อย่ากินทรัพย์สินของเด็กกำพร้า
  จำนวนคนเข้าชม  3888

อย่ากินทรัพย์สินของเด็กกำพร้า

 

( อับดุลสลาม เพชรทองคำ )

 

          เหตุการณ์ที่หกของการมิอ์รอจญ์ของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นเหตุการณ์ที่มีรายงานอยู่ในบันทึกของอิมามอัลบัยฮะกีย์ อิมามอิบนิญะรีร อิมามอิบนิ อบีฮาติม รายงานจากท่านสะอี๊ด อัลคุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเล่าความว่า

 

     “..แล้วฉันได้เดินทางผ่านไปอีก ได้พบชนกลุ่มหนึ่งซึ่งมุมปากของพวกเขา เหมือนกับมุมปากของอูฐซึ่งถูกทำให้อ้าขึ้น แล้วถูกป้อนเข้าไปด้วยถ่านไฟแดง ๆ แล้วถ่านไฟเหล่านั้นก็ออกมาทางทวารของพวกเขา ฉันได้ยินพวกเขาร้องครวญครางต่ออัลลอฮฺ

     ฉันจึงได้กล่าวว่าโอ้ท่านญิบรีล พวกเขาคือใครกันหรือ ?”

     ท่านญิบรีลกล่าวว่า ..พวกเขาคือส่วนหนึ่งจากประชาชาติของท่านที่กินทรัพย์สินของเด็กกำพร้าโดยไม่ชอบธรรม...(จบด้วยดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในซูเราะฮฺอันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 10 ที่ว่า...

 

إِنَّ ٱلَّذِينَ يَأۡكُلُونَ أَمۡوَٰلَ ٱلۡيَتَٰمَىٰ ظُلۡمًا إِنَّمَا يَأۡكُلُونَ فِي بُطُونِهِمۡ نَارٗاۖ وَسَيَصۡلَوۡنَ سَعِيرٗا

 

     "..แท้จริง บรรดาผู้ที่กินทรัพย์สินของบรรดาเด็กกำพร้าโดยไม่ชอบธรรมนั้น แน่นอน พวกเขากินไฟเข้าไปในท้องของพวกเขา และพวกเขาต่างทนทุกข์ทรมานในไฟนรกสะอีร...” 

 

         อายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสำทับถึงบทลงโทษของการกินทรัพย์สินของเด็กกำพร้าโดยไม่ชอบธรรม ก็หมายถึง เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของเด็กกำพร้า ไปเอาของพวกเขามาเป็นของตัวเอง หรือเอาของพวกเขามาแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินของตัวเอง หรือไปเอาของพวกเขามาใช้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร โดยไม่มีความจำเป็น โดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนา ...

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกว่า การกินทรัพย์สินของเด็กกำพร้าโดยไม่ชอบธรรม ก็เหมือนกับพวกเขากินไฟเข้าไปในท้องของพวกเขา แล้วไฟนั้นมันก็เผาไหม้อยู่ในท้องของพวกเขา พอไปในวันกิยามะฮฺ พวกเขาก็จะมีสภาพดังกล่าว แล้วพวกเขาจะร้องครวญครางด้วยความทุกข์ทรมาน ด้วยความเจ็บปวดจากไฟนรกที่ลุกโชติช่วงนั้น ...ดังนั้นท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงได้ตักเตือนเราให้เราออกห่างจากการกินทรัพย์สินของเด็กกำพร้าโดยไม่ถูกต้องชอบธรรม

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«اجْتَنِبُوا السَّبْعَ المُوبِقَاتِ» قَالُوا: يَا رَسُولَ الله، وَمَا هُنَّ؟ قَالَ: «الشِّرْكُ بِالله، وَالسِّحْرُ، وَقَتْلُ النَّفْسِ الَّتِي حَرَّمَ الله إلَّا بِالحَقِّ، وأكلُ الرِّبَا، وأكلُ مَالِ اليَتِيمِ، وَالتَّوَلِّي يَوْمَ الزَّحْفِ، وَقَذْفُ المُـحْصَنَاتِ المُؤْمِنَاتِ الغَافِلاتِ»..

     พวกท่านจงออกห่างจากบาปใหญ่เจ็ดประการ.....

     (บรรดาเศาะฮาบะฮฺ)จึงได้ถามว่าโอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (บาปใหญ่เหล่านั้น)ได้แก่อะไรบ้างครับ ?”

     ท่านนบีจึงกล่าวว่า “(บาปใหญ่เจ็ดประการนั้นได้แก่) 1. การตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ 2. การใช้เวทมนตร์ไสยศาสตร์ 3. การฆ่าชีวิตหนึ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม เว้นแต่ด้วยความชอบธรรม (ตามที่อัลลอฮฺได้ทรงอนุญาตไว้) 4. การกินริบา 5. การกินทรัพย์สินของเด็กกำพร้าโดยไม่ชอบธรรม 6. การถอยหนีในวันแห่งการเผชิญหน้ากับศัตรู และ 7. การกล่าวหาใส่ร้ายใส่ความหญิงผู้ศรัทธาและบริสุทธิ์ว่าทำซินา

 

         นั่นก็แสดงให้เห็นว่า การกินทรัพย์สินของเด็กกำพร้าโดยไม่ชอบธรรมนั้น มันเป็นหนึ่งในบาปใหญ่ที่ร้ายแรง...บาปใหญ่ หมายถึงบาปที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดบทลงโทษไว้แล้ว และบาปใหญ่นั้น มันจะถูกลบล้างความผิดได้ก็ด้วยการเตาบะฮฺเท่านั้น ..การอิสติฆฟารหรือการขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถลบล้างความผิดจากบาปใหญ่ได้ หรือการทำความดีอย่างอื่นทดแทนก็ไม่สามารถลบล้างความผิดจากบาปใหญ่ได้ ...บาปใหญ่จะถูกลบล้างความผิดได้ก็ด้วยการเตาบะฮฺเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ศรัทธาต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องราวของเด็กกำพร้า

 

เด็กกำพร้าคือใคร ?”

 

         เด็กกำพร้า ในทัศนะของอิสลาม หมายถึงเด็กที่พ่อของเขาได้เสียชีวิตลงในขณะที่เขายังไม่บรรลุศาสนภาวะ เสียชีวิตในขณะที่พวกเขายังเด็กอยู่ ยังไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆได้ แต่ก็จะมีเด็กบางคนที่โตพอจะรู้ผิดชอบชั่วดี โตพอเข้าใจบทบัญญัติศาสนา สามารถจัดการทรัพย์สินได้ สามารถจัดการเรื่องราวต่าง ๆได้ กรณีอย่างนี้ในทัศนะของอิสลามก็ไม่นับว่าเขาเป็นเด็กกำพร้า ..และสำหรับในส่วนของคนหรือเด็กที่แม่ของเขาเสียชีวิตลง แต่พ่อของเขายังมีชีวิตอยู่ กรณีอย่างนี้ ในทัศนะของอิสลามถือว่า เขาไม่ใช่เด็กกำพร้า

 

         เด็กกำพร้าถือเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อน ต้องการการช่วยเหลือทั้งทางร่างกายและจิตใจ บางคนอาจจะรวมถึงเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ด้วยสำหรับคนที่มีฐานะยากจน.. เด็กกำพร้า เป็นกลุ่มคนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้ผู้ศรัทธาได้ให้ความสนใจ ให้ความเอาใจใส่ต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขา ให้ความรัก ความเอ็นดูเมตตา ช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ให้อาหาร ให้เสื้อผ้า ให้การดูแลรักษาพยาบาลเมื่อเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งเป็นเรื่องของการเสียสละทั้งแรงกาย แรงใจ เสียสละทรัพย์สินต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงได้เน้นย้ำถึงความประเสริฐของการเลี้ยงดูช่วยเหลือ ดูแลอุปถัมภ์เด็กกำพร้า

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านซะฮฺลฺ อิบนิ ซะอฺด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

} أَنَا وَكَافِلُ اليَتِيمِ فِي الجَنَّةِ هَكَذَا {وَأَشَارَ بِالسَّبَّابَةِ وَالوُسْطَى وَفَرَّجَ بَيْنَـهُـمَا شَيْئاً. (متفق عليه)

 

     ฉันและผู้อุปการะเลี้ยงดู ดูแลอุปถัมภ์เด็กกำพร้าจะได้อยู่ในสวรรค์เช่นนี้ แล้วท่านเราะซูลุลลอฮฺก็ได้ชูนิ้วชี้กับนิ้วกลางของท่าน และได้กางออกระหว่างสองนิ้วเล็กน้อย (หมายถึงจะได้อยู่กันอย่างใกล้ชิด ) ”

 

          อัลหะดีษนี้แสดงให้เห็นว่า คนที่ให้การช่วยเหลือดูแลอุปถัมภ์เด็กกำพร้าจะได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแน่นอน และยังได้อยู่ใกล้ชิดกับท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมอีกด้วย

 

