ซื้อขายเงินผ่อนกับเช่าซื้อ
อ.อิสหาก พงษ์มณี ... เรียบเรียง
ความแตกต่าง
ซื้อขายเงินผ่อนกับเช่าซื้อต่างกันหลายจุด ที่สำคัญที่สุดคือ การซื้อขายเงินผ่อน สินค้าจะตกเป็นเป็นของผู้ซื้อทันทีหลังจากสิ้นสุดข้อตกลงซื้อขายกัน ส่วนราคาสินค้า ผู้ซื้อถือว่าเป็นหนี้ผู้ขายและต้องผ่อนส่งต่อไปตามสัญญา
ส่วนเช่าซื้อ สิ้นค้าจะไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาการเช่า
ในทางปฎิบัติกรณีของสังหาริมทรัพย์จะเห็นภาพชัดเจนกว่าอสังหาริมทรัพย์
ผู้ซื้อรถเงินผ่อนหมายถึงผู้ซื้อได้เป็นเจ้าของรถเลย และหากรับมอบรถแล้วซึ่งจำเป็นต้องส่งมอบทันที ณ ขณะที่ตกลงซื้อขายกัน (เพื่อกันเข้าข่ายข้อห้ามลักษณะเครดิตแลกเครดิต) ก็หมายความว่าได้ทั้งครองสิทธิ์และครองทรัพย์นั้นตามข้อตกลงซื้อขายนั้น ส่วนราคาสินค้าที่ยังจ่ายไม่หมด ก็ยกไปว่ากันเรื่องหนี้สิน ส่วนการดำเนินการทางเอกสาร (โอนทะเบียน) ก็ค่อยดำเนินการหลังจากนั้น
ผู้ที่ซื้อแล้วย่อมมีสิทธิ์เต็มในสินค้าที่ซื้อมาแม้จะเป็นการซื้อแบบผ่อนส่ง เขาสามารถจะขายใครต่อก็ได้ จะยกโอนให้ใครโดยเสน่หาก็ได้ ผู้ขายไม่มีสิทธิจะมารอนสิทธิ์ของผู้ซื้อแต่อย่างใดทั้งสิ้น ยกเว้นกรณีเดียวคือที่ผู้ขายตั้งเงื่อนไขว่าให้ผู้ซื้อเอาสินค้านั้นค้ำหนี้ไว้ หากเป็นรถก็ให้เอาทะเบียนค้ำหนี้ไว้ หรือหากเป็นที่ทางก็ให้เอาโฉนดค้ำหนี้ไว้ จนกว่าผู้ซื้อจะผ่อนหมด การเอาทะเบียนหรือโฉนดค้ำหนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากว่ายังไม่มีการโอนสิทธิให้ถูดต้อง เหตุเพราะผู้เอาทรัพย์ค้ำหนี้ตน ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์
ส่วนการเช่าซื้อคือการที่เจ้าทรัพย์เอาทรัพย์ตนออกมาให้เช่าและสัญญาว่าจะยกทรัพย์นั้นให้แก่ผู้เช่าหากเช่าครบตามวันเวลาที่กำหนดไว้
การเช่าซื้อผู้ให้เช่าจึงไม่จำเป็นต้องยกโอนทรัพย์นั้นให้แก่ผู้เช่า หากยังเช่าไม่ครบตามสัญญา ในภาษาอาหรับเรียกการซื้อขายลักษณะนี้ว่า “อัลอิญาเราะห์ อัลมุนตะฮี บิดตัมลีก” และเรียกการซื้อขายผ่อนส่งว่า “บัยอุตตักสีต”
นักวิชาการต่างเห็นพ้องกันว่า การซื้อขายลักษณะผ่อนส่งนั้นเป็นที่อนุมัติ แต่การซื้อขายลักษณะเช่าซื้อเป็นที่ต้องห้าม แม้เรื่องการเช่าซื้อจะยังมีข้อขัดแย้งในหมู่นักวิชาการยุคใหม่อยู่บ้าง แต่เมื่อศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าข้อขัดแย้งดังกล่าวไม่มีน้ำหนักพอจะหักลบกลบหลักฐานของฝ่ายที่ตัดสินว่ามันต้องห้ามได้
สิทธิ์ครอบครองและสิทธิ์เป็นเจ้าของ ต่างกัน
ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์อาจจะครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ก็ได้ หรือมิได้ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ก็ได้ และผู้ที่ครอบครองทรัพย์อยู่ อาจมิใช่เจ้าของทรัพย์ก็ได้
ผู้ที่ซื้อสิ่งของใดๆ เมื่อทำข้อตกลงซื้อขายกับผู้ขายเรียบร้อยแล้ว ก็ถือว่าผู้ซื้อได้เป็นเจ้าของสินค้านั้นแล้ว แม้จะยังมิได้รับมอบสินค้านั่นมาก็ตาม หากผู้ขายยังมิได้ส่งมอบสินค้านั้นให้ผู้ซื้อความรับผิดชอบต่อสินค้านั้น ยังตกอยู่กับผู้ขาย ยกเว้นผู้ขายพร้อมจะมอบสินค้านั้นให้ผู้ซื้อ แต่ผู้ซื้อบ่ายเบี่ยงที่จะรับมอบจะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ความรับผิดชอบต่อสินค้านั้นก็จตกเป็นของผู้ซื้อทันที
สินค้าอาจเป็นทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายได้และเคลื่อนย้ายไม่ได้ และสินค้านั้นอาจต้องจดทะเบียนลงชื่อเป็นเจ้าของ หรือไม่จำเป็นต้องลงชื่อจดทะเบียนเป็นเจ้าของ ตามหลักที่ว่าผู้ขายต้องส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อเมื่อสินสุดการทำข้อตกลงซื้อขายกัน หากสินค้านั้นต้องลงชื่อจดทะเบียนเป็นเจ้าของ ผู้ขายก็ต้องดำเนินการให้ครบถ้วนจึงจะถือว่าได้ส่งมอบสินค้าโดยสมบูรณ์แก่ผู้ซื้อ คือไม่ใช่แค่มอบแต่สินค้าให้ลูกค้า แต่ไม่ยอมส่งมอบและโอนเอกสารสิทธิ์ให้เป็นชื่อของผู้ซื้อ ในทางหลักการ เอกสารสิทธิ์ดังกล่าวแม้จะไม่ใช่องค์ประกอบหลักของการซื้อขาย แต่มันเป็นส่วนสำคัญในแง่การรับมอบหรือส่งมอบสินค้า
ดังนั้นเราจึงพบว่ามีฟัตวาจากปราชญ์ร่วมสมัย เฉกเช่นเชคบินบาซฟัตวาว่าผู้ซื้อหากได้รับมอบสินค้าแล้ว สามารถนำสินค้านั้นไปข่ายต่อได้แม้การโอนสิทธิ์ในเชิงเอกสารจะล่าช้าออกไปบ้าง (คือในกรณีที่มีการทำหนังสือสัญญาซื้อขายไว้เป็นลายลักษ์อักษร ) แต่ก็มิได้หมายความว่าจะปล่อยให้สภาพดังกล่าวดำรงอยู่ต่อไปจนกว่าผู้ซื้อจะชำระราคาสินค้าจนหมดสิ้น คือในกรณีการซื้อจากลักษณะเงินผ่อน
ส่วนเชคเฟาซานเห็นว่าหากผู้ซื้อสินค้าใดที่ต้องลงทะเบียนเปลี่ยนชื่อแสดงความเป็นเจ้าของ และหากยังมิได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อให้ถูกต้อง ก็ห้ามทำให้นำสินค้านั้นไปขายต่อเหตุเพราะยังมิได้รับมอบสินค้าโดยสมบูรณ์
ในแง่กฏหมายผมไม่มีความรู้กว้างขวางพอที่จะมาแนะนำใครได้ แต่ในเชิงหลักการศาสนาก็ได้ศึกษามาบ้างจากปวงปราชญ์ที่ผมเชื่อถือเฉกเช่นเชคบินบาซและเชคเฟาซาน ดังนั้นจึงขอสรุปให้ท่านเข้าใจตามนี้คือ
1- หากพิจารณาฟัตวาของเชคบิบาซให้ถี่ถ้วนจะพบว่าคำถามที่ถามท่านนั้นระบุว่าได้มีการดำเนินการทางเอกสารเพื่อโอนชื่อเป็นของผู้ซื้ออยู่แต่ยังมิแล้วเสร็จ นั่นแสดงว่าเชคมิได้ปฏิเสธหรือไม่เห็นความสำคัญของการโอนสิทธิ์ในทางเอกสารแต่อย่างใด
2- หากมองจากมุมนี้ก็ไม่ต่างไปจากฟัตวาของเชคเฟาซาน ยกเว้นเชคเฟาซานให้รอจนกว่าจะดำเนินการโอนสิทธิ์ในเชิงเอกสารให้แล้วเสร็จเสียก่อน หาไม่แล้วก็ห้ามเอาสินค้านั้นไปขายต่อ
3- ฟัตวาของเชคบินบาซมีความผ่อนปรนแต่ก็ไม่หละหลวม ส่วนฟัตวาของเชคเฟาซานเด็ดขาดชัดเจนไร้ข้อโต้แย้งใดๆ
ระวังธุรกรรมอำพลาง
"มุดอรอบะห์" ตามหลักการต้องระบุสัดส่วนการแบ่งผลกำไรให้ชัดเจนในขณะทำข้อตกลงกันคือระหว่าผู้ประกอบการกับผู้ลงทุน ไม่ใช่ใช้กำหนดกำไรลักษณะคลุมเครือว่าไม่ต่ำกว่า 60%
คำว่าสัดส่วน หมายถึงหากผลประกอบการมีผลกำไรสุทธิแล้ว ฝ่ายผู้ลงแรงจะได้สัดส่วนเท่าใดจากผลกำไรนั้น และผู้ออกทุนจะได้สัดส่วนเท่าใดจากผลกำไรนั้น
กำไรจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลประกอบการและขึ้นอยู่กับสัดส่วนของการร่วมทุน การระบุว่าหากลงทุนสามหมื่นบาทจะได้กำไรสองหมื่นบาท คือระบุตัวเลขชัดเจนล่วงหน้า อีกทั้งยังระบุว่าผู้ลงทุน "ต้อง" ได้ทุนคืนพร้อมกำไรตามที่กล่าวแล้ว ยิ่งตอกย้ำว่าข้อตงลงดังกล่าวไม่ใช่ "มุดอรอบะห์"
การรับรองว่าทุนต้องได้คืนและกำไรต้องได้เช่นกัน มันมีแค่ธุรกรรมเดียวเท่านั้นคือการกู้และเป็นการกู้ยืมแบบเสนอประโบชน์ให้ และประโยชน์ก็มีตัวเลขแน่นอนตายตัว
ในทางนิติศาสตร์อิสลามมีกฏว่า كل قرض جر نفعا فهو ربا "ทุกการกู้ยืมที่เป็นเหตุให้ได้มาซึ่งประโยชน์ใดๆ ประโยชน์นั้นคือดอกเบี้ย" คือหมายถึงมีการตั้งเงื่อนไขเรียกรับประโยชน์หรือเสนอประโชย์จากการกู้นั้น ดังนั้นธุรกรรมที่ประกันเงินลงทุนและเสนอประโยชน์เป็นตัวเลขชัดเจนมันอาจถูกเรียกว่า "มุดอรอเบี้ย" ก็คงไม่เกินจริงหรอกครับ
กำไรจาก "มุดอรอบะห์" ต้องหลังจากปิดบัญชีหรือคิดบัญชีโครงการ จ่ายระเกะระกะกระปิดกระปอยไม่ใช่วิธีการของ "มุดอรอบะห์" ทุนทั้งหมดมีเท่าใด ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเท่าใด หักแล้วเหลือกำไรสุทธิเท่าใด แต่ละฝ่ายตกลงกันไว้ว่าจะได้กำไรเป็นสัดส่วนเท่าใด ก็ให้แบ่งไปตามที่ตกลงกันไว้
ตัวแปรสำคัญที่ต้องพิจารณายังมีอีกคือหากโครงการมีผู้ร่วมทุนมากกว่าหนึ่ง ต้องพิจารณาว่าสัดส่วนของทุนต่างกันหรือไม่และมีระยะเวลาร่วมทุนต่างกันหรือไม่ ทั้งหมดมีผลต่อการแบ่งผลกำไรและหักตามสัดส่วนเมื่อขาดทุน
สรุปคือสัดส่วนของการร่วมทุนและระยะเวลาของการลงทุน คือตัวแปรสำคัญในการแบ่งกำไรหากมี และเป็นตัวแปรสำคัญในการหักหนี้ถ้ามี (กรณีผลประกอบการขาดทุน)