กิน “ริบา-ดอกเบี้ย” 2
  จำนวนคนเข้าชม  1499

กินริบา-ดอกเบี้ย” 2

 

( อับดุลสลาม เพชรทองคำ )

 

         อันเนื่องมาจากว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีคำสั่งอย่างชัดเจนว่า ...ห้ามบ่าวของพระองค์กินริบา ..พระองค์ทรงใช้คำว่า يَأۡكُلُونَ ٱلرِّبَوٰاْ ใช้คำว่ากินริบา... يَأۡكُلُونَ “ คือกินไม่ได้ใช้คำว่าเอาริบาหรือไม่ได้ใช้คำว่า เก็บริบาหรือคำอื่น ๆ แต่ใช้คำว่า กิน .... ซึ่งในเรื่องนี้ มีคำอธิบายจากอุละมาอ์ เช่น ท่านชัยค์อัลอุษัยมีน และนักวิชาการอิสลามท่านอื่น ๆอีก ...ท่านเหล่านั้นได้ให้คำอธิบายในเรื่องนี้ ..

 

          ตามความเข้าใจของเราสำหรับคำอธิบายของบรรดานักวิชาการอิสลามก็คือ โดยปกติ เมื่อเวลาที่เรารับประโยชน์จากเรื่องต่าง ๆ เช่น การสวมใส่เสื้อผ้า การอยู่บ้านพักอาศัย สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเมื่อเราได้รับประโยชน์จากมันหรือใช้ประโยชน์จากมัน มันก็ยังอยู่ในสภาพเดิมคือสภาพของเสื้อผ้า เมื่อเราสวมใส่มัน มันก็ยังเป็นเสื้อผ้า ...สภาพของบ้านช่องตึกราม เมื่อเราเข้าไปอยู่อาศัย หรือเมื่อเราเข้าไปทำงาน เราได้ใช้ประโยชน์จากมัน สภาพของบ้าน สภาพของตึกก็ยังคงสภาพเดิม ...

 

          แต่สำหรับของที่เรากินเข้าไป เมื่อมันเข้าไปอยู่ในร่างกายของเรา มันก็จะถูกเปลี่ยนสภาพไป ไม่ว่าเราจะกินข้าวเข้าไป กินผักผลไม้ กินเนื้อสัตว์ สภาพของมันเมื่อเข้าสู่ร่างกายเรามันจะเปลี่ยนสภาพไป มีสภาพไม่เหมือนเดิม ไม่ได้มีสภาพเป็นข้าว ไม่ได้มีสภาพเป็นผักผลไม้ เป็นเนื้อสัตว์ แต่ถูกย่อยสลายเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม เป็นการได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เข้าไปในร่างกายของเราโดยการกิน แล้วสิ่งที่เรากินมันก็เปลี่ยนสภาพไปด้วย และในที่สุดมันก็กลายสภาพเป็นของเสีย ..ดังกล่าวนี่แหละ ครั้นเมื่อเรากินริบาเข้าไป เราได้ผลประโยชน์จากมัน แต่ในท้ายที่สุด ริบามันไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับเราเลย มันกลับกลายเป็นของเสีย และทำให้เราต้องได้รับการลงโทษ (วัลลอฮุอะลัม).....

 

          ดังนั้น คำว่ากินริบาจึงเป็นการใช้คำที่มีความหมายลึกซึ้งมาก ..นักวิชาการอิสลามบอกว่า มันเป็นคำที่บ่งบอกถึงความน่ารังเกียจของผู้ที่กินริบา เพราะเหมือนกับว่า คนที่กินริบาเขามีความโลภ มีความกระหาย มีความตะกละตะกรามอยากได้ทรัพย์นั้น อยากได้ริบานั้น อยากได้ประโยชน์จากมันอย่างมากมายจนต้องกินมันเข้าไป

 

สำหรับในเรื่องของริบานั้น โดยปกติ เรามักจะเรียก ริบา ว่าดอกเบี้ย 

          คำว่า ดอกเบี้ย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า interest ซึ่ง interest จะมีความหมายโดยสรุปว่าหมายถึง เงินหรือค่าตอบแทนที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากเงินต้น หรือเงินออม หรือเงินกู้ หรือเงินลงทุนต่าง ๆ เป็นค่าตอบแทนที่ฝ่ายหนึ่งต้องชำระให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อการที่จะได้ใช้เงินของฝ่ายนั้น หรือเพื่อทดแทนการไม่ชําระหนี้ หรือชําระหนี้ไม่ตรงตามกำหนด ทั้งนี้ค่าตอบแทนที่เป็นดอกเบี้ยนั้นมักจะถูกคำนวณในอัตราร้อยละเป็นหลัก และมีจำนวนที่คงที่ เช่น ร้อยละ 5 ต่อเดือน หรือ ร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสัญญาหรือข้อตกลงกัน ซึ่งเราจะเห็นว่า มันจะมีฝ่ายหนึ่งที่ได้ประโยชน์ และอีกฝ่ายไม่ได้รับความยุติธรรม ถือเป็นดอกเบี้ยที่เกิดจากสัญญาหนี้...

 

          ซึ่งนักวิชาการอิสลามระบุว่า ดอกเบี้ยจากสัญญาหนี้หรือ interest นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของริบาเท่านั้นเอง ดังนั้น ความหมายจริง ๆของริบาจึงมีความหมายกว้างกว่าดอกเบี้ยตามที่เราเข้าใจ

 

          โดยภาพรวม ริบา มีความหมายถึง สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินต่อทรัพย์สิน หรือหมายถึง ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากการทำธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้นมานั้นมันจะมีผลทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม หรือเกิดความไม่เป็นธรรมแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก่อให้เกิดการล่วงเกินสิทธิอันชอบธรรมของผู้อื่น ทำให้เกิดความไม่ชอบธรรมขึ้นในสังคม มันจะครอบคลุมไปในหลาย ๆ เรื่อง

 

          เราจะพบว่า เรื่องการค้าขายกับเรื่องของริบานั้น มันจะมีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน ซึ่งนักวิชาการอิสลามกล่าวว่า บทบัญญัติในเรื่องของทรัพย์สินนั้น มันจะมีความเกี่ยวพันกันในสามเรื่อง คือเรื่องของความยุติธรรม แล้วก็เรื่องของความไม่ยุติธรรม และเรื่องของการเพิ่มพูน

   ♦ เรื่องของความยุติธรรมก็คือ การนำทรัพย์สินมาซื้อขายแลกเปลี่ยน นำมาทำการค้า

   ♦ เรื่องของความไม่ยุติธรรมก็คือ การนำทรัพย์สินนั้นมาทำให้เกิดริบา เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้คน

   ♦ เรื่องของการเพิ่มพูนก็คือ เรื่องของการบริจาค ซึ่งแน่นอน อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็ได้ทรงยืนยันไว้เช่นกันว่า ทรัพย์สินที่เรานำมาบริจาคนั้น มันจะเพิ่มพูนขึ้นอย่างแน่นอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

          ในเมื่อทรัพย์สินทำให้เกิดความยุติธรรมก็ได้ หรือทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมก็ได้ ...ดังนั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงได้ทรงบัญญัติอนุมัติในเรื่องของการค้าขาย ที่นำไปสู่ความยุติธรรม และห้ามในเรื่องของริบา ซึ่งนำไปสู่ความไม่ยุติธรรมและนำไปสู่ความอธรรมต่าง ๆมากมาย 

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงยืนยันไว้ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺ 275 ว่า

 

وَأَحَلَّ ٱللَّهُ ٱلۡبَيۡعَ وَحَرَّمَ ٱلرِّبَوٰاْۚ

 

“... อัลลอฮฺทรงอนุมัติการค้าขาย และในขณะเดียวกัน ทรงห้ามเรื่องของริบา..”

 

           อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ทุก ๆ สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมาบนโลกดุนยานี้ ก็เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น และพระองค์จะไม่ทรงห้ามสิ่งใดทั้งสิ้น นอกจากว่ามันจะเป็นโทษต่อมนุษย์ และนำความเสียหายมาสู่มนุษย์ นั่นแสดงว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอนุมัติการค้าขาย ก็เพราะการค้าขายคือเครื่องมือหนึ่งในการแสวงหาทรัพย์สิน ทำให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน ที่จะทำให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี  แต่ทรงห้ามริบา เพราะมันนำความเสียหาย นำความไม่เป็นธรรมมาสู่ผู้คนและสังคม

     ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 29 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ لاَ تَأْكُلُواْ أَمْوَالَكُمْ بَيْنَكُمْ بِالْبَاطِلِ إِلاَّ أَن تَكُونَ تِجَارَةً عَن تَرَاضٍ مِّنكُمْ»

 

โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่ากินทรัพย์สินของพวกเจ้าในระหว่างพวกเจ้าโดยไม่ชอบธรรม

นอกจากมันจะเป็นการค้าขายที่เกิดจากความพึงพอใจของพวกเจ้า(ทั้งสองฝ่าย)...”

 

          อายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงห้ามบ่าวผู้ศรัทธาของพระองค์กินทรัพย์สินของคนอื่นโดยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม ไม่ถูกต้อง เช่น กินทรัพย์สินจากการเล่นการพนัน หรือวิธีการอื่น ๆในทำนองนี้ โดยใช้เล่เพทุบาย โดยวิธีที่ไม่ชอบธรรม ซึ่งรวมถึงการกินริบาจากผู้อื่นด้วย เพราะมันเป็นวิธีการที่ไม่ยุติธรรมต่อผู้อื่น

 

           ท่านอิบนุ ญะรีร ได้รายงานไว้จากท่านอิบนิ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ถึงชายคนหนึ่งที่ต้องการจะซื้อผ้าจากชายอีกคน โดยชายคนนี้ที่ต้องการจะซื้อผ้าได้กล่าวว่า ฉันจะเอาผ้าชิ้นนี้ไปก่อน แล้วถ้าฉันไม่พอใจ ฉันก็จะเอามันมาคืนแล้วจะจ่ายเงินให้ท่านหนึ่งดิรฮัม (อัฏฏอบารี 8/217) นี่แหละคือวิธีการหนึ่งของการกินทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่ถูกต้องชอบธรรม เพราะคนซื้อทำตามใจตัวเอง โดยที่ฝ่ายคนขายไม่ได้รับความยุติธรรม ..

 

          ดังนั้น การค้าขายหรือการซื้อขายทรัพย์สินที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอนุมัติก็คือ إِلاَّ أَن تَكُونَ تِجَارَةً عَن تَرَاضٍ مِّنكُمْ การค้าขายหรือการแลกเปลี่ยนที่นำมาสู่ความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ..ผู้ซื้อเต็มใจที่จะซื้อ ผู้ขายพอใจที่จะขายตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกัน ซึ่งมันก็จะมีความยุติธรรม มีความเที่ยงธรรมและมีความดีงาม

 

           เมื่อการค้าขายถูกอนุมัติ แต่การกินริบาคือสิ่งที่เราต้องออกห่าง อย่าว่าแต่จะห้ามกินริบาเลย เข้าใกล้ยังไม่ให้เข้าใกล้ เพราะท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้มีคำสั่งให้เราออกห่างจากเรื่องของริบา

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«اجْتَنِبُوا السَّبْعَ المُوبِقَاتِ» قَالُوا: يَا رَسُولَ الله، وَمَا هُنَّ؟ قَالَ: «الشِّرْكُ بِالله، وَالسِّحْرُ، وَقَتْلُ النَّفْسِ الَّتِي حَرَّمَ الله إلَّا بِالحَقِّ، وأكلُ الرِّبَا، وأكلُ مَالِ اليَتِيمِ، وَالتَّوَلِّي يَوْمَ الزَّحْفِ، وَقَذْفُ المُـحْصَنَاتِ المُؤْمِنَاتِ الغَافِلاتِ»..

 

พวกท่านจงออกห่างจากบาปใหญ่เจ็ดประการ.....

(บรรดาเศาะฮาบะฮฺ)จึงได้ถามว่าโอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (บาปใหญ่เหล่านั้น)ได้แก่อะไรบ้างครับ ?”

ท่านนบีจึงกล่าวว่า(บาปใหญ่เจ็ดประการนั้นได้แก่) 

1. การตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ 

2. การใช้เวทมนตร์ไสยศาสตร์ 

3. การฆ่าชีวิตหนึ่งที่อัลลอฮฺทรงห้ามเว้นแต่ด้วยความชอบธรรม (ตามที่อัลลอฮฺได้ทรงอนุญาตไว้) 

4. การกินริบา 

5. การกินทรัพย์สินของเด็กกำพร้า 

6. การถอยหนีในวันแห่งการเผชิญหน้ากับศัตรู และ 

7. การกล่าวหาใส่ร้ายใส่ความหญิงผู้ศรัทธาและบริสุทธิ์

 

          จากอัลหะดีษนี้ แสดงให้เห็นว่า การกินริบาเป็นหนึ่งในบาปใหญ่ที่ร้ายแรง...บาปใหญ่ หมายถึงบาปที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดบทลงโทษไว้แล้ว และมันจะถูกลบล้างความผิดได้ก็ด้วยการเตาบะฮฺเท่านั้น ..การอิสติฆฟารหรือการขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถลบล้างความผิดจากบาปใหญ่ได้ หรือการทำความดีอย่างอื่นทดแทนก็ไม่สามารถลบล้างความผิดจากบาปใหญ่ได้ ...บาปใหญ่จะถูกลบล้างความผิดได้ก็ด้วยการเตาบะฮฺเท่านั้น

 

ซึ่งเรื่องของการเตาบะฮฺนั้น เราจะต้องทำให้ครบเงื่อนไขห้าประการ ได้แก่

 

     1. เตาบะฮฺด้วยความอิคลาศ คือเตาบะฮฺด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียวเท่านั้น ไม่ยอมให้มีชิริกใด ๆ แฝงอยู่ในการเตาบะฮฺนั้นเลย ไม่ได้ทำเพื่อโอ้อวดใคร แต่ทำเพื่อให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงพอพระทัยเท่านั้น

 

     2. มีความเสียใจที่ได้ไปทำบาปใหญ่นั้น เสียใจที่ไปทำความผิดความบาป มีความเสียใจทั้งในคำพูด ทั้งในหัวใจ และทั้งการกระทำ และเราจะต้องละทิ้งบาปใหญ่นั้นโดยทันที

 

     3. ต้องตั้งใจอย่างจริงใจที่จะไม่กลับไปทำบาปนั้นอีก ไม่ฝ่าฝืน ไม่ดื้อดึงที่จะทำมันต่อไป

 

     4. เตาบะฮฺในเวลาที่อนุญาต เช่น เตาบะฮฺก่อนที่ลมหายใจสุดท้ายของเราจะออกจากร่าง เพราะถ้าไปเตาบะฮฺในช่วงเวลานั้น มันเป็นเวลาที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ทรงรับการเตาบะฮฺแล้ว

 

      5. ถ้าบาปใหญ่ที่เราทำนั้นมันไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ไปล่วงเกินสิทธิของผู้อื่น ก็ให้เราคืนสิทธิต่าง ๆที่เราไปอธรรมต่อเขาคืนให้แก่เจ้าของสิทธินั้น หรือขอให้ผู้ที่ถูกเราอธรรมนั้นได้อภัยให้แก่เราด้วย เมื่อเราทำการเตาบะฮฺตัว เราก็ต้องไปขออภัยคนที่เราไปล่วงเกินสิทธิของเขา เมื่อเขาได้อภัยให้แก่เรา มันจึงจะถือเป็นการคืนสิทธิอันชอบธรรมให้แก่เขา แต่หากเขาไม่อภัยให้เรา หรือเราไม่ได้ไปขออภัยเขา ความผิดอันนี้ของเรามันก็จะติดตัวเราไปจนถึงวันกิยามะฮฺ 

 

          และในวันนั้นเมื่อเราเสร็จสิ้นจากขั้นตอนของการสอบสวนและถูกลงโทษในความผิดต่าง ๆจนกระทั่งเดินทางผ่านสะพานอัศศิร็อฎได้สำเร็จแล้ว กำลังจะได้เข้าสวรรค์อยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าได้ เพราะมันจะต้องมีเรื่องของการคืนสิทธิให้แก่กัน ที่เราได้ไปซ่อเหล่ม ไปอธรรมต่อผู้คนไว้โดยที่เราไม่ได้ไปขออภัยต่อเขา สิทธิของคนต่อคน สิทธิของคนต่อสัตว์ สิทธิของสัตว์ต่อสัตว์ด้วยกันเองทั้งหมดต้องถูกชำระ 

 

          ในส่วนของสัตว์ต่อสัตว์ซึ่งมันจะคืนสิทธิกันและกันจะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ แต่เมื่อมันคืนสิทธิกันแล้ว อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็จะทรงให้มันกลายเป็นดินไป สถานการณ์ในวันนั้น เมื่อคนเห็นสัตว์คืนสิทธิกันแล้วกลายเป็นดิน หมดเรื่องหมดราวกันไป คนก็จะอิจฉาสัตว์ อยากจะกลายเป็นดินบ้าง แต่ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะความผิดของเรานั้นต้องถูกชำระอย่างแน่นอน ซึ่งขั้นตอนในเรื่องนี้ของคนเราจึงเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสมาก 

 

          ดังนั้น การเตาบะฮฺในเงื่อนไขข้อนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน นั่นก็คือเงื่อนไขของการเตาบะฮฺตัวสำหรับผู้ที่หลงไปทำบาปใหญ่ และมีความปรารถนาจะให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงลบล้างบาปให้แก่เขา ซึ่งเรื่องของการกินริบานั้นเป็นหนึ่งในบาปใหญ่ที่ร้ายแรง และมีบทลงโทษในวันกิยามะฮฺในหลายรูปแบบตามที่ได้เล่าไปบ้างแล้วในตอนต้น จึงเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังไม่เข้าใกล้ แต่ให้ออกห่าง และพึงตระหนักไว้เสมอว่า การค้าขายไม่เหมือนการกินริบา 

 

          ซึ่งพวกมุชริกีนในสมัยท่านนบีเขาก็จะอ้างแบบนี้ อ้างว่า การค้าขายก็เหมือนกับการกินริบานั่นแหละ แล้วเขาก็มีการทำสัญญาริบา ทำสัญญาดอกเบี้ย มีการจดบันทึก มีพยาน ทำให้มันเหมือนกับว่า ริบามันถูกต้องชอบธรรมเพราะมีการทำสัญญาที่เป็นไปตามบทบัญญัติศาสนา ทั้ง ๆ ที่การกินริบาเป็นเรื่องที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงห้าม ดังนั้น การทำสัญญาริบาจึงไม่ถูกต้องชอบธรรม เป็นบาปอย่างแน่นอน ...และตราบมาจนถึงยุคสมัยนี้ก็ยังมีบางคนอ้างอย่างนี้เช่นกัน