ธุรกรรมที่ผิดอย่างไรมันก็ผิด
  จำนวนคนเข้าชม  1258

ธุรกรรมที่ผิดอย่างไรมันก็ผิด

 

.อิสหาก พงษ์มณี  ... เรียบเรียง

 

          ธุรกรรมใดที่ผิดบัญญัติศาสนา ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นใคร คนมีเงินหรือไม่มีเงิน คนธรรมดาหรือโต๊ะครู ชาวบ้านหรือข้าราชการ อิหม่ามหรือมะอ์มูม ผู้ปกครองหรือผู้อยู่ใต้ปกครอง ไม่ว่าจะเนียตดีหรือเนียตเลว และไม่ว่าจะถูกกฏหมายหรือผิดกฏหมาย หากว่ามันผิดบทบัญญัติของศาสานา อย่างไรเสียมันก็ผิดอยู่อย่างนั้น คนและสภาพของคนรวมถึงเจตนาของคนไม่มีผลในแง่ที่จะทำให้สิ่งที่ผิดบทบัญญัติถูกต้องขึ้นมาได้ ดังนั้นจึงป่วยการที่จะดึงเรื่องโน้นเรื่องนี้มากลบเกลื่อนความผิดนั้นๆ

 

          โครงการเชิงธุรกิจหลายต่อหลายโครงการที่ผ่านมา มักมีการนำเอาไปโยงกับเรื่องทำบุญสุดท้ายบุญก็หายเงินก็หด โต๊ะครูผู้รับรองโครงการหลายคนกลายเป็นผู้ต้องหา แต่หลายคนก็ยังลอยหน้าลอยตาสอนศาสนาต่อไปโดยไม่เขอะเขิน น่าเศร้าใจจริงๆ

 

          ผมไม่มีปัญหากับคนขยันทำมาหากิน ใครขยันเชิญตามสบายครับ แต่อยากจะขอร้องว่าอย่าเอาศาสนาไปเป็นเครื่องมือทำการตลาด เพราะหากท่านทำผิดมันก็จะเป็นความผิดเฉพาะตัวท่านและศาสนาก็ไม่เสียหาย แต่การเอาแบรนด์ศาสนาไปทำการค้า พอผิดขึ้นมามันจะพาให้ศาสนาเสียหายไปด้วย

 

          จะว่าไปตัวโต๊ะครูเองก็คือแบรนด์ของศาสนา ยิ่งถ้าเอาไปโยงว่าโครงการโน้นนี้นั้นมันเป็นโครงการเพื่อคนยากคนจน เพื่อการศึกษาทางศาสนา เพื่อสงเคราะห์เด็กกำพร้าและผู้ไร้ที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่สงเคราะห์คนชรา โครงการเชิงธุรกิจเหล่านั้นก็จะได้รับความสนใจและได้การตอบรับอย่างกว้างขวาง

 

          หากรูปแบบและวิธีการมันถูกต้องและสอดคล้องกับบทบัญญัติของศาสนา ก็ย่อมจะไม่มีใครกล้าออกมาขัดขวางแน่นอน เพราะแต่ละโครงการถูกกำหนดเป้าหมายไว้เริดหรูดูดีจนยากจะมีใครขัดขวางได้ 

 

         แต่ที่มีคนออกมาขัดขวางได้ก็เพราะรูปแบบและวิธีการมันผิดบทบัญญัติของศาสนาต่างหาก คือถ้าหากเป้าหมายที่ตั้งไว้มันเริดหรูดูดีแล้วเหตุใดถึงไม่ทำให้มันถูกต้องเล่า เหตุใดถึงปล่อยให้มันผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เดินย่ำซ้ำรอยเดิมโดยไม่คิดเปลี่ยนแปลง

          ฝากให้คิดและนำไปทบทวนกันครับ หากทราบว่าอะไรผิดแล้วปล่อยไปโดยไม่ชี้แจงบาปนั้นก็ตกมาถึงคนที่รู้ว่าผิดแล้วไม่ขี้แจงด้วยเข่นกัน..

