อุปสงค์เทียม
อิสหาก พงษ์มณี
อุปสงค์คือความต้องการในสินค้า ซึ่งแบ่งได้ในเบื้องต้นเป็นสองลักษณะคือ
1-แท้
2-เทียม
♠ อุปสงค์แท้คือผู้ที่ซื้อนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ เพื่อตอบสนองความต้องที่เกิดขึ้นจริง หากสินค้ามีน้อยแต่คนต้องการเยอะ สินค้าก็จะมีราคาสูงขึ้น
♠ อุปสงค์เทียมคือผู้ที่ซื้อไปหวังเก็บไว้เก็งกำไร เมื่อมีแรงซื้อมากขึ้นสินค้ามีจำกัด ราคาก็จะถีบตัวสูงขึ้น ในทางหลักการเรียกการกระทำนี้ว่า “เอี๊ยะห์ติการ”
อุปสงค์เทียมอีกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยการตลาดแบบแยบยล เข่น ความต้องในสินค้าบางตัวมีสภาพตามปกติเหมือนสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป แต่ผู้ขายใช้วิธีการขายแบบเครือข่าย โดยให้ลูกค้า(สมาชิก)เน้นหาปริมาณลูกค้าที่จะเข้าร่วมเครือข่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
คือยิ่งถ้าหาปริมาณผู้ซื้อเพิ่มขึ้นมากเท่าใด บริษัทก็จะได้ขายสินค้าเพิ่มมากขึ้นไปเท่านั้น ส่วนลูกค้าที่หาสมาชิกมาเพิ่มก็จะได้ผลตอบแทนมากขึ้นไปเช่นกัน ผลตอบแทนอาจมาจากการแนะนำสินค้าหรือกำไรจากสินค้าด้วยในเวลาเดียวกัน
ส่วนใหญ่ผู้ที่ผันตัวเองมาสู่วังวนนี้มักจะพุ่งเป้าไปที่การขายและหาสมาชิกเพื่ม ตัวสินค้าอาจซื้อมาใช้บ้างบางส่วน แต่ก็มิใชเป้าหมายหลัก
ความต้องการในสินค้าไม่ใช่ความต้องการจริงๆ ของตลาด แต่เป็นความต้องการที่ถูกสร้างขึ้นจากการเอาประโยชน์มาล่อ กลไกการทำตลาดแบบนี้คือการแทรงแซงตลาดเสรี เพราะตามหลักการศาสนาตลาดต้องเสรี ห้ามผู้ใดแทรกแซงตลาดจนทำให้กลไกมันบิดเบี้ยวไป แม้ผู้นั้นจะเป็นรัฐเองก็ตาม (التسعير)
ดังนั้นปราชญ์ที่ออกมาฟัตวาเรื่องธุรกิจเครือข่ายว่า “ฮะรอม” ท่านมิได้มองแค่ขั้นตอนของธุรกรรมเท่านั้น แต่ยังมองลึกลงไปถึงเจตนารมณ์และผลกระทบของธุรกิจนั้นๆ อีกด้วย หากใครที่สนใจเรื่องนี้และพอมีพื้นฐานการเรียนรู้ศาสนามาบ้าง ขอแนะนำให้ไปศึกษาลงลึกเรื่องดังต่อไปนี้
1. ฮะดีษที่ห้าม “คนในเมืองขายเพื่อคนบ้านนอก” (بيع حاضر لبد)
2. ฮะดีษห้าม “ออกไปดักคาราวานสินค้าก่อนนำสินเข้าตลาด” (تلقي الركبان)
3. ฮะดีษห้าม “ซื้อขายลักษณะอีนะห์” (العينة)
4. ฮะดีษห้าม “ห้ามการซื้อขายลักษณะนะญัช” (النجش)
ทั้งหมดเหล่านี้เกี่ยวข้องกับกับการแทรกแซงตลาด ทำให้กลไกตลาดผิดเพี้ยนไป มันจึงถูกห้ามไว้ ดังนั้นการสร้างอุปสงค์เทียมให้กับสินค้า ก็คือการทำให้กลไกตลาดผิดเพี้ยนไป แม้รูปแบบและวิธีการมันจะแตกต่างไปบ้างแต่ผลของมันเหมือนกัน อุละมาอ์จึงชี้ขาดตัดสินว่ามันเป็นสิ่งต้องห้ามครับ
การซื้อขายตัดหน้ากัน
1. ซื้อขายตัดหน้ากัน คือเกิดการซื้อขายแล้วแต่ผู้ซื้อผู้ขายยังมิได้แยกจากกัน ห้วงเวลานี้เรียกว่า "มุดดะตุลคิยาร" คือทั้งคู่มีสิทธิ์เปลี่ยนใจที่จะปล่อยให้การซื้อขายลุล่วงไปหรือจะยกเลิกก็ได้ ในห้วงเวลานี้ศาสนาห้ามมิให้ใครมาเสนอหน้าให้ทั้งคู่ยกเลิกการซื้อขายนั้นเพื่อตนจะได้ขายหรือซื้อสินค้านั้นแทนด้วยข้อเสนอที่ดีกว่า
(البيع على بيع أخيه)
2. การต่อรองตัดหน้ากัน คือมีการต่อรองจนเป็นที่ยุติแล้วทั้งราคาสินค้าและตัวสินค้าเอง แต่ยังมิได้เกิดการซื้อขายจริงเพราะอยู่ในขั้นตอนเตรียมการ ศาสนาห้ามมิให้บุคคลที่สามเสนอหน้ามาขอให้ทั้งคู่ยกเลิกการตกลงปลงใจดังกล่าวด้วยข้อเสนอที่ดีกว่า
(السوم على سوم أخيه)
3. ตั้งราคาสินค้าถูกกว่าผู้อื่น โดยทั่วไปแล้วไม่ถือว่าเป็นความผิด เพราะอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น มีต้นทุนถูกกว่าผู้อื่น หรือต้องการระบายสินค้าให้หมดเพราะจะไปทำธุรกิจอื่น หรือเพราะเกรงสินค้าจะหมดอายุและเสีย เป็นต้น
แต่ถ้าเพราะประสงค์จะทุ่มตลาดให้เกิดความเสียหายแก่คู่แข่ง แม้จะไม่ผิดตรงที่ขายถูกกว่าผู้อื่น แต่ก็ผิดตรงเจตนาไม่ดีและหวังทำลายและทำร้ายผู้อื่น เรื่องนี้มิอาจเอาผิดการกระทำโดยตรงได้เพราะมันเป็นเรื่องของเจตนาที่อยู่ในใจ ดังนั้นความผิดนี้จึงเป็นความผิดระหว่างผู้กระทำกับพระผู้เป็นเจ้าของเขา
(إنما الاعمال بالنيات) و (لا ضرر ولا ضرار)