่อเราได้บรรลุถึงอัตตักวา เราก็จะได้รับรางวัลตอบแทน ซึ่งรางวัลตอบแทนที่เราจะได้รับนั้น เราจะได้รับอย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ได้รับความเมตตา อีกทั้งยังได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

     ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอาละอิมรอน อายะฮฺที่ 132-133 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَأَطِيعُوا اللَّهَ وَالرَّسُولَ لَعَلَّكُمْ تُرْحَمُونَ ( 132 )

 

และพวกเจ้าจงเชื่อฟังอัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา(จากพระองค์)”

 

وَسَارِعُوا إِلَىٰ مَغْفِرَةٍ مِّن رَّبِّكُمْ وَجَنَّةٍ عَرْضُهَا السَّمَاوَاتُ وَالْأَرْضُ أُعِدَّتْ لِلْمُتَّقِينَ ( 133 )

 

และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และไปสู่สวรรค์

ซึ่งความกว้างของมันนั้น คือบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง

 

           อายะฮฺนี้บอกว่า สวรรค์ถูกเตรียมไว้แก่ผู้มีอัตตักวา ผู้ที่ยำเกรง แต่คนที่ยำเกรงจะเข้าสวรรค์ได้ ก็ต้องบริสุทธิ์จากความผิดต่างๆ ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องมีการทำผิดกันทุกคน ไม่มีใครไม่ทำความผิด ..การทำความผิดนั้นก็อาจจะมาจากนัฟซู อารมณ์ใคร่ใฝ่ต่ำในตัวของเราเอง แล้วก็ยังมีเจ้าชัยฏอนมารร้ายมาคอยยุงยงปลุกปั่นให้ทำความผิดอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราหลงไปทำความผิด เราก็ต้องรีบลบล้างความผิดออกจากตัวเราให้เร็วที่สุด ด้วยเครื่องมือที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานให้มา นั่นก็คือ การอิสติฆฟาร การขออภัยโทษ และการเตาบะฮฺ การกลับเนื้อกลับตัวกลับใจ 

 

          แต่สำหรับในเดือนเราะมะฎอนนี้ จะมีเครื่องมือพิเศษที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานให้มา ที่จะทำให้เราได้ลบล้างความผิดออกจากตัวเรามากที่สุด ก็คือ การถือศีลอดในช่วงกลางวันด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พร้อมทั้งหวังรางวัลการตอบแทนจากพระองค์ และในช่วงกลางคืนที่เราละหมาดตะเราะเวี๊ยะห์ด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พร้อมทั้งหวังรางวัลการตอบแทนจากพระองค์ อิบาดะฮฺทั้งสองลักษณะนี้จะมาช่วยลบล้างบาป ลบล้างความผิดต่างๆ(ที่เป็นบาปเล็ก)ที่เคยทำมาในอดีตให้แก่เรา ทำให้เราห่างไกลจากการถูกลงโทษในวันกิยามะฮฺ เมื่อเราห่างไกลจากการถูกลงโทษ เราก็ได้ไปสวรรค์ 

 

          และทุก ๆอิบาดะฮฺที่เราทำในเดือนเราะมะฎอนด้วยหัวใจที่อิคลาศ ทำเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียว และตรงตามรูปแบบหรือแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็ฮลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อิบาดะฮฺต่าง ๆเหล่านี้จะเป็นที่ตอบรับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และมันจะเป็นการเพิ่มขั้นในสวรรค์ให้แก่เรา ทำมากก็ได้อยู่สวรรค์ชั้นดี ใครทำน้อย เกรดของสวรรค์ก็จะลดลงมา

 

          รางวัลตอบแทนสำหรับผู้ถือศีลอดประการถัดมาก็คือ ได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทางประตูสวรรค์ที่มีชื่อว่าอัรรอยยาน

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านสะฮฺล อิบนุสะอ์ด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

إِنَّ فِي الجَنَّة بَابًا يُقَالُ لَهُ: الرَّيَّانُ، يدْخُلُ مِنْهُ الصَّائمونَ يومَ القِيامةِ، لاَ يدخلُ مِنْه أَحدٌ غَيرهُم،

 

     “แท้จริง สวรรค์(ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)นั้น มีประตูบานหนึ่งที่ถูกเรียกว่าอัรรอยยาน

     ซึ่งบรรดาผู้ถือศีลอด(เท่านั้นที่)จะได้เข้าทางประตูนี้ในวันกิยามะฮฺ ไม่มีใครสามารถผ่านเข้าประตูนี้ไปได้ นอกจากผู้ถือศีลอดเท่านั้น

 

