การมีใจเป็นธรรม
  จำนวนคนเข้าชม  1624

การมีใจเป็นธรรม

 

อุมมุอัฟว์

 

ส่วนหนึ่งจากคุตบะฮฺ มัสญิดอัลหะรอม - เชค บันดัร บะลีละฮฺ ฮะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ -

 

การมีใจเป็นธรรมกับตัวเอง 

 

          หมายถึง การไม่เรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองไม่มีสิทธิ์ได้รับ ไม่ทำให้ตัวเองแปดเปื้อนด้วยการประพฤติผิดศีลธรรมและฝ่าฝืนกระทำผิด และคือการยกระดับตัวเองด้วยการเชื่อฟังอัลลอฮฺ عزوجل รักพระองค์ กลัวเกรงและหวังต่อพระองค์ มอบหมายและกลับตัวสู่พระองค์ และยอมแลกความพอใจของพระองค์แทนที่ความพอใจของคนอื่น

 

การมีใจเป็นธรรมกับผู้อื่น 

 

          หมายถึง การที่มุสลิมวางใจเป็นกลางกับคนอื่น ไม่ด่วนตัดสิน และพยายามหาเจตนาที่แท้จริงจากคำพูดที่เขาได้ยิน หรือที่เขาได้รับทราบมา ตรวจสอบให้ได้รับความกระจ่าง ยืนยันในความถูกต้องของข้อมูลก่อนที่จะตัดสิน 

 

     "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาแล้วทั้งหลาย ! หากคนชั่วนำข่าวใดๆ มาแจ้งแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสอบสวนให้แน่ชัด

     หาไม่แล้วพวกเจ้าก็จะก่อเคราะห์กรรมแก่พวกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว แล้วพวกเจ้าจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไป" 

[49:6]

 

     “โอ้บรรดาผู้ที่ศรัทธาแล้วทั้งหลาย ! เมื่อพวกเจ้าเดินทางไปในทางของอัลลอฮฺ ก็จงให้ประจักษ์ชัดเสียก่อน

     และจงอย่ากล่าวแก่ผู้ที่กล่าวสลามแก่พวกเจ้าว่า ท่านมิใช่เป็นผู้ศรัทธา

[4:94]

          เป็นธรรมกับคนอื่น ด้วยการคิดในแง่ดี รับเอาคำพูดของเขาแต่ในด้านที่ดี

 

          การที่คนเราทำใจเป็นกลางได้น้อยนั้น ส่งผลให้เครือญาติ พี่น้อง ห่างเหินกัน ความขัดแย้งบาดหมางกี่ครั้งกี่หนมาแล้วที่เกิดขึ้นระหว่างพี่น้อง เพื่อนฝูง ที่มีสาเหตุเพียงเพราะ "การมีทิฐิ"  เมื่ออีกฝ่ายครอบครองสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นความโปรดปราน หรืออีกฝ่ายตอบกลับมาด้วยเหตุผลและหลักฐาน แต่ตนกลับมองว่าความถูกต้องอยู่ในเหตุผลและหลักฐานของตัวเอง

 

          ใครปรารถนาจะมีคุณสมบัติแห่งความเป็นธรรม (อินศ็อฟ) มีใจที่เป็นกลาง เขาก็จงหาสาเหตุ (หลักที่ทำให้คนเราขาดหัวใจที่เป็นกลาง) 2 สาเหตุด้วยกัน นั่นก็คือ 'ความอิจฉา' และ 'ความทะนงตน' ที่มากจนเกินเลย

          หากเขาพบว่าอุปนิสัยทั้งสองนี้ส่งผลออกมา ก็ให้เขาข่มมันเอาไว้และเอาชนะมันให้ได้ เพื่อให้หัวใจหวนกลับไปสู่ธรรมชาติของมัน

 

          และสิ่งที่ดีที่สุดที่จะขจัดความอิจฉาริษยาออกไปจากหัวใจให้ได้ก็คือ การที่บุคคลตระหนักว่า ฮิกมะฮฺ (เหตุผลอันแยบยล) ของอัลลอฮฺนั้นจำต้องเกิดขึ้นดำเนินไป ในเมื่อพระองค์ทรงกำหนดให้ความโปรดปรานนี้แก่คนผู้นี้แล้ว  จึงไม่สมควรที่จะคัดค้านต่อต้าน หรือไม่ชอบใจในสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนดให้ ฮิกมะฮนั้นเกิดขึ้นเป็นไป เพื่อที่เขาจะได้ไม่พลาดกระทำสิ่งที่เป็นบาป (อันเนื่องจากไม่พอใจต่อกำหนดของพระองค์)

 

          ส่วนการทะนงตนที่มากจนเกินพอดีนั้น ยารักษาของมันอยู่ที่ 'การฝึกฝนขัดเกลาตัวเอง' ให้อารมณ์ความรู้สึก อยู่ในความพอดี อยากให้ตัวเองได้รับในสิ่งที่ดี ขณะเดียวกันก็ต้องปฏิเสธไม่อยากให้คนอื่นได้รับในสิ่งที่ไม่ดี ไม่ชอบด้วยเช่นเดียวกัน

 

อัลฮัมดุลิลลาฮ์