          สำหรับในส่วนของเด็กกำพร้าบางคนที่ครอบครัวของเขามีฐานะดี หรือเด็กกำพร้าบางคนอาจจะมีคนที่คอยบริจาคให้การช่วยเหลือผ่านมาทางผู้ที่คอยดูแล ดังนั้น ผู้ที่ดูแลหรือผู้ที่ให้การช่วยเหลือเด็กกำพร้าจำเป็นต้องรักษาสิทธิต่าง ๆ โดยเฉพาะสิทธิทางด้านทรัพย์สินของเด็กกำพร้า จะต้องรักษาผลประโยชน์ของเด็กกำพร้าอย่างเต็มที่ อย่างสุดกำลังความสามารถของเขา จนกว่าเด็กกำพร้าจะบรรลุศาสนภาวะ หรือบรรลุนิติภาวะ รู้ผิดชอบชั่วดี อันเป็นสิทธิที่เด็กกำพร้าพึงได้รับตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

         ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 6 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَٱبۡتَلُواْ ٱلۡيَتَٰمَىٰ حَتَّىٰٓ إِذَا بَلَغُواْ ٱلنِّكَاحَ فَإِنۡ ءَانَسۡتُم مِّنۡهُمۡ رُشۡدٗا فَٱدۡفَعُوٓاْ إِلَيۡهِمۡ أَمۡوَٰلَهُمۡۖ وَلَا تَأۡكُلُوهَآ إِسۡرَافٗا وَبِدَارًا أَن يَكۡبَرُواْۚ وَمَن كَانَ غَنِيّٗا فَلۡيَسۡتَعۡفِفۡۖ وَمَن كَانَ فَقِيرٗا فَلۡيَأۡكُلۡ بِٱلۡمَعۡرُوفِۚ فَإِذَا دَفَعۡتُمۡ إِلَيۡهِمۡ أَمۡوَٰلَهُمۡ فَأَشۡهِدُواْ عَلَيۡهِمۡۚ وَكَفَىٰ بِٱللَّهِ حَسِيبٗا

 

     และจงทดสอบบรรดาเด็กกำพร้าดู จนกระทั่งพวกเขาบรรลุถึงวัยแต่งงาน ถ้าพวกเจ้าเห็นว่าในพวกเขานั้นรู้ผิดรู้ถูกแล้ว ก็จงมอบทรัพย์สินของพวกเขาคืนให้แก่พวกเขาไป และจงอย่ากินทรัพย์สินนั้นโดยฟุ่มเฟือยและกินอย่างรีบเร่งก่อน(ให้หมดก่อน)ที่พวกเขาจะเติบโต ..

     และผู้ใดเป็นผู้ที่มีฐานะดีก็จงงดเว้นเสีย ..และผู้ใดเป็นผู้ยากจนก็จงกินโดยชอบธรรม ครั้นเมื่อพวกเจ้าได้มอบทรัพย์สินของพวกเขาให้แก่พวกเขาไปแล้ว ก็จงให้มีพยานยืนยันแก่พวกเขา และเพียงพอแล้วที่อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงสอบสวน

 

          อายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้เราทดสอบเด็กกำพร้าที่เติบโตขึ้นจนถึงวัยอันควร วัยที่สามารถแต่งงานได้ วัยที่รู้เรื่องราวบทบัญญญัติศาสนา วัยที่รู้ผิดชอบชั่วดี ก็ให้มอบทรัพย์สินของเด็กกำพร้าคืนให้แก่เด็กกำพร้าไป ...

 

     แต่สำหรับในส่วนผู้อุปถัมภ์ดูแลที่เขามีฐานะไม่ดี มีฐานะยากจนก็อนุญาตให้นำเอาทรัพย์สินของเด็กกำพร้ามาใช้จ่ายได้ตามความเหมาะสม จะต้องไม่นำมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย และต้องไม่รีบเร่ง ไม่รีบใช้ทรัพยฺสินของเด็กกำพร้าเพื่อให้หมดก่อนที่เขาจะบรรลุศาสนภาวะ อีกทั้งไม่เก็บสะสมทรัพย์สินของเด็กกำพร้าไว้เป็นของตัวเอง ...

 

     แต่ถ้าผู้อุปถัมภ์ดูแลเป็นคนที่มีฐานะดี ก็จงงดเว้นเสียก็คือ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของเด็กกำพร้าเลย ให้ใช้แต่ทรัพย์สินของผู้อุปถัมภ์ดูแลเอง ซึ่งนี่คือความประเสิรฐอย่างยิ่ง ..และเมื่อใดก็ตามที่ผู้อุปถัมภ์ดูแลมีความประสงค์จะมอบทรัพย์สินคืนให้เด็กกำพร้าไป ก็ให้เขาจัดหาพยานมายืนยันในการกระทำดังกล่าวด้วย เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง ...ในตอนท้ายของอายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า وَكَفَىٰ بِٱللَّهِ حَسِيبٗا

 

     และเพียงพอแล้วที่อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงสอบสวนมีคำอธิบายว่า ถือเป็นการพอเพียงแล้วที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเป็นผู้ทรงสอบสวน เป็นผู้ทรงคิดบัญชี ทรงเป็นพยานยืนยัน ทรงสอดส่อง ทรงดูแล ทรงเห็นทั้งหมดว่า ผู้อุปถัมภ์ดูแลเด็กกำพร้านั้น เขาจัดการดูแลเอาใจใส่เด็กกำพร้าอย่างไร ซื่อตรงไหม คดโกงไหม แล้วเขาก็จะได้รับการตอบแทนตามสิ่งที่เขาได้กระทำไว้

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 2 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَءَاتُواْ ٱلۡيَتَٰمَىٰٓ أَمۡوَٰلَهُمۡۖ وَلَا تَتَبَدَّلُواْ ٱلۡخَبِيثَ بِٱلطَّيِّبِۖ وَلَا تَأۡكُلُوٓاْ أَمۡوَٰلَهُمۡ إِلَىٰٓ أَمۡوَٰلِكُمۡۚ إِنَّهُۥ كَانَ حُوبٗا كَبِيرٗا

 

     และจงให้แก่บรรดาเด็กกำพร้าซึ่งทรัพย์สินของพวกเขา ...และจงอย่าเปลี่ยนเอาของเลวด้วยของดี และจงอย่ากินทรัพย์สินของพวกเขาร่วมกับทรัพย์สินของพวกเจ้า แท้จริงมันเป็นบาปอันยิ่งใหญ่

 

         อายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีคำสั่งใช้ให้คืนทรัพย์สินของเด็กกำพร้า เมื่อพวกเขามีอายุ มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ...และในระหว่างที่ผู้อุปถัมภ์ดูแลได้ดูแลทรัพย์สินของเด็กกำพร้าอยู่นั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็ทรงมีคำสั่งห้ามเอาทรัพย์สินของเด็กกำพร้ามากินมาใช้ในเรื่องส่วนตัว ห้ามเอามาปะปนกันระหว่างทรัพย์สินของเด็กกำพร้ากับของผู้อุปถัภ์ดูแล และโดยเฉพาะห้ามเอาของไม่ดีของเขามาแลกเปลี่ยนของดีของเด็กกำพร้า 

 

          ดังมีรายงานว่า ในสมัยก่อนนั้น พวกเขาเอาแกะตัวที่อ้วนพีของเด็กกำพร้าไว้ แล้วเอาแกะตัวที่ผอมโซของพวกเขาให้แก่เด็กกำพร้าไป โดยพวกเขากล่าวว่า มันก็เป็นแกะเหมือน ๆกัน...หรือบางคนก็เอาเหรียญเงินดี ๆไว้ แล้วเปลี่ยนเอาเหรียญเงินที่ไม่ดีให้แก่เด็กกำพร้าไป แล้วก็บอกว่า มันก็เป็นเหรียญเงินเหมือนกัน ...ดังนั้น ใครที่ทำดังกล่าว ทำในสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งห้าม แน่นอน เขาได้ทำบาปอย่างใหญ่หลวง ...

 

          ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องพึงระวังสำหรับใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเลี้ยงดูหรืออุปถัมภ์เด็กกำพร้าอยู่ เพราะโทษของเรื่องนี้ก็ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น นั่นก็คือ ..บรรดาผู้ที่กินทรัพย์สินของบรรดาเด็กกำพร้าโดยไม่ถูกต้องชอบธรรม ไม่เป็นไปตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซูบฮานะฮูวะตะอาลานั้น แน่นอนก็เท่ากับ พวกเขากินไฟเข้าไปในท้องของพวกเขา และพวกเขาต่างทนทุกข์ทรมานจากไฟนรกสะอีรนั้น

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ดังกล่าวข้างต้น ก็คือบางส่วนเท่านั้นในเรื่องราวของเด็กกำพร้า ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้บรรดาผู้ศรัทธาได้เห็นถึงความสำคัญของเด็กกำพร้า และให้เราได้คอยให้การดูแลช่วยเหลือพวกเขา และในขณะเดียวกันก็ต้องคอยระมัดระวังสิทธิของเด็กกำพร้าด้วย อย่าล่วงละเมิดสิทธิของเด็กกำพร้าอย่างเด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะเกิดเป็นการอธรรม นำมาซึ่งการถูกลงโทษอย่างหนัก

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราเป็นบ่าวผู้ยำเกรงต่อพระองค์ เป็นผู้ที่เสียสละ ให้ความช่วยเหลือแก่เด็กกำพร้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะรับเลี้ยงอุปการะ อาจจะทำงานองค์กรเด็กกำพร้า หรืออาจจะบริจาคทรัพย์สินเงินทอง บริจาคปัจจัยยังชีพตามความสามารถหรือความสะดวกของแต่ละคน และในท้ายที่สุด ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาและได้เป็นผู้หนึ่งที่ได้อยู่ใกล้ชิดท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในสวรรค์ของพระองค์

 

 

(นะศีหะฮฺ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ)