เรื่องของเบาหวานที่ไม่หวานอย่างที่คิด...
  จำนวนคนเข้าชม  10992

เรื่องของเบาหวานที่ไม่หวานอย่างที่คิด...

          สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระบุถึงสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยว่ามียอดเพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านคน และประมาณครึ่งหนึ่งของคนที่เป็นไม่เคยรู้ตัวมาก่อน ดังนั้นเพื่อคนที่เป็นเบาหวานและคนที่ยังไม่เป็นโรคเบาหวานได้รู้เท่าทันโรคเบาหวาน ได้รวบรวมข้อสงสัยและสารพัดคำถามเกี่ยวกับเบาหวานไว้เป็นข้อมูลเพื่อรับมือและป้องกัน

สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน และการฉีดอินซูลินเป็นเสมือนยารักษาโรคเบาหวาน ?

          อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นจากตับอ่อนทำหน้าที่ช่วยในการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสที่ย่อยจากอาหาร ที่เรากินเพื่อส่งเป็นพลังงานให้อวัยวะในร่างกาย แต่เมื่อตับอ่อนมีความผิดปกติ และไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ น้ำตาลในเลือดก็ไม่ได้รับการดูดซึม ทำให้ระดับน้ำตาลเพิ่มสูงกว่าปกติ และเมื่อไตขับของเสียออกมาเป็นปัสสาวะ ก็จะมีน้ำตาลปนออกมาด้วย จึงเป็นที่มาของคำว่า "เบาหวาน" นั่นเอง (ถ่าย"เบา"แต่มีน้ำตาลปน..แต่จะหวานจริงหรือไม่ อย่าชิม! ให้สังเกตุว่ามีมดตอมปัสสาวะหรือไม่ก็พอ) สำหรับคนเป็นโรคเบาหวานชนิดที่หนึ่ง ส่วนใหญ่มาจากพันธุ์กรรม และมักเป็นตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากร่างกายสร้างอินซูลินไม่ได้เลยจึงจำป็นต้องฉีดอินซูลินเข้าที่ ต้นแขน หน้าท้อง หน้าสะโพกหรือหน้าขา เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ยาฉีดนี้จึงถือว่าเป็นผู้ช่วย ไม่ใช่ยารักษาโรคเบาหวานที่ช่วยให้หายขาด หรือสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อย่างโรคไตวายได้

โรคเบาหวานมีสาเหตุมาจากการกินน้ำตาลมากเกินไป ?

          การกินน้ำตาลมากๆ ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานโดยตรง โรคเบาหวานเกิดจากความบกพร่องของอินซูลินที่ไม่สามารถดึงพลังงานไปใช้ได้หมด ดังนั้นคนกินหวานหรือไม่กินหวาน ก็มีสิทธิ์เป็นเบาหวานได้หากร่างกายผลิตอินซูลินไม่ได้ ทั้งนี้คนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่หนึ่งจึงไม่เกี่ยวข้องกับการกิน หรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสม แต่เกิดจากพันธุกรรมหรือการติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่ทำลายต่อมไร้ท่อ อันมีผลต่อการสร้างอินซูลินในตับอ่อน เป็นต้น ส่วนคนที่ชอบกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลเกินมักเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่สอง มากกว่า ซึ่งมักมีปัจจัยจากโรคอ้วนเป็นสาเหตุร่วมด้วย อยางไรก็ตามเพื่อสุขภาพที่ดี พยายามกินอาหารให้หลากหลายและเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ลดขนมหวานและขนมขบเคี้ยวเพลิน

การตรวจน้ำตาลในเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวานต้องตรวจ 2 ครั้งถึงแน่ใจว่าเป็นจริง ?

          การตรวจน้ำตาลในเลือด คุณต้องอดอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง และจำเป็นต้องตรวจอย่างน้อยสองครั้ง สองวาระ เนื่อจากบางครั้งน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงก็มีสาเหตุมาจากการกินยาตัวอื่นที่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด หรือเป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอมีอาการติดเชื้อ หรือมีความผิดปกติจากเนื้องอกของต่อมหมวกไต เนื้องอกต่อมใต้สมองซึ่งผลิตฮอร์โมนบางชนิดเพิ่มขึ้นทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาทคุณต้องหมั่นสังเกตุอาการผิดปกติของตนเองว่ามีอาการเริ่มต้นของโรคเบาหวานหรือไม่ เช่น พบน้ำตาลในปัสสาวะ(มีมดตอม) ปัสสาวะบ่อย รู้สึกหิวน้ำบ่อย วิงเวียนศรีษะ ฯลฯ และสำหรับคนที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีน้ำหนักเกิน มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าคนปกติ ยิ่งต้องระวังสุขภาพตนเองให้ดี หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

ถ้าเป็นโรคเบาหวานและเกิดแผล แผลจะหายช้า ดีไม่ดีอาจเสี่ยงต่อการตัดอวัยวะ เช่นนิ้วมือ หรือขาทิ้ง ? 

          คนเป็นโรคเบาหวานอาจไม่เจอปัญหาแผลหายช้า หรือเสี่ยงต่อการตัดอวัยวะอย่างนิ้วเท้าหรือขา ตราบใดที่ยังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี เพราะถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะส่งผลให้หลอดเลือดที่จะไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ขาหรือเท้าตีบตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะนั้นๆไม่ดีพอ และหากเกิดแผล แผลก็จะหายช้าหรือไม่หายเลยจนเนื้อบริเวณนั้นตาย และถ้าไม่รีบรักษาแผล อาจเกิดการติดเชื้อและลุกลาม ทำให้ต้องทำการผ่าตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้งไปในที่สุด ดังนั้นเพื่อป้องกันการสูญเสียอวัยวะ คุณต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ หมั่นสังเกตุตนเองและทำความสะอาดเท้าทุกวัน อย่าตัดเล็บจนสั้นทำให้เลือดออกหรือเล็บขบ อย่าเดินเท้าเปล่าในพื้นที่สาธารณะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เป็นต้น

แม้โรคเบาหวานจะรักษาไม่หายขาดแต่สามารถควบคุมและเอาชนะได้อย่างไม่ยากเย็น...

"Healthtoday"