มุกตะฎ้อลอักดฺ
  จำนวนคนเข้าชม  879

มุกตะฎ้อลอักดฺ  (مقتضى العقد)

 

.อิสหาก พงษ์มณี ... เรียบเรียง

 

          สัญญา(ข้อตกลงจากสองฝ่ายขึ้นไป)ทุกประเภทต่างก็มีเป้าหมายและจุดประสงค์หลัก(เจตนารมณ์ของสัญญา)ทั้งสิ้น เช่น สัญญาซื้อขาย วัตถุประสงค์ของการซื้อขายหลักๆ ก็คือผู้ขายต้องการราคาสินค้าโดยมีสิทธิ์สมบูรณ์ และผู้ซื้อต้องการสินค้าโดยมีสิทธิ์สมบูรณ์ในสินค้านั้น

 

          คำว่าโดยสมบูรณ์หมายถึง เมื่อซื้อขายกันแล้ว ผู้ขายก็มีสิทธิ์เต็มในราคาสินค้า ส่วนผู้ซื้อก็มีสิทธิ์เต็มในสินค้า หลังจากสิ้นสุดข้อตกลงซื้อขายกันแล้ว แต่ละฝ่ายจะไปรอนสิทธิ์ของอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ เพราะการรอนสิทธิ์มันผิดต่อวัตถุประสงค์หลักของการซื้อขาย

 

          ดังนั้นอะไรก็ตามที่เป็นวัตถุประสงค์หลักของข้อตกลงหรือสัญญานั้นๆ จะถูกเรียกว่ามุกตะฎ้อลอักดฺ

 

          ในการทำข้อตกลงซื้อขายกันบางครั้งอาจมีการตั้งเงื่อนไขเพิ่มจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือจากทั้งสองฝ่ายก็ได้ ซึ่งลักษณะที่ต้องพิจารณาดังนี้

 

1 -เงื่อนไขที่ซ้ำซ้อนกับวัตถุประสงค์หลัก (มุกตะฎ้อลอักดฺ)

2 -เงื่อนไขที่ไม่ซ้ำซ้อนกับวัตถุประสงค์หลักและไม่ขัดกับวัตถุประสงค์หลัก

3 -เงื่อนไขที่ขัดแย้งหรือค้านกับวัตถุประสงค์หลัก

 

ตัวอย่าง

 

          เงื่อนไขที่ซ้ำซ้อนกับวัตถุประสงค์หลัก (มุกตะฎ้อลอักดฺ) เช่น ในการซื้อขายสด ผู้ซื้อตั้งเงื่อนว่าผู้ขายต้องส่งมอบสินค้าให้ วัตถุประสงค์หลักของการซื้อขายสด คือผู้ขายต้องส่งมอบสินค้าอยู่แล้ว เพียงแต่จะส่งมอบทันทีหรือหลังจากทำสัญญาเล็กน้อยอันก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกัน เงื่อนไขนี้จะตั้งหรือไม่ตั้งผลก็เท่ากัน 

 

          หรือในกรณีซื้อขายล่วงหน้า (บัยอุสสะลัม) ผู้ขายตั้งเงื่อนไขกับผู้ซื้อว่าจะส่งมอบสินค้าภายหลัง ซึ่งจะตั้งหรือไม่ตั้งก็มีผลเท่ากันเพราะมันคือการซื้อขายล่วงหน้า อย่างนี้เป็นต้น

 

          เงื่อนไขที่ไม่ซ้ำซ้อนกับวัตถุประสงค์หลักและไม่ขัดกับวัตถุประสงค์หลัก เช่น ผู้ซื้อตั้งเงื่อนไขว่าให้ให้ผู้ขายนำส่งสินค้าไปยังเคหสถานของผู้ซื้อตามวันเวลาที่กำหนด เงื่อนไขนี้ไม่ใช่มุกตะฎ้อลอักดฺ (ประสงค์หลัก) ของสัญญา และก็ไม่ค้านกับมุกตะฎ้อลอักดฺเช่นกัน 

 

          เงื่อนไขที่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์หลัก เช่น ผู้ขายตั้งเงื่อนไขว่าห้ามมิให้ผู้ที่ซื้อนำสินค้าที่ซื้อแล้วไปยกโอนให้ใครหรือขายใครต่อ ประสงค์หลักของการซื้อขายคือต้องโอนสิทธิ์ให้แก่กันและกัน กล่าวคือเมื่อสัญญาซื้อขายจบลงโดยสมบูรณ์ กรรมสิทธิ์ในราคาสินค้าตกเป็นของผู้ขายและกรรมสิทธิ์ในสินค้าตกเป็นของผู้ซื้อ ส่วนว่ากรรมสิทธ์นั้นจะเต็มสมบูรณ์หรือไม่ อันนี้ก็อีกกรณีหนึ่ง

 

          สิทธิ์จะเกิดขึ้นโดยทันทีหลังจากสิ้นสุดการทำสัญญาซื้อขาย และเมื่อมีการส่งมอบเงินและสินค้าให้แก่กันและกันแล้ว และทั้งคู่ คือทั้งผู้ซื้อผู้ซื้อผู้ขายได้แยกจากกันแล้ว สิทธิ์ในสินค้าก็ตกเป็นของฝ่ายผู้ซื้อโดยสมบูรณ์ ส่วนเงินก็ตกเป็นของฝ่ายผู้ขายโดยสมบูรณ์ 

 

         ดังนั้นคำว่ามุกตะฎ้อลอักดฺจึงมีส่วนสำคัญมากในข้อสัญญาต่างๆ สัญญาแต่ละประเภทจะมีมุกตะฎ้อบอัดฺที่แตกต่างกันไป เช่น สัญญาเช่านัยยะสำคัญของมันหรือ มุกตะฎ้อลอักดฺของมันก็คือได้สิทธิในการใช้ประโยชน์สิ่งที่เช่าตามกรอบและเวลาที่กำหนดในสัญญา แต่จะไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของเฉกเช่นสัญญาซื้อขาย ส่วนผู้ขายก็จะได้ราคาค่าเช่าตามที่ตกลงทำสัญญาไว้

 

          การซื้อของเงินผ่อนก็ไม่ต่างไปจากการซื้อขายโดยทั่วไปในแง่การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในสิ่งที่ซื้อมา หลังสิ้นสุดการทำข้อตกลงซื้อขายกันแล้ว สิ้นค้านั้นก็จะตกเป็นของผู้ซื้อทันที และเมื่อทั้งคู่แยกจากกันสัญญาซื้อขายนั้นก็ผูกพันทั้งคู่โดยทันทีเช่นกัน

 

          ส่วนกรณีของหนี้ที่ยังค้างจ่ายก็ให้ยกไปว่ากันในเรื่องของหนี้สินแทน การซื้อขายเงินผ่อนที่ไม่ยกโอนสิทธิเต็มให้แก่ผู้ซื้อหรือทำเป็นเงื่อนไขว่าจะยกโอนให้ก็ต่อเมื่อผู้ซื้อผ่อนหมด เงื่อนไขดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ค้านต่อประสงค์หลักของการซื้อขายหรือค้านต่อมุกตะฎ้อลอักดฺนั่นเอง 

 

          ส่วนว่าข้อตกลงนั้นจะโมฆะหรือไม่ ปวงปราชย์มีความเห็นต่างกันคือส่วนใหญ่เห็นว่าข้อตกลงนั้นโมฆะ แต่มีส่วนน้อยเห็นว่าสิ่งที่โมฆะคือเงื่อนไขนั้นเท่านั้น กล่าวคือแม้ผู้ขายจะตั้งมาแต่ก็ไม่มีผลในเชิงปฏิบัติ ผู้ซื้อสามารเป็นเจ้าของสิ่งที่ซื้อมานั้นได้อย่างเต็มสมบูรณ์

 

          ในกรณีสัญญาซื้อขายเงินผ่อนที่ผู้ขายสินค้าไม่ยกโอนสิทธิให้ผู้ซื้อจนกว่าจะผ่อนหมด ตามหลักการไม่เรียกว่าเป็นการซื้อขายเงินผ่อนเพราะผู้ขายตั้งเงื่อนค้านกับมุกตะฎ้อลอักดฺ(ประสงค์หลัก)ของสัญญา แต่มันจะกลายเป็นสัญญาเช่าซื้อสัญญาซื้อขายลักษณะนี้เป็นของใหม่ ไม่มีปรากกฏในตำราทางศาสนามาแต่เดิม นักวิชาการยุคใหม่จึงเรียกมันว่าอัลอิญาเราะ อัลมุนตะฮี บิตตัมลีกแปลตรงตัวว่าการเช่าที่สิ้นสุดโดยการรับโอนสิทธิ์เป็นเจ้าของ

 

           เรื่องเช่าซื้อนักวิชาการยุคใหม่มีความเห็นต่างออกเป็นสองแนวทางคือ

 

     1-ฮะรอม (ต้องห้าม) ในทุกรูปแบบ (มติของคณะกรรมถาวรเพื่อการวิจัยและตอบปัญหาศาสนาและคณะกรรมการปราชญ์อาวุโสของปรเทศซาอุดิอาราเบีย)

 

     2-มุบาห์ (ทำได้) ในบางรูปแบบ(ตามเงื่อนไขที่วางไว้) และต้องห้ามในบางรูปแบบ (มัจมะอฺ ฟิกฮี่ สากล)