มีเพื่อนน้อย ไม่เป็นไร...
อาจารย์อับดุลสลาม เพชรทองคำ
ในการที่เราจะดำรงตนให้เป็นมุสลิมมุอ์มินที่ดีนั้น มันก็คือ การที่เราต้องนำเอาบทบัญญัติศาสนามาผนวกใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราในทุก ๆเรื่อง เมื่อเราได้เรียนรู้จากการฟังคุฏบะฮฺ การฟังนะศิหะฮฺ การเรียนรู้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ที่เราต้องขอดุอาอ์ให้มันเป็นความรู้ที่ถูกต้องด้วยนั้น เมื่อเราเรียนรู้แล้วก็ให้เรานำเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาผนวกใช้ในการดำเนินชีวิตของเรา หรืออาจจะเป็นอย่างที่เราเรียกว่า การบูรณาการ ...
บูรณาการอิสลามเข้ามาใช้ในการดำเนินชีวิตของเรา เมื่อเรามีหลักอะกีดะฮฺ เราจะต้องเอาหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้องมายึดถือ มาเชื่อมั่น ...เมื่อเราเรียนรู้เรื่องราวของการทำอิบาดะฮฺ เราก็นำมาสู่การปฏิบัติ ...เรียนรู้เรื่องของอัคลาก ก็พยายามนำมาปฏิบัติให้เต็มความสามารถของเรา ซึ่งเมื่อเรายึดมั่นปฏิบัติอย่างนี้ มันจะทำให้เกิดผล
ซึ่งท่าน ชัยค์มุฮัมมัด นาศิรุดดีน อัล อัลบานีย์ (เราะฮิมะฮุลลอฮฺ) อุละมาอ์ของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺในยุคของเรา ได้จำแนกให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า...
♠ เมื่อเรามั่นคงอยู่กับเรื่องของเตาฮีด มันจะทำให้บรรดาคนที่ทำชิริก เขาจะละทิ้งเรา เขาจะไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับเรา
♠ เมื่อเรามั่นคงอยู่กับเรื่องของซุนนะฮฺท่านนบี มันก็จะทำให้บรรดาคนที่เขาทำบิดอะฮฺ เขาก็จะออกห่างจากเรา ไม่อยากใกล้เรา
♠ เมื่อเราชี้แจงในเรื่องของหลักฐานและเหตุผล บรรดาพวกที่เขาตะอัซซุบ พวกซูฟีย์ เขาก็จะไม่ชอบเรา เขาก็จะหลีกห่างจากเรา
♠ ถ้าหากเราบอกให้เชื่อฟังผู้นำในเรื่องที่ดีงามตามซุนนะฮฺท่านนบี ขอดุอาอ์ให้แก่บรรดาผู้นำ ตักเตือนบรรดาผู้นำในการดำรงตนให้มีอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง มันก็จะทำให้บรรดาพวกเคาะวาริจญ์ พวกฮิซบีย์หรือที่เรียกว่าพวกพรรคนิยม เขาก็จะไม่ชอบใจเรา เขาก็จะแยกตัวจากเรา
♠ ถ้าหากเราพูดเรื่องของอิสลาม และนำเอาอิสลามมาใช้ในการดำเนินชีวิตของเรา มันก็จะทำให้ พวกอัลมานียูน คือพวกที่ปฏิเสธพระเจ้า แยกศาสนาออกจากการดำเนินชีวิต เขาก็แยกตัวออกจากเรา ไม่อยากมายุ่งกับเรา
ดังนั้น การที่เราดำเนินชีวิตของเราให้เป็นไปตามบทบัญญัติของอิสลามและยึดมั่นอยู่กับเรื่องราวที่ถูกต้องของอิสลามนั้น มันจะทำให้เราแทบจะไม่มีเพื่อนเลย ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย
ตามคำกล่าวของท่านชัยค์อัล อัลบานีย์ข้างต้น ซึ่งท่านชัยค์ อัล อัลบานีย์ บอกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นความแปลกหน้าอย่างยิ่งของชาวซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ เพราะการที่พวกเขาดำเนินชีวิตด้วยกับการยึดมั่นและปฏิบัติตามกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทำให้เขามีสภาพเหมือนคนแปลกหน้าในสังคม ที่ทำอะไรไม่เหมือนชาวบ้านเขา ทำให้ผู้คนไม่อยากยุ่งเกี่ยวด้วย ซึ่งเป็นสภาพที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้เคยบอกเอาไว้แล้วในหะดีษที่เรียกว่าหะดีษฆุรอบาอ์ หรือหะดีษเรื่องของคนแปลกหน้า
อัลหะดีษในมุสนัดอิมามอะหฺมัด ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ระบุว่า
عَنْ عَبْدِ الرَّحْمَنِ بْنِ سَنَّةَ , أَنَّهُ سَمِعَ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَقُولُ :
รายงานจากท่านอับดิรเราะหฺมาน บุตรซันนะฮฺ เล่าว่า เขาได้ยินท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า
“بَدَأَ الإسْلامُ غَرِيبًا“ “ในตอนเริ่มต้นของอิสลามนั้น อิสลามเริ่มมาอย่างคนแปลกหน้า”
....แปลกหน้าอย่างไร ?
