ยาแก้โรค...ซึมเศร้า..แก้ได้จริงหรือ!
  จำนวนคนเข้าชม  17388

ยาแก้โรค...ซึมเศร้า..แก้ได้จริงหรือ!

         คณะกรรมการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Bureau of Economic Research) รายงานว่าสหรัฐฯ ต้องใช้งบประมาณ 20,000 ล้านดอลล่าร์ กับการซื้อยากลุ่ม SSRI เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายของประชาชนในประเทศ

          ข้อมูลจาก IMS Health รายงานว่าในปี 2007 สหรัฐฯ ใช้เงินซื้อยาต้านอารมณ์เศร้า 232.7 ล้านดอลล่าร์ ให้แก่ประชาชนของตนเอง และส่งออกยาต้านอารมณ์เศร้าไปทั่วโลก 11.9 พันล้านดอลล่าร์

          ยากลุ่ม เอส เอส อาร์ ไอ (SSRI  ย่อมาจาก Selective Serotonin Reuptake Inhibitior) คือยาต้านอารมณ์เศร้ากลุ่มใหม่ที่มีฤทธิ์ข้างเคียงน้อยกว่า ยาต้านอารมณ์เศร้ากลุ่มดั้งเดิม เป็นยาที่ผลิตขึ้นมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และถูกพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลดีในการรักษาโรคซึมเศร้า แต่มีฤทธิ์ข้างเคียงมาก เช่น ง่วงนอน หน้ามืด ปากแห้ง และท้องผูก เป็นต้น

          ยากลุ่ม เอส เอส อาร์ ไอ ตัวแรกเดินทางมาถึงเมืองไทยประมาณก่อนปี 2540 ราคาเม็ดละ 50 บาท ราคาหลังฟองสบู่แตกเพราะวิกฤตเศรษฐกิจเม็ดละ 90 บาท ปัจจุบันยาตัวนี้พ้นสิทธิบัตรแล้วจึงผลิตได้ในประเทศไทย ชื่อสามัญของยาตัวนี้คือ ฟลูออกเซทิน ราคาปัจจุบันเม็ดละ 1-2 บาท และมีคุณภาพเทียบเท่าของต่างประเทศ

         ตอนที่ยาแก้โรคซึมเศร้าวางจำหน่ายบนโลกมนุษย์ เสียงล่ำลือว่าเป็นยาวิเศษสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้บังเกิดขึ้นแล้วเพราะได้ผลเร็ว และไม่มีฤทธิ์ข้างเคียง เพียงไม่นานการใช้ยานี้ที่จำกัดเฉพาะผู้ป่วย ก็เริ่มระบาดสู่คนปกติ กล่าวคือใครเศร้าก็กินยา ร้องไห้ก็กินยา กลุ้มใจก็กินยา หนังฝรั่งที่นำเข้าจากอเมริกาจะมีฉากที่มีการแนะนำใครบางคนที่กำลังเครียดให้ไปกินยาแก้โรคนี้เสมอๆ

          นิตยสารไทม์ เมื่อไม่นานมานี้ก็พาดหัวข่าวที่หน้าปกว่ากองทัพสหรัฐฯ แจกยา SSRI ให้แก่ทหารที่ประจำการในอิรักและอัฟกานิสถาน ประเทศไทยก็มีโครงการที่จะแจกยาฟลูออกซิเทน(ยาตัวเดียวกัน) ให้กับผู้ป่วยทุกคนที่ตอบแบบสอบถามว่ารู้สึกเศร้า

         ยาฟลูออกซิเทนดีจริงในแง่การออกฤทธิ์ที่เร็วกว่าและผลข้างเคียงน้อยกว่ายากลุ่มเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าใช้ยากับผู้ป่วยโรคอารมณ์เศร้าชนิดไหนด้วย ดังนั้นนโยบายแจกยาจึงไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน

          ฟลูออกซิเทน ครองโลกอยู่ไม่นาน ก็มียาปฏิโทมนัสรุ่นใหม่ออกวางตลาดอีก ยารุ่นใหม่ออกวางตลาดในราคาเม็ดละ 50-200 บาท อ้างว่าดีกว่าและไม่มีฤทธิ์ข้างเคียงเลย ยาเหล่านี้มีหลายตัว ขอตั้งชื่อเรียกว่า SSSRI  (Super Selective Serotonin Reuptake Inhibitior) เป็นชื่อสมมุติ

          ยาเอสเอสเอสอาร์ไอ มิใช่ออกฤทธิ์กับสารสื่อนำประสาทที่ชื่อว่าเซโรโทนิน เพียงอย่างเดียว แต่ออกฤทธิ์กับสารเคมีพร้อมๆกันอีกบางตัว และที่ตำแหน่งต่างกัน ยอดขายของยารุ่นใหม่นี้สูงมากในสหรัฐฯ และทุกประเทศ ซึ่งน่าจะมีสาเหตุสองประการคือ หนึ่งมีผู้ป่วยโรคอารมณ์เศร้ามากขึ้นจริง หรือมีการใช้ยาตัวนี้ในผู้ป่วยปกติที่กลุ้มใจเล็กน้อยมากขึ้นด้วย

         อัลลัน ฮอร์วิทซ์ จากมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ และเจอโรมเวทฟิลด์ จากมหาวิทยาลัยนิยอร์ค สหรัฐ ได้เขียนหนังสือเรื่อง The Loss of Sadness แปลว่า สูญเสียความเศร้า เมื่อปี 2007  เพื่อเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีที่วงการจิตเวชศาสตร์ เปลี่ยนความเศร้าธรรมดาๆ ของมนุษย์ให้กลายเป็น"โรคร้าย" ที่ต้องกินยาได้อย่างไร หนังสืออ้างว่าตัวเลขผู้ป่วยโรคอารมณ์เศร้าไม่ได้มากมายอย่างที่รายงาน การที่ตัวเลขเหล่านี้มากขึ้นเพราะมันถูกทำให้เป็นโรค ในการแบ่งหมวดหมู่โรคทางจิตเวช ฉบับปี 1980

การแบ่งหมวดหมู่โรคทางจิตเวชของสหรัฐอเมริกาในปี 1980 นี้มีชื่อเรียกย่อๆว่า ดีเอสเอ็ม 3 (DSM3) และกลายเป็นคัมภีร์แพทย์ประจำบ้านจิตเวชศาสตร์ทั่วโลกต้องใช้ทำงาน

          ปัญหาคือ หนังสือเล่มนี้อ้างว่าดีเอสเอส 3 ใช้ข้อมูลวิจัยที่ถูกทำลวงขึ้นมาในการนิยามและกำหนดเกณฑ์วินิจฉัยโรค !

          ถึงปัจจุบันมีรายงานออกมาเรื่อยๆว่า ยาต้านอารมณ์เศร้าไม่ได้ดีมากตามโฆษณา หรืองานวิจัยบางชิ้น ยาต้านอารมณ์เศร้าใช้ได้ผลกับผู้ป่วยโรคอารมณ์เศร้าตัวจริง แต่ไม่ได้ผลในทันทีและไม่ได้ผลในการใช้ครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องมีการปรับยาที่ถูกต้อง และเปลี่ยนยาเมื่อถึงเวลา ย้ำว่ายานี้จะมีผลเฉพาะผู้ที่ป่วยโรคอารมณ์เศร้าตัวจริงเท่านั้น

         งานวิจัยของเออร์วิง เคิร์ช เรื่อง "Initial Severity and Antidepressant Benefits : A Meta-Analysis of Data Subbmitted to the Food and Drug Administration" ในปี 2008 ยืนยันว่ายาต้านอารมณ์เศร้าใช้ได้ผลเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงมากเท่านั้น แต่ไม่ได้ผลดีไปกว่ายาหลอกที่มีอารมณ์เศร้าเล็กน้อยเท่านั้น

          เออร์วิงและคณะตั้งข้อสงสัยต่องานวิจัยต่างๆ นานาที่ว่ายาต้านอารมณ์เศร้าดีมาก โดยตั้งสมมุติฐานว่า งานวิจัยที่พบว่ายาต้านอารมณ์เศร้าได้ผลน้อยหรือได้ผลไม่ดี อาจจะไม่ถูกตีพิมพ์มากเท่าที่ควร ประเด็นนี้เป็นประเด็นของ จริยธรรมการตีพิมพ์งานวิจัยที่เรียกว่า "Publishing Ethics" ในปัจจุบัน กล่าวคือเรื่องไม่ดีของยาไม่ตีพิมพ์ ตีพิมพ์เฉพาะเรื่องที่ดีๆ

         เออร์วิง อ้างกฏหมายข้อมูลข่าวสารที่ชื่อว่า Freedom of Information Act (FOIA) เพื่อขอตรวจสอบข้อมูลวิจัยของบริษัทยาต้านอารมณ์เศร้า รวม 6 ตัว ในระหว่างปี 1987-1999 ที่ไม่ได้ตีพิมพ์ สรุปว่ายาต้านอารมณเศร้าดีกว่ายาหลอกเพียงนิดเดียวและไม่มีนัยสำคัญ

          โดยสรุปยาต้านอารมณ์เศร้าดีสำหรับผู้ป่วยโรคอารมณ์เศร้าขนาดปานกลางหรือรุนแรงเท่านั้น แต่ไม่ดีไปกว่ายาหลอกในผู้ป่วยอารมณ์เศร้าขนาดเล็กน้อย และไร้ประโยชน์ในคนปกติที่มีอารมณ์เศร้าธรรมดา แบบที่มนุษย์พึงจะเป็น

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ : จิตแพทย์