          รางวัลตอบแทนสำหรับผู้ถือศีลอดประการต่อมา ซึ่งจะขอนำเสนอเป็นประการสุดท้าย ณ ที่นี้ ก็คือ ผู้ถือศีลอดจะได้รับรางวัลตอบแทนอย่างไม่สามารถคำนวณนับได้ และเป็นการตอบแทนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกว่า พระองค์จะทรงตอบแทนด้วยพระองค์เอง

 

          อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบีหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ يُضَاعَفُ الْحَسَنَةُ عَشْرُ أَمْثَالِهَا إِلَى سَبْعمِائَة ضِعْفٍ قَالَ اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ إِلا الصَّوْمَ فَإِنَّهُ لِي وَأَنَا أَجْزِي بِهِ

 

      ทุก ๆการงานของลูกหลานอาดัม(ก็คือมนุษยชาติทั้งหลาย)นั้น จะได้รับการตอบแทนหลายเท่า (สำหรับ)ความดีหนึ่งความดีจะได้รับรางวัลตอบแทน(อย่างน้อย ๆ) 10 เท่า และอาจเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยไปจนถึง 700 เท่า

     (โดยที่ )อัลลอฮฺ อัซซะวะญัลได้ตรัสว่า ยกเว้น การถือศีลอด เพราะแท้จริงมันเป็นของข้า (ซึ่ง)ข้าจะตอบแทนมันเอง (เพราะเขานั้นได้ละทิ้งอาหารและอารมณ์ใคร่ใฝ่ต่ำเพราะข้า..)

 

          รางวัลตอบแทนนี้เป็นรางวัลที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกล่าวพาดพิงการถือศีลอดของบ่าวไปยังพระองค์ เพราะพระองค์ทรงบอกว่า พระองค์จะทรงตอบแทนรางวัลของผู้ถือศีลอดด้วยพระองค์เอง ซึ่งอิบาดะฮฺอย่างอื่น ๆ พระองค์ไม่ได้ทรงกล่าวเช่นนี้ แม้ว่าอิบาดะฮฺทุก ๆอย่างนั้นจะเป็นของพระองค์ และพระองค์เป็นผู้ประทานรางวัลตอบแทนอยู่แล้วก็ตาม

          ในเมื่ออะมัลอิบาดะฮฺทุกอย่างของเราที่เราปฏิบัตินั้นมันเป็นของเราเอง ยกเว้นการถือศีลอดที่เราปฏิบัตินั้น แต่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกว่ามันเป็นของพระองค์ เพราะการถือศีลอดนั้นเป็นอิบาดะฮฺที่เราต้องทำเพื่อพระองค์อย่างแท้จริง ต้องมีอิคลาศอย่างแท้จริง ไม่มีใครรู้ถึงการถือศีลอดของเราได้นอกจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลากับตัวเราเท่านั้น เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า คนแต่ละคนที่เราเห็นว่าเขาถือศีลอดนั้น เขาอาจจะแอบไปดื่มน้ำดับกระหายโดยไม่มีใครรู้ก็ได้ ดังนั้น การถือศีลอดจึงเป็นอิบาดะฮฺที่เราต้องมอบแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มันจึงเป็นของพระองค์อย่างแท้จริง

 

     คำกล่าวที่ว่าการถือศีลอดเป็นของพระองค์นั้น “ มีคำอธิบายไว้ว่า... 

           ในวันกิยามะฮฺ เมื่อกระบวนการสอบสวนดำเนินมาถึงช่วงของการคืนสิทธิระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั้น มนุษย์คนใดที่ได้ไปล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งความดีของเขาหรือรางวัลการตอบแทนของเขาจะถูกมอบไปให้แก่ผู้ที่ถูกเขาล่วงละเมิดสิทธิ ยกเว้นรางวัลตอบแทนของการถือศีลอดที่จะไม่ถูกมอบสิทธิให้ จะไม่ถูกนำมาใช้ในการคืนสิทธิกันและกัน เพราะการถือศีลอดของเขามันเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และพระองค์จะทรงเก็บไว้ตอบแทนแก่ผู้ถือศีลอดเอง 

           นั่นหมายความว่า การถือศีลอดเป็นอิบาดะฮฺที่ไม่ได้อยู่ในส่วนหนึ่งของความดีที่จะได้รับรางวัลตอบแทนสิบเท่าเรื่อยไปจนถึง 700 เท่า เป็นอิบาดะฮฺที่เราไม่สามารถทราบได้เลยว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงตอบแทนอะไรบ้าง ทราบแต่เพียงว่า ต้องเป็นรางวัลที่พิเศษสุดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานให้แก่ผู้ที่ถือศีลอดเท่านั้น เพราะผู้ถือศีลอดถือเป็นบุคคลที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้เกียรติเป็นพิเศษ แม้แต่กลิ่นปากของผู้ถือศีลอด อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลายังทรงบอกว่า หอมยิ่งกว่ากลิ่นของชะมดเชียง

