ผลของการไม่จ่ายซะกาต
อับดุลสลาม เพชรทองคำ
เหตุการณ์ที่สามของการมิอ์รอจญ์ของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตามหลักฐานจากอัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัฏฏ็อบรอนีย์และอิมามอัลบัซซาร เป็นเหตุการณ์ที่มีรายงานว่า
ท่านนบีได้มายังชนกลุ่มหนึ่งที่เรือนร่างของพวกเขามีสิ่งปกปิดร่างกายเพียงแค่ที่ทวารทั้งสอง (ก็คือเฉพาะที่ทวารเบาและทวารหนัก) พวกเขาเดินไปเดินมาเหมือนดั่งเช่นสัตว์เดรัจฉาน แล้วก็กินต้นหนามแห้งซึ่งเป็นอาหารของชาวนรกเป็นอาหาร
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงได้ถามท่านญิบรีล อะลัยฮิสสลามว่า ชนกลุ่มนี้คือใครกันหรือ ?
ท่านญิบรีลจึงได้ตอบว่า ชนกลุ่มนี้ก็คือ กลุ่มชนที่ไม่ยอมชำระซะกาต ไม่ยอมจ่ายซะกาตจากทรัพย์สินที่พวกเขาครอบครองอยู่ ..แท้จริง อัลลอฮฺ ไม่ได้ทรงข่มเหงพวกเขาแต่ประการใด อัลลอฮฺ ไม่ได้ทรงข่มเหงบ่าวของพระองค์เลย
เรื่องของซะกาตนั้น มันเป็นเสาหลักหนึ่งของอัลอิสลาม เป็นหลักปฏิบัติประการที่สามของหลักอัลอิสลาม ...มุสลิมคนใดปฏิเสธเรื่องของการจ่ายซะกาตนี้ จะมีผลทำให้เขาตกมุรตัด แต่ถ้าคนใดไม่ได้ปฏิเสธว่ามันเป็นหลักปฏิบัติ เพียงแต่ไม่ยอมทำ อาจจะเพราะเสียดายทรัพย์สมบัติ หรืออะไรก็ตาม เขาก็จะต้องได้รับโทษ ได้รับโทษทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ
ซึ่งการลงโทษที่ท่านนบีได้ไปพบมาและนำมาเล่าให้เราได้รับทราบข้างต้นนี้ เป็นการลงโทษเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นการลงโทษที่น่าละอายที่ต้องมีร่างกายที่เกือบจะเปลือยเปล่า แล้วก็ยังเดินไปเดินมาเหมือนสัตว์เดรัจฉาน กินอาหารของชาวนรกที่เป็นต้นหนามแห้ง กินเข้าไปก็ทำให้ปากฉีกขาด ลำไส้ทะลุ เป็นแผลยับเยิน อีกทั้งยังมีรสขม เป็นอาหารที่ไม่ได้ทำให้อ้วน ไม่ได้ทำให้หายหิว กินเท่าไร ๆก็ไม่อิ่ม แต่กลับหิวอยู่ตลอดเวลา..
การที่พวกเขาถูกลงโทษเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอธรรมต่อพวกเขา ไม่ใช่เพราะแกล้งพวกเขา ไม่ใช่เพราะข่มเหงพวกเขา แต่เป็นเพราะพวกเขาข่มเหงตัวของพวกเขาเอง พวกเขาอธรรมต่อตัวของพวกเขาเอง พวกเขาทำให้ตัวของพวกเขาเองต้องถูกลงโทษ อันเนื่องมาจากการที่พวกเขาไม่ยอมจ่ายซะกาต ไม่ยอมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั่นเอง
นอกจาการลงโทษที่ท่านนบีพบในเหตุการณ์มิอ์รอจญ์นี้แล้ว ก็ยังมีโทษอื่น ๆที่ปรากฏหลักฐานในอัลกุรอานและในอัลหะดีษบทอื่น ๆอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 35 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
يَوْمَ يُحْمَىٰ عَلَيْهَا فِي نَارِ جَهَنَّمَ فَتُكْوَىٰ بِهَا جِبَاهُهُمْ وَجُنُوبُهُمْ وَظُهُورُهُمْ ۖ هَٰذَا مَا كَنَزْتُمْ لِأَنفُسِكُمْ فَذُوقُوا مَا كُنتُمْ تَكْنِزُونَ
“ในวันกิยามะฮฺ เงินทองที่เขาสะสมไว้(โดยไม่จ่ายซะกาต)นั้น จะถูกเผาด้วยไฟนรกญะฮันนัม แล้วถูกนำมานาบที่หน้าผากของเขา สีข้างของพวกเขา และแผ่นหลังของพวกเขา
พร้อมกับมีเสียงกล่าวกับพวกเขาว่า นี่แหละคือสิ่งที่พวกเจ้าสะสมไว้เพื่อตัวของพวกเจ้าเอง (โดยไม่ยอมจ่ายซะกาตและไม่ใช้จ่ายในหนทางของอัลลอฮฺ) ดังนั้น พวกเจ้าจงลิ้มรสสิ่งที่พวกเจ้าสะสมไว้เถิด”
ดังนั้น การจ่ายซะกาตจึงเป็นเรื่องสำคัญ มันเป็นหลักปฏิบัติ มันเป็นอิบาดะฮฺที่จะถูกกล่าวคู่อยู่กับการละหมาดอยู่เสมอ ๆในอัลกุรอาน เช่นในซูเราะฮฺอัลบัยยินะฮฺ อายะฮฺที่ 5 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
وَمَا أُمِرُوا إِلَّا لِيَعْبُدُوا اللَّهَ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ حُنَفَاءَ وَيُقِيمُوا الصَّلَاةَ وَيُؤْتُوا الزَّكَاةَ ۚ وَذَٰلِكَ دِينُ الْقَيِّمَةِ
“และพวกเขาไม่ได้ถูกสั่งให้กระทำสิ่งใดเลย นอกจากให้เคารพอิบาดะฮฺอัลลอฮฺเท่านั้น โดย(ให้เขา)เป็นผู้ที่มีอิคลาศ (มีเนียตอันบริสุทธิ์)ในการเคารพอิบาดะฮฺต่อพระองค์(เพียงองค์เดียว โดยไม่ยอมให้มีการชิริกแอบแฝงอยู่ในการเคารพอิบาดะฮฺนั้นเลย) เป็นผู้อยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรง (อีกทั้งยัง)ดำรงรักษาการละหมาด และดำรงการจ่ายซะกาต ดังกล่าวนี้แหละคือศาสนาอันเที่ยงธรรม”
ศาสนาอันเที่ยงธรรมก็คือ ...อัลอิสลาม ซึ่งในอายะฮฺข้างต้นระบุว่า บุคคลที่จะอยู่ในศาสนาอันเที่ยงธรรม อยู่ในศาสนาอิสลาม ก็คือ บุคคลที่เคารพอิบาดะฮฺอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น คือ เป็นผู้ที่มอบเตาฮีดแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว อีกทั้งยังต้องเป็นผู้ที่ดำรงรักษาการละหมาด และดำรงรักษาการจ่ายซะกาต ..
นั่นก็คือต้องละหมาดด้วยและต้องจ่ายซะกาตด้วย จะละหมาดแต่ไม่ยอมจ่ายซะกาต อย่างนี้ไม่ได้ แต่ต้องละหมาดด้วยและต้องจ่ายซะกาตด้วย ...การละหมาดจะมาช่วยชำระล้างร่างกายและหัวใจของเขาให้มีความบริสุทธิ์ ให้ทำแต่ความดี ทำแต่สิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ ออกห่างจากสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งห้าม ...ในขณะที่การจ่ายซะกาต จะเป็นการชำระทรัพย์สมบัติที่เขาครอบครองอยู่ให้สะอาด ทำให้ทรัพย์สมบัติหลังจากการจ่ายซะกาตของเขาเป็นทรัพย์สมบัติที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดปรานที่จะให้เขาได้ครอบครองมัน
ในเรื่องนี้ ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เศาะฮาบะฮฺคนสำคัญท่านหนึ่งของอัลอิสลามกล่าวว่า
كُلُّ مَا أَدَّيْتَ زَكَاتَهُ وَإِنْ كَانَ تَحْتَ سَبْعِ أَرَضِينَ فَلَيْسَ بِكَنْزٍ ، وَكُلُّ مَا لَا تُؤَدَّى زَكَاتُهُ فَهُوَ كَنْزٌ وَإِنْ كَانَ ظَاهِرًا عَلَى وَجْهِ الْأَرْضِ
“ทรัพย์สินที่ถูกออกซะกาตไปแล้วนั้นไม่ใช่ขุมทรัพย์ แม้ว่าจะอยู่ใต้พื้นดินก็ตาม และทรัพย์สินใดๆที่ยังไม่ได้จ่ายซะกาตถือว่าทรัพย์สินนั้นเป็นขุมทรัพย์ แม้ว่าจะอยู่บนพื้นดินก็ตาม”
นั่นก็หมายความว่า ทุกสิ่งที่เรามี หรือที่เราเก็บสะสมไว้ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นเงิน เป็นทอง เป็นเงินสดหรือเป็นเงินตราสกุลต่างๆ หรืออื่น ๆ เช่น เป็นปศุสัตว์ พืชผลเกษตร โดยเราไม่ยอมนำมันมาจ่ายซะกาตนั้น ถือเป็นการสะสมหรือเป็นขุมรัพย์ แม้ว่าจะเก็บเอาไว้โดยไม่ได้ไปซ่อนไว้ที่ไหนก็ตาม ....แต่สำหรับทรัพย์สิน ทรัพย์สมบัติที่เรานำมาจ่ายซะกาตแล้วนั้นจะไม่เรียกมันว่าขุมทรัพย์ แม้ว่ามันจะมีอยู่อย่างมากมายและถูกเก็บซ่อนเอาไว้ก็ตาม การจ่ายซะกาตนอกจากจะทำให้ทรัพย์สมบัติของเขาสะอาดแล้ว มันยังทำให้ตัวของพวกเขาสะอาด บริสุทธิ์จากบาป อีกทั้งมันยังช่วยลบล้างบาปให้แก่เขาอีกด้วย
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 103 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
خُذۡ مِنۡ أَمۡوَٰلِهِمۡ صَدَقَةٗ تُطَهِّرُهُمۡ وَتُزَكِّيهِم بِهَا
“ (มุฮัมมัด) เจ้าจงเอาส่วนหนึ่งจากทรัพย์สมบัติของพวกเขา(ผู้ที่ไม่ได้ออกไปสู้รบในสงคราม)เป็นทานหรือเป็นเศาะดะเกาะฮฺ เพื่อทำให้พวกเขาบริสุทธิ์ และล้างมลทิน ล้างบาปของพวกเขาด้วยส่วนที่เป็นทานหรือเป็นเศาะดะเกาะฮฺนั้น”
ตรงนี้มีคำอธิบายว่าเป็นคำสั่งโดยทั่ว ๆไปให้ทำเศาะดะเกาะฮฺ แต่ก็มีความหมายให้รวมถึงการจ่ายซะกาตด้วยเช่นกัน
แท้จริงแล้ว การบริจาคหรือการเศาะดะเกาะฮฺโดยทั่วไปเป็นการบริจาคตามความสมัครใจ ..แต่การจ่ายซะกาต คือการจ่ายทรัพย์สมบัติจำนวนหนึ่งจากทรัพย์สมบัติที่เราครอบครองอยู่ ที่มันมีจำนวนที่อยู่ในเกณฑ์ที่บทบัญญัติศาสนากำหนดไว้ ให้แก่ผู้ที่มีสิทธิจำนวน 8 กลุ่มหรือ 8 ประเภทด้วยกัน ตามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงระบุไว้ในอัลกุรอาน......
ถ้าหากสิ่งที่เราครอบครองอยู่ มีจำนวนถึงเกณฑ์ที่บทบัญญัติศาสนาระบุไว้ ก็จำเป็นที่เราจะต้องจ่ายซะกาต จะละทิ้งไม่ได้ แต่ถ้าไม่ถึงเกณฑ์ที่บทบัญญัติศาสนาระบุไว้ก็ไม่ต้องจ่าย ซึ่งการจ่ายซะกาตนี้เป็นการจ่ายเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ไม่ได้มากมายอะไรเมื่อเทียบกับจำนวนทรัพย์สมบัติที่เราครอบครองอยู่ และปีหนึ่งก็จ่ายเพียงครั้งเดียว ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่หนักหนาอะไรสำหรับเรา หรือสร้างความลำบากอะไรให้แก่เราเลย
ดังนั้น ใครก็ตามที่ได้ครอบครองทรัพย์สมบัติ ครอบครองแก้วแหวนเงินทองจำนวนตามที่ถูกระบุอยู่ในบทบัญญัติศาสนาว่าจะต้องจ่ายซะกาตนั้น แต่เขาไม่ยอมจ่ายซะกาต ก็เท่ากับเขากลายเป็นผู้ที่สะสมทรัพย์สมบัติ กลายเป็นผู้สะสมขุมทรัพย์ซึ่งก็จะทำให้เขากลายเป็นผู้ที่ไม่รักษาบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งเขาก็จะต้องได้รับการลงโทษทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
«مَنْ آتَاهُ الله مَالاً فَلَـمْ يُؤَدِّ زَكَاتَـهُ مُثِّلَ لَـهُ يَومَ القِيَامَةِ شُجَاعاً أَقْرَعَ لَـهُ زَبِيبَتَان، يُطَوِّقُهُ يَومَ القِيَامَةِ، ثُمَّ يَأْخُذُ بِلِـهْزِمَتَيْـهِ -يَـعْنِي بِشِدْقَيْـهِ-، ثُمَّ يَـقُولُ: أَنَا مَالُكَ، أَنَا كَنْزُكَ»
"ใครก็ตามที่อัลลอฮฺได้ประทานทรัพย์สมบัติแก่เขา แล้วเขาไม่ทำการจ่ายซะกาตของมัน ..(ทรัพย์สมบัตินั้น)มันจะถูกจำแลงแก่เขาในวันกิยามะฮฺให้เป็นงูหัวล้าน มีสองเขี้ยว มันจะรัดเขาในวันกิยามะฮฺแล้วรัดที่ขากรรไกรของเขาทั้งสองข้างแล้วมันจะกล่าวว่า ข้าคือทรัพย์ของเจ้า ข้าคือสิ่งที่เจ้าสะสมไว้"
เรื่องราวข้างต้นนั่นก็คือ เรื่องราวเพียงบางส่วนเท่านั้นในเรื่องของซะกาต ซึ่งเป็นรุก่น เป็นหลักปฏิบัติของอัลอิสลามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงวางบทบัญญัติไว้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่มุสลิมเราจะต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องของซะกาต ศึกษาให้ทราบถึงเงื่อนไข ตลอดจนทรัพย์สินที่ต้องนำมาจ่ายซะกาต ว่ามีทรัพย์สินอะไรบ้างที่จำเป็นต้องจ่ายซะกาต แล้วจ่ายอย่างไร จ่ายเท่าไร ใครบ้างมีสิทธิได้รับซะกาต ใครบ้างไม่มีสิทธิได้รับซะกาต ..เมื่อทราบเรื่องราวแล้วก็ต้องดำรงรักษาเรื่องของการจ่ายซะกาตอย่างเคร่งครัดไม่น้อยไปกว่าการละหมาด เป็นหลักปฏิบัติที่จะละทิ้งไม่ได้เลยหากเข้าเกณฑ์บังคับ เพราะไม่เช่นนั้นเราก็จะต้องได้รับการลงโทษมากมายอย่างแน่นอนในวันกิยามะฮฺ
สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดช่วยเหลือเราให้เป็นผู้ที่มอบการเคารพอิบาดะฮฺโดยอิคลาศต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น และโปรดให้เราเป็นผู้ที่ดำรงรักษาการละหมาดและดำรงรักษาเรื่องของการจ่ายซะกาตอย่างเคร่งครัด ขอพระองค์โปรดรับการทำอิบาดะฮฺทั้งหมดของเรา และพึงระลึกอยู่เสมอว่า รากฐานการงานและอิบาดะฮฺทั้งหลายที่เราทำนั้น จะต้องตั้งอยู่บนหลัก 2 ประการคือ
♦ อัลอิคลาศ คือทำการงาน ทำอิบาดะฮฺทั้งหมดเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแต่เพียงพระองค์เดียว โดยเราต้องไม่ยอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือคนหนึ่งคนใดมามีภาคีร่วมกับพระองค์อย่างเด็ดขาด ต้องระมัดระวังเรื่องของการริยาอ์หรือการโอ้อวดที่มันอยู่ในหัวใจของเรา อย่าให้มันมาเจือปนในเนียตหรือเจตนาของเราอย่างเด็ดขาด
♦ ประการที่สองก็คือ ให้การงานอิบาดะฮฺของเราทั้งหมดนั้นตรงตามรูปแบบ ตรงตามแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ..เราอย่าไปคิดเอาเองว่า ทำแบบนี้ก็ดี ทำแบบนั้นก็ดี แล้วทำมันหมดเลย โดยไม่มีแบบอย่างมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเป็นอันขาด
ซึ่งรากฐานของการงานอิบาดะฮฺทั้งสองประการนี้ มันจะเป็นสาเหตุให้การงานอิบาดะฮฺต่าง ๆของเราที่เราลงทุนลงแรงทำไปตั้งมากมายได้รับการตอบรับ ได้รับรางวัลจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และจะทำให้เราได้รับความสำเร็จทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