อินบุตัยมียะห์ : เมาลิดทำได้จริงหรือ ?
อิสหาก พงษ์มณี
กรณีที่มีบางคนนำเสนอว่า ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะห์ ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ ได้กล่าวไว้ว่า
فتعظيم المولد، واتخاذه موسمًا، قد يفعله بعض الناس، ويكون له فيه أجر عظيم لحسن قصده، وتعظيمه لرسول الله صلى الله عليه وسلم، كما قدمته لك أنه يحسن من بعض الناس، ما يستقبح من المؤمن المسدد اقتضاء صراط المستقيم(2/ 125)
“การให้ความสำคัญกับเมาลิดและยึดเป็นเทศกาลนั้น ก็อาจมีบางคนทำเช่นนั้นจริงๆ โดยที่เขา (อาจ) ได้รับรางวัลตอบแทนยิ่งใหญ่ด้วยเหตุแห่งเจตนาอันดีของเขา และด้วยการที่เขาให้เกียรติต่อท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เหมือนอย่างที่ได้นำเสนอไปแล้วว่า บางสิ่งบางอย่างที่คน(ทั่วไป)เห็นว่ามันดี แต่สำหรับมุสลิมที่อยู่ในความถูกต้อง กลับเห็นว่าผิดก็ได้”
อิกติฎออ์ฯ (2/125)
ข้อความนี้ปรากฏอยู่จริงนำหนังสือ “อิกติฏออ์ฯ” ของชัยคุลอิสลาม แต่เป็นข้อความต่อจากการวิเคราะห์เรื่องพฤติกรรมดีหรือเลวของคน ซึ่งเริ่มจากย่อหน้านี้
واعلم أن من الأعمال ما يكون فيه خير، لاشتماله على أنواع من المشروع، وفيه أيضًا شر، من بدعة وغيرها، فيكون ذلك العمل خيرًا بالنسبة إلى ما اشتمل عليه من أنواع المشروع وشرًا بالنسبة إلى ما اشتمل عليه من الإعراض عن الدين اقتضاء صراط المستقيم(2/ 125)
“การงานจะนับว่าดีก็ได้ เหตุเพราะมันครอบคลุมถึงสิ่งดีและมีบัญญัติให้กระทำ แต่ในเวลาเดียวกันมันก็เลวด้วยก็ได้เพราะมีบิดอะห์และสิ่งอื่นปะปน ดีเพราะมีสิ่งดีและมีบัญญัติให้กระทำ เลวเพราะรวมเอาการหันหลังให้กับศาสนา(ในเวลาเดียวกัน)”
สรุปคือมีบทวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวมาก่อนหน้าค่อนข้างยาว การตัดเอาแต่เฉพาะข้อความที่จะเอาแล้วเอามานำเสนอ ถือว่าไม่มีอะมานะห์ทางวิชาการ และไม่มีอะมานะห์ต่อชัยคุลอิสลามอีกทางหนึ่งด้วย หากผู้นำเสนอ (จะเป็นใคร) ต้องการจะนำเสนอจุดยืนของชัยคุลอิสลามอย่างแท้จริงแล้ว ก็ไม่ควรตัดเอาแต่เฉพาะที่จะเอามานำเสนอ
เรื่อง “เมาลิด” ชัยคุลอิสลามมิได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มเดียวของท่าน ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องชัยคุลอิสลาม และรักษาอะมานะห์ทางวิชาการก็ขอคัดเอาสิ่งที่ท่านกล่าวไว้เกี่ยวกับ “เมาลิด” มานำเสนอให้ครบถ้วนดังนี้
وَأَمَّا اتِّخَاذُ مَوْسِمٍ غَيْرِ الْمَوَاسِمِ الشَّرْعِيَّةِ كَبَعْضِ لَيَالِي شَهْرِ رَبِيعٍ الْأَوَّلِ الَّتِي يُقَالُ إنَّهَا لَيْلَةُ الْمَوْلِدِ، أَوْ بَعْضُ لَيَالِي رَجَبٍ، أَوْ ثَامِنَ عَشْرَ ذِي الْحِجَّةِ، أَوْ أَوَّلُ جُمُعَةٍ مِنْ رَجَبٍ، أَوْ ثَامِنُ شَوَّالٍ الَّذِي يُسَمِّيه الْجُهَّالُ " عِيدُ الْأَبْرَارِ "، فَإِنَّهَا مِنْ الْبِدَعِ الَّتِي لَمْ يَسْتَحِبَّهَا السَّلَفُ وَلَمْ يَفْعَلُوهَا وَاَللَّهُ سُبْحَانَهُ، وَتَعَالَى أَعْلَمُ. الفتاوى الكبرى (4/411)
“ส่วนเทศกาลที่ไม่ใช่เทศกาลทางบัญญัติ(ศาสนา) เช่นบางคืนของเดือนร่อบีอุ้ลเอาวัลที่เรียกกันว่าคืนเมาลิด หรือบางคืนของเดือนร่อญับ หรือวันที่สิบสองเดือนซุลฮิจญะห์ หรือศุกร์แรกของเดือนร่อญับ หรือวันที่แปดของเดือนเชาวาลที่คนไม่รู้ทั้งหลายเรียกมันว่า “อีดคนดี” ทั้งหมดเหล่านั้นคือ “บิดะอะห์” ชนชาวซะลัฟไม่มีใครส่งเสริมให้กระทำและพวกท่านก็มิได้กระทำด้วย และอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงรอบรู้ดียิ่งกว่า”
อัลฟะตาวาอัลกุบรอ (4/411)
อีกข้อความหนึ่งจาก “มัจมูอุ้ลฟะตาวา” (23/133)
وَهَكَذَا الْقَوْلُ فِي لَيْلَةِ الْمَوْلِدِ وَغَيْرِهَا. وَالْبِدَعُ الْمَكْرُوهَةُ مَا لَمْ تَكُنْ مُسْتَحَبَّةً فِي الشَّرِيعَةِ وَهِيَ أَنْ يُشَرِّعَ مَا لَمْ يَأْذَنْ بِهِ اللَّهُ فَمَنْ جَعَلَ شَيْئًا دِينًا وَقُرْبَةً بِلَا شَرْعٍ مِنْ اللَّهِ فَهُوَ مُبْتَدِعٌ ضَالٌّ وَهُوَ الَّذِي عَنَاهُ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِقَوْلِهِ: {كُلُّ بِدْعَةٍ ضَلَالَةٌ}
"ทำนองเดียวกันคำพูดนี้ (ข้อตัดสินว่าเป็นบิดอะห์) คือเกี่ยวกับคืน “เมาลิด” และอื่นๆ ด้วย บิดอะห์ที่น่ารังเกียจมันไม่ใช่สิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำแต่อย่างใดในทางศาสนา (ชะรีอะห์) ซึ่งมันก็คือการบัญญัติสิ่งที่อัลลอฮ์มิได้อนุญาตให้
ผู้ใดยึดสิ่งใดเป็นศาสนาและแสดงหาความใกล้ชิด(ต่ออัลลอฮ์) โดยไม่มีบัญญัติจากอัลลอฮ์ ผู้นั้นคือผู้ทำบิดอะห์ที่หลงผิด และนี่แหละที่ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจะสื่อถึงด้วยคำกล่าวที่ว่า “ทุกๆ บิดอะห์ หลงผิดทั้งสิ้น”
กรณีแรกที่ท่านกล่าวว่า คนทำเมาลิดอาจได้รับรางวัลตอลแทนความดีนั้น ไม่ใช่เพราะตัว “เมาลิด” แต่เพราะเจตนาให้เกียรตินบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยเข้าใจว่าการทำเมาลิดคือวิธีหนึ่งของการให้เกียรตินบี ซึ่งเขาทำไปโดยไม่รู้ว่ามันผิดเหมือนชาวบ้านส่วนใหญ่ทั่วๆไป
ส่วนตัว “เมาลิด” ชัยคุลอิสลาม ตัดสินไว้ชัดเจนครับว่า มันคือ “บิดอะห์”