แปลกหน้า เพราะอิสลามมาในยุคญาฮีลียะฮฺ ยุคที่ชาวอรับเขานับถือกราบไหว้รูปปั้นรูปเจว็ด พวกเขายอมรับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเป็นพระเจ้า แต่พวกเขาไม่ได้มอบการอิบาดะฮฺทั้งหมดไปที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียว ..
พวกเขาไปทำตามบรรพบุรุษ ที่นับถือพระเจ้าหลายองค์ ขอความช่วยเหลือจากต้นไม้ จากดวงดาว จากสิ่งโน้นสิ่งนี้ นำสิ่งถูกสร้างต่าง ๆมาเคารพ มากราบไหว้ มาทำการอิบาดะฮฺร่วมกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเรียกพวกเขาว่า พวกมุชริกีน คือพวกที่ตั้งภาคีต่อพระองค์
แต่เมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงส่งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมให้มาทำหน้าที่เรียกร้องเชิญชวนพวกมุชริกีนให้มาสู่เตาฮีด มาสู่การอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้เป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียว ให้ละทิ้งการกราบไหว้รูปเจว็ด รูปปั้น ไม่ให้นำสิ่งใดมาตั้งเป็นภาคีต่อพระองค์ ทำให้พวกเขาต่างปฏิเสธท่านนบี
พวกเขาไม่เชื่อ จึงต่อต้านท่านนบี ทำร้ายท่านนบี กล่าวหาท่านนบีว่าเป็นคนบ้าบ้าง เป็นหมอดูบ้าง เป็นนักไสยศาสตร์บ้าง เป็นคนโกหกบ้าง ทั้ง ๆที่ก่อนหน้าที่ท่านนบีจะนำอิสลามมาเผยแผ่นั้น พวกเขาก็รู้จักท่านนบีเป็นอย่างดี และต่างยอมรับกันเป็นเอกฉันท์ว่า ท่านนบีเป็นผู้ที่สัจจริง ไม่เคยพูดโกหก เป็นคนซื่อสัตย์ ..และนี่คืออีกจุดหนึ่งของความแปลก
เพราะแปลกที่พวกเขายอมรับคน ๆ หนึ่งว่าเป็นคนซื่อสัตย์ พูดแต่ความจริง แต่เมื่อคน ๆนั้นเอาข่าวหนึ่งมาบอก มาตักเตือนก็กลับไม่ยอมเชื่อ ไม่ยอมรับฟัง นี่เป็นเพราะอะไร ? ถ้าไม่ใช่เพราะความดื้อรั้นของพวกเขาเอง
นี่ก็คือ ความแปลกหน้าของอิสลามในยุคเริ่มต้น ที่มีผู้คนยึดมั่นและปฏิบัติไม่เหมือนกับที่คนทั่ว ๆ ไปในสังคมเขาทำกัน แล้วท่านนบีก็ทำหน้าที่เผยแผ่อิสลาม ผ่านการทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ร่วมกับบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบี บรรดาสะละฟุศศอลิหฺ จนอิสลามขยายไปทั่วโลก อิสลามเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ไม่แปลกหน้าอีกแล้ว ใคร ๆ ก็รู้จักอิสลาม
แต่พอมาถึงยุคหลัง ท่านนบีบอกต่อไปอีกว่า
ثُمَّ يَعُودُ غَرِيبًا كَمَا بَدَأَ
“หลังจากนั้น อิสลามก็จะกลับมาอย่างคนแปลกหน้าอีก เหมือนดั่งที่เคยแปลกหน้ามาแล้วในตอนแรก”
อิสลามกลับมาแปลกหน้าอีกครั้ง เพราะว่า เมื่อมุสลิมเรายึดมั่นปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา ท่ามกลางสังคมของคนต่างศาสนิก เราก็จะปฏิบัติไม่เหมือนเขา เช่น เขาทำชิริกกัน แต่เราไม่ทำ เราก็จะแปลกหน้าสำหรับคนต่างศาสนิก แต่ในยุคนี้ มุสลิมที่เขายึดมั่นอยู่กับบทบัญญัติศาสนาก็ยังเป็นที่แปลกหน้าสำหรับมุสลิมบางกลุ่มด้วย
เพราะมุสลิมบางกลุ่มเขาหลงผิดออกจากบทบัญญัติที่ถูกต้องตามที่ชัยค์อัล อัลบานีย์ได้ยกมาให้เราเห็นข้างต้น เขาจะไปทำอะไรเหมือน ๆ กับที่คนต่างศาสนิกเขาทำกัน เช่น เขาเชื่อโชคลางกัน มุสลิมบางส่วนก็เชื่อถือโชคลางด้วย เชื่อหมอดู เชื่อการทำนายทายทัก อะไรต่าง ๆเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องของชิริก มุสลิมบางส่วนก็ไปทำตาม ก็เลยไม่เป็นคนแปลกหน้าสำหรับคนต่างศาสนิก แต่กลับทำให้มุสลิมที่ยึดมั่นอยู่กับบทบัญญัติที่ถูกต้องกลายเป็นคนแปลกหน้าในสังคม ทั้งสังคมของคนต่างศาสนิกและสังคมของมุสลิมเองด้วย
แล้วท่านนบีก็บอกถึงผลตอบแทนที่บรรดาคนแปลกหน้าเหล่านี้จะได้รับ ท่านนบีบอกต่อไปอีกว่า
( فَطُوبَى للغُرَبَاءِ )
“ดังนั้น طُوبَى ความดีที่ไม่มีสิ้นสุด จงเป็นของบรรดาคนแปลกหน้าเถิด”
นั่นก็คือ สิ่งที่บรรดาคนแปลกหน้าจะได้รับ คือความดีที่ไม่มีที่สิ้นสุด หมายถึงเขาจะได้เป็นชาวสวรรค์ ได้เข้าไปอยู่ในสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตลอดกาล และได้รับรางวัลความดีงามอีกอย่างมากมายทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ และได้รับตลอดไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ...
แสดงให้เห็นว่า ท่านนบีส่งเสริมมุสลิมเราให้เป็นคนแปลกหน้าตามอัลหะดีษนี้ เพราะเราก็จะได้รับรางวัลตอบแทนที่ดีงามอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
قِيلَ : يَا رَسُولَ اللَّهِ ! وَمَنِ الْغُرَبَاءُ ؟
“มีผู้ถามว่า ..ท่านเราะซูลุลลอฮฺครับ ใครคือบรรดาคนแปลกหน้า ..คนแปลกหน้าหมายถึงใครกันครับ
قَالَ : الَّذِينَ يُصْلِحُونَ إِذَا فَسَدَ النَّاسُ ,
ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ตอบว่า มีคำอธิบายว่า บรรดาคนแปลกหน้าก็หมายถึง บรรดาผู้ที่ยึดมั่นอยู่ในบทบัญญัติศาสนา ปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่เขาทอดทิ้ง เขาไม่สนใจที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา เขาเฉยเมยต่ออัลกุรอาน ไม่ค่อยอ่าน ไม่ศึกษา มีอัลกุรอานไว้ประดับบ้านเฉย ๆ หรืออ่านแล้ว แต่ไม่นำสิ่งที่อัลกุรอานบอกไว้มาปฏิบัติ
คนแปลกหน้า ยังหมายถึงผู้คนที่เขาปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านนบี ฟื้นฟูซุนนะฮฺของท่านนบี ในขณะที่มุสลิมทั้งหลายหลงอยู่ในความหลงผิด ไม่สนใจคำสั่งสอนของท่านนบี ทำบิดอะฮฺให้เกิดขึ้นในสังคม แต่คนแปลกหน้าจะมาเรียกร้องให้มุสลิมละทิ้งบิดอะฮฺ ละทิ้งชิริก เชิญชวนเรียกร้องให้มุสลิมเรากลับมาสู่การทำตามซุนนะฮฺของท่านนบี
นี่คือสิ่งที่ท่านนบีบอกไว้ และท่านชัยค์อัล อัลบานีย์ได้นำมาชี้ให้เราเห็นว่า ในยุคของเรานี้ หากเราดำรงมั่นอยู่ในกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺของท่านนบี เราจะเป็นเสมือนคนแปลกหน้าในสังคมตามที่ท่านนบีได้บอกไว้ เพราะว่า สังคมในปัจจุบัน นอกจากเราจะเป็นคนแปลกหน้าสำหรับคนต่างศาสนิก เพราะทำอะไร ๆไม่เหมือนพวกเขาแล้ว เราก็ยังเป็นที่แปลกหน้าสำหรับมุสลิมบางกลุ่มอีกด้วย
ดังนั้น การเป็นคนแปลกหน้าตามที่ท่านนบีบอกไว้ คือ การที่เราไม่ทำอะไรตามตามกระแสสังคม ไม่ใช่ว่า ..สังคมเฮไปทางไหน เราก็เฮ ทำตามเขาไป
♣ พอคนต่างศาสนิกเขาจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิด จัดงานฉลองในโอกาสต่าง ๆ เราก็ไปจัดตามแบบอย่างของเขา ทำอะไร ๆที่เหมือนเขาทำ โดยไม่มีแบบอย่างมาจากท่านนบี อย่างนี้แล้ว เราจะเป็นคนแปลกหน้าได้อย่างไร ?
♣ เราเห็นคนต่างศาสนิกเขาไปกราบไหว้ ไปขอความช่วยเหลือจากสิ่งถูกสร้างต่าง ๆ แล้วเราก็นำมาทำบ้าง ขอดุอาอ์จากกุบูร ไปทำชิริก เหมือน ๆ กับที่คนต่างศาสนิกทำ อย่างนี้..แล้วเราจะเป็นคนแปลกหน้าได้อย่างไร ?
♣ คนต่างศาสนิก เขาชุมนุมประท้วง ต่อต้านผู้นำ เรียกร้องเรื่องนั้นเรื่องนี้ ออกไปประท้วงบ้าง โค่นล้มผู้นำบ้าง แล้วเราก็ไปทำตามวิธีของเขา อย่างนี้แล้ว เราจะเป็นคนแปลกหน้าในสังคมได้อย่างไร ?
♣ เราทำในสิ่งที่ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่เขาทำกัน โดยที่ท่านนบีไม่ได้ทำ และท่านนบียังสั่งห้ามอีกด้วย ในเรื่องของการโค่นล้มผู้นำนี่ ท่านนบีสั่งห้าม มีหลักฐานบอกไว้ แต่เรากลับไปทำ เพราะเราคิดเอาเองว่าดี เราต้องการสร้างรัฐอิสลามให้เกิดในแผ่นดิน แต่ไปนำวิธีการที่ท่านนบีห้าม นำมาทำ ...สูญเสียชีวิตมุสลิมไปกี่มากน้อยแล้ว ก็ยังไม่เห็นรัฐอิสลามเกิดขึ้นจากวิธีการนี้
....เราจะนำอัลหะดีษฆุรอบาอ์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ?
หากเรามีความปรารถนาที่จะได้รับความดีที่ไม่สิ้นสุดนี้ เราก็ต้องดำรงตนเป็นคนแปลกหน้าตามที่ท่านนบีบอก โดยการยึดมั่นและปฏิบัติตามกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺของท่านนบี เราจะไม่ทำอะไรตามกระแสสังคม เรื่องราวอะไรในสังคมที่มันสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เราเสียเตาฮีด เราก็ออกห่าง ไม่ไปยุ่งเกี่ยว เราต้องทำเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มากกว่าทำตามใจตัวเรา
เรื่องราวอะไรที่มันเป็นบิดอะฮฺ สิ่งที่ท่านนบีไม่ได้ทำ เราก็ละทิ้ง แสดงให้เห็นว่า เราให้ความสำคัญกับบทบัญญัติศาสนามากกว่าความพอใจของตัวเราและผู้คนทั้งหลาย เรื่องอะไรที่เป็นความพึงพอใจของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แล้วผู้คนทั้งหลาย เขาก็พึงพอใจด้วย อย่างนี้เราทำ
...แต่ถ้าเรื่องอะไรที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงพอใจ แต่มนุษย์ไม่พอใจ เราต้องเลือกทำเรื่องที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงพอใจ
...แต่ถ้าเรื่องอะไรที่อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ทรงพอใจ แต่มนุษย์พอใจ ถ้าเราเลือกความพอใจของมนุษย์ อย่างนี้ เลือกผิด ทำตามความพอใจของผู้คนทั่ว ๆไป ทำให้เรามีสภาพเหมือนคนทั่ว ๆไป ไม่ได้มีลักษณะของการเป็นคนแปลกหน้า อย่างนี้เราต้องระวัง
... เมื่อเรายึดมั่น ยืนหยัดต่อบทบัญญัติศาสนาที่ถูกต้องแล้ว เรายังมีหน้าที่ต้องเชิญชวนผู้คนไปสู่ความดีงาม ไปสู่สิ่งที่ถูกต้องตามที่ท่านนบีได้บอกไว้ด้วย
ในเมื่อสังคมมุสลิมบางส่วนตกอยู่ในความหลงผิด เพราะไม่ยึดมั่นในบทบัญญัติศาสนาที่ถูกต้อง หลงออกไปจากซุนนะฮฺของท่านนบี ก็ต้องมีการเรียกร้องเชิญชวนผู้คนให้กลับมาสู่ความถูกต้อง ...แต่พอมีคนมาเรียกร้องเชิญชวนอย่างนี้ ก็กลับถูกต่อว่าต่อขาน ว่ามาทำให้สังคมแตกแยก ทำให้มุสลิมในสังคมต้องแตกแยกกัน ทำให้มุสลิมมีปัญหากับคนต่างศาสนิก ยอมละเลยต่อบทบัญญัติศาสนาที่ถูกต้อง เพียงเพื่อเอาใจมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับหลักอะกีดะฮฺในส่วนของ อัลวะลาอ์ วัลบะรออ์ที่ว่า รักกันเพื่ออัลลอฮฺ ไม่รักกันเพื่ออัลลอฮฺ
ทั้งหมดข้างต้นนี้ ก็คือสิ่งที่นำมาให้คิด ให้พิจารณาไตร่ตรองกัน การที่เรายึดมั่น ยืนหยัดในบทบัญญัติศาสนา อาจทำให้เรามีเพื่อนน้อย ไม่มีใครมาสนใจ กลายเป็นคนส่วนน้อย เป็นคนแปลกหน้าในสังคม ก็ไม่เป็นไร เพราะหะดีษฆุรอบาอ์ยืนยันถึงความประเสริฐในเรื่องนี้เอาไว้แล้ว ก็ขอให้เราได้มั่นคงอยู่ในสิ่งนี้
สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราทุกคนเป็นผู้ที่เข้มแข็งในการยึดมั่น ยืนหยัดต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามซุนนะฮฺท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมอย่างเคร่งครัด
( หนังสืออนุสรณ์งานประจำปี พ.ศ.2562 โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร )