ถ้อยคำ...ตักเตือนภัยพิบัติ
เพจวันละหนึ่งความคิด...แปลเรียบเรียง
- ชัยคุลอิสลาม อิบนิ ตัยมียะฮฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -
เคราะห์กรรม ภัยพิบัติใดๆ ที่อัลลอฮฺ ตะอาลาได้ทรงกำหนดเอาไว้นั้น จำเป็นต้องน้อมยอมรับโดยดุษฎี
เพราะแท้จริงแล้ว มันคือส่วนหนึ่งของการยินดีพึงใจ ให้อัลลอฮฺเป็นพระผู้เป็นเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมสมบูรณ์
-เชค อุบัยดฺ อัลญาบิรีย์ ฮะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ-
สิ่งที่มุสลิมพึงมีเมื่อประสบกับภัยพิบัติเคราะห์กรรม เพื่อที่เขาจะได้รับภาคผลตอบแทน
1. รับรู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาไว้แล้ว
2. มีความพึงพอใจ ยินดียอมรับ
3. จำนนน้อมรับในกำหนดสภาวการณ์ของอัลลอฮฺ ตะอาลา
4. มีความหวังในความพอพระทัยและการตอบแทนจากพระองค์
5. มีความอดทนอดกลั้น
- ท่านอันนั้วะมาน อิบนิ บะชีร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ -
แท้จริง สิ่งที่ยิ่งกว่าหายนะใดๆ คือ การทำบาป ในช่วงเวลาแห่งภัยบะลาอฺ
- เชค อับดุรร็อซซ้าก อัลบัดร์ ฮะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ-
ทั้งนี้เพราะ ในภัยพิบัตินั้นเป็นการย้ำเตือนให้บ่าว ได้รำลึกใคร่ครวญถึงความผิดของตนเอง เป็นไปได้ว่า ผู้เป็นบ่าวอาจได้สำนึกผิด กลับตัวกลับใจ หวนกลับคืนสู่อัลลอฮฺ อัศศะวะญัล
และในช่วงเวลาแห่งภัยพิบัตินั้น หัวใจที่แข็งกระด้างจะมลายหายไป ความหวั่นไหวอ่อนโยนในหัวใจจะปรากฏขึ้น
เป็นเหตุให้บ่าวหวนกลับคืนสู่อัลลอฮฺ อัศศะวะญัล ด้วยหัวใจของเขายอมจำนน ศิโรราบต่อพระองค์ และเป็นเหตุให้เขาหันเข้าหาผู้ทรงสร้างเพียงองค์เดียวเท่านั้น
ไม่มีผู้ใดจะถูกขัดขวางหักห้ามจากลักษณะเช่นนี้ได้ นอกจากผู้ที่ความหลงลืม เผลอไผล ได้บงการควบคุมเขาจนหมดสิ้นแล้วเท่านั้น
- ท่านอัลฮาซัน อัลบัศรีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -
อย่าได้จงเกลียดจงชังรังเกียจบทลงโทษ และเคราะห์กรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเลย
เพราะอาจเป็นไปได้ว่า สิ่งที่ท่านรังเกียจนั้น อาจมีทางรอดของท่านอยู่ในนั้น
และอาจเป็นไปได้ว่า สื่งที่ท่านชื่นชอบประทับใจ อาจมีหายนะของท่านอยู่ในนั้น
ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
"ใครก็ตามที่ความทุกข์ระทม ความกลัดกลุ้มกังวลใจ โศกเศร้าเสียใจ ความเจ็บไข้ได้ป่วย และความลำบากยากเข็ญใดๆ มาประสบกับเขา
แล้วเขากล่าวว่า :"อัลลอฮุ ร็อบบีย์ ลาชะรีกะ ละฮู" (อัลลอฮฺ คือ พระเจ้าของข้าพระองค์ ไม่มีภาคีใดๆ เป็นหุ้นส่วนกับพระองค์) เรื่องราวต่างๆ เหล่านั้น จะกระจ่างคลี่คลายไปในที่สุด"
(ศ่อฮีฮุ้ล ญามิอฺ)
ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
( مَنْ جَعَلَ الْهُمُومَ هَمًّا وَاحِدًا هَمَّ آخِرَتِهِ : كَفَاهُ اللَّهُ هَمَّ دُنْيَاهُ ، وَمَنْ تَشَعَّبَتْ بِهِ الْهُمُومُ فِي أَحْوَالِ الدُّنْيَا : لَمْ يُبَالِ اللَّهُ فِي أَيِّ أَوْدِيَتِهَا هَلَكَ )
"ผู้ใดที่ให้ความกังวลกลัดกลุ้มทั้งหลายทั้งปวงอยู่ในเรื่องๆ เดียว คือ กังวลในเรื่องอาคิเราะฮฺของตัวเอง อัลลอฮฺ จะทรงทำให้เขามีความพอเพียง จากเรื่องกลัดกลุ้มในดุนยาของเขา
ส่วนผู้ใดที่ความวิตกกังวลทั้งหลายทั้งปวง กระจายสอดแทรกอยู่แต่กับเรื่องราวในดุนยา อัลลอฮฺก็จะไม่ทรงไยดีเลยว่า ในหุบเหวแห่งความวิตกกลัดกลุ้มใดกัน ที่เขาจะประสบกับความพินาศ"
(บันทึกโดย อิมามอิบนิมาญะฮฺ)
๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