ถอดรหัส 10 วันแรกซุลฮิจญะห์
  จำนวนคนเข้าชม  3180

ถอดรหัส 10 วันแรกซุลฮิจญะห์

 

บิน อับดิลลาฮฺ ฏอนฏอวีย์ อัซฮะรีย์... เรียบเรียง

 

          วิถีชีวิตของมุสลิมมีคุณลักษณะพิเศษที่เต็มไปด้วยการประกอบคุณความดี ศาสนบัญญัติต่าง ๆ (คำพูดและการกระทำ) มีให้ปฎิบัติอย่างต่อเนื่องตามวาระและเวลาที่ต่างกันไป ด้วยเหตุนี้เองวิถีชีวิตของมุสลิมจึงประกอบไปด้วยคำพูดที่ดี การงานที่ดี ที่ทำเพื่อหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ด้วยความเต็มใจไม่เบื่อหน่ายเกียจคร้าน และต่อเนื่องสม่ำเสมอไม่ขาดตอน หรืออีกนัยยะหนึ่งก็คือการดำรงชีวิตของมุสลิมนั้นเปี่ยมด้วยอิบาดะห์ การเชื่อฟัง คุณธรรมความดีที่มอบให้กับพระเจ้าทุกชั่วขณะแห่งการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้

 

          และนี่คือแนวทางการดำเนินชีวิตอันสมบูรณ์ของมุสลิม อิบาด๊าตต่าง ๆ จะไม่ขาดหายจากช่วงชีวิตของเขา ยกตัวอย่างเช่น การละหมาดห้าเวลา (ในหนึ่งวัน) ละหมาดวันศุกร์ (ในหนึ่งสัปดาห์) การถือศิลอด (ในหนึ่งปี) นอกเหนือจากนั้นยังมีซุนนะห์ต่าง ๆ เข้ามาเสริม เพื่อให้การงานที่เป็นภาคบังคับสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่นการถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาล วันจันทร์และวันพฤหัส อัยยามมุลบัยฎ์ (วันที่ 13 14 15 ของเดือนจันทรคติ) วันอาชูรอ และโดยเฉพาะวันที่เก้าของเดือนซุลฮิจญะห์ (วันอะร่อฟะห์หรือวันวุกู๊ฟ) ที่มีคุณความดีและความประเสริฐอันมากมาย

 

          สำหรับมุสลิมยังมีฤดูแห่งการเก็บเกี่ยวคุณความดีอันมากมายตลอดปี เช่น ใน 10 วันดังกล่าวมีค่ำคืนแห่งการรวม (ค่ำคืนที่ 10) มีการแสวงบุญฮัจญ์ อุมเราะห์ การถือศีลอดในวันอะร่อฟะห์ หรือการถือศีลอดในวันอาชูรอ (3 วัน คือ วันที่ 9 10 11 ของเดือนมุฮัรรอม) อีกทั้งมีการจ่ายซะกาต (ทานภาคบังคับ) การบริจาคเศาะดะเกาะห์ และการส่งเสริมในเรื่องคุณธรรมความดี ห้ามปรามยับยั้งจากความชั่วสิ่งที่ผิดหลักการ และอิบาดะห์อื่นๆ มากมายทั้งคำพูดและการกระทำ ที่ทำเพื่อหวังความโปรดปรานและแสวงหาความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ 

 

          เราจะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตของมุสลิมนั้นเอ่อล้นด้วยอิบาดะห์ที่ต่อเนื่อง จึงเรียกได้ว่าเป็นการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ที่ดี มีคุณภาพตามแบบฉบับของอิสลาม สอดคล้องกับดำรัสของอัลลอฮฺ ที่ว่า

 

فَإِذَا فَرَغْتَ فَانصَبْ

 

ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้น (จากงานหนึ่ง) แล้วจงลำบากต่อ (ทำงานชนิดอื่น)”

(อัชชัรฮฺ : 7)

 

     หมายถึง เมื่อเสร็จสิ้นจากงานอื่นแล้วจิตใจยังมุ่งมั่นไม่เหนื่อยกาย ก็จงขยันทำอิบาดะห์อื่น และวิงวอนขอดุอาอ์ในยามว่าง (อัซ-ซะอฺดีย์)

 

          ด้วยเหตุนี้เอง ในรอบปีจะมีฤดูแห่งคุณความดีที่รอคอยให้มวลมุสลิมเข้ามาเก็บเกี่ยว ฉกฉวยเพิ่มพูนคุณความดี เมื่อฤดูกาลต่างๆ นั้นผ่านเข้ามาในชีวิต เขาจะต้องตักตวงเก็บรักษาอิบาด๊าตต่างๆ การงานต่างๆ (ทั้งคำพูดและการกระทำ) เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดและความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ ไม่ว่าการดำเนินชีวิตของเขาในรูปแบบใดก็ตาม (ยามปกติ ยามสงคราม หรือยามเกิดโรคระบาด) เขาจะต้องรอคอยปฏิบัติมัน ด้วยความตั้งมั่น เจตนาที่บริสุทธิ์และมีความสัจจริงต่ออัลลอฮฺ

 

          และในบทความนี้เราจะขอนำเสนอ ความประเสริฐของฤดูแห่งคุณความดีที่มีภาคผลมากมายรอการเก็บเกี่ยวจากมวลมุสลิมที่แท้จริง นั้นคือ 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะห์ โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้

1: ความสำคัญของ 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะห์ ตามกิตาบุลลอฮ์และซุนนะห์

2: คุณความดีที่พิเศษของวันดังกล่าวที่ต่างกับวันอื่นๆ

3: การงานที่ส่งเสริมให้กระทำตามที่มีหลักฐานระบุ

4: บทเรียนที่ได้รับและสมควรนำไปปฏิบัติ

 

1 : ความสำคัญของ 10 วันแรกเดือนซุลฮจญะห์ ในแง่มุมของกิตาบุลลอฮ์และซุนนะห์

 

     อัลกุรอาน ได้ระบุถึงความสำคัญของวันดังกล่าวไว้ดังนี้

 

وَأَذِّن فِي النَّاسِ بِالْحَجِّ يَأْتُوكَ رِجَالًا وَعَلَىٰ كُلِّ ضَامِرٍ يَأْتِينَ مِن كُلِّ فَجٍّ عَمِيقٍ ٢٧ لِّيَشْهَدُوا مَنَافِعَ لَهُمْ وَيَذْكُرُوا اسْمَ اللَّهِ فِي أَيَّامٍ مَّعْلُومَاتٍ...

 

       แล้วจงประกาศแก่มวลมนุษย์ทั่วไป เพื่อทำให้พวกเขาจะมาหาเจ้าโดยทางเท้าและโดยอูฐเพรียวทุกตัวที่มาจากทางไกลทั่วสารทิศ * เพื่อพวกเขาจะมาร่วมเป็นพยานในผลประโยชน์ของเขา และกล่าวนามอัลลอฮฺในวันที่รู้กัน...”

(อัล-ฮัจญ์ 27-28)

 

وَالْفَجْرِ ١ وَلَيَالٍ عَشْرٍ ٢

 

 ขอสาบานด้วยยามรุ่งอรุณ * และด้วยค่ำคืนทั้งสิบ

(อัล-ฟัจร์ : 1-2)

 

     อัฏเฏาะบะรีย์ กล่าวว่า: คำว่าค่ำคืนทั้งสิบนั่นคือ 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะห์ ตามมติของปวงปราชญ์(อุละมาอุตตะอฺวีล ที่พิจารณาจากตัวบทหลักฐานมาประกอบการตัดสิน) (ตัฟซีรอัฏ-ฏ็อบรีย์)

 

     อิบนุกะซีร กล่าวว่า : ค่ำคืนทั้ง 10 นั่นหมายถึง 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะห์ คือทัศนะอินุอับบาส อิบนุซซุบัยร์ มุญาฮิด และปราชญ์จากสะลัฟและค่อลัฟ (ตัฟซีรอิบนุกะซีร)

 

          และอัลฮะดีษมากมายที่กล่าวถึงความสำคัญของวันดังกล่าว ดังนี้ รายงานจากอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านร่อซูล ศ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

مَا مِنْ أَيَّامٍ الْعَمَلُ الصَّالِحُ فِيهِنَّ أَحَبُّ إِلَى اللَّهِ مِنْ هَذِهِ الْأَيَّامِ الْعَشَرَةِ قَالُوا : يَا رَسُولَ اللَّهِ ، وَلَا الْجِهَادُ فِي سَبِيلِ اللَّهِ ؟ قَالَ : وَلَا الْجِهَادُ فِي سَبِيلِ اللَّهِ ، إِلَّا رَجُلٌ خَرَجَ بِنَفْسِهِ وَمَالِهِ فَلَمْ يَرْجِعْ مِنْ ذَلِكَ بِشَيْءٍ

 

      ไม่มีวันไหนที่การทำคุณความดีนั้นจะเป็นที่โปรดปรานยิ่ง ณ. ที่อัลลอฮฺมากไปกว่า 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะห์

      บรรดาศ่อฮาบะห์ถามว่า: “ โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ! แม้กระทั่งการญิฮาด (ต่อสู้ในหนทางเพื่ออัลลอฮฺ)กระนั้นหรือ?” 

     ท่านตอบว่า : “แม้กระทั่งการญิฮาดไม่อาจเทียบได้ ยกเว้นในกรณีที่บุคคลหนึ่งออกไปพร้อมด้วยทรัพย์สินของเขา แล้วไม่ได้มีอะไรกลับมาเลย(เสียชีวิตในสงคราม ทรัพย์สินก็ถูกข้าศึกยึดไป)”

(บันทึกโดย อบูดาวูด)

 

     รายงานจากอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า : ท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

ما مِن أيَّامٍ أَعظَمَ عِندَ اللهِ، ولا أَحَبَّ إلَيهِ مِنَ العملِ فيهِنَّ مِن هذِه الأَيَّامِ العَشرِ؛ فأَكثِرُوا فيهِنَّ مِنَ التَّهليلِ، والتَّكبيرِ، والتَّحميدِ

 

      ไม่มีวันใด ที่การทำคุณความดีจะยิ่งใหญ่และเป็นที่รักยิ่ง ณ.ที่อัลลอฮฺ มากไปกว่า 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะห์ ดังนั้นพวกท่านจงกล่าวคำตะห์ลี้ล (ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ) คำตักบีร (อัลลอฮุอักบัร) และคำตะห์มีด (อัลฮัมดุลิลลาฮฺ) ในวันดังกล่าวให้มาก ๆ เถิด

(บันทึกโดย อะห์มัด)

 

     รายงานจากท่านหญิงอาอิชะห์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า: ท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

مَا مِنْ يَوْمٍ أَكْثَرَ مِنْ أَنْ يُعْتِقَ اللَّهُ فِيهِ عَبْدًا مِنْ النَّارِ مِنْ يَوْمِ عَرَفَةَ ، وَإِنَّهُ لَيَدْنُو ثُمَّ يُبَاهِي بِهِمْ الْمَلَائِكَةَ ، فَيَقُولُ : مَا أَرَادَ هَؤُلَاءِ

 

      ไม่มีวันใดที่อัลลอฮฺจะทรงปลดปล่อยบ่าวผู้หนึ่งให้ผลจากไฟนรก มากไปกว่าวันอะร่อฟะห์ เพราะแท้จริงพระองค์จะทรงเข้าใกล้และกล่าวชื่นชมพวกเขาต่อหน้าบรรดามะลาอิกะห์ว่า พวกเขาเหล่านั้นประสงค์สิ่งใดกัน ?”

(บันทึกโดย มุสลิม)

 

2 : ความพิเศษของวันดังกล่าวที่ต่างกับวันอื่นๆ

 

2.1: สิ่งใดที่อัลลอฮฺได้ทรงสาบานไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ ย่อมหมายถึงสถานะความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของสิ่งๆ นั้น บางถึงว่ามีความสำคัญต่อบ่าวของพระองค์ ดังในซูเราะห์ อัลฟัจร์ 1-2 ที่มีความว่าขอสาบานด้วยรุ่งอรุณและด้วยค่ำคืนทั้ง 10”

 

2.2 : ดำรัสของอัลลอฮฺในซูเราะห์ อัลฮัจญ์ อายะห์ที่ 28 พระองค์ทรงใช้ให้รำลึกถึงพระองค์มากๆ โดยขนานนามนั้นว่าวันต่าง ๆ ที่รับรู้กันและปราชญ์ส่วนใหญ่หมายถึง 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะห์

 

2.3 : การงานต่างๆ (คำพูดและการกระทำ) ในวันดังกล่าวเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงโปรดปรานยิ่ง ดังที่ปรากฏในฮะดีษของอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ที่ท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ มีความว่า :

      ไม่มีวันใด ที่การทำคุณความดีจะยิ่งใหญ่และเป็นที่รักยิ่ง ณ.ที่อัลลอฮฺ มากไปกว่า 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะห์ ดังนั้นพวกท่านจงกล่าวคำตะห์ลี้ล (ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ) คำตักบีร (อัลลอฮุอักบัร) และคำตะห์มีด(อัลฮัมดุลิลลาฮฺ) ในวันดังกล่าวให้มากๆ เถิด 

(บันทึกโดย อะห์มัด)

 

2.4 : ใน 10 วันดังกล่าวจะมีวันตัรวียะห์ (วันที่ 8 ของเดือนฮัจญ์) ที่เป็นวันเริ่มต้นของพิธีฮัจญ์อันยิ่งใหญ่

 

2.5 : ใน 10 วันดังกล่าวมีวันอะร่อฟะห์ (วันที่ 9 ของเดือนฮัจญ์) เป็นวันอันยิ่งใหญ่ที่เราควรภูมิใจในคุณความดีอันประเสริฐมากมาย วันแห่งการลบล้างความผิด การอภัยโทษ การปลดปล่อยบ่าวจากนรก 

     วันที่พระองค์อัลลอฮฺจะทรงประกาศชมเชยบ่าวของพระองค์ต่อบรรดามะลาอิกะห์ว่าพวกเขาเหล่านั้นประสงค์สิ่งใดกัน?” 

     (กล่าวคือพระองค์จะทรงภูมิใจเมื่อเห็นปวงบ่าวที่วุกู๊ฟ ณ.ทุ่งอะร่อฟะห์ ขอุอาอ์กันตั้งแต่รุ่งอรุณจนถึงตะวันตกดิน ส่วนบ่าวที่ไม่ได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ จะถือศีลอดและทำความดีต่างๆ มากมาย แล้วจะไม่ให้พระองค์ชมเชยได้อย่างไร)

 

2.6 : ใน 10 วันดังกล่าว มีค่ำคืนแห่งการรวม คือค่ำที่ 10 ซึ่งบรรดฮุจญาจญ์จะมาพักแรมที่มุซดะลิฟะห์ แล้วเดินทางกลับไปยังทุ่งมินาในคืนเดียวกัน

 

2.7 : ใน 10 วันดังกล่าวมีศาสนพิธีอันยิ่งใหญ่คือ อัลฮัจญ์ ถือเป็นศาสนบัญญัติที่รวบรวมซึ่งการเสียสละทุกอย่าง (ทั้งร่างกายและทรัพย์สิน) แล้วยังมีองค์ประกอบที่เป็นอะมั้ลต่างๆ รวมอยู่ เช่นการละหมาด ดุอาอ์และทำศ่อดะเกาะห์ เป็นต้น

 

2.8 : ใน 10 วันดังกล่าว มีวันอันนะหฺร์ (วันที่ 10 ซุลฮิจญะห์) ที่มีความประเสริฐและยิ่งใหญ่อีกวันหนึ่ง

     ดังรายงานจากอับดุลลอฮ์ บินกุรฏฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

إِنَّ أَعْظَمَ الأَيَّامِ عِنْدَ اللَّهِ تَبَارَكَ وَتَعَالَى يَوْمُ النَّحْرِ ثُمَّ يَوْمُ الْقَرِّ

 

วันต่างๆ ทั้งหลาย ที่ประเสริฐสุดนั้นคือวันอันนะหฺร์ (วันเชือด คือวันที่ 10) รองมาคือวันอัลก็อรฺ (11-13ซุ้ลฮิจญะห์)”

(บันทึกโดย อบูดาวูด)

 

 วันอัลก็อรฺ คือวันที่พักอยู่กับ คือวันที่บรรดาผู้แสวงบุญพำนักที่ทุ่งมีนา

อิบนุตัยมียะห์ กล่าวว่า : วันที่ประเสริฐสุดคือ วันอันนะหฺร์ (วันเชือด)

นักวิชาการท่านอื่น กล่าวว่า : วันที่ประเสริฐที่สุดคือ วันอะร่อฟะห์

       ทรรศนะที่มีน้ำหนักมากคือทัศนะของอิบนุตัยมียะห์ กล่าวคือพิธีกรรมต่างๆ ของบรรดาผู้แสวงบุญจะรวมกันอยู่ในวันนั้น ซึ่งไม่สามารถทำแทนในวันอื่นได้ เช่นการพักแรมที่มุซดะลิฟะห์ การเชือด การโกนศรีษะ การฏ่อว้าฟอิฟาเฎาะห์ 

(มัจญ์มัวอฺ ฟะตาวา)

อิบนุลก็อยยิม กล่าวว่า : วันที่ประเสริฐสุดในรอบปีคือวันอันนะหฺร์ 

(ซาดุ้ลมะอาด)

 

2.9 : ใน 10 วันดังกล่าวมีพิธีอัลฮัดย์ (สำหรับฮุจญาจญ์) และอัลอุฎฮียะห์ (สำหรับมุสลิมทั่วไปที่มิได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์)

 

2.10 : 10 วันดังกล่าวมีความประเสริฐกว่า 10 วันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน

     อิบนุตัยมียะห์ ถูกถามเกี่ยวกับคำถามนี้ว่า 10 วันไหนประเสริฐกว่ากัน?

     ท่านตอบว่า 10 วันของเดือนซุลฮิจญะห์ (เวลากลางวัน)ประเสริฐกว่า 10 วันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนแต่ 10 คืนสุดท้ายในเดือนเราะมะฎอน ประเสริฐกว่า 10 ค่ำคืนของเดือนซุลฮิจญะห์ (กล่าวคือเวลาในช่วงกลางวัน 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะห์ประเสริฐกว่าดีกว่า แต่ในยามค่ำคืน 10 คืนสุดท้ายในเดือนเราะมะฎอนประเสริฐกว่า)

 

2.11 : 10 วันดังกล่าวถือเป็นวาระและโอกาสสำคัญประจำปีที่มาประจบในแต่ละปี ซึ่งรวบรวมไว้ซึ่งอิบาดะห์สำคัญๆ ณ.ช่วงเวลานั้น

     อิบนุฮะญัร กล่าวว่า : เหตุผลสำคัญที่ทำให้ 10 วันดังกล่าวพิเศษกว่าวันอื่นๆ คืออิบาดะห์ต่างๆ ที่สำคัญจะถูกรวบรวมไว้ ณ.เวลานั้น เช่นการละหมาด การถือศีลอด การเชือดอุฎฮียะห์และอื่นๆ ซึ่งการงานบางชนิดไม่สามารถทำแทนได้ในช่วงเวลาอื่น (ฟัตฮุลบารีย์)

 

2.12 : คุณความดีต่างๆ อีกมากมาย ณ.เวลานั้น ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในผลบุญได้ หากปฏิบัติถูกต้องตามตัวบทที่มีมา โดยไม่ได้แยกแยะหรือจำกัดเพศและวัย แล้วจะมีพิธีกรรมบางอย่างที่พิเศษเฉพาะพิธีฮัจญ์เท่านั้นบุคคลทั่วไปไม่สามารถกระทำได้

 

3: การงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ปฏิบัติ

 

          เป็นที่ทราบแล้วว่า อิบาดะห์ที่เราทำเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺนั้น ไม่ว่าคำพูดหรือการกระทำที่ศาสนาสั่งใช้ มุสลิมจำเป็นจะต้องเคร่งครัดทำตามทุกอย่าง บางอย่างทำได้บางอย่างทำไม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวบทหลักฐานมารับรองในแต่ละเรื่อง เราจะขอนำเสนอเฉพาะอิบาดะห์ (คำพูดและการกระทำ) ที่มีหลักฐานจากอัลกุรอานและตัวบทฮะดีษที่ถูกรับรองสถานะไว้เท่านั้น

 

1 : ซิกรุลลอฮ์ ขอดุอาอ์ และอ่านอัลกุรอานมากๆ

 

وَيَذْكُرُوا اسْمَ اللَّهِ فِي أَيَّامٍ مَّعْلُومَاتٍ

 

และสูเจ้าจงกล่าวนามอัลลอฮฺในวันที่รู้กัน

(อัลฮัจญ์ : 28)

 

     รายงานจากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : 

 

     ไม่มีวันใด ที่การทำคุณความดีจะยิ่งใหญ่และเป็นที่รักยิ่ง ณ. ที่อัลลอฮฺมากไปกว่า 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะห์ ดังนั้นพวกท่านจงกล่าวคำตะห์ลี้ล(ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ) คำตักบีร (อัลลอฮุอักบัร) และคำตะห์มีด (อัลฮัมดุลิลลาฮฺ) ในวันดังกล่าวให้มากๆ เถิด 

