คำพูดสัมพันธ์กับความรู้
อุมมุอัฟว์....แปลเรียบเรียง
- เชคสุลัยมาน อัรรุฮัยลีย์ ฮะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ -
ส่วนหนึ่งของการมีคำพูดที่ดีก็คือ การใช้คำพูดที่ดีกับผู้คน พูดกับแต่ละคนให้เหมาะสมกับระดับสถานะของพวกเขา ดังนั้น เวลาที่เอ่ยคำสนทนากับผู้รู้ ก็จะไม่เหมือนกับสนทนากับคนไม่รู้ทั่วไป สนทนากับผู้อาวุโส ก็จะต่างกับสนทนากับเด็ก และเด็กก็จะไม่สนทนากับผู้ใหญ่เหมือนกับว่าเป็นเพื่อนเล่นกัน นี่คือสิ่งที่ควรจะมีอยู่ในทุกๆ เรื่อง
แล้วนับประสาอะไรกับเรื่องของวิชาการและเรื่องของศาสนา ?
ทุกวันนี้วัยรุ่นคนอายุน้อย พากันพูดโต้ตอบกับอุละมาอฺอาวุโสที่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺอย่างไร้มารยาท คุณเป็นอย่างนั้น คุณเป็นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่พวกเขาเทียบได้ไม่ถึง 10% ของวิชาความรู้และจรรยามารยาทที่ผู้รู้เหล่านั้นมี พวกเขาไม่ได้รับการเลี้ยงดูปลูกฝังตามแนวทางซุนนะฮฺ ไม่รู้จักแนวทางของท่านบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม
คำพูดที่ดี คือ การใช้คำในการสนทนาที่เหมาะสมกับสถานะของแต่ละคน ใช้ถ้อยคำที่คนยินดีชื่นชอบ หากท่านทราบว่าคู่สนทนาชอบให้ใช้ชื่อเล่น ก็ใช้ชื่อเล่น หากทราบว่าเขาชอบให้ใช้ชื่อจริง ก็ใช้ชื่อจริง นี่คือความงดงามของศาสนานี้
ชนชาวสลัฟ –ขออัลลอฮฺทรงพอพระทัยพวกเขา- คือผู้ที่เจริญรอยตามแบบอย่างนี้อย่างขมักเขม้นจริงจังที่สุด ขณะที่พวกเรากลับเป็นผู้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการศึกษาจรรยามมารยาท
เมื่อชาวสลัฟต่างกล่าวว่า “ทุกวันนี้เราจำเป็นต้องศึกษาเรื่องมารยาทยิ่งกว่าศึกษาเรื่องวิชาการ”
แล้วนับประสาอะไรกับยุคสมัยนี้ ?! คนอายุไม่เท่าไหร่จาบจ้วงล่วงเกินคนอายุมากกว่า ใช้วาจาไม่เหมาะไม่ควรกับคนที่อาวุโสกว่า หากว่าพวกเขายังไม่ยุติ ฉันก็อดคิดไม่ได้ว่า บทลงโทษสำหรับพวกเขาในโลกดุนยานี้ คงช่างเลวร้ายจริงๆ ผู้ที่ไม่ดำรงตนตามบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ก็อย่าได้หลงตัวว่าอัลลอฮฺจะทรงปกปิดความผิดให้
ขออัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงโปรดชี้นำเราทุกคน “จงใช้คำพูดที่ดี คำพูดที่ดีนับเป็นกุศลทาน”
- ท่านลุกมาน อัลหะกีม -
ลูกรัก ..จงอย่าได้แสวงหาความรู้
เพื่อยกตนโอ้อวดกับบรรดาผู้รู้ หรือเพื่อโต้แย้งกับคนไม่รู้
หรือเพื่อเป็นที่เชิดหน้าชูตา อยากให้คนเชยชมในที่ชุมนุมเลย
-เชค ซอและห์ อัลอุศ็อยมีย์ ฮะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ-
การเร่งรีบที่จะแสดงความคิดเห็นในทุกประเด็น ทุกเวทีนั้น เป็นการบ่งบอกถึงความอ่อนด้อยของสติปัญญา และความเปราะบางของการมีศาสนา เพราะปัญญาชนผู้มีศาสนานั้น สมองและศาสนาจะคอยหักห้ามขัดขวางเขาไว้ ไม่ให้พร่ำพูดออกไปโดยปราศจากการทบทวน ไตร่ตรอง ในทันทีที่เหตุการณ์ปรากฏ หรือในจังหวะที่เผชิญกับสถานการณ์ตรงหน้า
- อิมาม อัลอัลบานีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -
โรคหนึ่งของวัยรุ่นมุสลิมในยุคนี้ก็คือ การที่พวกเขาเพียงสาว่า ตนเองพอจะมีความรู้ในอะไรบางอย่าง ซึ่งไม่เคยได้ทราบมาก่อน พวกเขาก็พากันทูนมันไว้เหนือหัว และคิดเข้าข้างตัวเองว่า ตนมีความรู้อยู่รอบด้าน ความหลงตน กระหยิ่มยิ้มย่อง ลำพองตน ได้เข้ามาครอบงำพวกเขา ซึ่งเราเกรงเหลือเกินว่าพวกเขาจะเข้าข่าย คำพูดของท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า:
"สามประการ ที่ได้รับความหายนะ คือ
ความตระหนึ่ ที่ถูกน้อมนำ
อารมณ์ใฝ่ต่ำ ที่ถูกคล้อยตาม
และผู้เป็นเจ้าของความคิดแต่ละคน ที่หลงชื่นชอบกระหยิ่มใจกับความคิดเห็นของตนเอง
(บันทึกโดย อิมาม อัฏฏ่อบะรอนีย์)
๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔ ๔