ถ้อยคำตักเตือน ฟิตนะฮฺ คำพูด การกระทำ
อุมมุอัฟว์ แปลเรียบเรียง
ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
“หาใช่ผู้ศรัทธาไม่ ผู้ที่ด่าทออย่างสาดเสียเทเสีย ( ทิ่มแทงผู้อื่นด้วยวาจา)
ผู้ที่สาปแช่งมุ่งร้าย ผู้ที่พูดจาลามก ใช้ถ้อยคำป่าเถื่อน และผู้ที่พูดจาหยาบคาย ไร้ยางอาย”
(บันทึกโดย อิมามอัตติรมิซีย์)
ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
“แท้จริง เมื่อบ่าวได้สาปแช่งสิ่งใดไป คำสาปแช่งนั้นจะลอยขึ้นสู่ฟากฟ้า ประตูชั้นฟ้าจะปิดไม่ให้เข้า
จากนั้นมันจะตกลงมาสู่แผ่นดิน ประตูแผ่นดินก็จะปิดไม่ให้เข้า
จากนั้น คำสาปแช่งนั้นก็จะไปทางขวาทีไปทางซ้ายที(หาทางไปแต่ก็ไม่พบ)
หากไม่มีที่ไป มันก็จะกลับไปหาผู้ที่ถูกสาปแช่ง (เพราะคำสาปแช่งเท่ากับดุอาอฺที่มุ่งร้ายต่อผู้อื่น)
หากเขาเป็นผู้ที่สมควรได้รับคำสาปแช่งนั้น (คำสาปแช่งก็จะถูกตอบรับ)
แต่หากเขาไม่สมควรได้รับแล้ว มันก็จะวกกลับไปหาผู้ที่พูดมันออกมา”
(บันทึกโดย อิมามอบูดาวู้ด)
รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อัมรฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า ขณะที่พวกเราอยู่รายล้อมท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านได้พูดถึงเรื่องฟิตนะฮฺ ท่านกล่าวว่า :
“เมื่อพวกท่านได้พบว่าผู้คนต่างไม่รักษาสัญญาอย่างเป็นที่แพร่หลาย ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ลดน้อยหายไป
แล้วพวกเขาต่างเป็นเช่นนี้ (แล้วท่านได้นำนิ้วมาประสานกัน)( หมายถึง ประสมปนเปกันไปหมด ไม่รู้ว่าใครดีใครไม่ดี ไม่รู้ว่าใครคือผู้ศรัทธา ใครคือผู้สับปลับ)
ฉัน (ท่านอับดุลลอฮฺ) ได้ลุกขึ้นไปหาท่าน และถามว่า “เมื่อเป็นเช่นนั้น แล้วจะให้ผมทำอย่างไรดีครับ ขออัลลอฮฺให้ผมได้พลีชีพเพื่อท่านด้วยเถิด?”
“จงอยู่กับบ้าน(อย่าออกนอกจากจำเป็นจริงๆ) จงควบคุมลิ้นของท่านเอาไว้ ( อย่าพูดวิจารณ์ในเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง อย่าได้เข้าไปยุมย่ามมีส่วนร่วมกับฟิตนะฮฺทั้งคำพูดและการกระทำ)
จงยึดเอาในสิ่งที่เป็นความถูกต้อง และละทิ้งในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และจงอยู่แต่กับเรื่องของตนเองเป็นการเฉพาะ และละทิ้งปล่อยวางในเรื่องที่เกิดขึ้นกับส่วนรวม” (อย่าได้ยุ่งวุ่นวายฟุ้งซ่านกับสิ่งที่เกิดขึ้น)
(บันทึกโดย อิมามอบูดาวู้ด)
รายงานจากท่านอุกบะฮฺ อิบนิ อามิร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า : ฉันพูดขึ้นว่า ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺครับ อะไรคือทางรอดหรือครับ?
"จงระงับลิ้นของท่านเอาไว้(ควบคุมลิ้นระวังคำพูด) ให้บ้านเป็นที่กว้างขวางสำหรับท่าน(อยู่กับบ้านและออกเท่าที่จำเป็น)
และจงร่ำไห้ในความผิดของท่านเองเถิด(ให้เสียใจสำนึกผิดในความผิดของตัวเอง ตระหนักอยู่กับเรื่องของตัวเองเป็นสำคัญ)”
(บันทึกโดย อิมามอบูดาวู้ด)
- อิมาม อัลฮาซัน อัลบัศรีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -
ลูกหลานอาดัมเอ๋ย ท่านจะยังไม่มีวันได้พบกับอีหม่านที่แท้จริง
จนกว่าท่านจะไม่ตำหนิติติงคนอื่น ในข้อตำหนิที่ตัวท่านเองยังมีอยู่
จงเริ่มจากตัวท่านเองเสียก่อน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตัวท่านเองให้ดีก่อน
เมื่อท่านปรับปรุงข้อเสียใดในตัวท่าน ท่านก็จะพบว่ายังคงมีข้อเสียอื่นๆ อีกอยู่เรื่อยไป
จนทำให้ท่านต้องพันผูกอยู่กับตนเองตลอดเวลา (ไม่มีเวลาเสาะหาข้อเสีย ข้อตำหนิของคนอื่น)
- ท่านอบูฮาติม ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -
จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่ใช้สติปัญญา ที่จะต้องคงความสุขสงบปลอดภัยของตัวเอง
ด้วยการเลิกสอดแนมข้อผิดพลาดของคนอื่น พร้อมๆ กับจดจ่ออยู่กับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อผิดพลาดของตนเอง
เพราะคนที่จดจ่ออยู่กับข้อบกพร่องของตัวเอง ไม่สนใจในข้อบกพร่องของคนอื่นนั้น
ร่างกายของเขาจะสบายผ่อนคลาย หัวใจของเขาจะไม่อ่อนล้าเหนื่อยหน่าย
รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า : เวลาที่ฉันเห็นท่านนบีอารมณ์ดี
ฉันจะบอกกับท่านว่า :" ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ ได้โปรดขอดุอาอฺให้ดิฉันด้วย "
" โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์โปรดทรงอภัยโทษให้แก่อาอิชะฮฺ ในความผิดของเธอที่มีในอดีต และที่จะมีต่อไปในอนาคต และในความผิดทั้งที่ซ่อนเร้นและที่เปิดเผยด้วยเถิด "
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ หัวเราะจนศีรษะโน้มเอนไปอยู่บนตักท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม
ท่านกล่าวว่า : "เธอชอบใจดุอาอฺของฉันหรือ?"
"แล้วเหตุใด ดิฉันถึงจะไม่ยินดีกับดุอาอฺของท่านล่ะคะ?"
ท่านกล่าวว่า : "ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ มันคือคำขอพรของฉัน ที่ฉันขอให้แก่ประชาชาติของฉัน ในทุกเวลาละหมาด"
(อิมามอัลอัลบานีย์ระบุว่าเป็นหะดีษระดับฮาซัน)
รายงานจากท่านอบี สอี๊ด อัลคุดรียฺร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺว่า : ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
“ท่านทั้งหลายจะติดตามแนวทางของบุคคลก่อนหน้าพวกท่าน
ทีละคืบทีละศอก (คล้อยตามพวกยิวและคริสต์ในการฝ่าฝืนบทบัญญัติโดยแทบไม่รู้ตัว)
จนกระทั่งว่า แม้พวกเขาจะล่วงเข้าไปในรู้แย้ ที่มันจะทลายลง พวกท่านก็ยังคงตามกันเข้าไป”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม)
ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า:
"แท้จริง ส่วนหนึ่งของการบรรยาย(การพูดเพื่อชี้แจงแถลงไข พูดปราศัย ด้วยวาจาฉะฉานใช้สำนวนสละสลวย) นับเป็นไสยศาสตร์"
(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)
หมายถึง มีส่วนทำให้ผู้ฟังคล้อยตามและครอบงำความคิดความรู้สึกของผู้ฟัง กระทั่งทำให้หลงเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เหมือนกับที่ไสยศาสตร์สามารถโน้มน้าวหัวใจให้พลิกผันไป ฉันใดก็ฉันนั้น
หะดีษนี้จึงเป็นการสนับสนุนให้ใช้คำพูดแต่พอดี ไม่ใช้ถ้อยคำโน้มน้าวชวนเชื่อให้เห็นผิดเป็นถูก หรือเห็นถูกเป็นผิด อัลลอฮุอะอฺลัม
๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒๒