“การลงทุน” และ “การเก็งกำไร” ในหุ้นสามัญตามหลักอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  4900

 

การลงทุนและการเก็งกำไรในหุ้นสามัญตามหลักอิสลาม

 

สมีธ อีซอ

 

          “หุ้นเป็นตราสารการเงินที่มีหลากหลายประเภท ข้อตัดสินตามหลักอิสลามจึงขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทนั้น สำหรับ หุ้นสามัญ เป็นสิ่งที่อนุญาตตามหลักอิสลามในการลงทุน โดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ เพิ่มเติม สำหรับ หุ้นกู้ เป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนา ด้วยเหตุผลการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตอบแทน ซึ่งไม่ต่างกับการให้กู้ทั่วไปโดยกำหนดดอกเบี้ยตอบแทน 

 

การได้รับผลตอบแทนในหุ้นสามัญ 

  1. การลงทุน (Investment اَلْاِسْتِثْمَار) ในหุ้นสามัญ คือ ผู้ลงทุนหวังผลตอบแทนในเงินปันผล” (Dividend) กล่าวคือ ลงทุนซื้อหุ้นบริษัทหนึ่ง เพื่อหวังเงินปันผลจากหุ้นเมื่อถึงกำหนดปลายปี ซึ่งไม่มีเจตนาที่จะขายหุ้นต่อ

  2. การเก็งกำไร (Speculation اَلْمُضَارَبَة) ในหุ้นสามัญ คือ ผู้ลงทุนหวังผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาหุ้นที่ซื้อมากับการที่จะขายไป” (Capital Gain) กล่าวคือ ลงทุนซื้อหุ้น เพื่อหวังให้ราคาหุ้นสูงขึ้น และทำการขายต่อไป 

 

การลงทุน (Investment اَلْاِسْتِثْمَار) ในหุ้นสามัญ

 

ข้อตัดสิน

          ถ้าหากบริษัทดำเนินการในธุรกิจและมีธุรกรรมที่อนุมัติ (ฮาลาล) ปราศจากข้อห้าม (ฮารอม) ตามหลักการของศาสนา ก็จะถือว่าหุ้นของบริษัทนั้น เป็นสิ่งที่อนุญาต ดังนั้น การลงทุนในการซื้อหุ้นดังกล่าวจึงไม่เป็นสิ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติ  และถือว่าบริษัทเหล่านี้อยู่ในเรื่องของสิ่งที่ดี (طَيِّبَٰتِ) ที่อัลลอฮ์ ซบ. ทรงอนุญาต ดังโองการอัลกุรอานที่กล่าวไว้ว่า 

 

يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُلُواْ مِن طَيِّبَٰتِ مَا رَزَقۡنَٰكُمۡ وَٱشۡكُرُواْ لِلَّهِ إِن كُنتُمۡ إِيَّاهُ تَعۡبُدُونَ

 

     บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงบริโภคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า จากสิ่งดี ๆ ทั้งหลาย และจงขอบคุณอัลลอฮ์เถิด หากเฉพาะพระองค์เท่านั้น ที่พวกเจ้าจักเป็นผู้เคารพสักการะ

(البقرة 172)

 

          เปรียบเสมือนกับสินทรัพย์ในธุรกรรมของบริษัทนั้นเป็นที่อนุมัติและการออกหุ้นการซื้อการขายหุ้นของบริษัทร่วมลงทุนมีเป้าหมายและมีกิจกรรมที่อนุญาตจึงเป็นสิ่งทีอนุญาตตามบทบัญญัติอิสลามดังโองการอัลกุรอานที่กล่าวไว้ว่า

 

وَأَحَلَّ ٱللَّهُ ٱلۡبَيۡعَ وَحَرَّمَ ٱلرِّبَوٰاْۚ

 

และอัลลอฮฺนั้นทรงอนุมัติการขาย และทรงห้ามการเอาดอกเบี้ย

(البقرة 275)

 

การเก็งกำไร (Speculation اَلْمُضَارَبَة) ในหุ้นสามัญ

 

ข้อตัดสิน

          นักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันในการเก็งกำไรหุ้นสามัญของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่ถูกต้องตามหลักการอิสลามทั้งในด้านกิจกรรมและธุรกรรมแบ่งออกเป็น 2 ทัศนะ

