ธุรกิจเลี่ยงบัญญัติของอัลลอฮ์
  จำนวนคนเข้าชม  998

ธุรกิจเลี่ยงบัญญัติของอัลลอฮ์

 

อ.อิสหาก พงษ์มณี

 

เล่ห์เหลี่ยมของยะฮูด

 

          ไขมันสัตว์ต้องห้ามแก่ยะฮูด คือมีบัญญัติห้ามมิให้ชนชาวยะฮูดทานไขมันสัตว์ (ในชะรีอะห์ของนบีมูซา อะลัยฮิสลาม) ยะฮูดจึงเปลี่ยนจากการไม่ทานตรงๆ แต่นำไขมันสัตว์ไปเจียวจนได้เป็นน้ำมันและนำน้ำมันสัตว์ไปขาย อัลลอฮ์จึงสาบแช่งยะฮูดที่ใช้เลห์อุบายต่อบัญญัติของพระองค์

 

 قَاتَلَ اللَّهُ اليَهُودَ؛ حُرِّمَتْ عليهمُ الشُّحُومُ، فَجَمَلُوهَا فَبَاعُوهَا

رواه البخاري ومسلم

 

          ในยุคปัจจุบันเราจะพบเห็นมุสลิมส่วนหนึ่งเลียนแบบยะฮูด คือใช้เล่ห์เพื่อเลี่ยงบัญญัติของอัลลอฮ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการดำเนินธุรกิจ โดยจะมีข้ออ้างความจำเป็นมากมาย หรืออ้างความเดือดร้อนมากมายมาเลี่ยงข้อบัญญัติของศาสนา

จนดอกเบี้ยแทบจะไม่เป็นดอกเบี้ย...จนเงื่อนไขแทบจะไม่เป็นเงื่อนไข

จนความไม่ชัดเจนกลายเป็นความชัดเจน...จนข้อห้ามกลายเป็นข้อ อนุญาต

 

          บวกกับนักวิชาการสายธุรกิจ(สายเงิน)ก็จะรวมหัวกันค้นหาข้ออ้างเชิงขัดแย้งแย่งกันนำเสนอ เพื่อจะนำมาหักลบกลบเกลื่อนดึงความผิดให้กลายเป็นสิ่งที่กระทำได้ เหตุเพราะอ้างว่าปราชญ์ขัดแย้งกัน โดยลืมไปว่าศาสนาใช้ให้เลือกสิ่งที่ชัดเจนที่สุดและให้ทิ้งสิ่งที่คลุมเครือสงสัยไป

 

ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มิใช่หรือที่ไช้ให้ทิ้งสิ่งที่สงสัย ยึดถือสิ่งที่มั่นใจ

ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มิใช่หรือสั่งให้ทิ้งสิ่งคลุมเครือไป เพราะนั่นคือการป้องเกียรติและศาสนาตน 

 

          แล้วเหตุใดนักวิชาการสายธุรกิจ(สายเงิน) จึงยังดึงดันจะเอาแต่เฉพาะคำว่า "มีข้อขัดแย้ง" แล้วก็จบโดยไม่ค้นหาต่อไปว่าสิ่งใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากที่สุด ตัวปราชญ์เองที่วินิจฉัย หากท่านผิดท่านก็ยังได้บุญ แต่คนที่คิดจะยึดท่านเพื่ออ้างกระทำผิด นอกจากจะไม่ได้บุญแล้วยังเป็นบาปอีกด้วย 

 

          การอ้างทัศนะที่พิสูจน์แล้วว่าอ่อนด้อยเชิงหลักฐานมาเทียบและตีเสมอวินิจฉัยที่มีหลักฐานชัดเจนแข็งแรงสนับสนุน มันต่างอะไรกับเลห์เหลี่ยมของยะฮูด

 

"ยะฮูด" รู้แต่ไม่กลัวบาปเพราะอะไร ? ส่วนหนึ่งเพราะ..

- รับฟังแต่เรื่องเท็จ

- กินของสกปรกโสโครก (คือที่ไม่ฮะล้าล)

- เหลี่ยมจัดกับศาสนา

ผลคือไม่กลัวบาปทั้งๆ ที่รู้ เมื่อกินของไม่ดีไปมากๆ แล้วหัวใจก็ตายด้านจนแข็งเป็นหินหรือแข็งเสียยิ่งกว่าหิน

 

     ใครรู้จัก "บัยอุลอีนะฮ์" บ้าง ? ทำถูกทุกขั้นตอน แต่ก็ "ฮะหรอม" เหตุเพราะเจตนาเลี่ยงบัญญัติของอัลลอฮ์

     ใครรู้จัก "จีนอบุตอ" บ้าง ? (มุฮัลลิ่ล มุลฮั่ลละฮู) ทำถูกทุกขี้นตอน แต่ก็โดนสาบแช่ง เหตุเพราะมีเจตนาเลี่ยงบัญญัติของอัลลอฮ์

     ใครรู้เรื่อง "ห้ามจับปลาวันเสาร์" ในอดีตบ้าง และใครรู้เรื่อง "ห้ามกินไขมันสัตว์" ในอดีตบ้าง สุดท้ายคนถูกห้ามทำอย่างไร และมีผลอย่างไร

 

ท่านอิบนุบัฏเฏาะหฺ อัลอุกบะรี่ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า

 

 كلُّ حُكمٍ عُمِل بالحيلة في طلاق، أو خلع، أو بيع، أو شراء، فهو مردودٌ مذمومٌ عند العلماء الربانيين والفقهاء الديانين.

إبطال الحِيَل | لابن بطة صـ ٥١

 

     "ทุกข้อตันสิน (หุก่ม) ต่อพฤติกรรมเลี่ยง (หลักการ) จะในเรื่องการหย่าร้างทั้งแบบฏ่อลากและแบบคุลอฺ หรือในการซื้อการขาย คือต้องถูกปฏิเสธและต้องถูกตำหนิ ณ อุละมาอฺร๊อบบานียีนและจากฟุก้อฮาอฺดัยยานิยีน (คือบรรดาผู้รู้ที่ดีและมีศาสนา)"

(อิบฏอลุ่ลฮิยัล หน้า 51)

 

ผิดที่เจตนาแต่ไม่ได้ผิดที่ขั้นตอน

 

          นบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมห้ามซื้อขายลักษณะ "บัยอุลอีนะห์" ชั้นตอนการซื้อขายถูกต้องทั้งหมด แต่ผู้ซื้อผู้ขายมิได้มีเจตนาซื้อขายจริงๆ เพียงแต่จะหลบเลี่ยงดอกเบี้ย ดังนั้นคำสั่งห้ามที่เกิดขึ้นนั้น นักวิชาการบอกว่าพิจารณาที่เป้าหมาย ไม่ได้พิจารณาที่ขั้นตอน

 

     ท่านอับดุลลอฮ์ อิลนุอับบาส ถูกถามเรื่อง "บัยอุลอีนะฮ์"

     ท่านตอบ "ดิรฮัมกับดิรฮัมแต่เอาการค้ามาแทรกกลาง" คือเท่ากับเอาเงินมาแลกเงินแต่ทำทีว่าเป็นการค้า"

 

          เงินแลกเงินตามหลักการแล้ว หากเป็นสกุล(ชนิด)เดียวกัน ก็สามารถแลกกันได้แต่ต้องส่งมอบให้แก่กันทันทีและต้องมีปริมาณที่เท่ากันด้วย หากมีปริมาณเท่ากันแต่ไม่ทันที เวลาที่ร่นหรือล่าออกไปคือ "ดอกเบี้ย" เรียกว่า "ริบัลนะซีอะห์" และหากมีการส่งมอบทันทีขณะตกลงแลกเปลี่ยนกัน แต่มีปริมาณที่ต่างกันส่วนต่างนั้นคือ "ดอกเบี้ย" เรียกว่า "ริบัลฟัฎล์"

 

          ดังนั้นการซื้อขายบางประเภทแม้ดูผิวเผินอาจจะไม่พบข้อผิดพลาดในขั้นตอนการซื้อขาย แต่ถ้าสินค้าไม่ใช่เป้าหมายหลักของการซื้อขาย หากแต่มีเป้าหมายอื่นแฝงอยู่ และเป็นเป้าหมายที่ผิดหลักการ การค้านั้นก็ไม่รอดพ้นความผิดไปได้ ด้วยหลักนี้จึงสามารถป้องกันคนเจ้าเล่ห์ คนหัวหมอ หรือแม้แต่การฟอกเงินได้

 

ท่านร่อซลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

     "รัวฮุลกุดสฺ (ญิบรี้ล) นำวะฮีมาบอกฉันว่า ไม่มีชีวิตใดจะตายลง ยกเว้นจะได้ริซกีครบแม้จะล่าช้าไปบ้าง 

     ดังนั้นพวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด จงแสวงหา (หากิน) กันดีๆ อย่าให้ความล่าช้าจากการได้มาของริซกี ผลักใสพวกท่านฝ่าฝืนอัลลอฮ์ (หากินแบบผิดๆ)

     แท้จริงสิ่งที่มีอยู่ ณ ที่อัลลอฮ์ จะได้ก็ต้องด้วยการเชื้อฟัง(ฏออัต) พระองค์

 (ศ่อฮีฮุ้ลตัรฆีบ)

 

สรุปคือ

1-แต่ละคนจะไม่ตายจนกว่าจะได้ริซกีครบ

2-เร่งให้ได้ริซกีเกินไป อาจเป็นเหตุให้กระทำผิดบัญญัติศาสนา

3-อยากได้ริซกีที่ดีและสะอาด ต้องไม่ฝ่าฝืนบัญญัติของอัลลอฮ์