 

           นั่นก็คือ รางวัลตอบแทนของผู้ถือศีลอดบางประการเท่านั้นที่ยกตัวอย่างมา ซึ่งความจริงยังมีรางวัลตอบแทนอีกมากมาย แต่ยกมาเพียงบางประการเพื่อให้หัวใจของเราได้มีความปรารถนาที่จะได้รับมัน เราจะได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่เดือนเราะฎอนในอีกไม่กี่วันนี้ อินชาอัลลอฮฺ 

          และเมื่อถึงเวลาที่เราอยู่ในสภาพของผู้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนก็ขอให้เรารักษามารยาทของการถือศีลอด ศึกษาเรียนรู้ข้อห้ามข้อใช้เพื่อที่การถือศีลอดของเราจะได้ถูกต้อง และไม่เป็นโมฆะ ..ขอให้เราระมัดระวังรักษาลิ้นของเรา และอวัยวะร่างกายของเราให้ห่างไกลจากสิ่งต้องห้ามและสิ่งไร้สาระทั้งหลาย ..

           หมั่นขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เสมอในความผิดที่เราทำอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เตาบะฮฺ กลับเนื้อกลับตัวกลับใจ ยุติสิ่งที่ผิดพลาด หันมายึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง ..เราอย่าปล่อยให้เราะมะฎอนผ่านไปโดยที่เราได้แต่ความหิวกระหายจากการอดอาหาร ได้แต่ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ความง่วงเหงาหาวนอนจากการละหมาดในยามค่ำคืน โดยไม่ได้รับผลบุญอะไรเลย ไม่ได้รับความดีงามใด ๆเลย

 

          เราต้องทำให้สิ่งต่าง ๆที่เราทำในเดือนนี้ที่มีผลบุญตอบแทนอย่างมากมาย ได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยการทำสิ่งต่าง ๆด้วยการมีอีมานต่อพระองค์ และทำการงานทุกอย่างโดยมีความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใด ๆต่อพระองค์ และตรงตามแบบฉบับที่มีมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อย่าแฝงการชิริกหรือการตั้งภาคี และอย่าให้มีเรื่องของการริยาอ์ การโอ้อวดเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นการงานที่สูญเปล่า ไม่ให้ประโยชน์ใด ๆแก่เราเลย ..

 

          หมั่นขอดุอาอ์ให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดช่วยเหลือเราให้การถือศีลอดของเราง่ายดาย ได้รับความโปรดปรานจากพระองค์ ได้รับการตอบรับจากพระองค์ และโปรดให้เราเป็นหนึ่งในผู้ที่พระองค์ทรงปลดปล่อยให้รอดพ้นจากการลงโทษของไฟนรก ขอให้ได้เราได้รับสวนสวรรค์ และโปรดให้เราได้รักษาการถือศีลอดและกิยามุลลัยล์ในเราะมะฎอนให้เข้มแข็ง และให้มีความขะมักเขม้นตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือน และให้เราได้พบกับค่ำคืนของลัยละตุลก็อดรฺ อามีน

 

     สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราทุกคนได้มีชีวิตอยู่จนเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนในปีนี้

 بَلِّغْنَا رَمَضَانَ اللَّهُمَّ ... بَلِّغْنَا رَمَضَانَ اللَّهُمَّ ... بَلِّغْنَا رَمَضَانَ اللَّهُمَّ 

     และได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในเดือนเราะฎอน จนครบเดือน ..ขอพระองค์โปรดให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรง ได้ถือศีลอด ได้ทำอะมัลอิบาดะฮฺต่าง ๆอย่างมากมาย ด้วยความอิคลาศ มุ่งหวังตั้งใจเพื่อหวังรางวัลตอบแทนจากพระองค์เพียงองค์เดียว ตัดขาดจากการทำชิริก ห่างไกลจากการทำบิดอะฮฺ ซึ่งทั้งหมดนี้มันคือที่มาของการได้รับความเมตตา 

     และได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นเหตุผลให้เราได้รอดพ้นจากการลงโทษจากไฟนรกอันร้อนแรง และได้เข้าพำนักในสวนสวรรค์อันบรมสุขของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตลอดกาล

 

 

( นะศีหะฮฺ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )