ความฉลาดทางอารมณ์
ยะห์ยา หัสการบัญชา
เมื่อคนโง่เขลามาสนทนาหรือหาเรื่อง ตอแย ให้ปฏิบัติตนอย่างไร?
อัลลอฮฺตรัสว่า
وَعِبَادُ الرَّحْمَٰنِ الَّذِينَ يَمْشُونَ عَلَى الْأَرْضِ هَوْنًا وَإِذَا خَاطَبَهُمُ الْجَاهِلُونَ قَالُوا سَلَامًا (الفرقان : 63)
“และปวงบ่าวของพระผู้ทรงกรุณาปราณี คือ บรรดาผู้ที่เดินบนแผ่นดินด้วยความสงบเสงี่ยม และเมื่อพวกโง่เขลาสนทนา(แบบโง่เขลา)กับพวกเขา พวกเขาจะกล่าวว่า ศานติ หรือสลาม”
(ซูเราะฮฺ อัลฟุรกอน อายะฮฺที่ 63)
“พวกเขาจะกล่าวว่า ศานติ” ในอายะฮฺนี้ หมายถึง พวกเขาจะสนทนากับพวกโง่เขลาด้วยคำพูดที่ปลอดภัยจากความผิดบาป และปลอดภัยจากการปะทะกับพวกโง่เขลาด้วยความโง่(ไม่เอาความโง่ไปแลกความโง่) ซึ่งพฤติกรรมนี้เป็นสิ่งที่น่ายกย่องชมเชยแก่พวกเขา ที่มีความสุขุมอย่างมาก และเผชิญหน้ากับคนเลวด้วยการทำดี รวมถึงการให้อภัยแก่คนโง่เขลา ตลอดจนมีความสุขุมทางปัญญา ที่ทำให้เขาได้มีพฤติกรรม(อันดีงาม)เช่นนี้
(ตัฟซีร สะอฺดีย์)
จากตรงนี้เราจะเห็นว่าอิสลามสอนให้เรามีความฉลาดในหลายๆทักษะ ไม่ใช่เพียงแค่ความฉลาดทางปัญญา (IQ) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความฉลาดในด้านอื่นๆด้วย เช่น
ความฉลาดทางด้านอารมณ์ (EQ หรือ Emotional Quotient)
ความฉลาดทางด้านคุณธรรม,จริยธรรม (MQ หรือ Moral Quotient)
ความฉลาดทางด้านการแก้ปัญหา (AQ หรือ Adversity Quotient)
ความฉลาดทางด้านการเข้าสังคม (SQ หรือ Social Quotient)
ความฉลาดทางด้านความคิด (TQ หรือ Thinking Quotient)
ความฉลาดในการมองแง่ดีคิดบวก (OQ หรือ Optimist Quotient)
ฉะนั้นผู้ศรัทธาจะต้องพยายามฝึกฝนตนเองให้มีความฉลาดทางด้านต่างๆให้มากที่สุด อย่ามุ่งเพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่งจนละเลยด้านอื่นๆ วัลลอฮฺ อะอฺลัม
เรื่องความฉลาดทางด้านอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญที่นักทำงานศาสนาหลายคนสอบตกและล้มเหลว บ่อยครั้งที่เราเห็นถ้อยคำหยาบคายทั้งในเฟสบุคและคลิปการบรรยายของนักทำงานศาสนาหลายๆคน ทั้งคำตำหนิ ก่นด่า เยาะเย้ย เหยียดหยัน ดูหมิ่น ยกตนข่มท่าน ลองเชิงลองภูมิ ดิสเครดิต ใส่ร้าย ฯลฯ โดยปราศจากมารยาทอันดีงามและการควบคุมอารมณ์ในการเผยแผ่ศาสนา
หลายครั้งที่เมื่อมีการถกปัญหาศาสนาเพื่อหาทางออกและสิ่งที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด กลับต้องถูกขัดขวางและพังเละเทะไม่เป็นท่า เพราะการขาดความฉลาดทางด้านอารมณ์ของนักทำงานศาสนาบางคน ซึ่งมันนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ดีต่างๆมากมาย ตามแต่ความหนักเบาของปัญหานั้น ๆ
เรื่องนี้เป็นประเด็นที่นักทำงานศาสนา และครูอาจารย์ทั้งหลายในสังคมมุสลิมสมควรจะต้องให้ความเอาใจใส่กันให้มากๆ เช่น พยายามศึกษาจริยวัตรและชีวประวัติของท่านนบีมุฮัมมัด , บรรดาศ่อฮาบะฮฺและชาวสลัฟในการปฏิบัติตัวและการวางตัวในด้านอารมณ์อย่างชาญฉลาด
فَبِمَا رَحْمَةٍ مِّنَ اللَّهِ لِنتَ لَهُمْ ۖ وَلَوْ كُنتَ فَظًّا غَلِيظَ الْقَلْبِ لَانفَضُّوا مِنْ حَوْلِكَ ۖ فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاسْتَغْفِرْ لَهُمْ وَشَاوِرْهُمْ فِي الْأَمْرِ ۖ
“เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮ์นั่นเอง เจ้า(มุฮัมมัด) จึงได้สุภาพอ่อนโยนแก่พวกเขา และถ้าหากเจ้าเป็นผู้ประพฤติหยาบช้า และมีใจแข็งกระด้างแล้วไซร้ แน่นอนพวกเขาก็ย่อมแยกตัวออกไปจากรอบ ๆ เจ้ากันแล้ว ดังนั้นจงอภัยให้แก่พวกเขาเถิด และจงขออภัยให้แก่พวกเขาด้วย และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย....”
หากใครสะดวกก็ลองศึกษาความหมายของอายะฮฺนี้ดูครับ แล้วท่านจะเข้าใจว่า ความฉลาดทางด้านความรู้เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องควบคู่ไปกับความฉลาดทางด้านอารมณ์และมารยาทอันดีงามด้วยเช่นกัน
เรื่องความฉลาดทางอารมณ์และการมีจรรยามารยาทอันดีงาม เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน ดังที่ท่านนบีมุฮัมมัดได้กล่าวว่า
وَمَنْ يَتَصَبَّرْ يُصَبِّرْهُ اللَّهُ، وَمَا أُعْطِيَ أَحَدٌ عَطَاءً خَيْرًا وَأَوْسَعَ مِنَ الصَّبْرِ ".
“และผู้ใดที่พยายามจะมีความอดทน อัลลอฮฺจะทรงให้เขามีความอดทน
และไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะได้รับสิ่งใดที่ดีและกว้างขวางมากไปกว่าความอดทนอีกแล้ว”
(บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์และมุสลิม สำนวนเป็นของอิมามอัลบุคอรีย์)
และท่านนบีก็ได้กล่าวว่า
وَخَالِقِ النَّاسَ بِخُلُقٍ حَسَنٍ
“และจงอยู่ร่วมกับผู้คนด้วยมารยาทอันดีงาม”
(หะดีษระดับปานกลาง บันทึกโดยอิมามอัตติรมิซีย์)
ฉะนั้นการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์และความฉลาดทางด้านจริยธรรมนั้นไม่จำเป็นว่าคนผู้นั้นจะต้องมีอายุมากเสมอไป เพราะบางครั้งเราก็ได้เห็นคนที่มีอายุหลัก 5 หลัก 6 ที่อยู่ในโลกใบนี้มานานหลายปีแต่กลับมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ด้อยกว่าคนหลัก 2 หรือ 1 ด้วยซ้ำไป นั่นเป็นเพราะเขาไม่ใส่ใจในเรื่องมารยาทและมองไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของจริยธรรมอิสลาม ดังที่ท่านนบีได้กล่าวว่า
إِنَّما العلمُ بِالتَّعَلُّمِ ، و إِنَّما الحِلْمُ بِالتَّحَلُّمِ
“แท้จริงความรู้นั้นได้มาด้วยการศึกษาร่ำเรียน และความสุขุมนั้นได้มาด้วยการฝึกตนให้สุขุม”
(หะดีษระดับปานกลางบันทึกโดยอิมามอัฏฏ็อบรอนีย์)
ดังนั้นหากมุสลิมละเลยเรื่องการฝึกอบรมมารยาทให้แก่ตนเองและผู้อื่นแล้ว แม้ว่าเขาใกล้จะลาโลกนี้ไป เขาก็มีโอกาสสูงที่จะจากไปแบบไร้มารยาทและคุณธรรมอันดีงามที่ท่านนบีมุฮัมมัดได้ประพฤติไว้ให้ดูเป็นแบบอย่างทั้งวิธีการคิด คำพูด และการกระทำ
ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ใดที่มองเรื่องมารยาทอันดีงามเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น หรือมองว่าถึงจะมารยาทถ่อยแต่ถ้าจริงใจก็พอแล้ว ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ขาดทุนและน่าอัปยศอดสูอย่างยิ่งสำหรับเขาผู้นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อ้างตนว่าตามแนวทางและแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด แต่กลับไม่นำมารยาทอันดีงามของท่านไปปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่น เพราะท่านนบีได้กล่าวว่า
" إِنَّمَا بُعِثْتُ لِأُتَمِّمَ صَالِحَ الْأَخْلَاقِ ".
“แท้ที่จริงฉันนั้นถูกแต่งตั้งมาเพื่อทำให้มารยาทอันดีงามนั้นสมบูรณ์แบบ”
(บันทึกโดยอิมามอะหมัด)
ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครองให้เราห่างไกลจากการมีมารยาทอันเลวทรามหยาบคายด้วยเถิด อามีน