ความประเสริฐของถ้อยคำทั้ง 4 (ประการที่ 7-12)
  จำนวนคนเข้าชม  9312

ความประเสริฐของถ้อยคำทั้ง 4 (ประการที่ 7-12)

 

ผู้เขียน : ชัยคฺ อับดุลร็อซซาก บิน อับดิล มุหฺซิน อัล-บัดรฺ

 

ความประเสริฐประการที่ 7 : 

 

          แท้จริงอัลลอฮ์ทรงเลือก และทรงคัดสรรถ้อยคำทั้งสี่นี้ให้กับบ่าวของพระองค์ และพระองค์ได้ทรงตระเตรียมผลบุญยิ่งใหญ่ไว้ให้กับการรำลึกถึงพระองค์ด้วยกับถ้อยคำเหล่านี้ ดังที่มีรายงานในมุสนัด อิหม่าม อะหมัด และมุสตัดร๊อก อัลฮากิม ด้วยกับสายรายงานที่ดี จากหะดีษของท่านอบีฮุร็อยเราะฮ์ และ ท่านอบีสะอี้ด ขอพระองค์ทรงพอพระทัยพวกท่านเหล่านั้น

 

أَنَّ رَسُول اللَّهِ ﷺ قَالَ: (( إنَّ اللهَ تعالى اصْطفَى من الكلامِ أرْبعًا : سُبحانَ اللهِ ، والحمدُ للهِ ، ولا إِلهَ إلَّا اللهُ ، واللهُ أكْبَرُ . فمَنْ قال : سُبحانَ اللهِ كُتِبَتْ لهُ عِشرُونَ حسَنةً، وحُطَّتْ عنهُ عِشرُونَ سيِّئَةً . ومَنْ قال : اللهُ أكْبرُ ، مِثلَ ذلِكَ . ومَنْ قال : لا إِلهَ إلَّا اللهُ مِثلَ ذلِكَ ،

ومَنْ قال : الحمدُ للهِ ربِّ العالَمِينَ ، من قِبَلِ نَفْسِهِ كُتِبَتْ لهُ ثلاثُونَ حسَنةً وحُطَّ عنْهُ ثلاثُونَ خَطيئَةً ))13

 

     ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : 

     “แท้จริงอัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงคัดสรรจากถ้อยคำต่างๆสี่ประการ นั่นคือ -ซุบฮานั้ลลอฮ์ วัลฮัมดุลิ้ลลาห์ วะลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮ์ วัลลอฮุอักบัร- 

     ผู้ใดก็ตามที่กล่าวว่า ซุบฮานั้ลลอฮ์ จะถูกบันทึกให้แก่เขา 20 ความดี และความผิดจะถูกลบล้างถึง 20 ความผิด 

     และผู้ใดก็ตามที่กล่าวว่า อัลลอฮุอักบัร เขาก็จะได้รับภาคผลการตอบแทนเช่นเดียวกัน 

     และผู้ใดก็ตามที่กล่าวว่า ลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮ์ เขาก็จะได้รับภาคผลการตอบแทนเช่นเดียวกัน 

     และผู้ใดที่กล่าวว่า อัลฮัมดุลิลาฮิ ร็อบบิลอาละมีน เป็นการเริ่มกล่าวจากตัวของเขาเองก่อน (หมายถึงมิได้กล่าวหลังจากที่เขาได้รับสิ่งใด)จะถูกบันทึกให้แก่เขา 30 ความดี และความผิดจะถูกลบล้างถึง 30 ความผิดด้วยกัน

 

          ผลบุญของการสรรเสริญต่ออัลลอฮ์ -ด้วยการกล่าวว่าอัลฮัมดุลิ้ลลาห์- จะเพิ่มพูนมากกว่าถ้อยคำทั้งสี่ประการ นั่นก็คือเวลาที่บ่าวคนหนึ่งได้กล่าวสรรเสริญต่อพระองค์ -อัลฮัมดุลิ้ลลาห์- ซึ่งเป็นการเริ่มกล่าวมาจากตัวของเขาเอง นั่นก็เพราะว่าการกล่าวว่าอัลฮัมดุลิ้ลลาห์ส่วนใหญ่นั้น จะกล่าวหลังจากเกิดสิ่งหนึ่งขึ้น เช่นหลังการรับประทานอาหาร หลังการดื่มน้ำ หรือหลังการได้รับเนี้ยะมัติ ความโปรดปราน (เป็นการสรรเสริญเพื่อขอบคุณ) ปะหนึ่งเหมือนกับว่าเป็นการกล่าวสรรเสริญตอบรับหลังจากที่เขาได้รับสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เมื่อใดก็ตามที่เขาเริ่มสรรเสริญต่ออัลลอฮ์ด้วยกับตัวของเขาเองโดยไม่มีเนี๊ยะมัตใดๆผลักดันให้เขากล่าวอัลฮัมดุลิ้ลลาห์ ผลบุญนั้นก็จะมีมากยิ่งขึ้น

 

 

ความประเสริฐประการที่ 8 : 

 

          ถ้อยคำทั้งสี่นั้นเป็นดั่งโล่ป้องกันผู้ที่กล่าวให้พ้นจากไฟนรก และในวันกิยามะห์ ถ้อยคำเหล่านั้นจะช่วยเหลือผู้ที่กล่าวให้รอดพ้นจากความเลวร้าย และจะนำหน้าพวกเขาในวันกิยามะห์ ดังที่อัลฮากิมได้บันทึกไว้ใน อัลมุสตัดร๊อก และ อัลนะซาอีย์ได้บันทึกไว้ในหนังสืออะมะลุ้ลเยาม์ วั้ลลัยละห์ และยังมีท่านอื่นๆอีก มีรายงานจาก อะบี ฮุร็อยเราะฮ์ ขอพระองค์ทรงพอพระทัยท่าน กล่าวว่า :

 

قال رَسُول اللَّهِ ﷺ قَالَ : (( خذوا جُنَّتَكم قالوا يا رسولَ اللَّهِ مِن عدُوٍّ حضرَ ؟ قالَ لا بل جُنَّتُكم منَ النَّارِ قولوا : سبحانَ اللَّهِ والحمدُ للَّهِ ولا إلَه إلَّا اللَّهُ واللَّهُ أَكبرُ فإنَّهنَ يأتينَ يومَ القيامةِ منجيات و مقدَّمات وَهنَّ الباقيات الصَّالحات))

 

     ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : “พวกเจ้าทั้งหลายจงเอาโล่กำบังของพวกเจ้าไป

     บรรดาศอฮาบะห์กล่าวกับท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า : ศัตรูได้บุกมาแล้วหรือท่านร่อซู้ล? 

     ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวตอบไปว่า : เปล่าเลย หากแต่ว่าเป็นโล่กำบังที่จะปกป้องพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก พวกเจ้าจงกล่าวว่าซุบฮานั้ลลอฮ์ วัลฮัมดุลิ้ลลาห์ วะลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮ์ วัลลอฮุอักบัรแท้จริงถ้อยคำเหล่านี้จะมาช่วยเหลือ และจะนำหน้าพวกเจ้าในวันกิยามะห์ และถ้อยคำเหล่านี้คือความดีงามอันมากมายที่จีรังและถาวร

 

          ท่านฮากิม กล่าวว่า หะดีษบทนี้ศ่อเฮี้ยะห์ตามเงื่อนไขของอิหม่ามมุสลิม แต่ท่านมิได้บันทึกฮะดีษบทนี้ไว้ในหนังสือของท่าน และท่านอิหม่ามอัซซะฮะบียฺก็เห็นด้วยกับท่านฮากิม และเชคอัลอัลบานีย์ระบุว่าเป็นหะดีษศ่อเฮี้ยะห์14

          และในหะดีษบทนี้ -เพิ่มเติมจากสิ่งที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น- ยังได้บอกถึงคุณลักษณะของถ้อยคำทั้งสี่ไว้อีกว่า ถ้อยคำเหล่านั้นคือ ( الباقيات الصَّالحات ) นี่คือความดีงามอันมากมายที่จีรังและถาวร

     อัลลอฮ์ ตะอาลาได้กล่าวว่า :

 

ۖوَالْبَاقِيَاتُ الصَّالِحَاتُ خَيْرٌ عِندَ رَبِّكَ ثَوَابًا وَخَيْرٌ أَمَلًا (الكهف: 46

 

และความดีทั้งหลายที่จีรังนั้น เป็นการตอบแทนที่ดียิ่ง ณ ที่พระเจ้าของเจ้า และเป็นความหวังที่ดียิ่ง

( ซูเราะห์อัลกะห์ฟ อายะห์ที่ 46)

          และคำว่าอัลบากิยาตนั้นหมายถึง ผลบุญที่จะยังคงหลงเหลืออยู่ และการตอบแทนที่จะยังคงอยู่ และนี่คือความหวังที่ดียิ่งสำหรับบ่าว และคือการตอบแทนที่ประเสริฐที่สุด

 

 

ความประเสริฐประการที่ 9 : 

 

          ถ้อยคำทั้งสี่นั้นจะโน้มเอียงอยู่ข้างๆบัลลังก์ของอัลลอฮ์ และจะมีเสียงคล้ายกับเสียงของผึ้ง เพื่อเป็นการบอกให้ทราบถึงผู้ที่กล่าวถ้อยคำเหล่านั้น ดังที่มีรายงานใน มุสนัดของ อิหม่ามอะห์มัด และ สุนัน อิบนิ มาญะฮ์ และ อัลมุสตัดร๊อก อัลฮากิม จากท่าน นัวอ์มาน บิน บะชีร ขออัลลอฮ์ทรงพอพระทัยท่าน กล่าวว่า :

 

قال رَسُول اللَّهِ ﷺ قَالَ : (( إنَّ مما تذكرون من جلالِ اللهِ : التَّسبيحَ والتكبير والتهليلَ والتحميدَ ، ينعطِفْنَ حولَ العرشِ ، لهن دويٍّ كدويِّ النحلِ ، تُذَكِّرُ بصاحبها ، أما يحبُّ أحدُكم أن يكونَ له – أو لا يزالُ له – من يُذكِّرُ به ))

 

     ท่านร่อซู้ลได้กล่าวว่า : สิ่งหนึ่งที่พวกท่านจะใช้กล่าวเพื่อเป็นการรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ คือ การตัสบีฮ์ (กล่าวซุบฮานั้ลลอฮ์) ตักบีร (กล่าวอัลลอฮุอักบัร) ตะห์ลีล (กล่าวลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮ์) และตะฮ์มีด (กล่าวอัลฮัมดุลิ้ลลาห์) ถ้อยคำทั้งสี่นี้จะโน้มเอียงอยู่ข้างๆบัลลังก์ของอัลลอฮ์

     และจะมีเสียงคล้ายกับเสียงของผึ้ง เพื่อเป็นการบอกให้ทราบถึงผู้ที่กล่าวถ้อยคำเหล่านั้น พวกท่านไม่ชอบหรือที่จะถูกกล่าวถึงอยู่เช่นนั้น (หรือยังคงถูกกล่าวถึงอยู่เช่นนั้น)”

 

          อัลบูศีรีย์ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ซะวาเอ็ด สุนัน อิบนิ มาญะฮ์ ว่าสายรายงานของฮะดีษบทนี้ศ่อเฮี้ยะห์ ผู้รายงานฮะดีษต่างเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือ และท่านฮากิม ระบุว่าเป็นหะดีษที่ศ่อเฮี้ยะห์15

 

          ซึ่งฮะดีษบทนี้ได้บอกให้รู้ถึงความประเสริฐอันยิ่งใหญ่ นั่นคือถ้อยคำทั้งสี่นี่จะโน้มเอียงอยู่ข้างๆบัลลังก์ของอัลลอฮ์ และจะมีเสียงคล้ายกับเสียงของผึ้ง หมายถึงมันจะมีเสียงเหมือนกับเสียงของผึ้งเวลาที่ผึ้งร้อง เพื่อเป็นการบอกให้ทราบถึงผู้ที่กล่าวถ้อยคำเหล่านั้นอยู่ข้างๆบันลังก์ของอัลลอฮ์ ในเรื่องนี้บอกให้รู้ถึงความยิ่งใหญ่ของถ้อยคำเหล่านี้ 

     ด้วยเหตุนี้ท่านร่อซู้ลจึงกล่าวว่าพวกท่านไม่ชอบหรือที่จะถูกกล่าวถึงอยู่เช่นนั้น -หรือยังคงถูกกล่าวถึงอยู่เช่นนั้น-“

 

 

ความประเสริฐประการที่ 10 : 

 

          ท่านนบีได้แจ้งให้ทราบว่าถ้อยคำทั้งสี่นั้นจะมีน้ำหนักอย่างมากบนตาชั่งในวันกิยามะห์ ดังที่ท่านอิหม่ามอัลนะซาอีย์ได้บันทึกไว้ในหนังสืออะมะลุ้ลเยาม์ วั้ลลัยละห์ และอิบนุ ฮิบบาน บันทึกไว้ในศ่อเฮี้ยะห์ของท่าน และก็ยังมีท่านฮากิมและท่านอื่นๆอีก รายงานจาก อะบี ซัลมา ขอพระองค์ทรงพระทัยท่าน กล่าวว่า :

 

قال سمعت رَسُول اللَّهِ ﷺ قيقول : (( - بخٍ بخٍ وأشار بيدِه لخمسٍ

ما أثقلَهنَّ في الميزانِ سبحانَ اللهِ والحمدُ للهِ ولا إلهَ إلَّا اللهُ واللهُ أكبرُ والولدُ الصَّالحُ يُتوَفَّى للمرءِ المسلمِ فيحتسِبُه ))

 

     ฉันได้ยินท่าน ร่อซู้ลได้กล่าวว่า : “ บะคิน บะคิน และท่านร่อซู้ลได้ชูนิ้วมือทั้ง 5 แล้วได้พูดว่า มันช่างมีน้ำหนักมากเหลือเกินบนตาชั่ง นั่นคือคำว่า ซุบฮานั้ลลอฮ์ วัลฮัมดุลิ้ลลาห์ วะลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮ์ วัลลอฮุอักบัร และมุสลิมคนหนึ่งมีลูกที่ศอลิห์ เมื่อลูกของเขาได้ตายลง เขาก็อดทนและหวังรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮ์

 

          ท่านฮากิม บอกว่าเป็นหะดีษศ่อเฮี้ยะห์ และท่านอิหม่ามอัซซะฮะบีย์ก็เห็นด้วยเช่นกัน16 และหะดีษบทนี้ยังมีอีกสายรายงานหนึ่งที่มายืนยังถึงเรื่องดังกล่าว จากหะดีษของท่านเษาบาน ขออัลลอฮ์ทรงพอพระทัยท่าน ที่บันทึกโดยอัลบัซซาร ในมุสนัดของเขา และท่านก็ระบุ สายรายงานนี้ฮะซัน17

          และคำพูดที่ท่านนบีได้กล่าวว่า (  بخٍ بخٍ ) คือคำที่จะกล่าวเมื่อรู้สึกประหลาดใจกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเพื่อบอกถึงความประเสริฐของสิ่งนั้น

 

 

ความประเสริฐประการที่ 11 : 

 

          เวลาที่บ่าวคนหนึ่งได้กล่าวหนึ่งในถ้อยคำนั้น นับว่าเป็นการทำศอดาเกาะห์ ดังที่ท่านอิหม่ามมุสลิม ได้บันทึกไว้ในหนังสือศอเฮี๊ยะห์ของท่าน มีรายงานจากท่าน อะบี ซัรริน ขอพระองค์ทรงพอพระทัยท่าน ได้กล่าวว่า

 

أن ناسًا من أصحاب رسول الله ﷺ قالوا للنبي ﷺ: يا رسول الله، ذهب أهل الدثور بالأجور، يصلون كما نصلي، ويصومون كما نصوم، ويتصدقون بفضول أموالهم، قال: ((أوَليس قد جعل الله لكم ما تصدقون؟ إن لكم بكل تسبيحةٍ صدقةً، وكل تكبيرةٍصدقةً، وكل تحميدةٍ صدقةً، وكل تهليلةٍ صدقةً، وأمرٍ بالمعروف صدقةً، ونهيٍ عن منكرٍ صدقةً، وفي بُضْعِ أحدكم صدقةً))، قالوا: يا رسول الله، أيأتي أحدنا شهوته ويكون له فيها أجرٌ؟ قال: ((أرأيتم لو وضعها في حرامٍ، أكان عليه وزرٌ؟ فكذلك إذا وضعها في الحلال كان له أجرٌ))18

 

     ท่านอบูซัร ได้กล่าวว่า มีคนกลุ่มหนึ่งจากบรรดาศอฮาบะห์ของท่านร่อซู้ลได้กล่าวกับท่านร่อซู้ลว่า : “โอ้ท่านร่อซู้ลคนที่ร่ำรวยพวกเขาเอาผลบุญไปหมดแล้ว (-อันเนื่องมาจากพวกเขาทำศอดาเกาะห์มากกว่าคนที่ยากจน-) พวกเขาละหมาดเหมือนกับพวกเราละหมาด พวกเขาถือศีลอดเหมือนกับพวกเรา และพวกเขาทำศอดาเกาะห์ด้วยกับทรัพย์สินที่มีอย่างเหลือล้นของพวกเขา

     ท่านร่อซู้ลจึงกล่าวตอบว่ามิใช่หรอกหรือที่อัลลอฮ์ได้ทรงทำให้พวกท่านสามารถที่จะทำศอดาเกาะห์ได้? นั่นก็เพราะว่าในทุกๆการกล่าวว่าซุบฮานัลลอฮฺคือการทำศอดะเกาะห์ และทุกๆการกล่าวว่าอัลลอฮุอักบัรคือการทำศอดะเกาะห์

     และทุกๆการกล่าวว่าอัลฮัมดุลิ้ลลาฮฺคือการทำศอดะเกาะห์ และทุกๆการกล่าวว่าลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮ์คือการทำศอดะเกาะห์ และการใช้กันให้ทำความดีคือการทำศอดะเกาะห์ และการห้ามปรามกันมิให้ทำความชั่ว คือการทำศอดะเกาะห์ และการมีเพศสัมพันธ์ของพวกท่าน(กับภรรยา) คือการทำศอดะเกาะห์

     บรรดาศอฮาบะห์จึงกล่าวต่อว่า : “โอ้ท่านร่อซู้ลเวลาที่พวกเรามีความต้องการและร่วมหลับนอนกับภรรยาของพวกเรานั้นได้ผลบุญด้วยหรือ?”

     ท่านร่อซู้ลจึงได้ตอบว่าพวกท่านเห็นหรือไม่ว่า ถ้าหากว่าคนหนึ่งมีเพศสัมพันธ์ที่ต้องห้าม -ทำซินา- นั่นมีความผิดใช่หรือไม่? ดังนั้นถ้ามีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง(ฮะลาล)นั่นก็มีผลบุญ

 

          และคนยากคนจนต่างก็คิดไปว่า การทำศอดาเกาะห์จะต้องใช้ทรัพย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และพวกเขาก็ไม่มีความสามารถที่จะกระทำในเรื่องดังกล่าวเหมือนกับคนที่ร่ำรวยได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านนบีจึงได้บอกพวกเขาให้รู้ถึงคุณงามความดีประเภทต่างๆ และการทำความดีนั้นก็คือการทำศอดาเกาะห์ และสิ่งหนึ่งที่ท่านร่อซู้ลได้กล่าวไว้ในตอนต้นของฮะดีษบทนี้ก็คือถ้อยคำทั้งสี่ประการ นั่นคือซุบฮานั้ลลอฮ์ วั้ลฮัมดุลิ้ลละห์ วะลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮ์ วั้ลลอฮุอักบัร

 

 

ความประเสริฐประการที่ 12 : 

 

           ท่านนบีได้บอกว่าถ้อยคำเหล่านั้นสามารถที่จะใช้อ่านแทนอัลกุรอ่านได้ สำหรับคนที่ไม่สามารถอ่านอัลกุรอ่าน ดังที่ท่านอิหม่ามอบูดาวูด อัลนะซาอีย์ อัดดารุกุฏนีย์ และท่านอื่นๆ ได้บันทึกไว้ในหนังสือของพวกท่าน มีรายงานจากท่าน อิบนิ อะบี เอาฟา ขอพระองค์ทรงพอพระทัยท่าน ได้กล่าวว่า :

 

جَاءَ رَجُلٌ إِلَى النَّبِيِّ ﷺ فَقَالَ : "إِنِّي لَا أَسْتَطِيعُ أَنْ آخُذَ مِنَ الْقُرْآنِ شَيْئًا، فَعَلِّمْنِي مَا يُجْزِئُنِي مِنْهُ". قَالَ : (قُلْ : سُبْحَانَ اللَّهِ، وَالْحَمْدُ لِلَّهِ، وَلَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ، وَاللَّهُ أَكْبَرُ، وَلَا حَوْل وَلَا قُوَّةَ إِلَّا بِاللَّهِ الْعَلِيِّ الْعَظِيمِ). قَالَ : "يَا رَسُولَ اللَّهِ، هَذَا لِلَّهِ عَزَّ وَجَلَّ، فَمَا لِي ؟"

قَالَ : (قُلِ : اللَّهُمَّ ارْحَمْنِي، وَارْزُقْنِي، وَعَافِنِي، وَاهْدِنِي). فَلَمَّا قَامَ قَالَ هَكَذَا بِيَدِهِ، فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ ﷺ: (أَمَّا هَذَا فَقَدْ مَلَأَ يَدَهُ مِنَ الْخَيْرِ)19

 

     มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบีและเขาได้กล่าวว่าท่านร่อซู้ลครับ ฉันไม่สามารถท่องจำอัลกุรอ่านได้เลย ได้โปรดสอนให้ฉันอ่านสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อเป็นการทดแทนการอ่านอัลกุรอ่านสักหน่อย 

     ท่านนบีจึงกล่าวขึ้นว่าเจ้าจงกล่าวว่า ซุบฮานัลลอฮ์ วั้ลฮัมดุลิ้ลลาห์ วะลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮ์ วั้ลลอฮุอักบัร วะลาเฮาละ วะลากูวะตะ อิ้ลลาบิ้ลลาฮิ้ลอะลียิ้ลอะซีม

     แล้วเขาได้กล่าวต่อว่าโอ้ท่านร่อซู้ลถ้อยคำนี้คือสิ่งที่กระทำเพื่ออัลลอฮ์ -อัซซะวะญัลละ- แล้วฉันจะขอสิ่งใดเพื่อตัวของฉันเองได้บ้าง? 

     ท่านร่อซู้ลจึงตอบว่าเจ้าจงกล่าวว่า โอ้อัลลอฮ์ ขอพระองค์ได้โปรดเมตตาข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดประทานริสกีให้แก่ข้าพระองค์ ขอให้พระองค์รักษาข้าพระองค์ให้มีสุขภาพที่แข็งแรง และขอพระองค์ได้โปรดชี้ทางนำให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

     แล้วเมื่อเขาลุกขึ้นยืนเขาก็ได้กล่าวถ้อยคำในข้างต้น พร้อมกับใช้นิ้วมือของเขานับจำนวนของถ้อยคำเหล่านั้น 

     ท่านร่อซู้ลจึงกล่าวว่าส่วนชายคนนี้มือของเขาเต็มไปด้วยความดีงามแล้ว

     (หมายถึงเขาได้ปฏิบัติตามและท่องจำสิ่งที่ท่านร่อซู้ลได้สอนเขาไว้เรียบร้อยแล้ว-)

 

          นักวิชาการฮะดีษ ท่านอบูฏฏีบ อัลอะซีม อาบาดีย์ ได้ระบุไว้ในสุนัน อัดดารุกุฏนีย์ว่า ฮะดีษบทนี้มีสายรายงานที่ศอเฮี๊ยะห์ และเชคอัลอัลบานีย์ ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาท่าน ก็ได้ระบุว่าเป็นสายรายงานที่ฮะซัน20

 

          และนี่คือความประเสริฐบางประการของถ้อยคำทั้งสี่ ที่ปรากฏอยู่ในซุนนะห์ของท่านนบีและผู้ใดก็ตามที่เขาได้ใคร่ครวญถึงความประเสริฐในข้างต้น เขาจะพบว่านี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ที่บ่งบอกให้รู้ถึงความสำคัญของถ้อยคำเหล่านี้ และฐานะอันสูงส่ง และคุณประโยชน์อันมากมาย และสิ่งที่จะทำให้บ่าวผู้ศรัทธาได้รับ และสิ่งที่สำคัญที่ซ่อนอยู่ในถ้อยคำทั้งสี่ ที่ทำให้ถ้อยคำเหล่านี้มีความประเสริฐถึงขั้นนี้ -วั้ลลอฮุอะอ์ลัม- 

 

          ตามที่บรรดานักวิชาการบางท่านได้กล่าวเอาไว้ นั่นคือในทุกๆถ้อยคำของทั้งสี่ประการนั้น ล้วนแต่มีพระนามของอัลลอฮ์ ตะอาลาประกอบร่วมอยู่ด้วย

     ซึ่งในการกล่าวว่าซุบฮานั้ลลอฮ์นั่นก็หมายถึงพระนามต่างๆของอัลลอฮ์ที่เป็นการให้ความบริสุทธิ์ต่อพระองค์ เช่นอัลกุ๊ดดู๊ซ และอัส-สลาม เป็นต้น

     และการกล่าวว่าอัลฮัมดุลิ้ลลาห์นั่นก็มีความหมายที่ครอบคลุมไปถึงการยืนยันความสมบูรณ์ของอัลลอฮ์ในด้านต่างๆ ทั้งในพระนามและคุณลักษณะของพระองค์

     และการกล่าวว่าอัลลอฮุอักบัรนั่นก็เป็นการให้ความยิ่งใหญ่ ให้ความเกรียงไกรต่อพระองค์ ซึ่งไม่มีผู้ใดที่สามารถจะนับจำนวนการชมเชยที่พระองค์พึงจะมีได้ และผู้ใดก็ตามที่มีคุณลักษณะดังกล่าว นั่นก็แปลว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากผู้นั้น หมายถึง ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรที่จะได้รับการเคารพภักดีนอกจากพระองค์21

 

     ดังนั้น

     อัตตัสเบี๊ยะห์ -การกล่าวว่า ซุบฮานั้ลลอฮ์- คือการทำให้อัลลอฮ์ทรงบริสุทธิ์จากทุกๆสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับพระองค์

 

     อัตตะฮ์มีด -การกล่าวว่า อัลฮัมดุลิ้ลลาห์- คือการยืนยันถึงความสมบูรณ์ของอัลลอฮ์ในด้านต่างๆ ทั้งในพระนาม คุณลักษณะ และการกระทำของพระองค์

 

     อัตตะห์ลีล -การกล่าวว่า ลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮ์- คือความบริสุทธิ์ใจ และให้เอกภาพต่อพระองค์ในการเคารพสักการะ และคือการแสดงความบริสุทธิ์จากชิริก

 

     และอัตตักบีร -การกล่าวว่า อัลลอฮุอักบัร- คือการยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ และไม่มีสิ่งใดที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าพระองค์

 

     ถ้อยคำเหล่านี้ช่างเป็นถ้อยคำที่ยิ่งใหญ่ ช่างเป็นถ้อยคำที่สูงส่ง และช่างเป็นความดีงามอันมากมายสำหรับคนที่กล่าวถ้อยคำเหล่านี้

 

          ขออัลลอฮ์ ตะอาลาทรงช่วยเหลือให้พวกเรารักษา และกล่าวถ้อยคำเหล่านี้เป็นประจำ สม่ำเสมอ และขอให้พวกเราเป็นหนึ่งในบรรดาคนที่ลิ้นของพวกเขาเปียกชุ่มไปด้วยการกล่าวถ้อยคำทั้งสี่ประการนี้ แท้ที่จริงพระองค์คือผู้ปกครองและผู้ทรงเดชานุภาพ

          และขออัลลอฮ์ทรงเมตตา ทรงอภัย ทรงยกเกียรติ ให้แก่ท่านนบีของพวกเรา ท่านนบีมุฮำมัดตลอดจนบรรดาศอฮาบะห์ของท่านทั้งปวงด้วยเถิด

 

 

ผู้เขียน : ชัยคฺ อับดุลร็อซซาก บิน อับดิล มุหฺซิน อัล-บัดรฺ

ถอดความ : อนัส ลีบำรุง

ตรวจทาน : อาจารย์ อัสมัน มีสมบูรณ์

 


12 อัลมุสนัด (เล่ม 2 หน้า 302) , อัลมุสตัดร๊อก (เล่ม 1 หน้า 512) , ท่านอัลบานียฺ กล่าวไว้ใน ศ่อเฮี้ยะห์ อัล ญามิอฺ (ลำดับที่ 1718) ว่าเป็นหะดีษศ่อเฮี้ยะห์

13 อัลมุสนัด (เล่ม2 หน้า 302) , อัลมุสตัดร๊อก (เล่ม 1 หน้า 512) , ท่านอัลบานียฺ ในศ่อเฮี้ยะห์ อัลญามิหฺ (ลำดับที่ 1718) ว่าเป็นหะดีษศ่อเฮี้ยะห์

14 อัลมุสตัดร๊อก (เล่ม 1 หน้า541) , อัสสุนัน อัลกุบรอ หนังสือ อะมะลุ้ลเยาม์ วั้ลลัยละห์ (เล่ม 6 หน้า 212) , ศ่อเฮี้ยะห์ อัล ญามิอฺ (ลำดับที่ 3214)

15 อัลมุสนัด (เล่ม 4 หน้า 268,271) สุนัน อิบนุ มาญะฮ์(ลำดับที่ 3809) , อัลมุสตัดร๊อก (เล่ม 1 หน้า 503)

16 อัสสุนัน อัลกุบรอ หนังสือ อะมะลุ้ลเยาม์ วั้ลลัยละห์ (เล่ม 6 หน้า 50) , ศ่อเฮี้ยะห์ อิบนุฮิบบาน (อัลอิหฺซาน) (เล่ม 3 หน้า 114 ลำดับที่ 338) , อัลมุสตัดร๊อก (เล่ม 1 หน้า 511/512) 

17 กัชฟุ อัลอัสตาร อัน ซะวาเอ้ด อัลบัซซาร (เล่ม 4 หน้า 9 ลำดับที่ 3072)

18 ศ่อเฮี้ยะห์ มุสลิม (ลำดับที่ 1006)

19 สุนันอบีดาวูด (ลำดับที่ 832) และสุนัน อันนะซาอีย์ (เล่มที่ 2 หน้าที่ 143) และสุนัน อัดดารุกุฏนียฺ (เล่ม 1 หน้า 313,314) 

20 ศอเฮี๊ยะห์อบี ดาวูด (เล่มที่ 1 หน้า 157)

21 ให้ดูการอธิบายอัลกุรอ่านที่คำว่า )الصالحات الباقيات( ของอัลอะลาอี่ย์ (หน้าที่ 40)