เล่าเรื่องสงครามบัดร์ (สำหรับเยาวชน)
อุมมุ อั๊ฟว์ ..... เรียบเรียง
หลังจากที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้อพยพมายังนครมะดีนะฮฺ ท่านได้เริ่มสร้างมัสยิด และสถาปนารัฐอิสลาม สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างชาวมักกะฮฺ ( มุฮาญิรีน) กับชาวมะดีนะฮฺ (อันศ็อร)
ในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ ๒ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้ทราบข่าวคราวของพวกกุเรชมักกะฮฺว่า มีกองคาราวานกำลังบรรทุกสินค้าเดินทางกลับมาจากการค้าขายที่ประเทศชามโดยจะผ่านเส้นทางใกล้กับเมืองมะดีนะฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม จึงตั้งใจที่จะไปดักเจอกับกองคาราวาน เพื่อนำทรัพย์สินของบรรดามุฮาญิรีนที่ถูกพวกกุเรชมักกะฮฺยึดครองไปเมื่อครั้งที่อพยพ กลับมาให้แก่บรรดามุสลิม ซึ่งท่านไม่ได้มีเจตนาต้องการให้เกิดสงครามขึ้นแต่อย่างใด ท่านจึงไม่ได้มีการจัดตั้งกองทัพเพื่อทำสงคราม บรรดามุสลิมที่ร่วมออกไปพร้อมกับท่านมีจำนวน 313 - 314 คน มีอูฐ 70 ตัว และม้า 2 ตัวเท่านั้น
ผู้นำกองคาราวานของพวกกุเรชในครั้งนั้นคือ อบูซุฟยาน อิบนิ ฮัรบฺ เขาควบคุมกองคาราวานอย่างระแวดระวัง ทั้งนี้เพราะทรัพย์สินที่มาพร้อมกับกองคาราวานมีจำนวนมหาศาล เมื่อทราบข่าวว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ยกกองทัพออกมา เขาจึงเปลี่ยนไปใช้เส้นทางเลียบชายหาดเพื่อกลับสู่นครมักกะฮฺแทน และส่งม้าเร็วไปบอกให้ชาวมักกะฮฺให้จัดเตรียมไพร่พลเพื่อคุ้มครองกองคาราวาน
และเมื่อกองคาราวานใกล้ถึงนครมักกะฮฺ อบูซุฟยานจึงส่งข่าวให้กองกำลังหนุนทราบว่าทุกอย่างปลอดภัยดี ให้เตรียมยกกองทัพกลับมายังนครมักกะฮฺได้ เพื่อไม่ให้มีการประจัญหน้ากับฝ่ายมุสลิม หากแต่ อบูญะฮฺล์ หัวโจกในครั้งนั้นกลับยืนกรานที่จะปักหลักต่อกรกับบรรดามุสลิมด้วยความหยิ่งผยองลำพองตน โดยเขาประกาศกร้าวว่าจะไม่มีทางกลับไปมักกะฮฺจนกว่าจะไปถึงบ่อน้ำบัดร์ แล้วจะเชือดอูฐ ดื่มเหล้า กินเลี้ยง และชมการแสดงดนตรีจากบรรดาทาสี เพื่อประกาศศักดาพวกพ้องของตนเอง
ระหว่างนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้ขอคำปรึกษากับบรรดาศ่อฮาบะฮฺว่าจะรับมือเช่นไร บรรดาศ่อฮาบะฮฺล้วนยืนยันที่จะช่วยเหลือสนับสนุนท่านด้วยความยินดีและเต็มใจ พร้อมกับให้คำแนะนำต่างๆ ในการหาที่มั่นสำหรับการรบในครั้งนี้ นั่นคือการตั้งฐานทัพใกล้กับบ่อน้ำบัดร์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กองกำลังมุสลิม และกลบฝังบ่อน้ำอื่นๆ ขุดสระสำรองน้ำไว้เพื่อมุสลิมจะได้มีน้ำดื่มน้ำใช้อย่างพอเพียง
ในคืนก่อนวันทำสงครามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้ละหมาดและวิงวอนขอพรจากอัลลอฮฺให้พระองค์ทรงช่วยเหลือมุสลิมให้ได้รับชัยชนะ ท่านกล่าวว่า :
“หากพระองค์ทรงทำให้คนกลุ่มนี้พบกับความพ่ายแพ้ในวันนี้แล้วไซร้ แน่นอนว่าจะไม่หลงเหลือผู้ใดทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์อีกเลย”
ท่ามกลางความกังวลของเหล่าศ่อฮาบะฮฺที่ทราบว่าจำนวนทหารของฝ่ายศัตรูมีมากกว่าหลายเท่า อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้บันดาลให้ฝนตกลงมาอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือผู้ศรัทธา ทำให้สองเท้ารุดก้าวไปอย่างมั่นคงเพราะพื้นทรายเกาะตัวแน่นหนาขึ้น ขณะที่ฝ่ายศัตรูซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มกว่ากลับประสบกับความทุลักทุเล ระส่ำระสายเพราะพื้นดินกลายเป็นโคลนตม ยากที่จะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเมตตาให้ความง่วงหงาวหาวนอนเข้ามาปกคลุมบรรดาผู้ศรัทธา เพื่อให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลาย บรรเทาความวิตกกังวลและยังความสงบแก่จิตใจของพวกเขา
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้แจ้งข่าวดีเพื่อเป็นการปลุกขวัญแก่บรรดาศ่อฮาบะฮฺว่า พวกเขาจะได้รับการช่วยเหลือจากอัลลอฮฺด้วยกองกำลังจากบรรดามลาอิกะฮฺจำนวน 1,000 ท่านที่จะทยอยลงมา และมุสลิมจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในที่สุด
เช้าวันที่ 17 เดือนรอมฎอน ปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 2 ฝ่ายกุเรชจำนวน 900-1,000 คน อูฐ 700 ตัว ยกทัพมาพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ครบมือ ขณะที่ฝ่ายมุสลิมมีไพร่พลเพียง 313 -314 คน และไม่ได้ตระเตรียมอาวุธเพื่อพร้อมทำสงครามแต่อย่างใด
สงครามเริ่มต้นขึ้นด้วยการประลองดาบของหกอัศวินชั้นนำ ฝ่ายมุชริกส่งอัศวินมากฝีมือประกอบด้วย อุตบะฮฺ อิบนิ รอบีอะฮฺ, ชัยบะฮฺ อิบนิ รอบีอะฮฺ และ วะลี้ด อิบนิ อุตบะฮฺ ส่วนฝ่ายมุสลิมส่งท่านฮัมซะฮฺ อิบนิ อับดุลมุฏฏอลิบ ,ท่านอาลี อิบนิ อบีฏอลิบ และท่านอุบัยดะฮฺ อิบนิ ฮาริษ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุม
ผลการดวลดาบปรากฏว่า มุสลิมเป็นฝ่ายเอาชนะได้ทั้งหมด จากนั้นการประจัญบานจึงเริ่มต้นขึ้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้หยิบฝุ่นดินขึ้นมากำมือหนึ่งเขวี้ยงไปยังฝ่ายศัตรู ท่านกล่าวว่า “ ขอให้ใบหน้าของพวกเขาได้รับความอัปลักษณ์ด้วยเถิด” ปรากฏว่าไม่มีใบหน้าใดเลยของฝ่ายศัตรูที่ไม่ถูกเศษดินนั้น ซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลาได้ยืนยันไว้ในอัลกุรอานว่า แท้ที่จริงแล้วพระองค์ต่างหากที่ได้ทรงขว้างมันออกไป
ในการนี้แม้มุสลิมจะมีจำนวนน้อยกว่าหลายเท่า แต่พวกเขาพร้อมใจยืนหยัดต่อสู้กับศัตรูอย่างเด็ดเดี่ยวและห้าวหาญด้วยศรัทธาอันเต็มเปี่ยม พร้อมกันนี้อัลลอฮฺ ตะอาลา ยังได้ส่งมวลมะลาอิกะฮฺทหารของพระองค์อีก 1,000 นาย ออกมาร่วมรบในสงครามครั้งนี้ด้วย ยังไม่ทันที่ดาบของมุสลิมจะถึงก้านคอของพวกมุชริก พวกเขาก็ถูกฟันล้มลงไปต่อหน้าต่อตา บรรดาศ่อฮาบะฮฺได้เล่าให้ทราบภายหลังสงครามว่า ได้ยินเสียงเหมือนแซ้ฟาดลงมาจากเบื้องบ้น และศัตรูตรงหน้าก็ถูกฟันจมูกและใบหน้า นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการสังหารของมะลาอิกะฮฺที่ศพของฝ่ายศัตรูโดยถูกฟันเข้าที่ต้นคอ ปลายนิ้วมือและนิ้วเท้ากลายเป็นรอยดำคล้ายถูกไฟไหม้
สงครามยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ปราชัยของฝ่ายกุ๊ฟฟารมักกะฮฺอย่างไม่เป็นท่า หัวโจกคนสำคัญอย่าง อบูญะฮฺล์ อุมัยยะฮฺ อิบนิ คอลัฟ และทหารรวม 70 คนเสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ และถูกจับเป็นเชลยอีก 70 คน ส่วนฝ่ายมุสลิมสูญเสียกำลังพลไปทั้งหมด 14 นาย เป็นชาวมุฮาญิรีน 6 คน และชาวอันศอร 8 คน ท่านร่อซู้ลได้เรียกชื่อเต็มของพวกเขาทั้งหมด และทำการฝังศพพวกเขาไว้ที่นั่น ซึ่งทั้งหมดคือบรรดาชุฮะดาอฺ ผู้สละชีพในหนทางของอัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงพึงพอพระทัยพวกเขาด้วยเถิด
มุสลิมจัดการกับเชลยศึกด้วยการให้เสียค่าไถ่ตัว ส่วนคนที่ไม่มีความสามารถก็ให้ทำหน้าที่สอนหนังสือแก่เด็กมุสลิมให้อ่านออกเขียนได้ ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่เชลยศึกอยู่ที่นครมะดีนะฮฺนั้น พวกเขาได้รับการดูแลอย่างดี กินอยู่เหมือนที่มุสลิมกิน แต่งกายเหมือนที่พวกเขาแต่งกาย เชลยศึกส่วนใหญ่จึงประทับใจกับการปฏิบัติของบรรดามุสลิมและเข้ารับอิสลามในที่สุด
สงครามบัดร์นับเป็นสงครามแรกในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม วันแห่งสงครามบัดร์จึงนับเป็นวันแห่งการจำแนกผู้ศรัทธาออกจากผู้ปฏิเสธศรัทธา ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับการขนานนามอีกชื่อหนึ่งว่า “ يَومُ الفُــرقـــــَان” วันแห่งการจำแนกแยกแยะระหว่างความจริงกับความเท็จ วันที่สัจธรรมประจักษ์แจ้งเด่นชัด และบรรดาผู้อธรรมได้รับความอัปยศอดสู
وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه وسلم
บทเรียนจากสงครามบัดร์
♥ แผนการณ์ของอัลลอฮฺนั้นดีกว่าและแยบยลกว่าเสมอ
♥ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เป็นแบบอย่างในความเป็นผู้นำโดยที่ท่านปรึกษาหารือกับบรรดาศ่อฮาบะฮฺและรับฟังความคิดเห็นของพวกท่านเสมอ
♥ ชัยชนะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะปริมาณที่มากกว่าเสมอไป
♥ อัลลอฮฺ ตะอาลา จะทรงช่วยเหลือผู้ศรัทธาเสมอ หากพวกเขาเป็นผู้สัจจริงต่อพระองค์
เอกสารอ้างอิง
- อัลมิศบาฮุ้ล มุนี้ร ฟี ตะฮฺซีบ ตัฟซีร อิบนิ กะซีร
- ชีวประวัติศาสนฑูตมุฮัมมัด ฉบับคัดสรร โดย ศ.ดร. อับดุลอาซีซ บิน อิบรอฮีม อัลอุมะรีย์ บรรณธิการแปล ซุฟอัม อุสมาน
- มุฮัมมัด รซูลุลลอฮฺ ชีวประวัติศาสนฑูตของอิสลาม โดย ม.ซอลิฮี