          การชี้แจงในเชิงวิชาการเรียกว่า "อิบรออุ้ลซิมมะห์" ชี้แจงแล้ว เตือนแล้ว บอกแล้วหากไม่คิดแก้ไขและไม่ยอมรับฟัง มาถึงตอนนี้ก็ตัวใครตัวมัน

 

 อุธาหรณ์ 

 

          ศ่อฮาบะห์เอาอินทผลัมชนิดเลวสองทะนานไปแลกอินทผลัมชนิดดีมาหนึ่งทะนาน ท่านร่อซลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม บอกว่า ทีหลังอย่าทำแบบนี้ คือ ให้นำอินผลัมเลวไปขายเป็นเงินเสียก่อน แล้วค่อยนำเงินไปซื้ออินทผลัมชนิดดีมา

          หากพิจารณาถึงผลมันคงไม่แตกต่างกันมากนัก และหากพิจารณาถึงเหตุและผลมันดูจะยุ่งยากเกินไป แต่ถ้าดูตามหลักการมันคือความถูกต้องเหตุเพราะท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยห้ามไว้

 

          เรื่องซื้อขายโดยทั่วไปก็เช่นกัน หากกฏเกณฑ์ใดที่ศาสนากำหนดไว้ แม้มันจะดูยุ่งยากหรือบางทีอาจจะมองว่าส่งผลไม่แตกต่างกันระหว่างทำถูกหรือทำผิด หากศาสนากำหนดไว้ เราในฐานะที่เป็นมุสลิมจะก้าวข้ามไปไม่ได้

 

          เรื่องเอาอินทผลัมเลวไปแลกอินทผลัมดี นอกเหนือจากจะได้ข้อบัญญัติเกี่ยวกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์ดอกเบี้ยแล้ว เรายังได้หลักที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า มุสลิมต้องยึดกฏเกณฑ์ของศาสนาเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดที่ผลต่างหรือไม่ต่าง หรือมองที่ความสะดวกของตนเป็นที่ตั้ง

 

 ท่านครูในสมัยสะลัฟ 

 

 أنه (اي الامام ابوحنيفة) بعث شريكه حفص بن عبد الرحمن بمتاع، وأعلمه أن في ثوب منه عيباً، وأوجب عليه أن يبين العيب عند بيعه، فباع حفص المتاع ونسي أن يبين، ولم يعلم من الذي اشتراه، فلما علم أبو حنيفة تصدق بثمن المتاع كله. (تبييض الصحيفة للسيوطي / 30)

 

     ท่านแหม่ามอบูฮะนีฟะห์ ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ ได้ให้หุ้นส่วนที่ชื่อว่าฮัฟศฺ อิบนุ อับดัรเราะหฺมานนำสินค้าไปขาย โดยบอกแก่เขาว่า มีผ้าชิ้นหนึ่งมีตำหนิ และย้ำกับเขาว่าจำเป็นต้องบอกลูกค้าด้วย (ก่อนขาย)

     ปรากฏว่าท่านฮัฟศฺขายผ้าชิ้นนั้นไปโดยลืมบอกลูกค้าและก็จำไม่ได้ว่าลูกค้าผู้นั้นเป็นใคร เมื่อความทราบถึงท่านอิหม่ามอะบูฮะนีฟะห์ ท่านจึงนำราคาผ้าชิ้นนั้นไปบริจาคจนหมดสิ้น

 

จริงเสียยิ่งกว่าจริง..

وقالَ عليُّ بنُ أبي طالبٍ رضيَ اللهُ عنه : مَنِ اتَّجَرَ قبلَ أَنْ يَتَفَقَّهَ ارْتَطَمَ فِيْ الرِّبَا ، ثُمَّ ارْتَطَمَ ، ثُمَّ ارْتَطَمَ . أي : وقع في الربا .

"مغني المحتاج" (2/22) .

ท่านอาลี ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุกล่าวไว้เมื่อพันปีมาแล้วว่า

"ผู้ใดที่ค้าขาย (ทำธุรกิจ) โดยไม่เข้าใจ(หลักการศาสนา) เขาจะถลำสู่ดอกเบี้ย ถลำลึกลงไป และลึกลงไป"

 

อย่าใช่เลห์กับศาสนาของอัลลอฮ์

 

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ -رَضِيَ اللهُ عَنْهُ- قَالَ: قَالَ رَسُولُ اللهِ -صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: « لاَ تَرْتَكِبُوا مَا ارْتَكَبَتِ الْيَهُودُ، فَتَسْتَحِلُّوا مَحَارِمَ اللهِ بِأَدْنَى الْحِيَلِ» (*ْ)

 

มีรายงานจากอบูฮุรอยเราะ ร่อฎิยัลลอฮุอันอุ กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

"พวกท่านทั้งหลายอย่ากระทำผิดแบบเดียวกับพวกยะฮูด

เพราะพวกนี้ใช้เลห๋แม้เพียงเล็กน้อยเพื่อทำให้สิ่งต้องห้ามของ อัลลอฮ์กลายเป็นสิ่งอนุมัติ"

 

มีเหลี่ยมกับอัลลอฮ์ จะโดนหักเหลี่ยม

عَنِ ابْنِ عَبَّاسٍ , أَنَّهُ أَتَاهُ رَجُلٌ فَقَالَ: إِنَّ عَمَّهُ طَلَّقَ امْرَأَتَهُ ثَلَاثًا وَنَدِمَ. فَقَالَ: " إِنَّ عَمَّكَ عَصَى اللَّهَ فَأَنْدَمَهُ , وَأَطَاعَ الشَّيْطَانَ , فَلَمْ يَجْعَلِ اللَّهُ لَهُ مَخْرَجًا. قَالَ: فَإِنِّي أَتَزَوَّجُهَا بِغَيْرِ أَمْرِهِ وَتَرْجِعُ إِلَيْهِ؟ فَقَالَ ابْنُ عَبَّاسٍ: مَنْ يُخَادِعِ اللَّهَ يَخْدَعْهُ رواه بن بطة العقبري

 

    มีรายงานจากอิบนุ อับบาส (ร่อฎิยัลลลอฮุอันฮุ) ว่า มีชายผู้หนึ่งมาหาท่านแล้วกล่าวแก่ท่านว่า 

     ลุงฉันหย่าภรรยาสามหน (ในคราเดียว การหย่าให้กระทำทีละครั้ง) แล้วมาเสียใจ (ภายหลัง) 

     ท่านจึงได้กล่าวว่า ลุงเจ้าฝ่าฝืนอัลลอฮ์ อัลลอฮ์จึงให้ประสบกับความเสียใจ และให้เขาพบกับทางตัน 

     ฝ่ายผู้ถามจึงกล่าวต่อไปว่า ฉันจะแต่งกับนางโดยที่ลุงมิได้ใช้ (หลังจากนั้นก็หย่านาง)เพื่อให้ลุงกลับ(แต่ง)กับนางได้(จะได้ไหม) 

     ท่านอิบนุอับบาสจึงกล่าวว่า "ผู้ใดหลอกลวงอัลลอฮ์ อัลลอฮ์จะให้เขาถูกหลอก" 

(บันทึกโดยอิบนุ บัฏเฏาะห์ อัลอุคบะรี่)

 

 ข้อสังเกต 

          รูปแบบและขั้นตอนไม่ผิด แต่ผิดที่เจตนาจะเลี่ยงบัญญัติของอัลลอฮ์ เรียกว่าใช้แท็กติกโดยมีเจตนาเลี่ยงบัญญัติ ย่อมถือว่าเป็นความผิดเช่นกัน