ต า ย แ ต่ ตั ว
  จำนวนคนเข้าชม  1830

ต า ย แ ต่ ตั ว

 

วิโรจน์ บุญมาเลิศ

 

          ได้เคยอ่านหนังสือของนาย ท๊อด เฮนรี่ Todd Henry เรื่อง Die Empty เมื่อต้นปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้เล่าถึงแรงจูงใจที่ทำให้ต้องเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา และได้รับความสนในจากนักอ่านมากมายทั่วโลก ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้เล่าว่า ครั้งหนึ่งตนได้รับเชิญเข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการที่จัดขึ้นโดยสมาคมนักวิชาการด้านปรัชญาสังคมมนุษย์ในสหรัฐอเมริกา ประธานได้เริ่มเปิดสัมมนาโดยป้อนคำถามแก่ผู้ร่วมสัมมนาว่า มีพื้นที่ในโลกนี้บ้างที่มีความเจริญก้าวหน้าและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่ายิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการหรือเทคโนโลยี ? 

 

          ผู้ร่วมสัมมนาท่านหนึ่งกล่าวตอบว่าถ้าพูดถึงความมั่งคั่งทางด้านทรัพยากรและศักยภาพในการพัฒนาแล้ว คงไม่มีที่ใดเหนือกว่าดินแดนในคาบสมุทรอาหรับที่อุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันอันเป็นแหล่งพลังงานหลักที่สำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของประชากรโลก และยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจการค้าที่ดึงดูดนักลงทุนชั้นนำให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการประกอบกิจกรรมในหลากหลายประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรารถนาของกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่จะเข้าไปมีส่วนครอบครองแหล่งทรัพยากร

 

          อีกท่านหนึ่งมีความเห็นว่าถ้าพิจารณาในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ายิ่งแล้ว ก็คงไม่มีพื้นที่ใดในโลกที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าพื้นที่แถบแอฟริการที่เต็มไปด้วยแหล่งอัญมณีที่มีค่ายิ่ง ดึงดูดความสนใจของพ่อค้านักลงทุนตลอดจนบรรดานักสะสม แม้ประเทศแถบนี้จะมีความเจริญทางวัตถุน้อยกว่าที่อื่น แต่ก็เป็นที่สนใจของบรรดา ผู้แสวงหาประโยชน์ที่ต่างเดินทางมาเพื่อการลงทุน 

 

          ท่านสุดท้ายได้ให้เห็นความเห็นว่าหากพิจารณาในด้านความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ก้าวอย่างไม่หยุดยั้งแล้ว ก็คงไม่มีที่ใดเกินกว่าประเทศญี่ปุ่น" 

 

          ผู้บรรยายเงียบไปพักพนึ่งแล้วกล่าวขึ้นว่า 

          “คำตอบของทุกท่านนั้นคือคำตอบที่เป็นตรรกะ แต่มิใช่คำตอบที่ถูกต้องตามหลักความเป็นจริง มีผู้ใดคิดบ้างว่าพื้นที่อันเป็นสุสานนั้นคือแหล่งทรัพยากรมนุษย์ เป็นสถานที่ชุมนุมของบรรดาบุคคลระดับมันสมองในทุกสาขาวิชา เนื่องจากมีนักวิชาการชั้นนำจำนวนไม่น้อย ที่จบชีวิตลงโดยไม่ยอมถ่ายทอดทุกประสบการณ์และสิ่งที่ตนเรียนรู้แก่ผู้อื่น หรืออาจจงใจปกปิดสิ่งเหล่านั้นโดยไม่ประสงค์จะให้ผู้ใดได้รับประโยชน์ พวกเขาจบชีวิตลงโดยมิได้ทำประโยชน์ใดเลยแก่ชาวโลก พวกเขาได้นำความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ของพวกเขาติดตัวไปยังสุสาน อันเป็นที่พำนักถาวรของพวกเขา ดังนั้นสุสานจึงเป็นสถานที่เดียวในโลกที่เป็นศูนย์รวมนักวิชาการมากมาย และเป็นแหล่งทรัพยากรมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่

 

          ข้อความข้างต้นนี้ แม้จะมิใช่คำพูดของนักวิชการการมุสลิม แต่ก็ทำให้นึกถึงหลักการอิสลามในเรื่องของผู้รู้ที่ละเลยการถ่ายทอดสิ่งที่ตนรู้แก่ผู้อื่นจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม หรืออาจทำหน้าที่ถ่ายทอดโดยบิดเบือนข้อมูลให้ผิดไปจากข้อเท็จจริง อิสลามประณามบรรดาผู้รู้ที่ปิดบังความรู้ หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงไว้มากมาย นักวิชาการอิสลามต่างเห็นพร้อมว่าการปิดบังความรู้นั้นเป็นบาปใหญ่ที่จำเป็นต้องสำนึกตนต่อพระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลา จึงจะได้รับการอภัยโทษ 

 

ท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)กล่าวในรายงานของท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ความว่า

      ผู้ใดถูกถามถึงความรู้ใด ๆ แต่เขากลับปิดบังความรู้นั้น พระองค์อัลลอฮฺ จะทรงสวมบังเหียนไฟให้แก่เขาในวันกิยามะฮ์ (วันฟื้นคืนชีพ)” 

 

และในอีกรายงานหนึ่งของท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ความว่า ท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า 

ผู้ใดปิดบังสิ่งที่ตนรู้ ในวันกิยามะฮ์ เขาจะถูกสวมบังเหียนที่ทำจากไฟ

 

          นอกจากนี้อัลกุรอานยังได้กล่าวถึงผู้ปิดบังความรู้โดยไม่ยอมถ่ายทอดให้ผู้อื่นไว้ในซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮ์ที่ 159 ความว่า

 

     “แท้จริงบรรดาผู้ที่ปิดบังหลักฐานอันชัดเจน และข้อแนะนำที่ถูกต้องตามที่เราได้ประทานให้มา หลังจากที่ได้ชี้แจ้งแก่มนุษย์แล้วในคัมภีร์

     ชนเหล่านั้นแหละที่พระองค์อัลลอฮฺ  จะทรงสาปแช่งพวกเขา (ขับออกจากความเมตตาของพระองค์) และบรรดาผู้ที่สาปแช่งก็จะสาปแช่งเขาเช่นกัน

 

          ข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ Die Empty ข้างต้นที่ระบุว่าสุสานคือศูนย์รวมนักวิชาการนั้น ตรงกับฮะดิษของท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่อยู่ในรายงานของท่านอับดุลเลาะฮฺ บินอัมรฺ บินอัลอาศ ว่า ฉันได้ยินท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

 

     “แท้จริง พระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลา จะไม่ทรงนำวิชาความรู้กลับคืนไปโดยการยึดคืนจากบ่าวของพระองค์ แต่จะทรงยึดเอาคืนไปโดยนำผู้มีความรู้กลับไปยังพระองค์ จนไม่เหลือผู้รู้แม้แต่ผู้เดียว เมื่อเป็นเช่นนั้นมนุษย์ก็จะถือผู้นำที่ปราศจากความรู้ เมื่อผู้นำนั้นถูกถามถึงปัญหาใดเขาก็จะตอบโดยปราศจากความรู้ จึงเกิดความหลงผิดทั้งผู้ถูกถามและผู้ถาม 

 

          จึงเป็นเหตุผลที่ว่า สุสาน คือ ถิ่นพำนักของบรรดานักวิชาการในทุกสาขา สุสานจึงเป็นแหล่งรวมความเจริญที่สุดในโลก

          เมื่อศึกษาต่อก็จะทราบว่าท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ส่งเสริมมุสลิมให้สร้างผลงานของตนไว้บนโลกนี้แม้จะรู้ว่าโอกาสของการมีชีวิตนั้นกำลังจะจบสิ้นลงก็ตาม 

     ดังที่ท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวในรายงานของ ท่าน อนัส ว่า

 

     “แม้วันสิ้นโลกกำลังจะเกิดขึ้น แต่ในมือของพวกท่าน ยังมีต้นกล้าอินทผลัมเหลืออยู่ หากพวกท่านยังมีความสามารถ ก็จงนำต้นกล้านั้นปลูกลงดิน

(บันทึกโดยอิหม่ามอะฮฺมัด)

 

     ท่านยาบิร บินอับดุลเลาะฮฺ เล่าว่าท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

     ไม่มีสิ่งใดที่มุสลิมปลูกหรือหว่านลงดิน แล้วต่อมาทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างได้รับประโยชน์จะด้วยการบริโภค หรือนำมาเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ก็ตาม ก็เท่ากับว่าเขาได้ทำทานไว้แก่ชาวโลก

(บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม)

 

          สำหรับผลตอบแทนของผู้ที่จงใจถ่ายทอดสิ่งที่ไม่ตรงตามความรู้นั้น พระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสอย่างชัดเจนในซูเราะฮฺ อัลกะห์ฟิ อายะฮ์ที่ 15 ความว่า

 

จะมีผู้ใดเล่าที่อธรรมยิ่งไปกว่าผู้ที่กล่าวเท็จต่ออัลลอฮฺ

 

          และในทางกลับกันผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้คน เขาย่อมจะได้รับสิ่งตอบแทนอย่างไม่คาดคิด ทั้งนี้จากฮะดิษของท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในรายงานของท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ว่า

 

     ผู้ใดเชิญชวนผู้อื่นสู่ทางนำ (วิชาความรู้) เขาจะได้รับผลตอบแทนเช่นเดียวกับผู้ที่ปฏิบัติตามคำเชิญชวน ได้รับอย่างไม่ลดเลยแม้แต่น้อย

 

     มีคำพูดของชาวอาหรับที่ได้ถ่ายทอดกันมาจนนิยมนำมาใช้ว่า

 

ผู้ที่ไม่รู้ เขาจะพบกับปัญหาเพียงอย่างเดียว คือ ต้องแสวงหาความรู้ แต่ในทางกลับกัน 

ผู้รู้ นั้นจะพบกับปัญหามากยิ่งกว่า เพราะจะต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ในขณะเดียวก็จะต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอย่างไม่หยุด

 

นี่คือหลักการอิสลามที่ให้ผู้รู้ตายไปแต่ตัว โดยละทิ้งสิ่งที่ตนรู้ไว้ให้เกิดประโยชน์แก่ชาวโลก

 

 

ที่มา : วารสาร มุสลิม กทม.