ก็เพราะไม่ทำละหมาดอย่างดี..
  จำนวนคนเข้าชม  6956

ก็เพราะไม่ทำละหมาดอย่างดี..

 

อับดุลสลาม เพชรทองคำ 

 

          เหตุการณ์ที่สองของการมิอ์รอจญ์ของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตามหลักฐานจากอัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัฏฏ็อบรอนีย์และอิมามอัลบัซซาร เป็นเหตุการณ์ที่มีรายงานว่า

     ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้เดินผ่านกลุ่มชนหนึ่ง ซึ่งศีรษะของพวกเขาถูกทุบด้วยก้อนหินจนแตกกระจาย และทุกครั้งที่ศีรษะของเขาแตกกระจายแล้ว มันก็จะกลับมามีสภาพเหมือนเดิมอีก แล้วมันก็จะถูกทุบด้วยก้อนหินจนแตกกระจายอีก และจะเป็นอย่างนี้เรื่อย ๆไปอยู่ตลอดเวลา...

     ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงได้กล่าวถามท่านญิบรีล อะลัยฮิสสลามว่า ..โอ้ท่านญิบรีล พวกเขาเหล่านี้เป็นใครกันหรือ ?

     ท่านญิบรีลกล่าวว่า เขาเหล่านี้คือ ผู้ที่ศีรษะของเขาหนักในเรื่องของการละหมาดฟัรฎู

 

          คำพูดที่ว่า ผู้ที่ศีรษะของเขาหนักในเรื่องของการละหมาดฟัรฎู นั้น มีคำอธิบายว่าหมายถึง ผู้ที่ละเลย ผู้ที่เพิกเฉย ผู้ที่ล่าช้าในการละหมาดฟัรฎู หรือไม่ละหมาดให้ตรงตามเวลา ..ซึ่งเราจะเห็นว่า นี่คือโทษของผู้ที่ละหมาด แต่ละหมาดล่าช้า หรือไม่ละหมาดตามเวลาของมัน ยังได้รับโทษหนักหนาขนาดนี้ เป็นโทษที่ได้รับในกุบูร และจะได้รับเรื่อย ๆไป ได้รับตลอดไปจนถึงวันกิยามะฮฺ... แล้วสำหรับผู้ที่ไม่ละหมาดเล่า จะต้องได้รับโทษหนักหนาสาหัสมากมายขนาดไหน และพวกเขาจะมีสภาพเช่นไร ?

 

          อัลหะดีษ (صحيح )ในบันทึกของอิมามอะหฺมัด และเจ้าของสุนันต่างๆ (เช่น อิมามอัตติรฺมีซีย์ อิมามอันนะซาอีย์ อิมามอิบนิฮิบบาน และอิมามอัลหะกิม) รายงานโดย ท่านบุรอยดะฮฺ بريدة بن الحصيب الأسلمي เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

العَهدُ الَّذي بَينَنا و بينَهُم الصَّلاةُ فمَن تركَها فقَد كَفرَ

 

พันธสัญญาระหว่างเรากับพวกเขานั่นก็คือการละหมาด ดังนั้นใครที่ละทิ้งมัน (คือละทิ้งการละหมาด) เขาผู้นั้นเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา 

 

          จากอัลหะดีษ แสดงว่าพันธสัญญาหรือข้อสัญญาระหว่างเราซึ่งเป็นอุมมะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กับพวกเขาซึ่งเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา นั่นก็คือการละหมาด ...ดังนั้นมุสลิมคนใดก็ตามที่ละทิ้งการละหมาด สัญญาระหว่างมุสลิมคนนั้นกับท่านนบีก็ขาดจากกัน นั่นหมายความว่า คนที่ทิ้งการละหมาด ไม่ยอมทำละหมาดจะตกเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ..ซึ่งหุก่มหรือข้อตัดสินชี้ขาดโดยเป็นมติเอกฉันท์ของบรรดาอุละมาอ์ได้แบ่งคนที่ทิ้งการละหมาดเป็น 2 ลักษณะ

 

