การกำหนดราคาสินค้า
  จำนวนคนเข้าชม  1618

การกำหนดราคาสินค้า

 

อุมมุอัฟว์

 

     ศาสนามีข้อชี้ขาดอย่างไรในการที่พ่อค้าร่วมกันกำหนดราคาตายตัวให้กับสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด ?

 

คำตอบ

 

          การร่วมมือกันในกรณีเช่นนี้ ไม่เป็นที่อนุมัติตามหลักการศาสนา เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

"พวกท่านจงปล่อยผู้คน ให้อัลลอฮฺประทานริสกีแก่บางคน จากบางคนในหมู่พวกเขากันเถิด"

 

          ดังนั้น จึงไม่อนุมัติให้พ่อค้าแม่ขาย กำหนดราคาตายตัว ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่อนุมัติให้รัฐกำหนดราคาสินค้าในราคาเดียว นอกจาก จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น เพราะมีรายงานยืนยันว่า 

 

     บรรดาศ่อฮาบะฮฺ ได้บอกแก่ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ว่า "ได้โปรดกำหนดราคาให้แก่เราด้วย"

     ท่านตอบกลับว่า : "แท้จริง อัลลอฮฺคือ ผู้ทรงกำหนดราคา"แล้วท่านจะมีสภาพเป็นเช่นไรเล่า หากเหล่าพ่อค้าพากันรวมหัวเอาผลประโยชน์จากเพื่อนมนุษย์ (ในทางมิชอบหรือในสิ่งที่ตนไม่มีสิทธิ์) แล้วพวกเขาก็ตั้งราคากันเอง และโก่งราคากันเอง !!

-เชค อัลอัลบานีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -

 

 

     ในสมัยของท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ข้าวของมีราคาแพง 

     บรรดาศ่อฮาบะฮฺจึงกล่าวแก่ท่านว่า "โอ้ ร่อซูลุลลอฮฺ ได้โปรดกำหนดราคาให้แก่พวกเราด้วย"

     ท่านตอบว่า "แท้จริง อัลลอฮฺ คือ ผู้ทรงกำหนดราคา ผู้ทรงระงับ (ริสกี) ผู้ทรงเผื่อแผ่ (ริสกีให้กระจายกว้างขวาง) และคือผู้ประทานริสกี และฉันก็หวังว่า ฉันจะไปพบกับพระเจ้าของฉัน โดยที่ไม่มีใครเลยจากหมู่พวกท่านมาเรียกร้องกับฉัน อันเนื่องมาจากความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับเลือดเนื้อและทรัพย์สินของเขา"

(บันทึกโดยอิมาม อัตติรมีซีย์(1314)  อิมาม อิบนิมาญะฮฺ (2200)อิมาม อบูดาวู้ด ( 3451) )

 

          - หมายถึง เหตุผลที่ห้ามท่านไม่ให้ตั้งราคาสินค้าให้แก่บรรดาศ่อฮาบะฮฺ ก็เพราะ เกรงว่าจะเป็นการอธรรมแก่คนอื่นๆ ในเรื่องทรัพย์สินของพวกเขา ทั้งนี้ การกำหนดราคาสินค้า จะนับเป็นการอธรรมรูปแบบหนึ่งก็เพราะ เป็นไปได้ว่าพ่อค้าอาจร่วมมือกันโก่งราคา หรือบังคับให้ผู้ประกอบการจำหน่ายในราคาที่พ่อค้าไม่พอใจ หรือเป็นการทำให้สิ่งที่ศาสนาอนุมัติเป็นสิ่งหะรอมต้องห้ามไป 

 

          ขณะเดียวกัน อุละมาอฺบางกลุ่มเห็นว่า อนุมัติให้มีการกำหนดราคาได้ในกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ โดยมีเงื่อนไขว่า "ต้องเป็นธรรม" ต่อทุกฝ่าย เช่น กำหนดว่าจำเป็นต้องซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยกับค่าเงินที่เท่าเทียมกัน ห้ามเรียกเก็บเพิ่มเติม ตราบใดที่มูลค่าในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเสมอภาคกัน เป็นต้น 

 

 

ที่มา :https://dorar.net/hadith/sharh/72268