หลักฐานทางสติปัญญา !!
  จำนวนคนเข้าชม  2250

หลักฐานทางสติปัญญา !!

 

อาบีดีณ โยธาสมุทร แปลเรียบเรียง

 

ท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ว่า

 

          “ ที่จริงแล้ว ต้องพูดว่า การที่หลักฐานๆหนึ่ง อยู่ในสภาพที่เป็นหลักฐานทางสติปัญญา (عقلي) หรืออยู่ในสภาพของหลักฐานที่เป็นข้อมูลที่มีการแจ้งไว้ให้ทราบ (سمعي) นั้น มันไม่ใช่ลักษณะที่บ่งบอกถึงความน่าชื่นชม, ความน่าตำหนิ, ความใช้ได้ หรือความใช้ไม่ได้ไว้แต่อย่างใดเลย 

 

          แต่จริงๆแล้วมันเป็นเพียงการขยายให้ได้ทราบถึงช่องทางในการรับรู้เท่านั้น ซึ่งก็ได้แก่ ข้อมูลที่มีการแจ้งไว้ให้ (السمع) หรือได้แก่ ข้อมูลที่รับรู้ได้ด้วยการใช้ปัญญา (العقل) นั่นเอง แม้ว่าอันที่จริงแล้วเรื่องของข้อมูลที่มีการแจ้งไว้ให้นั้น มันก็ต้องมีเรื่องของการใช้ปัญญาอยู่คู่กันด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วก็ตาม

 

          และในทำนองเดียวกันนี้ กับประเด็นเรื่องของหลักฐานที่อยู่ในสภาพที่เป็นหลักฐานทางสติปัญญา (عقلي) และที่อยู่ในสภาพของหลักฐานที่เป็นข้อมูลที่มีการรายงานต่อกันมาไว้ให้ (نقلي) ก็เช่นกัน

 

          ส่วนในกรณีที่ตัวหลักฐานนั้นๆอยู่ในสภาพที่เป็นหลักฐานทางบทบัญญัติ (شرعي) เมื่อนั้นมันก็จะไม่ใช่เรื่องที่มันตรงข้ามกันกับหลักฐานทางสติปัญญา(عقلي) แต่อย่างใด แต่ว่ามันจะเป็นอะไรที่ตรงข้ามกับหลักฐานที่ไม่ตรงกับบทบัญญัติซึ่งเป็นเรื่องที่มีการประดิษฐ์คิดค้นกันขึ้นมาใหม่เสียแทน (بدعي) ต่างหาก

 

          ทั้งนี้เนื่องจากเรื่องที่มันไม่ตรงกับบทบัญญัติซึ่งมันถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ (بدعة) นั้น มันเป็นอะไรที่อยู่ตรงกันข้ามกันกับเรื่องที่เป็นบทบัญญัติ (شرعة)นั่นเอง

 

          และการที่หลักฐานนั้นๆ เป็นหลักฐานทางบทบัญญัติ (شرعي) นั่นก็เท่ากับว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นลักษณะที่น่าชื่นชม ส่วนถ้ามันเป็นหลักฐานที่ไม่ตรงกับบทบัญญัติซึ่งมันถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ (بدعي) นั่นก็เท่ากับว่า มันเป็นเรื่องที่เป็นลักษณะที่น่าตำหนิ

ซึ่งเรื่องอะไรก็ตามแต่ที่ค้านกับบทบัญญัติ เรื่องๆนั้นก็คือ เรื่องที่เป็นเท็จ

 

          ท่านชัยคุ้ลอิสลาม ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ท่านได้ขยายไว้ว่า ที่จริงแล้ว หลักฐานทางบทบัญญัติ (شرعي) นั้นไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของข้อมูลที่มีการบอกเล่าไว้จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (خبر الصادق) เพียงเท่านั้น

 

เนื่องจากในจำนวนของเรื่องที่เป็นหลักฐานทางบทบัญญัติ นั้นหมายรวมถึงทั้ง

. เรื่องที่เป็นข้อมูลที่มีการบอกเล่าไว้ (سمعي) 

. เรื่องที่รับรู้ได้โดยปัญญา (عقلي) 

. เรื่องที่รับรู้ได้โดยข้อมูลที่มีการบอกเล่าไว้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชี้ชวนให้ใช้ปัญญา (سمعي عقلي) 

 

          ในกรณีที่เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่ปัญญาเข้าถึงได้และข้อมูลทางบทบัญญัติก็ได้สัมทับไว้ให้ตระหนักรู้ถึงเรื่องเหล่านั้นด้วย ตัวอย่างเช่น เรื่องที่เป็นหลักฐานที่ยืนยันในเอกภาพของอัลลอฮฺ ตะอาลา... 

 

          ซึ่งคนพวกนี้ (พวกอะฮฺลุ่ลกะลาม) คิดไว้ไม่ถึงว่า ตัวของหลักฐานทางบทบัญญัติ (شرعي) นั้น มีทั้งที่เป็นข้อมูลที่มีการบอกเล่าไว้ให้รับทราบ (سمعي) และมีทั้งข้อมูลที่ยืนยันได้โดยปัญญา (عقلي) อยู่ในนั้นด้วยกันทั้งคู่ในเวลาเดียวกันเลย...

 

          ดังนั้น การที่หลักฐานทางบทบัญญัติ (شرعي) จะอยู่ในรูปของ ข้อมูลที่มีการบอกเล่าเอาไว้ (سمعي) หรือในรูปของข้อมูลที่รับรู้ได้ด้วยการใช้ปัญญา (عقلي) หรืออยู่ในรูปของข้อมูลที่มีการบอกเล่าและชี้แนะไว้ให้ใช้ปัญญาในการรับรู้(سمعي عقلي) นั้น นั่นล้วนไม่ถูกโต้แย้งนอกจากจะโดยการโต้แย้งที่มาจากฝั่งของหลักฐานที่ผิดไปจากบทบัญญัติ (غير شرعي) เท่านั้น 

 

         ไม่ถูกโต้ด้วยหลักฐานทางปัญญา (عقلي) ยกเว้นในกรณีที่ หลักฐานทางปัญญานั้นๆเป็นหลักฐานทางปัญญาที่มันผิดไปจากบทบัญญัติ (عقلي غير شرعي) เท่านั้น

 

          ทั้งนี้ เนื่องจากหลักฐานทางปัญญา (عقلي) มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ แบบที่เป็นหลักฐานทางบทบัญญัติ (شرعي) และแบบที่เป็นหลักฐานที่ผิดไปจากบทบัญญัติ (بدعي) นั่นเอง

 

          ซึ่งหลักฐานทางบทบัญญัติ (شرعي) ย่อมไม่ถูกโต้ด้วยหลักฐานทางบทบัญญัติ (شرعي) ด้วยกันเองแน่นอน แต่จะถูกโต้ด้วยกับหลักฐานที่ผิดไปจากบทบัญญัติซึ่งมันถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ (بدعي) ต่างหาก

 

          ซึ่งสภาพของคนที่โต้แย้งหลักฐานทางบทบัญญัติ (شرعي) ด้วยหลักฐานที่ผิดไปจากบทบัญญัติซึ่งมันถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ (بدعي) นั้น ก็เหมือนกันกับสภาพของคนที่นำเอาข้อมูลจากคนอื่นที่ไม่ใช่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม มาโต้แย้งข้อมูลของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมนั่นเอง...

 

          ซึ่งการโต้แย้งข้อมูลที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ได้ให้ไว้ ด้วยกับข้อมูลของบุคคลอื่นใดที่ไม่ใช่ท่านนั้น เท่ากับเป็นการปฏิเสธต่อท่าน ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม และเป็นการบอกว่าท่านนั้น ให้ข้อมูลที่เป็นความเท็จเอาไว้นั่นเอง

 

 

( درء التعارض/ ج1 ص197.انظر: الأصول التي بنى عليها المبتدعة مذهبهم في الصفات، ج1، ص223-225)