(บันทึกโดย อะห์มัด)

          อัลกุรอานและฮะดีษข้างต้น บ่งชี้ถึงการเจาะจงเวลา รูปแบบและชนิดไว้แล้ว เรายังพบการกระทำของศ่อฮาบะห์ สลัฟฟุซซอและห์ ที่ได้ปฏิบัติไว้เป็นรูปธรรมให้เห็น เช่นในช่วงเวลาดังกล่าว พวกเขาจะกล่าวคำตักบีรที่ตลาด ประชาชนทั่วไปก็ทำลักษณะเดียวกัน ตรงนี้เองจึงเป็นที่จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้กล่าวคำตักบีรให้มากๆ ในวันในเวลาดังกล่าวไม่ว่าจะหลังละหมาด ตามทางสัญจร ตลาดหรือที่ใดที่พวกเราไปปรากฏตัว ยกเว้นบางสถานที่ที่ห้ามกล่าว (เช่น ในห้องน้ำ) 

 

          และเช่นเดียวกันมีการส่งเสริมให้ขอดุอาอ์ให้ได้รับสิ่งดีๆ ในช่วงเวลาพิเศษนี้ ฉกฉวยเวลาอันประเสริฐนี้ พร้อมทั้งปรารถนาอย่างแรงกล้าว่าจะได้รับการตอบแทนในสิ่งที่ขอ

 

การตักบีรมี 2 ลักษณะ คือ มุฎลัก (ทั่วๆไป) และมุก็อยยัด (จำกัดหรือเจาะจงเวลา)

♥ มุฏลัก เช่น คำกล่าวตักบีรสามารถกล่าวได้ตลอดเวลาของ 10 วันแรก ไม่เจาะจงเวลาหรือสถานที่

♥ มุก็อยยัด เช่น กล่าวคำตักบีร 3 ครั้งหลังละหมาดฟัรฎู เริ่มตั้งแต่หลังละหมาดศุบฮ์ของวันวุกู๊ฟจนถึงหลังอัศร์ของวันตัชรีกวันสุดท้าย

 

2 : ละหมาดซุนนะห์ (นะวาฟิล) ให้มากๆ เพราะละหมาดซุนนะห์คือสิ่งที่ทำให้เราใกล้ชิดอัลลอฮฺได้ดีที่สุด

 

           ท่านอับดุลลอฮ์ บิน ญารุลลอฮ์ (วะฟาต ฮ..1410) ได้บอกว่า นะวาฟิล (ซุนนะห์ต่างๆ) จะยาเยียวยาฟัรฎูที่บกพร่อง คือสาเหตุที่อัลลอฮฺพอพระทัย คือเหตุที่ดุอาอ์จะถูกตอบรับ คือเหตุให้ได้รับตำแหน่ง ณ. ที่อัลลอฮฺ จะช่วยลบล้างความผิดต่างๆ เพิ่มพูนคุณความดี

 

          ท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ส่งเสริมให้ละหมาดซุนนะห์ชนิดต่างๆ ให้มากๆ ดังมีรายงานจากท่านเซาบาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

عَلَيْكَ بِكَثْرَةِ السُّجُودِ لِلَّهِ ، فَإِنَّكَ لَا تَسْجُدُ لِلَّهِ سَجْدَةً إِلَّا رَفَعَكَ اللَّهُ بِهَا دَرَجَةً وَحَطَّ عَنْكَ بِهَا خَطِيئَةً

 

      ท่านจงสุญูดเพื่ออัลลอฮฺให้มากๆ เพราะทุกครั้งที่ท่านก้มลงสุญูดคราใด ความดีท่านจะเพิ่มขึ้นหนึ่งขั้น ความผิดจะถูกอภัยหนึ่งครั้ง

(บันทึกโดย มุสลิม)

 

3 : การเชือดสัตว์พลี (อุฎฮียะห์) มีบัญญัติให้เชือดสัตว์จำพวก วัว (ควาย) แพะ (แกะ) อูฐ ในวันอีดและวันตัชรีก เมื่อเชือดแล้วให้กินส่วนหนึ่ง และแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน ญาติสนิท มิตรสหายและคนยากจน เป็นการเจริญรอยตามแบบอย่างของท่านรอซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

4 : การบริจาคทาน (ศ่อดะเกาะฮ์) ในทุกรูปแบบให้มากๆ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม เพื่อแสวงหาความพอพระทัยจาก อัลลอฮ และยังเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นอีกด้วย

 

كَرِيمٌ أَجْرٌ وَلَهُ لَهُ فَيُضَاعِفَهُ حَسَنًا قَرْضًا اللَّهَ يُقْرِضُ الَّذِي ذَا مَّن

 

     ใครคือผู้ที่จะให้อัลลอฮฺยืม(บริจาคในหนทางศาสนา) ด้วยการยืมที่ดี แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มพูนผลบุญและเขาจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ (สวรรค์)”

(อัล-ฮะดีด : 11)

 

          เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ ก็จะส่งผลดีต่อสังคม คือการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม ทำให้ผู้ที่ขาดแคลนหรือมีความเดือดร้อน (คนจน คนขัดสน เด็กกำพร้า ผู้ต้องการความช่วยเหลือ) ได้รับในสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทองหรือการช่วยเหลือใดๆ ที่เขาต้องการ เมื่อผู้ทำศ่อดะเกาะห์ได้ทราบถึงผลบุญอันมากมาย เขาก็จะทำด้วยความเคยชิน ด้วยความสมัครใจ และนั่นคือคุณสมบัติหรือลักษณะที่ดีของมุสลิม 

         ดังวจนะของท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม รายงานจากท่านอบีมูซา อัล-อัชอะรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า

 

عَلَى كُلِّ مُسْلِمٍ صَدَقَةٌ، قالوا: فإنْ لَمْ يَجِدْ؟ قالَ :فَيَعْمَلُ بيَدَيْهِ فَيَنْفَعُ نَفْسَهُ ويَتَصَدَّقُ، قالوا: فإنْ لَمْ يَسْتَطِعْ أوْ لَمْ يَفْعَلْ؟ قالَ: فيُعِينُ ذا الحاجَةِ المَلْهُوفَ، قالوا: فإنْ لَمْ يَفْعَلْ؟ قالَ: فَيَأْمُرُ بالخَيْرِ -أوْ قالَ :بالمَعروفِ- قالَ: فإنْ لَمْ يَفْعَلْ؟ قالَ: فيُمْسِكُ عَنِ الشَّرِّ؛ فإنَّه له صَدَقَةٌ

 

จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนต้องทำศ่อดะเกาะห์ 

     บรรดาศ่อฮาบะห์ถามว่า โอ้ท่านนบีของอัลลอฮฺ ! หากคนไม่มีความสามารถจะทำอย่างไรครับ? 

     ท่านร่อซูลตอบว่า : “จงทำงานด้วยตนเองและใช้จ่ายกับตนเอง (มีเหลือค่อยทำเป็นศ่อดะเกาะห์แบ่งปัน) ให้ผู้อื่น 

     บรรดาศ่อฮาบะห์ถามว่า หากไม่มีความสามารถอีกเล่าครับ?

     ท่านร่อซูลบอกว่า : “จงให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีความต้องการ (ด้านกำลัง)” 

     บรรดาศอฮาบะห์ถามว่า : หากไม่มีความสามารถอีกล่ะครับ? 

     ท่านร่อซูลตอบว่า : “ท่านจงสั่งใช้ ส่งเสริมกันในคุณธรรมความดี ยับยั้งห้ามปรามความชั่วสิ่งและที่ผิด และการเช่นนี้ถือเป็นการศ่อดะเกาะห์แล้ว

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)

 

     ท่านอบีซัรริน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้มีความว่า : 

ใบหน้าที่ยิ้มแย้มของท่านต่อเพื่อนมนุษย์ คือศ่อดะเกาะห์

(บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์)

     ช่างเป็นศาสนาที่ดีเสียนี่กระไร แค่เพียงใบหน้าที่ยิ้มแย้มให้กัน ประหนึ่งคือการทำทานแล้ว

 

5 : การถือศีลอด นับเป็นอิบาดะห์ชั้นเยี่ยมอีกชนิดหนึ่งที่มุสลิมควรแสวงหานำมาปฏิบัติ ไม่ว่าในวาระและโอกาสใดก็ตาม อันเนื่องมาจากผลบุญนั้นยิ่งใหญ่จริงๆ กล่าวคือการถือศีลอดซุนนะห์หนึ่งวัน ภาคผลคือการห่างไกลจากไฟนรกถึง 70 ปี (อัลฮะดีษ)

     ภรรยาของท่านฮุนัยด์ บินคอลิด เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า : ภรรยาของท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านหนึ่งได้กล่าวว่า : 

     ท่านร่อซูลจะถือศีลอดในวันที่เก้าของเดือนซุลฮิจญะห์ วันอาชูรอ สามวันกลางเดือนอาหรับ (อัยยามุ้ลบัยฎ์) ของทุกเดือน และวันจันทร์และวันพฤหัสของทุกสัปดาห์

 (บันทึกโดย อบูดาวูด)

 

          ท่านลองคำนวนดูว่า ท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ใน 1 เดือนถือศิลอดกี่วัน? 2 วันต่อสัปดาห์ 8 วันต่อเดือน รวมกับอีก3วันกลางเดือน เท่ากับ 11 วัน คือ 1 ใน 3 ของเดือน ที่ท่านทำเป็นประจำ

 

          การถือศิลอดถือเป็นอิบาดะห์ที่สร้างความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ที่ภาคผลอันมหาศาลถูกสัญญาไว้ โดยเฉพาะในวันที่ 9 เดือนซุลฮิจญะห์ (วันวุกู๊ฟ) ที่ปรากฏในฮะดีษ รายงานจากก่อตาดะห์ อัล-อันซอรีย์เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

يُكَفِّرُ السَّنَةَ المَاضِيَةَ وَالْبَاقِيَةَ

 

 “(ภาคผลของการถือศิลอดในวันอะร่อฟะห์) จะลบล้างความผิดในปีที่ผ่านมาและปีถัดไป

(บันทึกโดย มุสลิม)

 

          ท่านนบี ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และเหล่าศ่อฮาบะห์ จะลงทุนกับอัลลอฮฺด้วยการมุ่งมั่นทำความดี ยืนละหมาดยามค่ำคืน ถือศีลอดเป็นเนืองนิจ ขอลุแก่โทษในความผิดพลาด ทั้งนี้เพื่อหวังความโปรดปรานและรางวัลจากพระองค์ นั่นก็คือสวรรค์นั่นเอง

 

6 : ทำอุมเราะห์ในเดือนซุลฮิจญะห์ ท่านนบีส่งเสริมและสนับสนุนให้ทำในเดือนนี้ บรรดาศ่อฮาบะฮ์ได้ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง รายงานจากอบีฮุรอยเราะห์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านร่อซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

العُمْرَةُ إلى العُمْرَةِ كَفَّارَةٌ لِما بيْنَهُمَا

 

 ระหว่างอุมเราะห์ถึงอุมเราะห์ คือการลบล้างความผิดในช่วงนั้น

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์)

 

7 : ระหว่างการเยือนมักกะห์เพื่อทำอุมเราะห์ ส่งเสริมให้ไปเยือนมัสยิดอันนะบะวีย์ ที่นครมะดีนะห์ด้วย อันเนื่องมาจากหากผลของการละหมาดนที่นั้นประเสริฐกว่าที่อื่นถึง 1000 เท่า ยกเว้นฮะรอมมักกะห์

     จากท่านอบีฮุรอยเราะห์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านรอซูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

صَلَاةٌ فِي مَسْجِدِي هَذَا أَفْضَلُ مِنْ أَلْفِ صَلَاةٍ فِيمَا سِوَاهُ إِلَّا الْمَسْجِدَ الْحَرَامَ

 

 ละหมาดเวลาหนึ่ง ณ.มัสยิดฉันนี้ ประเสริฐกว่าการละหมาดในสถานที่อื่นถึง 1000 เท่า ยกเว้นมัสยิดฮะรอม (มักกะห์)”

(บันทึกโดย มุสลิม)

     เมื่อมาเยือนมัสยิดอันนะบะวีย์แล้วให้ถือโอกาสเยี่ยมกุบูร (สุสาน) ของท่านนบี ซึ่งจะได้รับผลบุญเช่นกัน

 

8 : เตาบะห์ กลับเนื้อกลับตัวสู่อัลลอฮฺ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันและเวลาอันประเสริฐ มนุษย์ควรรีบเร่งสู่ประตูเตาบะห์ ด้วยการสลัดความผิดทั้งปวงที่พลาดมา แล้วตั้งใจมั่นว่าจะไม่กลับไปหามัน อีกพร้อมทั้งตั้งมั่นจริงใจต่ออัลลอฮฺอย่างแน่วแน่ และคาดหวังในสิ่งที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ในคัมภีร์ของพระองค์

 

وَتُوبُوا إِلَى اللَّهِ جَمِيعًا أَيُّهَ الْمُؤْمِنُونَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ

 

"และพวกเจ้าทั้งหลายจงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺเถิด โอ้ผู้ศรัทธา! เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ

(อันนูร:31)

          เตาบะตันนะซูฮา (การกลับตัวที่แท้จริง) ผลก็คือ บาปกรรมความผิดพลาดในอดีตจะถูกลบล้างอย่างหมดสิ้น (ยกเว้นสิทธิของมนุษย์ที่เขาละเมิดไว้ในดุนยา) และจะได้รับสวนสวรรค์ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ เพราะผู้กระทำผิดแล้วกลับตัวนั้น เสมือนไม่มีบาปใดๆ เลย

 

4: บทเรียนที่ได้รับและสมควรนำไปปฏิบัติ

 

     1 : คำสอนของท่านนบีที่ส่งเสริมให้ประกอบคุณความดีใน 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะห์ คือสิ่งที่อัลลอฮฺทรงโปรดมากที่สุดรักที่สุด หากมนุษย์สำนึกในสิ่งนี้ว่าหนึ่งปีจะมีครั้งเดียวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เฝ้าคอยการมาถึงแน่นอนเราจะต้องฉกฉวย ไขว่คว้ามันด้วยการประกอบคุณความดีที่ท่านนบีสนับสนุนไว้ (ทั้งคำพูดและการกระทำที่ระบุไว้ข้างต้น) เพราะมันคือการเข้าใกล้ชิดอัลลอฮฺ ทำให้จิตใจมนุษย์เพิ่มจิตวิญญาณในทุกๆ ด้านพร้อมที่จะเผชิญชีวิตข้างหน้าในทุกรูปแบบ

 

     2 : คำแนะนำของท่านนบีด้านการดำเนินชีวิต มุสลิมต้องตระหนักว่าวาระโอกาสต่างๆ นั้นเราจะต้องปฏิบัติมันให้ได้ ทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา (ทำด้วยความเต็มใจไม่เหนื่อยล้า) หากมันสัมฤทธิ์ผลขึ้นมาแน่นอนชีวิตเราจะเปลี่ยนไปทันทีเป็นคนใหม่ (ที่มีนิสัยรักและชอบในการปฏิบัติคุณความดีต่างๆ) การดำเนินชีวิตของเราจะเริ่มดีขึ้น(ทั้งคำพูดและการกระทำ) เพราะในสภาพเช่นนี้เมื่อวาระแห่งการทำความดีใดๆ ผ่านเข้ามาเราจะทำมันด้วยความคุ้นเคย ไม่เหนื่อยล้า

 

     3 : ตลอดระยะเวลา วิถีชีวิตของเราจะใกล้ชิดติดต่อกับพระผู้สร้างอย่างต่อเนื่อง ด้วยการทำอิบาดะห์นานาชนิดสัจจริงกับพระองค์ ชีวิตลักษณะนี้แน่นอนเหลือเกินว่า มันจะเข้าข่ายคำพูดที่ว่า : “วิถีชีวิตมุสลิมที่แท้จริงจะอยู่กับพระเจ้าตั้งแต่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ

          ดังคำกล่าวของอบูฮามิด อัล-ฮาชิมีย์ ในนิยามอิบาดะห์ไว้ว่า : “อิบาดะห์ คือการขัดเกลาจิตใจด้วยคำสอนของอิสลาม ที่มีช่วงเวลาอันสั้นผ่านมาในชีวิตไปมาอย่างรวดเร็ว คือที่ที่จิตใจของมนุษย์ได้เข้ามาสัมผัสเพื่อเข้าสู่สัมพันธ์กับพระผู้สร้างอย่างต่อเนื่อง หรืออีกนัยยะหนึ่งคือการปลีกตัวเองและจิตใจในเวลาสั้น เพื่อหาความบริสุทธิ์และปลอดภัย

 

     4 : อิบาดะห์ต่างๆ ที่ครอบคลุมคำว่าเชื่อฟังและปฏิบัติตามนั้นเป็นการแสวงหาความโปรดปรานเพื่อพระพักตร์ของอัลลอฮฺ ทั้งคำพูดและการกระทำ ภายใต้คำที่ว่าอัลอะมะลุศศอลิหฺการงานที่ดี บ่งถึงงานชนิดใดก็ได้ มิได้เจาะจงโดยเฉพาะ ดังนั้นคำพูด การกระทำใดใดที่เป็นงานดีเข้าข่ายคำว่าอัลอะมะลุศศอลิหฺทั้งหมด เราสามารถกระทำได้นอกเหนือจากการงานที่ระบุไว้ชัดเจนในตัวบทฮะดีษ ทั้งนี้เพื่อให้เราสามารถทำคุณความดีได้ในหลายๆ รูปแบบ

 

     5 : ในช่วงเวลานี้ คือโอกาสแห่งการแข่งขันในการทำคุณความดีเท่าที่สามารถทำได้ จากฟัรฎูต่างๆ และซุนนะห์มากมาย เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของมุสลิมทุกคนในโลกหน้า คือชัยชนะอันยิ่งใหญ่ (สวนสวรรค์) และออกห่างจากการขาดทุนที่ชัดเจน (ลงโทษในนรก)

 

     6 : อิสลามให้ความสำคัญ ให้ความยิ่งใหญ่กับรุก่นที่ห้า (การทำฮัจญ์) ซึ่งแสดงให้เห็นการเป็นมุสลิมที่เด่นชัด ในการสลัดทิ้งเรื่องราวของดุนยาและความต้องการต่างๆ ปลดตัวเองออกจากดุนยา จิตใจจะอิ่มเอิบเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำที่ท่านนบีชี้แนะไว้ในฮะดีษต่างๆ (คือผลตอบแทนที่เค้าจะได้รับจากพิธีฮัจญ์นี้) มันยังเป็นแรงผลักดันให้เขาทำโดยไม่รู้สึกเหนื่อยล้า เพราะเขาทราบดีถึงความยิ่งใหญ่ของการทำฮัจญ์นั่นเอง

 

     7 : สิ่งที่มุสลิมจะได้รับคือการเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูซุนนะห์และเจริญรอยตามแบบอย่างของท่านนบีและบัญญัติอื่นๆ ตลอดการดำรงชีวิตของเขา ตราบใดที่ประตูแห่งคุณความดีเปิดกว้างรอรับการเข้ามาเก็บเกี่ยวของมวลมุสลิม ตลอดช่วงการดำรงชีวิตของเขาในดุนยาตั้งแต่เกิดจนถึงหลุมฝังศพ

 

          ท่านผู้อ่านที่เคารพรักความประเสริฐของ 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะห์ที่ได้นำเสนอข้างต้น ทั้งหมดชี้ให้เห็นถึงความคุณความดีอันมากมายที่ได้รับการส่งเสริมให้มุสลิมกระทำอย่างจริงจัง ซึ่งภาคผลผลของมันยิ่งใหญ่นัก พร้อมทั้งข้อคิดและบทเรียนต่างๆ ที่คิดว่าคงจะยังประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้อ่านและมุสลิม ในการเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่การเข้าใกล้ชิดศาสนาด้วยอิบาดะห์ด้านต่างๆ พร้อมทั้งหวังว่าช่วงเวลาที่เหลืออยู่ในช่วงเวลาที่ว่างจากงานประจำ เขาคงคิดถึงอยากจะปฎิบัติการงานต่างๆ ที่เขาเคยได้ปฏิบัติไว้ในช่วงเดือนซุลฮิจญะห์

 

          หวังจากอัลลอฮฺ อย่างมุ่งมั่นว่าพระองค์จะทรงช่วยเหลือเราในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น (ทั้งคำพูดและการกระทำ) ขอพระองค์โปรดทรงประทานความสำเร็จ ความง่ายดาย ความสุขสบายแก่ประชาชาติมุสลิมโดยทั่วกัน

วัสสลาม

 


อ้างอิง

~ ตัฟซีร อัสสะอฺดีย์

~ กุรอานพร้อมความหมาย ของสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ

~ www.alukah.net

~. www.islamway.net

~. www.Islamhouse.com

~. www.islammore.com