     ลักษณะแรก ใครที่ละทิ้งการละหมาดเพราะปฏิเสธและไม่ยอมรับเรื่องการละหมาดเลย ผู้นั้นถือเป็นกุฟุร ตกมุรตัด คือออกจากอิสลาม มีสภาพเป็นชาวนรกในวันกิยามะฮฺ

 

     ลักษณะที่สอง ใครที่ยอมรับและเชื่อมั่นว่าการละหมาดเป็นฟัรฎู แต่ละทิ้งเพราะความเกียจคร้าน ละทิ้งเพราะความขี้เกียจของเขา หรือหมกมุ่นอยู่กับงานอื่นโดยที่งานนั้นไม่ถือเป็นเหตุขัดข้องทางหลักศาสนา หรือประวิงเวลาละหมาด ถึงเวลาแล้วไม่ยอมละหมาด ปล่อยเวลาให้ผ่านไป ผู้นั้นเป็นกุฟุร และวาญิบให้ฆ่าได้ แต่มีอุละมาอ์บางส่วนมีความเห็นว่า เขาไม่เป็นกุฟุรแต่เป็นคนชั่ว และต้องตักเตือนเขาให้เตาบะฮฺ สำนึกผิดและกลับเนื้อกลับตัว ถ้าหากเขาไม่เตาบะฮฺตัว ยังดื้อดึง เขาก็จะถูกฆ่าตามบทลงโทษ ...

     ส่วนผู้ที่ละทิ้งการละหมาดเพราะความไม่รู้ถึงการเป็นวาญิบของการละหมาด ก็จำเป็นต้องมีการสอนให้เขารู้ ..

     ส่วนผู้ที่ลืมละหมาดโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือผู้ที่นอนหลับจนเลยเวลาไป เมื่อนึกขึ้นได้ หรือเมื่อตื่นขึ้นมาก็ให้รีบทำละหมาดทันที อย่าโอ้เอ้ ..ไม่มีการลากข้าวสารเพื่อชดใช้การละหมาด ไม่มีการออกเงินเท่านั้นเท่านี้เพื่อชดใช้การละหมาด ไม่มีการชดใช้หรือชดเชยด้วยวิธีการใด ๆทั้งสิ้น หรือไถ่บาปด้วยวิธีอื่นใดทั้งสิ้น นอกจากการเตาบะฮฺตัวและการละหมาดเท่านั้น

 

           ดังนั้น เราจะเห็นว่า เรื่องของการละหมาดเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ การละหมาดเป็นสิ่งที่ทำให้มุสลิมรอดพ้นจากการเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา และรอดพ้นจากการเป็นผู้ที่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านญาบิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

إِنَّ بَيْنَ الَّرجُلِ و بَيْنَ الشِّرْكِ وَالْكُفِر تَركَ الصَّلاَ ةِ

 

แท้จริง สิ่งที่ปิดกั้นระหว่างมุสลิมกับการตั้งภาคีและการปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺนั้นคือ..การละหมาด

 

          ดังนั้น คนที่ดำรงรักษาการละหมาดของเขาเอาไว้ ก็เท่ากับเขาดำรงรักษาสถานะการเป็นมุสลิมของเขาไว้นั่นเอง...

          นอกจากนี้ การละหมาดยังเป็นเป็นหัวใจของหลักปฏิบัติของอัลอิสลามและยังเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะหลุดออกไปจากอัลอิสลาม ถ้าหากว่าการละหมาดสูญหายไป คือไม่มีใครทำละหมาดเลย เมื่อนั้น อัลอิสลามก็จะสูญหายไปทั้งหมด

 

         อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอะหฺมัด (ซึ่งอิมามอัลอัลบานีย์รับรองว่าเป็นหะดีษเศาะหิหฺ )รายงานจากท่านอะบีอุมามะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

لَتُنْقَضَنَّ عُرَى الإِسْلَامِ عُرْوَةً عُرْوَةً، فَكُلَّمَا انْتَقَضَتْ عُرْوَةٌ تَشَبَّثَ النَّاسُ بِالَّتِي تَلِيهَا، وَأَوَّلُهُنَّ نَقْضًا: الحُكْمُ، وَآخِرُهُنَّ: الصَّلَاةُ

 

     “อิสลามถูกยึดเหนี่ยวไว้ด้วยห่วงโซ่หลาย ๆห่วง แล้วห่วงโซ่ของอิสลามนี้ก็จะค่อย ๆหลุดออกไปจากมนุษย์แต่ละคน ๆทีละห่วง ๆ และแต่ละครั้งที่ห่วงหนึ่งมันหลุดไป มนุษย์ก็จะไปคว้าห่วงอีกอันหนึ่งที่อยู่ถัดไป (หมายความว่า มุสลิมจะค่อย ๆละทิ้งบทบัญญัติศาสนาไปทีละอย่าง ๆ)

     อย่างแรก(จากบทบัญญัติศาสนา)ที่จะหลุดออกไป หรือถูกทิ้งไปก็คือ เรื่องของอัลหุก่ม (คือการพิพากษาตัดสินเรื่องต่าง ๆด้วยบทบัญญัติศาสนา หรือการปกครองด้วยระบอบอิสลาม ซึ่งสิ่งนี้เราพอจะมองเห็นว่า ในปัจจุบันเริ่มหลุดออกไปบ้างแล้ว อย่างเช่น ในเรื่องของบทลงโทษของคนที่ทำซินาด้วยการเฆี่ยน และการถูกขว้างจนกว่าจะเสียชีวิต หรือเรื่องของการตัดมือคนขโมย ก็จะมีการถูกเพิกเฉย มุสลิมบางคนก็บอกว่า มันล้าสมัย ไม่เหมาะกับยุคสมัย ทั้งๆที่มันเป็นบทบัญญัติที่มาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)

     และอย่างสุดท้าย(จากบทบัญญัติศาสนา)ที่จะหลุดออกไปก็คือ การละหมาด

 

          ดังนั้น การละหมาดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเสา เป็นหลักที่จะค้ำชูอัลอิสลามให้ดำรงอยู่ ถ้าหากเราละทิ้งการละหมาด ก็ถือว่าเราเป็นผู้ทำลายศาสนาได้เหมือนกัน ผลก็คือได้รับการลงโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่ถ้าหากเราเป็นผู้ที่ดำรงรักษาการละหมาด ก็เท่ากับเราเป็นผู้หนึ่งที่ดำรงรักษาอัลอิสลามไว้ไม่ให้สูญหายไป .. อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงได้ทรงให้สัญญาแก่ผู้ที่ดำรงรักษาการละหมาดว่า เขาจะได้เข้าสวรรค์ของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ

 

          นอกจากนี้แล้ว การละหมาดยังเป็นสิ่งแรกสุดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงสอบสวนมุสลิม สอบสวนเราในวันกิยามะฮฺ

 

          อัลหะดีษ(صحيح )ในบันทึกของอิมามอัฏเฏาะบะรอนีย์ รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บินกุรฎฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«أَوَّلُ مَا يُحَاسَبُ بِهِ العَبْدُ يَوْمَ القِيَامَةِ الصَّلَاةُ ، فَإِنْ صَلَحَتْ صَلَحَ لَهُ سَائِرُ عَمَلِهِ ، وَإِنْ فَسَدَتْ فَسَدَ سَائِرُ عَمَلِهِ»

 

     ในวันกิยามะฮฺ สิ่งแรกที่บ่าว(ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)จะต้องถูกสอบสวน(ในเรื่องระหว่างอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลากับตัวเรา)ก็คือ (เรื่องของ)การละหมาด ..หากว่าการละหมาดดี ถูกต้อง การงานอื่น ๆทั้งหมดของเขาก็ดีไปด้วย ..แต่หากว่าการละหมาดนั้นเสีย ไม่สมบูรณ์ การงานอื่น ๆทั้งหมดของเขาก็เสียไปด้วย

 

          นั่นคือในวันกิยามะฮฺ สิ่งแรกที่เราทุกคนจะต้องถูกสอบสวนอย่างแน่นอน และถูกสอบสวนเป็นลำดับแรกก็คือเรื่องของการละหมาด ถูกสอบสวนว่าได้ทำไหม ทำครบถ้วน ทำอย่างถูกต้อง ทำอย่างดีงามหรือเปล่า

 

          ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ทำให้เราต้องมาพินิจพิจารณาตรวจสอบตัวเรา สอบสวนตัวเองเสียก่อนว่า การละหมาดของเราที่เราทำอยู่ทุกวันนั้น มันดีหรือว่ามันเสีย เพราะถ้าการละหมาดของเราดี ในวันกิยามะฮฺ เราก็ได้กำไร ทำให้เรารอดพ้นจากการถูกลงโทษ ทำให้การงานอื่น ๆของเราได้รับการตอบรับไปด้วย แต่ถ้าการละหมาดของเรามันเสีย ในวันกิยามะฮฺ การงานอื่น ๆของเราก็เสียไปด้วย เราก็ขาดทุน ต้องถูกลงโทษในไฟนรกทั้ง ๆที่เราก็ทำละหมาด แต่ละหมาดของเรามันเสียของ มันเป็นโมฆะ

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอะหฺมัด รายงานจากท่านอับดิลลาฮฺ อิบนุอัมรฺ อิบนุลอาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

 أَنَّهُ ذَكَرَ الصَّلَاةَ يَوْمًا فَقَالَ: «مَنْ حَافَظَ عَلَيْهَا كَانَتْ لَهُ نُورًا وَبُرْهَانًا وَنَجَاةً يَوْمَ الْقِيَامَةِ. وَمَنْ لَمْ يُحَافِظْ عَلَيْهَا لَمْ يَكُنْ لَهُ نُورٌ وَلَا بُرْهَانٌ وَلَا نَجَاةٌ، وَكَانَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ مَعَ قَارُونَ وَفِرْعَوْنَ وَهَامَانَ وَأُبَيِّ بْنِ خَلَفٍ.

 

     ใครที่ระวังรักษาการละหมาด (คือปฏิบัติมันอย่างครบถ้วนและดีงาม) ในวันกิยามะฮฺ การละหมาด(ของเขา)จะมาเป็นรัศมี จะมาเป็นพยานยืนยัน และจะมาเป็นเครื่องช่วยให้เขาพ้นภัย(จากไฟนรก)...

     ส่วนใครที่ไม่ระมัดระวังรักษาการละหมาด (ไม่ปฏิบัติมันอย่างครบถ้วนและดีงาม) ในวันกิยามะฮฺ เขาก็จะไม่มีรัศมี ไม่มีพยานยืนยัน และเขาก็จะไม่มีเครื่องช่วยให้พ้นภัย(จากไฟนรก).... และในวันกิยามะฮฺ ใครที่ทิ้งละหมาดก็จะต้องอยู่กับกอรูน อยู่กับฟิรอูน อยู่กับฮามาน อยู่กับอุบัย อิบนิเคาะลัฟ

 

     ซึ่งทั้งสี่คนนี้ถือเป็นบรรดาหัวหน้ากาเฟร และแน่นอนจุดจบของผู้ที่อยู่กับบรรดาหัวหน้ากาเฟรก็คือการถูกลงโทษอย่างสาหัสสากรรจ์ในไฟนรก

 

           สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของการละหมาดก็คือ การละหมาดเป็นข้อกำหนด เป็นบทบัญญัติเดียวเท่านั้นที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมไปรับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วยตนเอง ในค่ำคืนอัลอิสรออ์วัลมิอ์รอจญ์นี่เอง

          อัลหะดีษมุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ ก็คืออัลหะดีษเศาะหิหฺในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะนัส บินมาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าถึงการเดินทาง การมิอ์รอจญ์ของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมไปยังชั้นฟ้าต่าง ๆ และได้พบกับบรรดานบีท่านต่าง ๆ

 

ชั้นฟ้าที่หนึ่ง ได้พบกับท่านนบีอาดัม

ชั้นฟ้าที่สอง ได้พบกับท่านนบียะหฺยากับท่านนบีอีซา บุตรของมัรยัม

ชั้นฟ้าที่สามได้พบกับท่านนบียูซุฟ

ชั้นฟ้าที่สี่ ได้พบกับท่านนบีอิ๊ดรีส

ชั้นฟ้าที่ห้า ได้พบกับท่านนบีฮารูณ

ชั้นฟ้าที่หก ได้พบกับท่านนบีมูซา

 