 

กลุ่มทัศนะที่หนึ่ง 

ถือว่าเป็นสิ่งที่ ไม่อนุญาต โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. การซื้อหุ้นเพื่อเจตนาขายต่อ (การเก็งกำไร) นำพาไปสู่การแลกเปลี่ยนเงินในระยะเวลาสั้น ๆ ระหว่างการซื้อขาย กล่าวคือ การนำเงินจำนวนหนึ่งไปแลกกับจำนวนหนึ่งโดยที่มีจำนวนไม่เท่ากัน (ราคาซื้อ-ขาย) ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติอิสลาม

  2. ไม่ได้ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษกิจ จากกระบวนการขายที่รวดเร็ว

  3. กำไร เกิดจากปัจจัยที่ไม่ปรกติ เช่น ข่าวลือ และอื่น ๆ

  4. เป็นช่องทางการเดิมพันโดยใช้ชื่อการเก็งกำไร

 

กลุ่มทัศนะที่สอง

ถือว่าเป็นสิ่งที่อนุญาต โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

1, จากทัศนะที่กล่าวว่า การซื้อหุ้นเพื่อขายนั้น จะนำพาไปยังการแลกเปลี่ยนเงินสด (จำนวนเงินที่ไม่เท่ากัน) 

ตอบ 

          คำกล่าวอ้างดังกล่าว เป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับลักษณะของหุ้นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หุ้นสามัญ เป็นตัวแทนของส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน จึงถือว่าไม่ได้เป็นการแลกเปลี่ยนเงินกับเงิน แต่ทว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเงินกับสินทรัพย์ 

          และ หุ้นสามัญ (ตัวแทนสินทรัพย์) ได้ถูกกำหนดค่า ในขณะที่ขายต่อไป มีมูลค่ามากกว่ามูลค่าในตอนที่ซื้อ กล่าวคือ ในกรณีที่มีการขายต่อหุ้นสามัญ และได้รับกำไรส่วนต่างมา เพราะเนื่องจากในขณะที่ขายมูลค่าของหุ้นสูงกว่าตอนที่ซื้อ นั่นหมายถึง มูลค่าของสินทรัพย์มีค่าสูงขึ้นกว่าตอนที่ซื้อ ซึ่ง หุ้นสามัญ เป็นตัวแทนที่ครอบคลุมถึงสินทรัพย์ วัตถุ ผลประโยชน์ที่มาจากเงินสด และหนี้สินของบริษัท

          ลักษณะของหุ้นสามัญนั้น มีมูลค่า โดยภาพลักษณ์ภายนอกของหุ้นสามัญสามารถแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งการแลกเปลี่ยนนั้น อยู่ในการเปรียบเทียบกับมูลค่า กล่าวคือ การแลกเปลี่ยน หรือ การซื้อขายหุ้นสามัญนั้น คือ การแลกเปลี่ยนในมูลค่าของสินทรัพย์นั่นเอง

 

2, จากทัศนะที่กล่าวว่าการซื้อหุ้นเพื่อเจตนาขายต่อโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้รับส่วนต่างของราคาหุ้นนั้นไม่ได้เกิดมูลค่าที่แท้จริงใดๆเลย 

ตอบ 

          คำพูดดังกล่าว ขัดแย้งต่อความเป็นจริง เพราะการซื้อหุ้นเพื่อเจตนาในส่วนต่างของราคา ความต่างของราคาเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของกิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ โดยพิจารณาในกระบวนการการดำเนินงานก่อนหน้านี้ ดังนั้น การเคลื่อนไหวของกิจกรรมทางธุรกิจ ทำให้เกิดมูลค่าที่แท้จริง

 

3, จากทัศนะที่กล่าวว่า การซื้อหุ้นเพื่อเจตนาขายต่อนั้น นำไปสู่การสร้างกำไรที่มาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ผิดปรกติ 

ตอบ 

          คำกล่าวดังกล่าวถูกปฏิเสธ เพราะแท้จริง ทุก ๆ ปัจจัยที่มีมาในธุรกรรมการค้าส่วนบุคคล ซึ่งไม่ได้ส่งผลกับข้อตัดสินทางกฎหมาย 

 

4, จากทัศนะที่กล่าวว่า การซื้อหุ้นโดยมีเจตนาขายต่อนั้น มันส่งผลให้เกิดผลเสีย อันเกิดมาจากการแลกเปลี่ยนที่เร็ว และการเก็งกำไร

ตอบ 

          เป็นคำกล่าวที่ถูกปฏิเสธ การที่จะเกิดเรื่องดังกล่าวนั้น ก็ต่อเมื่อผู้ลงทุนเผิกเฉยต่อข้อกฏเกณฑ์ตามหลักศาสนาของการขายหุ้น เช่น การขายที่ผู้ลงทุนขายหุ้นต่อ โดยบริษัทยังไม่ได้เปลี่ยนเงินทุนเป็นทรัพย์สิน ในช่วงเริ่มก่อตั้งบริษัทหลังจากที่ระดมเงินทุนมา กล่าวคือ เท่ากับเป็นการขายเงินด้วยกับเงิน ไม่ใช่เงินกับทรัพย์สินตามหลักการขายหุ้น และในกรณีผู้ลงทุนขายหุ้นต่อในขณะที่บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ก็จะถือว่าเป็นการขายหนี้ (ซึ่งรูปแบบการขายหนี้ส่วนใหญ่เป็นสิ่งต้องห้าม) 

  1. การซื้อหุ้นเพื่อเจตนาขายต่อนั้น คือ การสร้างสภาพคล่องของส่วนบุคคล โดยทำการลงทุนในหุ้นส่วนของบริษัท ดังนั้น การเข้ามาในบริษัทด้วยกับวิธีที่ถูกต้องตามหลักศาสนา ฉะนั้น การออกจากบริษัทก็ถูกต้องตามหลักศาสนาด้วยเช่นกัน (การซื้อหุ้นการขายหุ้น) โดยที่ไม่ได้มีการกำหนดเวลาเฉพาะ เช่น หลายปี หลายเดือน หลายวัน ซึ่งผู้ถือหุ้นจะยังคงอยู่ในบริษัทอย่างปรกติ กล่าวคือ โดยทั่วไป อายุไถ่ถอนของหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิมีอายุเท่ากับอนันต์ นั่นหมายถึง ดำรงอยู่ตลอดไปตามอายุของกิจการของผู้ออกตราสารทุน (บริษัท)

  2. บางกรณี ผู้ลงทุนซื้อหุ้นเพื่อเจตนาขายต่อบุคคลที่ 3 โดยไม่มีกำไร หรือได้ส่วนต่างจากราคา ทำให้เขารอดพ้นจากการขาดทุนเมื่อราคาหุ้นลดลง ซึ่งการที่ราคาหุ้นลดทำให้ผู้ลงทุนมีความกลัวจะเกิดผลเสียถ้าหากยังถือหุ้นเอาไว้ในขณะที่มีคนต้องการจะซื้อ ดังนั้น ไม่มีหลักฐานข้อห้ามใด ๆ ตามหลักศาสนาในการขายหุ้นออกไป โดยการขายนั้นเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของศาสนา ห่างไกลจากความคลุมเครือ และการหลอกลวง

 

          กลุ่มทัศนะที่ 2 กล่าวว่า การซื้อหุ้นเพื่อขายต่อ โดยการเก็งกำไรราคาส่วนต่างนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์เกิดขึ้นจากความอิสระ และความถูกต้องที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีความยินดีพอใจซึ่งกันและกัน ดังนั้น บุคคลที่อ้างว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ก็จะต้องมีหลักฐานในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น พื้นฐานเดิมของธุรกรรมเป็นสิ่งที่อนุญาต และการซื้อขายหุ้นก็เป็นสิ่งที่อนุญาตในบทบัญญัติอิสลาม ไม่ว่าผู้ซื้อจะครอบครองหุ้นเอาไว้เพื่อหวังปันผลปลายปี หรือจะขายต่อไปเมื่อราคาหุ้นสูงขึ้นหลังจากที่ได้ครอบครองแล้วก็ตาม 

 

 

 

อ้างอิง

الإستثمار والمضاربة في الأسهم والسندات من منظور الإسلامي , دكتور أشرف محمد دوابه , مكتب دار السلام , ص 93-98