บล๊อกเทรด Block Trade ตามหลักอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  1780


บล๊อกเทรด Block Trade ตามหลักอิสลาม

เรียบเรียง....สมีธ อีซอ

 

          บล๊อกเทรด (Block Trade) คือการลงทุนประเภทหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาฟิวเจอรส์ (Futures) และ สัญญาฟิวเจอร์สในดัชนีราคาหุ้นรายตัว (Single Stock Futures SSF) ซึ่งการลงทุนในบล๊อกเทรดนี้ใช้เพื่อบริหารความเสี่ยง (Hedging) และในการเก็งกำไร (speculation)

 

สัญญาฟิวเจอร์ส Futures 

 

          สัญญาฟิวเจอร์ส หมายถึง สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งก็คือ สัญญาที่ถูกจัดทำขึ้นระหว่างคู่สัญญา 2 ฝ่าย โดยกำหนดว่าจะมีการซื้อขายสินค้าอ้างอิง (Underlying) อย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคต ตามราคาที่ตกลงกันไว้

     สินค้าอ้างอิง (Underlying) หมายถึง สินค้าที่ตกลงระหว่างคู่สัญญาว่าจะมีการซื้อขายในอนาคต แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้

 

      1. สินทรัพย์อ้างอิง (underlying asset) คือ สินค้าที่จับต้องได้ เช่น หุ้นสามัญ เงินตราต่างประเทศ พันธบัตร และสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ข้าว น้ำมัน ทองคำ เป็นต้น


     2. ตัวแปรอ้างอิง (underlying variable) ที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งเป็นตัวแปรทางการเงิน เช่น ดัชนีราคาหลักทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเป็นต้น เป็นต้น กล่าวคือ ไม่มีตัวตนเป็นเพียงแค่ตัวเลข เท่านั้น

 

ยกตัวอย่าง 

 

1. การซื้อขายฟิวเจอร์ส ในสินทรัพย์อ้างอิง (underlying variable) 
     ♦ สัญญาว่าจะทำการซื้อข้าวเปลือกในอนาคต เช่น ในวันที่ 1 มกราคม จะทำการซื้อข้าว 1,000 กิโลกรัม ในราคา 8,000 บาท 
     ♦ ปรากฎเมื่อถึงวัน 1 มกราคม ราคาข้าวเปลือกจริง อยู่ 9,000 บาท (ราคาตลาด) ทำให้ผู้ซื้อได้กำไร 1,000 บาท เพราะซื้อข้าวได้ถูกกว่าราคาตลาด 1,000 บาท
     ♦ อีกกรณี ราคาข้าวเปลือกจริง อยู่ 7,000 บาท  (ราคาตลาด) ทำให้ผู้ซื้อขาดทุน 1,000 บาท เพราะจะต้องจ่ายเงินซื้อข้าวได้แพงกว่าราคาตลาด 1,000 บาท 
2. การซื้อขายฟิวเจอร์ส ในตัวแปรอ้างอิง (underlying variable)

       การซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์ส ในตัวแปรอ้างอิง มีหลายประเภท ณ ที่นี้ จะขอยกตัวอย่าง สัญญาฟิวเจอร์สในดัชนีราคาหลักทรัพย์ (Stock Index Futures Contract)

 

สัญญาฟิวเจอร์สในดัชนีราคาหลักทรัพย์ (Stock Index Futures Contract)

 

          สัญญาฟิวเจอร์ส ที่มีดัชนีราคาหุ้นเป็นสินทรัพย์อ้างอิง เนื่องจากดัชนีราคาหุ้นเป็นตัวเลขซึ่งไม่สามารถส่งมอบกันได้ จึงต้องใช้วิธีการชำระราคาเป็นเงินสด (Cash Settlement) แทนการส่งมอบสินค้ากันจริงๆ

 

          ดัชนี (Index) ก็คือตัวเลขที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

 

          สัญญาฟิวเจอร์สในดัชนีราคาหลักทรัพย์ (Stock Index Futures Contract) คือ การทำสัญญาในอนาคตว่าจะมีการซื้อ-ขายในตัวดัชนีราคาหลักทรัพย์ (หุ้น) ไม่ใช่ซื้อตัวหุ้นจริง ๆ เช่น ดัชนีราคาหลักทรัพย์ขณะที่ตกลง อยู่ที่ 500 จุด และได้มีการสัญญาตกลงจะซื้อขายในดัชนีหลักทรัพย์กันในอนาคต เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ดัชนีขยับขึ้นเป็น 510 จุด เพิ่มมา 10 จุด ผู้ทำสัญญาจะซื้อ ก็จะได้กำไร ซึ่ง 1 จุด กำหนดให้เท่ากับ 1,000 บาท รวมกำไร 10,000 บาท ในกรณีนี้ คู่สัญญาที่จะขายก็จะขาดทุนด้วย 10,000 บาท 

 

          ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สัญญาฟิวเจอร์สในดัชนีหลักทรัพย์ ไม่ได้เหมือนกับการซื้อ-ขายหุ้นสามัญทั่วไป ที่มีการซื้อและการจ่ายเงิน หลังจากนั้นผู้ขายส่งมอบหุ้นให้ครอบครองจริง ๆ  แต่การซื้อขายอ้างอิงดัชนีราคาหลักทรัพย์นี้ ไม่มีตัวตน เป็นแค่เพียงตัวเลขที่นำไปอ้างอิง (ตัวแปรอ้างอิง underlying variable) จึงไม่สามารถส่งมอบกันได้ ด้วยเหตุนี้ การชำระราคา ก็คือ การคำนวณส่วนต่างของดัชนีราคาหลักทรัพย์ (ที่มีการขยับขึ้นหรือลง) ถ้าดัชนีปรับขึ้นผู้ซื้อได้กำไร ถ้าลดลงผู้ขายก็จะขาดทุน เมื่อคำนวณส่วนต่างแล้ว จึงชำระราคาเป็นเงินสด แทนการส่งมอบจริงๆ (จากตัวอย่างที่แล้ว 10,000 บาท)

          สัญญาฟิวเจอร์สในดัชนีราคาหลักทรัพย์ (Stock Index Futures) จะต้องระบุดัชนีราคาหุ้นที่ใช้อ้างอิง เช่น จะมีการทำสัญญาฟิวเจอร์สอ้างอิงดัชนีหลักทรัพย์กับ SET 50 Index 

 

          SET 50 Index คืออะไร  คือ ตัวเลชดัชนีที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น 50 ตัวอันดับแรก ในตลาดหลักทรัพย์  ซึ่งคำนวณมาจากหุ้นสามัญจดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่ มีสภาพคล่องสม่ำเสมอคัดเลือกมาจากกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด 50 อันดับแรก (กล่าวคือ ดัชนีรวมของหุ้น 50 ตัวนั่นเอง)

 

สัญญาฟิวเจอร์สในดัชนีราคาหุ้นรายตัว Single Stock Futures (SSF)

 

          สัญญาฟิวเจอร์สในดัชนีราคาหุ้นรายตัว (Single Stock Futures SSF) เป็นสัญญาซื้อขายหุ้นล่วงหน้า โดยราคาของมันจะอ้างอิงอยู่กับดัชนีราคาหุ้นตัวเดียวเท่านั้น (รายตัว) ดังนั้น จะเลือกเพียงดัชนีหุ้นสามัญเพียงตัวเดียวเท่านั้นมาทำการอ้างอิง แต่สำหรับดัชนี SET50 นั้น เป็นดัชนีรวมของหุ้นทั้ง 50 ตัวในอันดับแรก จึงทำให้ดัชนีราคาหุ้นรายตัว จะมีการผันผวนมากกว่าดัชนีหุ้นรวม ดังนั้น การทำสัญญาฟิวเจอร์ในดัชนี Set50 และ Single Stock Futures (SSF) มีลักษณะเหมือนกัน หากแต่แตกต่างกันตรงที่ค่าดัชนีที่ใช้ในการอ้างอิง  

 

          สัญญาฟิวเจอร์สในดัชนีราคาหุ้นรายตัว (Single Stock Futures SSF) เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทหนึ่งในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) โดยผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันในวันนี้ว่า ในอนาคตจะซื้อขายหุ้นกันที่ราคาเท่าไร จำนวนเท่าใด ใช้สร้างผลกำไรได้สองทาง สามารถ "ซื้อก่อนขาย Long" หรือ "ขายก่อนซื้อ Short" ทำให้ผู้ลงทุนสามารถทำกำไรจากส่วนต่างราคาได้ในทุกสภาพตลาด มีอัตราผลตอบแทนสูง ต้นทุนต่ำ และกำไรที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี

 

การวางเงินประกัน (Margin) ทั่วไป

 

           การทำสัญญาฟิวเจอร์ส ต้องมีตัวกลางระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย นั่นก็คือ สำนักหักบัญชี  (Clearing House) สำนักหักบัญชีจึงกำหนดให้ผู้ที่เข้ามาลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์ส ต้องวางเงินประกัน (margin) ในบัญชี เพื่อป้องกันการบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามสัญญาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พิจารณาจากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่า สัญญาฟิวเจอร์ส จะต้องมีผู้หนึ่งที่ได้กำไร และจะต้องมีผู้หนึ่งขาดทุนในอนาคต อาจเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย แล้วแต่ราคาตลาดนั้นในอนาคต ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการวางเงินประกัน

 

การวางเงินประกันใน Single Stock Futures (SSF)

 

          การวางเงินประกันในสัญญาฟิวเจอร์สทั่วไป จะต้องมีการวางเงินประกันเต็มจำนวนตามที่ระบุในสัญญา แต่การวางเงินประกันใน Single Stock Futures โบรกเกอร์อาจจะกำหนดให้วางเงินประกันเพียงบางส่วนเท่านั้นเช่น 5% 10% 20% ของจำนวนเงินในสัญญา นั่นหมายถึง การให้อัตราทด (leverage/gearing) กับผู้ลงทุนนั่นเอง

          อัตราทด (leverage/gearing) คือ การลงทุนเพียงเงินจำนวนน้อย แต่มีมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว เช่น ถ้าหากกำหนดให้วางเงินค้ำประกันขั้นต่ำ 5% นั่นหมายความว่า จากสัญญามีค่า 100 บาท กำหนดให้วางเงินประกันเพียงแค่ 5 บาท แต่มีสิทธิ์ทำกำไรได้เท่ากับวางเงินค้ำประกันเต็มจำนวน 100 บาท และในอีกความหมาย ในกรณีนี้โบรกเกอร์ได้ให้อัตราทดกับผู้ลงทุน 20 เท่า ในการลงทุนเพิ่ม (เช่น ลงทุน 5 บาท แต่มีมูลค่า 100 บาท

 

ตัวอย่างการลงทุน Single Stock Futures

 

     ♣ ราคาหุ้น  ABC อยู่ที่ 1 หุ้น 35 บาท  (การทำสัญญาซื้อขายอ้างอิงดัชนีราคาหุ้น ไม่ใช่การซื้อขายตัวหุ้นจริงๆ)
     ♣ ผู้ลงทุนเปิด 1 สัญญา ซึ่งถูกกำหนดว่า 1 สัญญา มีค่าเท่ากับ 1,000 หุ้น (ถ้าเปิด 20 สัญญา จึงเท่ากับ 20,000 หุ้น)
     ♣ ใช้เงินค้ำประกัน เพียงแค่ 10,000 บาท (ให้อัตราทด leverage) ทั้งที่จริงราคาเต็ม คือ 35,000 บาท (35*1000)
     ♣ เมื่อราคาหุ้นเพิ่มเป็น 45 บาท ทำให้กำไร 10 บาท ต่อ 1หุ้น 
     ♣ เปิด 1 สัญญา = 1,000 หุ้น ดังนั้น 10*1000 = 10,000 บาท 
     ♣ กำไร 10,000 บาท ต่อ 1 สัญญา โดยลงทุนเพียง 10,000 บาท (เงินค้ำประกัน
     ♣ สรุป ได้กำไร 100% (ลงทุน 1 หมื่น ได้ 1 หมื่น)

          *จากตัวอย่าง เป็นเพียงแค่ 1 สัญญา = 1,000 หุ้น ซึ่งการลงทุนในแต่ละครั้งโบรกเกอร์จะกำหนดขั้นต่ำของจำนวนสัญญาเอาไว้อีก เช่น ขั้นต่ำต้อง 20 50 100 1,000 สัญญา เป็นต้น

 

เปรียบเทียบถ้าหากลงทุนในการซื้อหุ้นจริงๆ

 

♦ ราคาหุ้น  ABC อยู่ที่ 1 หุ้น 35 บาท  (การทำสัญญาซื้อขายในตัวหุ้นจริงๆ)
♦ ผู้ลงทุนเปิด 1 สัญญา ซึ่งมีค่าเท่ากับ 1,000 หุ้น
♦ จะต้องมีการซื้อหุ้นจริง ซึ่งต้องลงทุน 35*1,000 = 35,000 บาท (ไม่ใช่ SSF ที่มีจำนวนค้ำประกันแค่บางส่วน เช่น 10,000 บาท ในตัวอย่างที่แล้ว)
♦ เมื่อราคาหุ้นเพิ่มเป็น 45 บาท ทำให้กำไร 10 บาท ต่อ 1 หุ้น
♦ เปิด 1 สัญญา = 1,000 หุ้น ดังนั้น 10*1,000 = 10,000 บาท 
♦ เท่ากับว่าเราลงทุน 35,000 บาท ได้กำไร 10,000 บาท

 

เปรียบเทียบ 2 ตัวอย่าง

 

♦ ลงทุนใน SSF เพียง 10,000 บาท ได้กำไร 10,000 บาท เท่ากับ ได้กำไร 100%
♦ ลงทุนซื้อหุ้นจริงๆ ทั้งหมด 35,000 บาท ได้กำไร 10,000 บาท เท่ากับ ได้กำไรเพียง 28%

 

           การจะลงทุนใน Single Stock Futures (SSF)  นั้น จะต้องหาคู่สัญญาในตลาดซื้อขายล่วงหน้าหรือตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) หรือ Thailand Futures Exchange (TFEX) นั่นหมายความว่าเมื่อเราทำสัญญา Single Stock Futures  (SSF)  ในลักษณะของการซื้อ เราจะต้องมีคู่สัญญาที่เขาต้องการที่จะขาย (มีความคาดหวังที่สวนทางกับเรา) ในกรณีกลับกันถ้าเราต้องการขายจะต้องมีผู้ที่ต้องการซื้อ ซึ่งบางครั้งในตลาดซื้อขายล่วงหน้า TFEX ผู้ลงทุนอาจมีแนวโน้มการลงทุนที่เหมือนกัน เช่น ส่วนใหญ่ต้องการจะซื้อ หรือในอีกกรณีส่วนใหญ่ต้องการจะขาย จึงทำให้ผู้ที่จะลงทุนใน Single Stock Futures SSF  หาคู่ทำสัญญาด้วยความลำบาก ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีระบบบล๊อกเทรด (Block Trade) เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

บล๊อกเทรด (Block Trade)

 

          การทำสัญญา Single Stock Futures (SSF) จะต้องมีการทำสัญญา ทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยมีโบรกเกอร์เป็นตัวกลางในตลาดซื้อขายล่วงหน้า TFEX  (รวมเป็น 3 ฝ่าย) ซึ่งมีการซื้อขายภายในตลาด แต่ถ้าหากเราต้องการซื้อจะต้องมีคู่สัญญาที่จะทำการขาย ถ้าหากเราต้องการขายจะต้องมีคู่สัญญาที่ต้องการซื้อ ซึ่งบางครั้ง คู่สัญญาดังกล่าวหายากในตลาดซื้อขายล่วงหน้า TFEX 

 

          โบรกเกอร์จึงเสนอตัวเป็นคู่สัญญาให้เอง (ซึ่งเป็นการซื้อขายนอกตลาด) เหลือแค่ 2 ฝ่าย ผู้ลงทุน-โบรกเกอร์ (จากเดิมที่ SSF โบรกเกอร์จะเป็นตัวกลางให้ 2 ฝ่าย ผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งรวมเป็น 3 ฝ่าย) โดยเป็นการเปิดรับการลงทุนที่สวนทางกับผู้ลงทุนตลอดเวลานั่นเอง เช่น ผู้ลงทุนต้องการขาย โบรเกอร์จะเป็นคู่สัญญาเป็นผู้ซื้อเอง ถ้าหากผู้ลงทุนต้องการซื้อ โบรกเกอร์จะเป็นคู่สัญญาเป็นผู้ขายให้ ลักษณะดังกล่าวนี้ เรียกว่า บล๊อกเทรด (Block Trade) นั่นเอง และที่สำคัญการซื้อขายใน บล๊อกเทรด (Block Trade) นี้ เป็นการซื้อขายภายนอกตลาดซื้อขายล่วงหน้า TFEX 

 

การลงทุนในบล๊อกเทรดนี้ โบรกเกอร์จะกำหนด ดังต่อไปนี้

 

 ♣ 1 สัญญา = 1,000 หุ้น
 ♣ การวางเงินประกันขั้นต่ำ กี่เปอร์เซ็นต์ เช่น 5% 10% 20% เป็นต้น (อัตราทด leverage)
 ♣ จำนวนสัญญาขั้นต่ำในการซื้อขาย ในแต่ละครั้ง ตามแต่โบรกเกอร์จะกำหนด เช่น  20 100 500 1,000 สัญญา เป็นต้น

 

โบรกเกอร์ได้อะไร

 

          โบรกเกอร์สามารถกำหนดราคาซื้อขายด้วยตัวเอง โดยคิดคำนวณจากค่าธรรเนียม + อัตราดอกเบี้ย รวมเป็นราคาที่ทำธุรกรรมกับผู้ลงทุน ดังนั้น เมื่อมีการลงทุนซื้อขายมาก โบรกเกอร์จะได้ค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 

 

สรุปการลงทุนในบล๊อกเทรด (Block Trade)

 

    ♣ การลงทุนในบล๊อกเทรด คือ การทำสัญญาล่วงหน้าว่าจะซื้อจะขายโดยอ้างอิงดัชนีราคาหุ้นตัวหนึ่ง (ซึ่งไม่ได้เป็นการซื้อตัวหุ้นจริง
   ♣ เป็นการทำสัญาจะซื้อ-ขายระหว่างผู้ลงทุนกับโบรกเกอร์ (2 ฝ่าย) ภายนอกตลาดซื้อขายล่วงหน้า TFEX 
   ♣ สัญญาได้อ้างอิงไปยังดัชนีราคาหุ้น (ตัวเลข) และจะมีการซื้อ-ขาย (ชำระราคาส่วนต่าง) ที่เกิดขึ้นในอนาคต เช่น ราคาหุ้นตัวหนึ่ง 35 บาท เมื่อถึงกำหนดเวลา ราคาหุ้นปรับขึ้น ผู้ซื้อจะได้กำไร ผู้ขาย (คู่สัญญา) จะขาดทุน ในกรณีกลับกัน ราคาหุ้นปรับลง ผู้ซื้อจะขาดทุน ผู้ขายจะได้กำไร (ชำระส่วนต่างเป็นเงินสด)
   ♣ พิจารณาได้ว่า เมื่อเป็นการจะซื้อในอนาคตจึงยังไม่มีการลงทุนซื้อขายในทันที ต่างกันกับการซื้อตัวหุ้นจริงๆ จะมีการลงทุนซื้อหุ้นทันที 
   ♣ แต่อย่างไรก็ตาม บล๊อกเทรดก็จะต้องมีการวางเงินประกัน (margin) ซึ่งบางโบรเกอร์กำหนดให้วางเงินประกัน เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น 5 % (5 บาทใน 100) หรือในอีกความหมายหนึ่งให้อัตราทด 20 เท่า (ลงทุน 5 บาท มีค่าเท่ากับ100)
   ♣ และโบรกเกอร์จะกำหนดว่า 1 สัญญา เท่ากับ 1,000 หุ้น และจะกำหนดขั้นต่ำจำนวนสัญญาในการซื้อขายแต่ละครั้งด้วยเช่น 20 50 100 สัญญา เป็นต้น 
   ♣ โบรกเกอร์ได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ยในแต่ละครั้ง

 

ข้อตัดสินการลงทุนในบล๊อกเทรด (Block Trade) ตามหลักอิสลาม

 

ข้อตัดสินสัญญาฟิวเจอร์ส (Futures)

 

          การลงทุนในบล๊อกเทรดนั้น อยู่ในสัญญาฟิวเจอร์ในประเภทที่ 2 คือ สัญญาฟิวเจอร์สในตัวแปรอ้างอิง แต่อย่างไรก็ตาม จะขอนำเสนอข้อตัดสินตามหลักอิสลามในประเภทแรก สัญญาฟิวเจอร์สในสินทรัพย์อ้างอิงมาด้วย เพื่อเป็นการประกอบและทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น

 

ข้อตัดสินสัญญาฟิวเจอร์สในสินทรัพย์อ้างอิง (underlying asset)

 

          บทบัญญัติอิสลามอนุญาตรูปแบบการขายที่มีการส่งมอบสินค้าทันที แต่มีการชำระราคากันภายหลัง (การขายเชื่อ) และอนุญาตรูปแบบการขายที่ส่งมอบสินค้าในภายหลัง แต่มีการชำระราคาในทันที เช่น การขายซะลัม (بَيْعُ السَّلَم) ซึ่งตรงข้ามกับรูปแบบแรก ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากมีการล่าช้าในการส่งมอบสินค้า และทั้งล่าช้าในการชำระราคาด้วย สิ่งนี้ไม่เป็นสิ่งที่อนุญาตตามหลักศาสนา ท่านนบี กล่าวเอาไว้ว่า

 

أَنَّ النَّبِيَّ  صلى الله عليه وسلم  نَهَى عَنْ بَيْعِ الْكَالِئِ بِالْكَالِئِ, يَعْنِي: الدَّيْنِ بِالدَّيْنِ

 

ท่านนบี มูฮัมหมัด ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ห้ามการขายหนี้ด้วยกับหนี้

 

          ถึงแม้สายรายงานจะอ่อน แต่นักวิชาการฟิกฮ์ไม่มีการขัดแย้งกันในทางปฏิบัติ ด้วยความหมายของหะดีษนั้น คือการล่าช้าของ 2 สิ่งที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน นั่นก็คือ การขายหนี้ด้วยกับหนี้

 

          ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ กล่าวว่า ไม่อนุญาตการขายที่มีการล่าช้าในการส่งมอบทั้ง 2 สิ่ง (เงินและสินค้า) เช่น กล่าวว่าจงขายผ้าให้กับฉัน ด้วยผ้าลักษณะแบบนั้น ในเดือนนั้น (อนาคต) ด้วยกับ 1 ดิน้าร (โดยเป็นเงินเชื่อ) จะกำหนดจ่ายในเวลานั้น ๆ สัญญานี้เป็นสิ่งที่โมฆะ โดยไม่มีการขัดแย้ง

 

          ในอีกเหตุผล ที่สัญญาดังกล่าวเป็นสิ่งต้องห้าม คือ สัญญามีความเชื่อมโยงกับการเก็งกำไรและการพนันเดิมพัน จากตัวอย่างที่กล่าวมา ถ้าหากข้าวขึ้นราคาในอนาคต ผู้ซื้อก็ได้กำไร ผู้ขายก็ขาดทุน ในกรณีกลับกัน ถ้าข้าวลดราคา ผู้ซื้อขาดทุน ผู้ขายได้กำไร โดยจะพิจารณาได้ว่า ถ้าหากฝ่ายหนึ่งได้ จะมีฝ่ายหนึ่งเสีย ซึ่งการมีฝ่ายหนึ่งได้ฝ่ายหนึ่งเสียเป็นพื้นฐานของการพนันเดิมพัน ดังนั้น สัญญาฟิวเจอร์สในสินทรัพย์อ้างอิง จึงเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการของศาสนา

 

ข้อตัดสินสัญญาฟิวเจอร์สในตัวแปรอ้างอิง (underlying variable)

 

          การลงทุนในบล๊อกเทรดอยู่ในประเภทนี้ คือ สัญญาฟิวเจอร์สในตัวแปรอ้างอิง จากกรณีตัวอย่าง การทำสัญญาซื้อขายโดยอ้างอิงไปยังดัชนีราคาหุ้นรายตัว (Single Stock Futures SSF) สามารถพิจารณาได้ว่า ไม่ได้มีการซื้อขายในสินค้าใด ๆ เลยในสัญญา เป็นเพียงแค่การอ้างอิงไปยังตัวเลขดัชนีราคาของหุ้นตัวหนึ่ง และบางครั้งอาจนำไปใช้อ้างอิงกับสิ่งอื่นได้อีก เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน และราคาสินค้าอื่น ๆ เป็นต้น

 

          ดังนั้น สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่ต้องห้าม เพราะดัชนีราคาหุ้น เป็นเพียงแค่ตัวเลข โดยไม่สามารถทำการซื้อขายกันได้ ซึ่งเงื่อนไขพื้นฐานทั่วไปในสินค้านั้น จะต้องมีมูลค่าสำหรับมนุษย์ และจะต้องเป็นมูลค่าที่เป็นที่ยอมรับในบทบัญญัติ เพราะถ้าหากสิ่งหนึ่ง มีมูลค่าสำหรับมนุษย์ แต่ไม่มีมูลค่าในบทบัญญัติ จึงจะไม่อนุญาตให้ทำธุรกรรม เช่น สุรา สุนัข สุกร เป็นต้น 

 

          ยิ่งไปกว่านั้น การที่ดัชนีราคาหุ้น ไม่มีลักษณะของการมีมูลค่า การซื้อ-ขายโดยผ่านการซื้อขายล่วงหน้า (ตราสารอนุพันธ์) ทำให้เกิดการเดิมพันและพนันเกิดขึ้น เพราะทั้งผู้ซื้อและผู้ขายทำการเดิมพันในการเคลื่อนไหวของตัวเลขของดัชนีราคาหุ้นว่าจะขึ้นหรือจะลง บุคคลใดที่ตัวเลขดัชนีไปตรงกับที่เขาคาดหวัง เขาก็จะได้กำไร และทำให้อีกฝ่ายขาดทุน เปรียบเสมือนกับการพนันในผลสกอร์ของการแข่งขันฟุตบอล

 

          องค์กรนิติศาสตร์อิสลามนานาชาติ (مجمع الفقه الإسلامي الدولي) ได้มีมติและระบุเอาไว้ว่า ดัชนี คือ ตัวเลขคำนวณ ที่มีการคำนวณทางด้านสถิติเฉพาะ เจตนาเพื่อต้องการให้รู้ขนาดการเปลี่ยนแปลงในตลาดหลักทรัพย์ และกระแสการซื้อขายในตลาดโลก ดังนั้น ไม่อนุญาตให้มีการซื้อขายดัชนีราคาหุ้น เพราะถือว่าเป็นการพนันอย่างแท้จริง ถือว่าเป็นการซื้อขายสิ่งหนึ่งที่อยู่ในจินตนาการ ซึ่งไม่มีอยู่จริง และสัญญาดังกล่าวยังอยู่ในเรื่องของ การขายของผู้หนึ่ง ซึ่งยังไม่มีสินค้าอยู่ที่เขา ท่านนบีห้ามในเรื่องดังกล่าว โดยได้กล่าวไว้ว่า

 

فَقَالَ ‏ "‏ لاَ تَبِعْ مَا لَيْسَ عِنْدَكَ ‏"‏ ‏.

 

ท่านนบี กล่าวว่า "ท่านอย่าได้ขายในสิ่งที่ไม่มีอยู่ที่ท่าน"

 

مَنِ ابْتاعَ طَعامًا فلا يَبِعْهُ حتَّى يَقْبِضَهُ.

 

บุคคลใดขายอาหาร เขาคนนั้นอย่าขายอาหารจนกว่าเขาจะได้รับอาหารมาเสียก่อน

 

          ด้วยเหตุนี้ การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยอ้างอิงไปยังดัชนีราคาหุ้นรายตัว SSF จึงเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการของศาสนาอิสลาม 

 

ข้อตัดสินเงินประกันในบัญชี (Margin)

 

          เงินค้ำประกันอยู่ในบัญชีสำหรับการลงทุนบล๊อกเทรด เมื่อถึงเวลาที่กำหนดดัชนีมีการปรับขึ้นหรือลง ก็จำเป็นจะต้องมีการชำระส่วนต่างเป็นเงินสด โดยนำมาจากบัญชีเงินค้ำประกันนี้ จากตัวอย่างที่ผ่านมา ลักษณะของสัญญาไม่ได้มีการซื้อขายจริงๆกับสินค้าใดเลย (เป็นเพียงแค่ดัชนีตัวเลข) ดังนั้น เงินค้ำประกันนี้ ตามหลักศาสนาไม่ได้ถือว่าเป็นเงินทุนที่ค้ำประกันเอาไว้ในการซื้อขายสินค้าเลย เพราะไม่ได้เป็นการซื้อขายจริง ๆ หากแต่เป็นเพียงเงินเดิมพันที่รอชำระสำหรับผู้ที่ทายถูก ดังนั้น เมื่อการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยอ้างอิงไปยังดัชนีราคาหุ้นรายตัว SSF เป็นสิ่งต้องห้าม จึงทำให้เงินค้ำประกันดังกล่าวนี้จึงเป็นสิ่งต้องห้ามไปด้วยโดยปริยาย 

 

          แต่ถ้าหากจะพิจารณาถึงข้อห้ามเพิมเติมในเรื่องของอัตราทด (leverage) ก็สามารถพิจารณาได้อีกว่า นักวิชาการมีความเห็นว่า อัตราทด คือ การให้ยืมของโบรกเกอร์ (ในกรณีที่โบรกเกอร์ไม่คิดดอกเบี้ยจากการให้ยืมตอบแทน) เช่น ให้วางเงินค้ำประกัน 5% นั่นหมายความว่า อีก 95% โบรกเกอร์ออกแทนให้ (ให้ยืม) นั่นหมายถึงผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ 20 เท่าตัว (ถ้าหากคิดดอกเบี้ยตอบแทนก็เป็นสิ่งต้องห้ามทันทีโดยไม่ต้องพิจารณาขั้นต่อไป)

 

          แต่อย่างไรก็ตาม การให้ยืมดังกล่าว แลกด้วยการที่ผู้ลงทุนจะต้องมาลงทุนในโบรกเกอร์นี้ ซึ่งโบรกเกอร์จะได้รับค่าธรรมเนียมตอบแทน จึงทำให้เกิดการรวมกันของ 2 สัญญา  1.การกู้ยืมเงิน 2.มีผลประโยชน์ตอบแทน   ท่านรอซู้ล ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวเอาไว้ว่า

 

لَا يَحِلُّ سَلَفٌ وَبَيْعٌ ، وَلَا شَرْطَانِ فِي بَيْعٍ ، وَلَا رِبْحُ مَا لَمْ تَضْمَنْ ، وَلَا بَيْعُ مَا لَيْسَ عِنْدَكَ

 

     "ไม่อนุญาตการกู้ยืมเงิน (سَلَفٌ)  อยู่พร้อมกับการขาย ( بَيْع) (รวมอยู่ในธุรกรรมเดียว) และไม่มี 2 เงื่อนไขอยู่ในการขายเดียว ไม่มีกำไรในสิ่งที่ยังไม่ได้รับประกัน (ยังไม่ได้รับสิ่งที่จะนำไปขาย) ไม่มีการขายในสิ่งที่ยังไม่มีอยู่กับท่าน"

 

كلُ قـَرْضٍ جَرَّ نَفْعًا فَهُوَ رِبَا

 

"ทุกการยืมที่มีผลประโยชน์ตอบแทน สิ่งนั่น คือ ริบา (ดอกเบี้ย)"

 

          สรุปคือ การที่โบรกเกอร์ให้กู้ยืมเงินโดยจะได้รับค่าธรรมเนียมตามมาทีหลัง ตามหลักศาสนาถือว่าค่าธรรมเนียมเป็นผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมา เพราะตามหลักการกู้ยืมนั้น จะต้องไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติม (ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือผลตอบแทนอื่นๆ) ดังนั้น การรวมของ 2 สัญญา การกู้ยืม และการได้รับผลตอบแทนจึงเป็นสิ่งต้องห้าม ดังที่หะดีษได้ระบุเอาไว้

 

ข้อตัดสินโบรกเกอร์คิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม

 

          โบรกเกอร์สามารถกำหนดราคาซื้อขายด้วยตัวเอง โดยคิดคำนวณจากค่าธรรเนียม + อัตราดอกเบี้ย รวมเป็นราคาที่ทำธุรกรรมกับผู้ลงทุน ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า เป็นสิ่งต้องห้าม อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสเอาไว้ว่า

 

وَأحَلَّ اللهُ الْبَيْعَ وَحَرَّمَ الرِّبَا

 

และอัลลอฮ์ทรงอนุมัติการซื้อขาย และทรงห้ามริบา (ดอกเบี้ย)”

 

และอัล-หะดีษ

 

عَنْ جَابِرٍ قَالَ لَعَنَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ آكِلَ الرِّبَا وَمُؤْكِلَهُ وَكَاتِبَهُ وَشَاهِدَيْهِ وَقَالَ هُمْ سَوَاءٌ

 

     จากท่านยาบิร ได้กล่าวว่าท่านรอซู้ล ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้สาปแช่งคนที่กินริบา และคนที่ให้ริบา คนที่บันทึกริบา คนที่เป็นพยาน และท่านนบีกล่าวว่า ทั้งหมดนี้เหมือนกัน

 

ข้อสรุปการตัดสิน

 

          การลงทุนในบล๊อกเทรด (Block Trade) มีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต้องห้ามมากมาย ดังที่กล่าวมา ดังนั้น การลงทุนในบล๊อกเทรด (Block Trade)  จึงเป็นสิ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติอิสลาม 

 

 

 

 


 

อ้างอิง

  •  สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์ (Introduction to Derivative), .15
  •  พรมนัส สิริธรังศรี, สถาบันการเงินและตลาดการเงิน, (กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2553), .3-4.
  •  Stock Index Futures, เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย SET (สืบค้น วันที่ 5 พฤษภาคม 2564) , https://www.set.or.th/set/education/glossary.do?contentId=161
  • ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ,ดัชนีราคา SET50 Index และ SET100 Index, เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย SET (สืบค้น วันที่ 5 พฤษภาคม 2564) , https://www.set.or.th/th/products/index/setindex_p3.html
  •  Single Stock Futures ,ลักษณะของสัญญา ,เว็บไซต์ตลาดซื้อขายล่วงหน้า (ตลาดอนุพันธ์) ประเทศไทย TFEX,  (สืบค้น วันที่ 5 พฤษภาคม 2564)  https://www.tfex.co.th/th/products/stock-spec.html
  •  عبدالعظيم أبوزيد , التحليل الفقهي والمقاصدي للمشتقات المالية , مجلة جامعة الملك عبد العزيز ,الاقتصاد الإسلامي , ص ص 12-14, (2014 /1435ه) 
  •  عصام أبو النصر, أسواق الأوراق المالية (البورصة) في ميزان الفقه الإسلامي, (القاهرة: دارالنشر للجامعات, 2006), ص 121-122
  •  مجلس المجمع الفقهي الإسلامي برابط العالم الإسلامي في دورة الثامنة عشرة المنعقدة بمكة المكرمة في الفترة من 12-18 ابريل 2006 في الموضوع المتاجرة باالهامش.