มุสลิมคือ... ผู้รักษาชื่อเสียง
  จำนวนคนเข้าชม  1517

 

มุสลิมคือ... ผู้รักษาชื่อเสียง

 

อุมมุอัฟว์  แปลเรียบเรียง

 

          อิสลามไม่ได้สอนเราให้ไม่ต้องใส่ใจคำพูดหรือสายตาใคร ขณะเดียวกันก็ไม่ได้สอนให้เราต้องสร้างภาพพจน์ให้ตนเองดูดี ดูน่าเคารพยกย่อง

 

          เส้นแบ่งระหว่างสองบริบทนี้อยู่ที่ 'ความบริสุทธิ์ใจ' ทำดีด้วยใจแม้จะไม่มีใครเห็น กับระวังการที่ใครจะเห็นแล้วทำให้เขาสงสัยหรือเข้าใจผิด เป็นสิ่งที่มุสลิมต้องระวังรักษาควบคู่กันไป..

          ครั้งหนึ่งบรรดาศ่อฮาบะฮฺได้ให้คำปรึกษากับท่านนบี صلى الله عليه و سلم ว่าควรจัดการพวกมุนาฟิกด้วยการสังหารเสียให้สิ้น

ท่านตอบกลับว่า:

 

لا حتى لا يتحدث الناس أن محمدا يقتل أصحابه 

 

"ไม่ เพื่อที่ว่าผู้คนจะได้ไม่เอาไปพูดได้ว่า มูฮัมมัดฆ่าแกงสหายของตัวเอง"

 (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม)

 

         และครั้งหนึ่งท่านนบี  صلى الله عليه و سلم  เคยเรียกผู้ชายสองคนให้หันหลังกลับมาก่อน เพื่อมาบอกให้รู้ว่าผู้หญิงที่ท่านกำลังยืนคุยอยู่นี้ คือ ศ่อฟียะฮฺ บินติ หุยัยย์ ภรรยาของท่าน เพื่อกันไม่ให้เขาสองคนเข้าใจท่านผิด

         ชายสองคนนั้นถึงกับอุทานว่า ซุบฮานั้ลลอฮฺ ยารอซูลัลลอฮฺ! ประมาณว่าจะมีใครกล้าคิดไม่ดีกับท่านหรือครับ?

ท่านนบีตอบกลับว่า:

"แท้จริง ชัยฏอนนั้นจะโคจรอยู่ในสายโลหิตของลูกหลานอาดัม และฉันเกรงว่ามันจะโยนสิ่งไม่ดีเข้าไปในหัวใจของท่านทั้งสอง" 

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม)

 

          'การตัดไฟแต่ต้นลม' คือแนวทางและแบบอย่างที่อิสลามสอนไว้ คือวิธีการที่ยังคงใช้ได้กับทุกเรื่องราว ทุกเหตุการณ์ในชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย เสียเกียรติ เสียศักดิ์ศรี เสียทรัพย์สิน  เสียเวลา เสียสุขภาพ เสียความรู้สึก ฯลฯ และเรื่องนี้จะยิ่งสลักสำคัญและจำเป็นยิ่งกว่า สำหรับคนที่สังคมนับหน้าถือตา ให้ความเคารพเลื่อมใส ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ

 

นักวิชาการได้ระบุว่า:

          "นับเป็นเรื่องที่เน้นสัมทับสำหรับคนมีความรู้ครูบาอาจารย์คนที่มีเกียรติมีชื่อเสียง ในการที่เขาจะต้องระวังตัว ไม่กระทำพฤติกรรมใดๆ ที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดข้อครหา หรือทำให้คนอื่นคิดไม่ดีกับเขา แม้ว่าเขาจะมีความจริงใจบริสุทธิ์ใจในสิ่งที่ทำ เพราะการกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ น่าเลื่อมใสของเขา​"

 

ซื้อน้ำเปล่า.. ในร้านขายเหล้า

ซื้อข้าวสวย.. ในร้านหมูทอด

ถามว่าของที่ซื้อผิดไหมไม่ผิด แต่ขณะที่เข้าไปและก้าวออกมาจะมีกี่สายตา ที่เข้าใจว่าเข้าไปในร้านนี้ทำไม?!

 

          เข้าร่วมกลุ่มกิจการใดๆหรือแม้แต่แสดงความรู้สึก การปรากฏตัวของเราที่แห่งนั้นเท่ากับเป็นการยืนยันสนับสนุนและเห็นพ้องไปในตัว สถานการณ์จริงคงยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ในทุกเรื่อง 

 

          แต่สถานการณ์จริงอีกเช่นกันที่เราสามารถที่จะเลือก 'ที่ยืน'ของตัวเอง บางคนแสงไฟมักสาดส่องมาหาเขาให้กลายเป็นที่เพ่งเล็ง ที่มองเห็นได้ชัดตาแม้เจ้าตัวไม่ได้เจตนา ขณะที่บางคนพยายามกระเสือกกระสนให้อยู่ตรงที่ๆ ไฟส่องถึง แม้ตัวเองจะเสี่ยงอันตราย

 

เจตนาสองคนนี้ต่างกัน..แต่ทั้งสองคนมีสิทธิ์ "เลือกยืน" ในพื้นที่ปลอดภัย

พื้นที่ที่ไม่ต้องกังวลว่าใครจะเข้าใจผิดหรือคิดลบ

พื้นที่ที่ไม่ว่าไฟจะส่องมาหรือผ่านไปเขาก็ยังหยุดยืนอยู่ที่เดิม

เพื่อที่จะไม่ต้องตามไปอธิบายแก้ตัวใหม่ในภายหลัง

 

          มุสลิม คือผู้ฉลาดเลือก ฉลาดตัดสินใจ ฉลาดที่จะระวังตัวเพื่อปกป้องชื่อเสียงของตนเองและครอบครัว เพื่อให้ถูกจดจำ ระลึกถึง แต่แง่มุมดีๆ ที่เคยทำไว้ การขอดุอาอฺให้ถูกจดจำแต่สิ่งดีๆ คือแบบอย่างที่อัลกุรอานแนะนำ คือแนวทางของนบีอิบรอฮีม อลัยฮิสสลาม ที่ท่านได้ขอดุอาอฺไว้ว่า 

 

وَاجْعَل لِّي لِسَانَ صِدْقٍ فِي الْآخِرِينَ

 

"และโปรดทรงทำให้ข้าพระองค์ ได้รับการรำลึกถึงอย่างดีในหมู่ชนรุ่นถัดๆ ไป"  

(อัชชุอะรออฺ 84)

 

ประวัติที่ดี...เราสร้างได้

ชื่อเสียงที่ดี...สร้างได้

ภาพจำที่ดี...ทำได้

เพียงเลือกทำปัจจุบันอย่างฉลาดพอ ปลอดภัยพอ ระวังรัดกุมเพียงพอ

เพราะ "ชื่อเสียง" เมื่อเสียไปแล้ว ยากที่จะเรียกศรัทธากลับคืนมา

แม้ว่าจะสร้างชื่อเสียงใหม่อีกกี่ครั้งก็ตาม !