สังเวียนและช่องทางต่างๆในการสร้างความเป็นตะวันตกให้แก่สังคมมุสลิม
อาบีดีณ โยธาสมุทร ผู้วิจัย
บทนำ ความหมายของคำว่า “อั้ตตั้ฆรี้บ”(การทำให้เป็นตะวันตก)
อั้ตตั้ฆรี้บ(การทำให้เป็นตะวันตก)เป็นศัพท์สมัยใหม่ที่ใช้เพื่อบ่งชี้ถึงแนวความคิดต่างๆที่เป็นแนวความคิดยุคใหม่ ซึ่งความหมายของคำๆนี้ตามที่ปรากฏในตำราต่างๆทางด้านวิชาภาษาอาหรับล้วนให้ความหมายไว้ในทิศทางที่ห่างไกลกันจากเนื้อหาและความเข้าใจในรูปลักษณ์ใหม่ที่มีต่อคำๆนี้
อั้ลไฟรู้ซ อาบาดีย์ ได้กล่าวไว้ว่า “คำว่า อั้ลฆ้อร์บฺ หมายถึง ทิศตะวันตก, การเดินทางจากไป, การปลีกตัวออกห่าง และหมายถึง ส่วนแรกของสิ่งๆหนึ่ง”
และเนื่องจากการที่ฐานรากของ “การทำให้เป็นตะวันตก”นั้นเริ่มต้นขึ้นในรูปของโครงการของชาวตะวันตก ที่ชาติตะวันตกได้ก่อตั้งกันขึ้นมาเพื่อใช้กระทำต่อชาติอื่นๆที่ไม่ใช่ตะวันตก ด้วยเหตุนี้ การนำคำๆนี้มาใช้ในนัยใหม่นี้จึงเริ่มต้นขึ้นที่นั่น ภายใต้รูปคำที่ว่า "Westernization" ซึ่งคำแปลของคำๆนี้ตามที่พจนานุกรมได้ให้กันไว้ก็คือ “ทำให้เป็นตะวันตก, ทำให้บุคคลมีอัตลักษณ์และอารยธรรมของชาวตะวันตก หรือการที่บุคคลกลายเป็นผู้ที่มีอัตลักษณ์และอารยธรรมของชาวตะวันตก”
โดย ณ ที่นี้ “เราขอให้ความหมาย การทำให้เป็นตะวันตก ว่าหมายถึง การที่ชาวตะวันตกสร้างอิทธิพลทางความคิดและทางอารยธรรมให้เกิดขึ้นภายในกลุ่มบุคคลที่เป็นมุสลิม”
บทที่ ๑ สังเวียนต่างๆของการทำให้เป็นตะวันตก
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การจะเปลี่ยนพฤติกรรมของใครสักคนหนึ่งและการจะเปลี่ยนความเคยชินของเขาในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งของชีวิตเขาได้นั้น จำเป็นจะต้องเริ่มต้นด้วยการเข้าไปปรับเปลี่ยนในส่วนที่เป็นฐานคิดและมุมมองเขาคนนั้นเป็นอันดับแรก เพื่อที่ความพยายามในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้จะได้ให้ผลลัพธ์ตามที่ได้มาดหมายไว้
เช่นเดียวกัน ในการเข้ามาเปลี่ยนแปลงอารยธรรมและวิถีชีวิตของกลุ่มชนไหนสักกลุ่ม ก็จำเป็นจะต้องเริ่มต้นจากการเข้าไปเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองของกลุ่มชนกลุ่มนั้นเป็นอันดับแรกเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้เองเราจึงมักจะพบว่า ศัตรูอิสลาม เวลาที่พวกเขาต้องการจะเข้ามามีอิทธิพลเพื่อครอบงำชาวมุสลิม พวกเขาก็มักจะพยายามโจมตีชาวมุสลิมด้วยการรุกรานทางความคิด และพากันให้ความสำคัญอย่างมากกับการโจมตีในรูปแบบนี้ ทั้งนี้เนื่องจากคนเราหากพ่ายแพ้ทางความคิดต่อศัตรูของตนเมื่อไหร่ ก็ง่ายที่จะตกเป็นเหยื่อที่เดินเข้าทางของศัตรูตามที่ศัตรูวางหมากไว้ให้ตนเป็นในแง่มุมอื่นๆ ที่มีความเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ได้โดยง่ายดายเมื่อนั้น
และเมื่อได้พิจารณาการดำเนินงานของแนวคิด “การทำให้เป็นตะวันตก” ตลอดจนสังเวียนต่างๆของแนวคิดนี้แล้ว ทำให้สามารถแบ่งสังเวียนของแนวคิดๆนี้ได้เป็น ๒ สังเวียนหลักๆ ได้แก่ สังเวียนความคิด และสังเวียนพฤติกรรมและการนำสู่ชีวิตจริง
- การทำให้เป็นตะวันตก ในสังเวียนความคิด
การทำให้เป็นตะวันตกในสังเวียนความคิดนั้น ได้มีการดำเนินการไว้โดยผ่านสองขั้นตอนด้วยกัน คือ
ขั้นตอนแรก การกำจัดชุดความคิดเดิมให้หมดไป
ขั้นตอนที่สอง การเติมชุดความคิดใหม่เข้าไปแทนที่
สำหรับในขั้นตอนแรกนั้น มีขึ้นโดยการพยายามให้ภาพลบและสร้างทรรศนคติที่เป็นลบแก่ชาวมุสลิมต่อศาสนาและความเชื่อต่างๆของพวกตนและพยายามถอดถอนความเชื่อมั่น,ถอดถอนความไว้วางใจและถอดถอนความภาคภูมิใจที่มีต่ออิสลามออกจากชาวมุสลิมเสีย ไม่ว่าจะในแง่มุมที่เกี่ยวกับความเชื่อหรือที่เกี่ยวกับบทบัญญัติทางศาสนาก็ตามที
และยังมีขึ้นโดยการปลูกฝังความรู้สึกเป็นรองต่อศัตรูและความรู้สึกไร้ศักยภาพในการจะต่อกรกับศัตรูเข้าไว้ภายในจิตใจของชาวมุสลิม ตลอดจนการพยายามทำให้ภาพลวงที่ว่า ชัยชนะ, ความสำเร็จและความผาสุกในดุนยานั้น ย่อมไม่มีขึ้นและจะไม่มีทางมีขึ้นแก่ชาวมุสลิมได้เลย นอกจากจะด้วยกับการที่ชาวมุสลิมจะต้องเดินตามศัตรูอิสลามด้วยความหลงภูมิใจต่อเหล่าศัตรูและยอมจำนนแต่โดยดีต่อพวกเขาอย่างศิโรราบ ก้าวต่อก้าวแม้พวกเขาจะนำเข้ารูตะกวดก็จะขอยอมตามเข้าไปด้วยเท่านั้น ขยายตัวขึ้นอย่างเต็มเปี่ยมในหัวใจของชาวมุสลิม
ส่วนขั้นตอนที่สองซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่อยู่ในสถานะเดียวกันกับการสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นบนที่ดินที่ได้มีการปรับไว้จนพร้อมแล้ว และการเพาะปลูกพืชพรรณลงบนผืนดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ศัตรูอิสลามไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าเพียงการผลิตวิธีคิดอย่างชัยตอน วิธีใดก็ได้ที่ค้านกันกับบทบัญญัติของอัลลอฮฺขึ้นมา จากนั้นก็ทำการส่งออกวิธีคิดที่ว่าไปให้ชาวมุสลิม
เช่น วิธีคิดที่มีการเรียกร้องให้ผู้คนเกิดความภูมิใจและหลงในความเป็นมนุษย์ของพวกตนโดยการผินหลังให้แก่ความเป็นพระเจ้าของพระผู้เป็นเจ้า ดังที่ปรากฏในแนวคิดมนุษยนิยม(Humanism)(ใกล้เคียงกับแนวคิดของกอรูน) หรือชุดความคิดที่เรียกร้องให้ถอดถอนความศักดิ์สิทธิ์ และการมีความสำคัญออกจากศาสนา
และให้ลักษณะศาสนาว่าเป็นเรื่องล้าหลังและตกยุค ตลอดจนเรียกร้องไปสู่การแยกเอาศาสนาออกจากกิจการในชีวิตแทบทุกกิจการ และบีบบทบาทของศาสนาไว้ใช้เฉพาะกับเรื่องของจิตใจและพฤติกรรมส่วนบุคคล และใช้ได้กับเฉพาะในบางพื้นที่ๆ มีการจัดสรรไว้ให้เป็นการเฉพาะเท่านั้น และเรียกร้องไปสู่การเคยชินต่อเรื่องเลวทราม, ลามกอนาจารหรือการวางเฉยต่อเรื่องพวกนั้น ดังที่ปรากฏอยู่ในแนวคิดการทำให้เป็นสมัยใหม่ ที่มุ่งเชิดชูแต่เฉพาะสิ่งใหม่และหันกลับไปด้อยค่าสิ่งเก่า(Modernization)และแนวคิดไม่เอาศาสนา(Secularism)เป็นต้น
จากที่กล่าวมานี้ จึงสรุปได้ว่า แนวคิดการทำให้เป็นตะวันตกนั้น “เป็นกระบวนการที่ผ่านการวางแผนไว้แล้วอย่างชาญฉลาดและแนบเนียบ ซึ่งหากมองในแง่ของขั้นตอนแล้ว กระบวนการนี้-(ตามที่ผมมอง)-เกิดขึ้นภายหลังจากกระบวนการสร้างภาพเสียต่างๆที่มีขึ้น เพราะใครก็ตามที่เข้ามาสร้างภาพเสียให้อิสลาม...ที่จริงแล้วที่พวกเขาทำไปก็เพียงเพื่อจะให้การสร้างภาพเสียนี้เป็นก้าวแรกซึ่งจะมีก้าวอื่นๆ อีกตามถัดมาภายหลังทั้งนั้น
ซึ่งก้าวที่ดูจะเป็นก้าวที่สำคัญที่สุด...ก็ได้แก่การทำให้ชาวมุสลิมเป็นตะวันตกกันเสีย ด้วยการเปลี่ยนขั้วความสัมพันธ์ให้หันไปเข้าพวกกับชาวตะวันตก และเห็นด้วยกับระบอบตลอดจนขนบธรรมเนียนและประเพณีของตะวันตก ภายหลังจากที่พวกชาวมุสลิมได้พากันหันห่างออกจากอิสลามที่ได้มีการถูกให้ภาพเสียๆ หายๆ ไว้อย่างหนักเป็นที่เรียบร้อย...
และคงไม่มีกลุ่มชนไหนอีกแล้วที่พร้อมจะกระโจนเข้าสู่อารยธรรมตะวันตก มากไปกว่ากลุ่มชนที่สูญเสียความเชื่อมั่นของพวกตน ที่มีต่อศาสนาและต่อแนวทางและระบอบในการดำเนินชีวิตของพวกตนไปแล้วจนสิ้น”
โดยที่ “เสาหลักแห่งการบ่มเพาะครั้งใหม่นี้ก็คือ การนำแนวคิด “ไม่เอาศาสนาและให้ค่าแก่เฉพาะการใช้ปัญญาคิดเอาเองเท่านั้น” เข้ามาแทนที่ทางนำจากศาสนาในเรื่องของวิธีคิด, กฏหมาย, การบ่มเพาะและอื่นๆ”
คาร์ล บร้อคเคิ้ลแมน ได้พูดถึงนายมุศตอฟา กะม้าล ไว้ว่า
“มุศตอฟา กะม้าล มุ่งมั่นที่จะนำพาประเทศที่เขาได้ก่อตั้งขึ้นมาเข้าสู่อารยธรรมยุโรป ซึ่งเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่กำหนดให้คนที่เดินอยู่ในเส้นทางนี้ไม่หยุดเพื่อเหลียวกลับไปมองอดีตที่เป็นอิสลามอีกไปโดยปริยาย เพราะการหันกลับไปมองอะไรแบบที่ว่านี้ มันคู่ควรอย่างยิ่งที่จะถือเป็นอุปสรรคขัดขวางคนที่หันกลับไปเหลียวแลเรื่องที่ว่าไม่ให้สามารถบรรลุสู่เป้าหมายได้นั่นเอง”
ติดตามตอนต่อไป>>> Clickการทำให้เป็นตะวันตกสู่ชีวิตจริง