     จากนั้น ท่านนบีจึงถูกนำไปยังชั้นฟ้าที่เจ็ด ท่านนบีได้พบกับท่านนบีอิบรอฮีม ที่อัลบัยตุลมะอ์มูร الْبَيْتُ الْمَعْمُورُ ซึ่งเป็นกะอ์บะฮฺของบรรดามะลาอิกะฮฺ ..แล้วท่านนบีก็ถูกนำไปยัง สิดเราะตุลมุนตะฮา سِدْرَةُ الْمُنْتَهَى ซึ่งเป็นต้นไม้ในสวนสวรรค์ ท่านนบีได้เห็นสวรรค์ได้เห็นนรก แล้วท่านญิบรีลก็หยุดอยู่แค่นั้น เพราะท่านญิบรีลไม่สามารถที่จะก้าวล่วงขอบเขตนี้ไปได้

     หลังจากนั้นท่านนบีก็เดินทางขึ้นต่อไปจนถึงมะกอมอัลมุนาญาต ﻣﻘﺎم اﻟﻣﻧﺎﺟﺎت เพียงลำพัง ได้เข้าเฝ้าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และพระองค์ได้ทรงบัญญัติการละหมาด 50 เวลาภายในหนึ่งวันหนึ่งคืนให้แก่ประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

     หลังจากนั้น เมื่อท่านนบีกลับลงมาและได้พบท่านนบีมูซา ..

     ท่านนบีมูซากล่าวว่า อะไรหรือที่พระเจ้าของท่านได้บัญญัติเหนือประชาชาติของท่าน ...

     ท่านนบีตอบว่า ละหมาดห้าสิบเวลา ...

     ท่านนบีมูซากล่าวว่า ท่านจงกลับไปวิงวอนขอต่อพระเจ้าของท่านให้ทรงผ่อนปรนในเรื่องนี้ด้วยเถิด เนื่องจากว่าประชาชาติของท่านไม่มีความสามารถที่จะปฏิบัติ(ให้ครบ)ได้ เพราะฉันได้ประสบกับชาวบนีอิสรออีลมาแล้ว (ว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ ) ...

     ท่านนบีเล่าต่อไปว่า ฉันได้กลับไปยังพระเจ้าของฉัน และได้วิงวอนขอต่อพระองค์ให้ทรงผ่อนปรนให้แก่ประชาชาติของฉัน และพระองค์ก็ได้ทรงผ่อนปรนให้ จนกระทั่งเหลือ 5 เวลา ...เมื่อฉันกลับลงมาพบท่านนบีมูซาและได้กล่าวแก่ท่านบีมูซาว่า พระเจ้าของฉันทรงผ่อนปรนให้จนกระทั่งเหลือ 5 เวลา ...

     ท่านนบีมูซากล่าวว่า (ถึงอย่างนั้นก็เถิด)ประชาชาติของท่านก็ยังไม่อาจปฏิบัติได้ครบ ดังนั้น ท่านจงกลับไปวิงวอนขอต่อพระเจ้าของท่านให้ทรงผ่อนปรนอีกเถิด ...

      ท่านนบีกล่าวว่า ฉันได้เดินทางไปมาระหว่างพระเจ้าของฉัน ตะบาเราะกะ วะตะอาลากับท่านนบีมูซา ..

     จนกระทั่ง(อัลลอฮฺ ตะอาลา) ได้ตรัสว่า โอ้ มุฮัมมัดเอ๋ย ละหมาดนั้นมี 5 เวลาในทุกหนึ่งวันและหนึ่งคืน และทุกหนึ่งเวลาเท่ากับสิบเวลาละหมาด ดังกล่าวนั้นจึงเท่ากับห้าสิบเวลา (ละหมาด 5 เวลามีผลบุญเทียบเท่ากับละหมาด 50 เวลา) และผู้ใดที่ตั้งใจกระทำหนึ่งความดี แต่เขายังไม่ได้ลงมือปฏิบัติมัน ก็จะถูกบันทึกให้แก่เขาหนึ่งความดี แต่หากเขาได้ลงมือกระทำความดีนั้น มันก็จะถูกบันทึกความดีเพิ่มให้แก่เขาสิบเท่า.. แต่หากผู้ใดตั้งใจกระทำหนึ่งความชั่ว แต่เขายังไม่ได้ปฏิบัติความชั่วนั้น มันก็จะไม่ถูกบันทึกบาปใด ๆ แก่เขา แต่ถ้าผู้ใดตั้งใจกระทำหนึ่งความชั่ว และได้ลงมือกระทำมัน ก็จะถูกบันทึกให้แก่เขาหนึ่งความชั่วเท่านั้น ...

     หลังจากนั้น ฉันจึงลงมาจากฟากฟ้าและได้กลับมาพบกับท่านนบีมูซาและได้เล่าให้ท่านนบีมูซาฟัง...

     ท่านนบีมูซากล่าวว่า "ท่านจงกลับไปวิงวอนขอต่อพระเจ้าของท่านให้ทรงผ่อนปรนอีกเถิด" ....

     ท่านนบีมุฮัมมัดกล่าวว่า "ฉันได้กลับไปยังพระเจ้าของฉัน(หลายครั้ง)จนกระทั่งละอายต่อพระองค์เสียแล้ว (ก็คือรู้สึกละอายที่จะกลับไปขอผ่อนปรนอีก)"

 

          ดังนั้น การละหมาดฟัรฎู 5 เวลาในหนึ่งวันหนึ่งคืนจึงถูกบัญญัติแก่ประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในค่ำคืนอัลอิสรออ์วัลมิอ์รอจญ์นี่เอง โดยได้รับผลบุญตอบแทนเป็นรางวัลเท่ากับการละหมาด 50 เวลา ..ทำเพียง 5 เวลา แต่กลับได้รับผลบุญเทียบเท่ากับการทำละหมาด 50 เวลา ..นี่ก็คือความเมตตาที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานแก่เรา

 

          ดังกล่าวข้างต้นก็คือ ส่วนหนึ่งในเรื่องราวที่เกี่ยวกับความสำคัญของการละหมาด ที่แม้ว่าเราจะทำละหมาด แต่ถ้าเราไม่ทำละหมาดอย่างดี ในวันกิยามะฮฺ เราก็จะต้องได้รับการลงโทษอย่างหนักหนาสาหัส แล้วยิ่งถ้าเราไม่ดำรงรักษาการละหมาด ไม่ทำละหมาดเลย แน่นอน เราย่อมต้องได้รับการลงโทษที่ต้องหนักหนาสาหัสสากรรจ์ยิ่งกว่า ...ดังนั้น ขอให้เราดำรงรักษาการทำละหมาด ทำละหมาดให้ตรงเวลา ให้ครบถ้วนดีงาม พยายามขจัดข้อบกพร่องต่าง ๆให้หมดไป ให้ใช้ความพยายาม ให้มีความตั้งใจ ให้มีความมุ่งมั่น ...

          ขอให้เราได้คอยสำรวจการละหมาดของตัวเรา แน่นอนที่เราต้องมีพลั้งเผลอให้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเรา หรือพลาดพลั้งให้กับชัยฏอนที่มันคอยจะล่อหลอกเราให้เราเสียสมาธิในขณะละหมาด แต่ขอให้เรามีความตั้งใจ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงเห็นถึงความตั้งใจของเรา จะทรงคอยช่วยเหลือเรา และจะทรงอภัยโทษให้แก่เราในความบกพร่องที่เราพลาดพลั้งไป

 

          ขอให้เราอย่าเป็นคนดื้อดึง อย่ายโสโอหัง อย่าปล่อยปละละเลย อย่าทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เป็นอันขาด แต่ต้องคอยแก้ไขข้อบกพร่องของการละหมาดของเราอยู่เสมอ พยายามทำให้การละหมาดของเราครบถ้วนดีงาม เพื่อที่เราจะได้รอดพ้นจากการถูกลงโทษในกุบูร และเมื่อถึงวันกิยามะฮฺ เราจะได้รับการสอบสวนอย่างง่ายดาย รวดเร็ว ได้รับการอภัยโทษในความผิดต่าง ๆ และได้รับรางวัลตอบแทนด้วยสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

 

( นะศีหะหฺ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )