บิทคอยน์ Bit Coin ตามหลักอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  8756


บิทคอยน์ Bit Coin ตามหลักอิสลาม

 

สมีธ อีซอ

 

          บิทคอยน์ (Bitcoin  بِتْكُوين) เป็นเงินตราเสมือน (Virtual currencyالعُمْلَةُ الْإِفْتِرَاضِيَّة ) หรือเงินดิจิทัล (Digital Currencyالرَّقَمِيَّة  العُمْلَةُ หรือ คริปโตเคอเรนซี่ Crypto Currencyالعُمْلَةُ المُشَفَّرَة ) ที่ต้องการเข้ารหัส (cryptography) กลไกการเก็บข้อมูลธุรกรรมที่กระจายอยู่กับผู้ร่วมลงทุนทุกคน จะมีการเก็บข้อมูลธุรกรรมเรียงเป็นห่วงโซ่ตามลำดับเวลา โดยใช้ระบบบล็อกเชน (Blockchain) ปัจจุบันมีเงินสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลกมากกว่าพันสกุล เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) อีเธอเรียม (Ethereum) ริปเปิล (Ripple) บิทคอยน์แคช (Bitcoin Cash) คาร์ดาโน (Cardano) ไลท์คอยน์ (Litecoin) นีโอ (NEO) สเตลลาร์ (Stellar) เนม (NEM) และอื่น ๆ แต่สกุลเงินที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมสูง โดยมีอัตราส่วนร้อยละ 80 ของการใช้เงินดิจิทัลทั้งหมดในตลาดสกุลดิจิทัล คือ บิทคอยน์ (Bitcoin)

 

ความหมายและการสร้างบิทคอยน์

 

           บิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นเงินเสมือนหรือเงินดิจิทัล ไม่มีรูปร่างและไม่สามารถจับต้องได้เหมือนธนบัตรหรือเหรียญทั่วไป ถูกค้นพบจากเอกสารการวิจัยทางวิชาการเผยแพร่ ปี 2551 โดยบุคคลนิรนามที่มีชื่อว่า ซาโตชิ นากาโมโต ผู้ซึ่งไม่มีใครรู้จัก เอกสารวิจัยดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับ การออกแบบทำงานเพื่อถอดรหัสทางคณิตศาสตร์ที่มีความซับซ้อน ซึ่งเรียกว่า บิทคอยน์ (Bitcoin) 

 

           แนวคิดในการสร้างบิทคอยน์ ก็คือ ต้องการให้บิทคอยน์เป็นเงินสกุลใหม่ ที่ถูกออกแบบให้เป็นระบบเงินที่ไร้ศูนย์กลางอย่างสมบูรณ์ โดยกำหนดให้มีคุณสมบัติที่สามารถทำหน้าที่แทนธนาคาร ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล และทำหน้าที่ใกล้เคียงกับการส่งมอบเงินตราที่จับต้องได้ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายมากที่สุด กล่าวคือ ทุกคนในระบบสามารถเปิดบัญชีได้ด้วยตัวเอง ผู้ใช้สามารถตรวจสอบจำนวนเงินของทุกบัญชีได้ และทุกครั้งที่มีการโอนเงิน ข้อมูลการโอนเงินจะถูกกระจายไปทั่วเครือข่ายให้ทุกคนรับรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกใช้บิทคอยน์จะไม่มีการเรียกเก็บภาษี บิทคอยน์จะมีชื่อย่อสกุลเงินว่า BTC เพื่อใช้ในการอ้างอิงราคาหรือจำนวน ใช้สัญลักษณ์ 

 

          ที่สำคัญอย่างยิ่งผู้สร้างได้กำหนดจำนวนบิทคอยน์ในระบบไว้ที่ 21 ล้านหน่วยบิทคอยน์เท่านั้น ซึ่งไม่สามารถทำซ้ำเพิ่มได้หรือลอกเลียนแบบได้ โดยปัจจุบันบิทคอยน์ถูกขุดออกมาเป็นจำนวนประมาณ 18 ล้านหน่วยบิทคอยน์แล้ว 

 

การได้มาของบิทคอยน์

 

           ด้วยคุณสมบัติเฉพาะของบิทคอยน์ ที่ไม่สามารถทำซ้ำหรือลอกเลียนได้ อันเนื่องมาจากการสร้างบิทคอยน์แต่ละหน่วยจะเกิดจากการที่มีบุคคลสามารถแก้สมการหรือคำนวณทางคณิตศาสตร์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ออกแบบเอาไว้ ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า การขุดบิทคอยน์ หรือ การทำเหมือง (Mining) โดยการขุดบิทคอยน์มี 3 วิธีการ ดังต่อไปนี้ 

     1. การใช้การ์ดจอขุด เป็นวิธีการในการใช้ฮาร์ดแวร์ในการขุดบิทคอยน์ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันเป็นจำนวนมาก
 


     2. การใช้เครื่อง ASIC Miner เป็นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นฮาร์ดแวร์ในการขุดบิทคอยน์ ที่ประกอบขึ้นมาเพื่อใช้ขุดบิทคอยน์ 
 


     3. การขุดแบบ Cloud Mining เป็นการเช่ากำลังขุดจากเหมืองหรือขุดบิทคอยน์ที่มีการเปิดให้บริการอยู่ทั่วโลก ซึ่งวิธีการให้บริการเช่ากำลังขุดบิทคอยน์เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆในการลงทุนในปัจจุบัน

     การได้มาซึ่งบิทคอยน์ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ต้องการบิทคอยน์สามารถได้บิทคอยน์มาไว้ในครอบครอง ได้แก่

     ♦ การรับบิทคอยน์จากการใช้จ่ายแลกเปลี่ยนกับสินค้าและบริการ
     ♦ การซื้อบิทคอยน์จากการแลกเปลี่ยนค่าเงิน (Bitcoin Exchanges)
     ♦ การแลกเปลี่ยนเงินสดไปเป็นบิทคอยน์
     ♦ การลงทุนในกองทุนผลตอบแทนแบบ HYIP เช่น การเล่นเกม การแจกบิทคอยน์ฟรี เป็นต้น

 

การกำหนดมูลค่าของบิทคอยน์

 

           เนื่องจากผู้สร้างได้กำหนดจำนวนบิทคอยน์ไว้ในระบบที่ 21 ล้านหน่วยบิทคอยน์ ซึ่งไม่สามารถทำซ้ำหรือลอกเลียนแบบได้ วิธีการที่จะได้บิทคอยน์มาไว้ในครอบครองจึงมีความยากขึ้น ทำให้บิทคอยน์มีมูลค่าสูงขึ้น โดยราคาหรือมูลค่าจะถูกกำหนดไปตามกลไกของอุปสงค์ความต้องการซื้อ (Demand) และอุปทานหรือความต้องการขาย (Supply) เมื่ออุปสงค์บิทคอยน์เพิ่มขึ้นราคาก็จะสูงขึ้น และเมื่ออุปสงค์ลดลงราคาก็จะลดลงตาม ปัจจุบัน 1 หน่วยบิทคอยน์ มีราคาเท่ากับ 2,038,850 บาท (วันที่ 16 เมษายน 2564) จากเดิมปีที่แล้วราคาประมาณ 2 แสนกว่าบาท https://th.investing.com/crypto/bitcoin/btc-thb

 

ปัญหาของบิทคอยน์

 

     1. ระบบบิทคอยน์ไม่มีคนกลางที่จะบริหารจัดการระบบ นอกจากนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดรับประกันเงินบิทคอยน์เหมือนที่รับประกันเงินฝากในธนาคาร ซึ่งอาจส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่บุคคลในวงกว้างและด้านความมั่นคงของระบบการเงินในประเทศ 

 

 

     2. ระบบของบิทคอยน์ไม่มีการรระบุตัวตนของเจ้าของบัญชีเงินบิทคอยน์ อาชญากรอาจใช้ช่องว่างนี้นำบิทคอยน์มาใช้เป็นเครื่องมือในการยักย้าย ถ่ายเทเงินที่ได้มาโดยผิดกฏหมาย และนอกจากนี้บัญชีบิทคอยน์ไม่อาจถูกอายัดหรือยับยั้งการทำธุรกรรม ซึ่งอาชญากรอาจใช้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับเก็บรักษารายได้จากการประกอบอาชญากรรมได้
 


     3. บิทคอยน์แต่ละหน่วยไม่มีประโยชน์ใช้สอยหรือมูลค่าในตัวเอง เพราะมูลค่าหรือราคาของบิทคอยน์ถูกกำหนดจากความต้องการของผู้ใช้เท่านั้น ซึ่งทำให้มูลค่าหรือราคาเกิดความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าหากไม่มีธุรกิจหรือผู้ให้บริการรับบิทคอยน์แทนเงิน ไม่มีการรับแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลต่าง บิทคอยน์ก็จะสิ้นคุณภาพและจะกลายเป็นตัวเลขเท่านั้น

 


     4. ธุรกรรมเงินบิทคอยน์มีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมน้อยมาก การทำธุรกรรมเงินบิทคอยน์ไม่ว่าจะเป็นการโอนและรับจะไม่มีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ ท้ายที่สุดบิทคอยน์ก็จะกลายเป็นช่องทางสำหรับหลีกเลี่ยงภาษีได้  

 

ข้อตัดสินตามหลักศาสนาสำหรับบิทคอยน์

 

           ปัจจุบัน คำตัดสิน (ฟัตวา) ในเรื่องบิทคอยน์ตามหลักศาสนาอิสลามเกิดขึ้นอย่างมากมาย และมีความแตกต่างทางด้านทัศนะที่หลากหลาย สำหรับองค์กรศาสนาระดับนานาชาติ 4 องค์กร ได้เผยแพร่คำตัดสิน (ฟัตวา) ออกมา โดยทั้ง 4 องค์กรถือว่า "บิทคอยน์เป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการของศาสนา" ซึ่งประกอบไปด้วยคำฟัตวาขององค์กรศาสนาประเทศต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 

 

     1. ดารุ้ลอิฟตาอฺ ประเทศอียิปต์ (دَارُالْإِفْتَاءِ المَصْرِيَّةِ)
 

     2. ริอาซะห์ อัชชุอูน อัดดีนี่ยะห์ ประเทศตุรกี (رِئَاسَةُ الشُّئُوْنِ الدِّيْنِيَّة فِي التُّرْكِي)     
 

     3. อัลฮัยอะตุ้ล อามมะห์ ลิชชุอูนิ้ล อิสลามี่ยะห์ วั้ลเอากอฟ รัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (اَلْهَيْئَةُ اْلعَامَّةُ لِلشُّؤُنِ اْلِإسْلَامِيَّةِ وَالْأَوْقَافِ فِي دُبَي)
 

     4. ดารุ้ลอิฟตาอฺ ประเทศปาเลสไตน์ (دَارُالْإِفْتَاءِ الفَلِسْطِيْنِيَّةِ) 
 

     แต่อย่างไรก็ตาม มีองค์กรหนึ่งที่ชื่อว่า มุนตะดา อัลอิกติซอดี้ อัลอิสลามีย์ (مُنْتَدَى الْإِقْتِصَادِ الْإِسْلَامِي )ได้เผยแพร่คำตัดสิน (ฟัตวา) ในเรื่องบิทคอยน์นี้แบ่งออกเป็น 2 ทัศนะ 

 

1. บิทคอยน์ เป็นสิ่งต้องห้าม


2. บิทคอยน์ เป็นสิ่งที่อนุญาต

 

ทัศนะหนึ่ง บิทคอยน์ เป็นสิ่งต้องห้าม

 

          องค์กรอิสลามในระดับนานาชาติต่างๆ ได้ทำการวินิจฉัยและประกาศอย่างเป็นทางการว่า บิทคอยน์ เป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งรายละเอียดมีดังต่อไปนี้

 

      1. คำฟัตวาของดารุ้ลอิฟตาอฺ ประเทศอียิปต์ (دَارُالْإِفْتَاءِ المَصْرِيَّةِ)

          โดยสรุปคำวินิจฉัยของมุฟตี (ผู้วินิจฉัย) ของดารุ้ลอิฟตาอฺ ประเทศอียิปต์ได้กล่าวเอาไว้ว่าไม่อนุญาตตามหลักบทบัญญัติในเรื่องการแลกเปลี่ยนสกุลเงินบิทคอยน์ (กับสกุลเงินอื่น) รวมถึงธุรกรรมในเรื่องการซื้อ ขาย เช่า และอื่น ๆในระหว่างบิทคอยน์ และยิ่งไปกว่านั้น ห้ามการมีส่วนร่วมในบิทคอยน์ เช่น โบรกเกอร์ที่เปิดรับการแลกเปลี่ยนจากช่องทางเฉพาะ และบิทคอยน์นั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นอันตราย ซึ่งเกิดขึ้นมาจากความคลุมเครือ การไม่รู้ การหลอกลวงในการแลกเปลี่ยน กฏเกณฑ์ และมูลค่าของบิทคอยน์” 

 

     2. คำฟัตวาของ ริอาซะห์ อัชชุอูน อัดดีนี่ยะห์ ประเทศตุรกี (رِئَاسَةُ الشُّئُوْنِ الدِّيْنِيَّة فِي التُّرْكِي)     

         สกุลเงินที่มีการเข้ารหัสนั้น ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของศูนย์กลาง ดังนั้น จะไม่มีการคุ้มครองจากรัฐนั้น ๆ จึงเป็นเหตุให้สามารถที่จะลงทุนในสกุลเงิน และทำการฟอกเงินได้ เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่เหมาะสมที่จะทำธุรกรรมในสกุลเงินดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ สกุลเงินเสมือนจริงบางกลุ่มมีการใช้เพื่อแลกเปลี่ยน หากแต่ว่าสกุลเงินดังกล่าวไม่มีการประทับตราอนุญาตจากสถาบันการเงินกลาง และไม่สามารถหาประโยชน์จากสกุลเงินดังกล่าว โดยไม่มีการคุ้มครองจากรัฐบาล 

 

     3. คำฟัตวาของอัลฮัยอะตุ้ล อามมะห์ ลิชชุอูนิ้ล อิสลามี่ยะห์ วั้ลเอากอฟ รัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (اَلْهَيْئَةُ اْلعَامَّةُ لِلشُّؤُنِ اْلِإسْلَامِيَّةِ وَالْأَوْقَافِ فِي دُبَي)

           บิทคอยน์เป็นเงินสกุลดิจิตอล ไม่มีมาตรฐานทางด้านศาสนาและกฏหมาย ซึ่งเป็นข้อตัดสินในธุรกรรมสกุลเงินต่าง ๆ ที่เป็นกฏหมายทางการของประเทศในการดำเนินการ และถือว่าบิทคอยน์ไม่มีกฏเกณฑ์ทางด้านหลักศาสนาที่จะถือว่าเป็นสินค้าหนึ่งที่สามารรองรับการซื้อขายกับสินค้าอื่นได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่อนุญาตธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบิทคอยน์ หรือ เงินสกุลดิจิตอลอื่น ๆ ซึ่งที่ไม่มีมาตรฐานทางด้านศาสนาและกฏหมาย ด้วยเหตุนี้ ธุรกรรมบิทคอยน์จะส่งผลให้ไม่ปลอดภัยกับผู้ทำธุรกรรม หรือตลาดหลักทรัพย์ และสังคมโดยรวม  และเช่นเดียวกันไม่ว่าเราจะพิจารณาว่าบิทคอยน์เป็น เงิน หรือ สินค้า   ข้อตัดสิน (ต้องห้าม) ก็ยังครอบคลุมในทั้ง 2 สภาพนั้น (เงินหรือสินค้า)

 

     4. คำฟัตวาของดารุ้ลอิฟตาอฺ ประเทศปาเลสไตน์ (دَارُالْإِفْتَاءِ الفَلِسْطِيْنِيَّةِ) 

         องค์กรวินิจฉัยสูงสุดได้ห้ามการทำธุรกรรมด้วยกับสกุลเงินเสมือนจริง บิทคอยน์ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับความคลุมเครืออย่างมาก รวมถึงการพนันเดิมพัน จึงไม่อนุญาตให้มีการซื้อขาย และบิทคอยน์นั้นไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ผลิต ไม่มีการคุ้มครอง และเป็นสกุลเงินที่มีความผันผวนและมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก รวมถึงการโจรกรรมในบัญชีสกุลเงิน และบิทคอยน์นั้นทำให้เกิดกิจกรรมในด้านมืด กลอุบาย การหลอกลวงอย่างมากมาย  

 

คำฟัตวาต่าง สามารถสรุปถึงความเสี่ยงของบิทคอยน์ได้ ดังต่อไปนี้

 

     1. การไม่รู้  (اَلْمَجْهُوْلَةُ) เป้าหมายหลักของการผลิตบิทคอยน์ คือ การไม่ผ่านธนาคารกลาง หรือองค์กรอื่น ในการจัดระบบควบคุมดูแล ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่นิยมของผู้ทำธุรกิจในสิ่งต้องห้าม ยาเสพย์ติด อาวุธ และการค้าอวัยวะมนุษย์
 

     2. ความคลุมเครือ และความเสี่ยง (اَلْغَرَرُ وَالْمُخَاطِرَةُ) ด้วยสาเหตุที่ราคาของบิทคอยน์มีความผันผวนอย่างรุนแรง เพราะหลายสาเหตุของการเข้ารหัสที่ซับซ้อน จึงนำพาให้เกิดการขาดทุนที่มากมายเช่นเดียวกัน

 

     3. การพนัน เดิมพัน (اَلْقِمَارُ) ผู้ค้นหาบิทคอยน์ทำการแข่งขันกับคนอื่นทั้งหมด ด้วยการแก้สมการคณิตศาสตร์ (การขุดบิทคอยน์) ดังนั้น จำนวนที่สามารถหาได้ ก็จะเป็นของผู้ที่แก้สมการคณิตศาสตร์สำเร็จ จึงทำให้ผู้อื่นได้เสียแรง เสียความพยายามไปอย่างไร้ประโยชน์ พร้อมกับขาดทุนในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆในการค้นหาบิทคอยน์ (มีได้มีเสีย)
 

 

     4. การเกิดขึ้นของบิทคอยน์อยู่บนพื้นฐานของการไม่น่าเชื่อถือ เพราะพื้นฐานแห่งความน่าเชื่อถือ คือ พื้นฐานของการแพร่หลายของสกุลเงินที่ทำมาจากแร่ธาตุ (ทอง เงิน และอื่นๆ ) หรือธนบัตร ความเชื่อถือนั้นได้รับการสนับสนุนมาจากในมูลค่าสกุลเงินในตัวของมันเอง เช่น ทอง เงิน หรือการอ้างอิงไปยังทองและเงิน (การผลิตเงินธนบัตรอ้างอิงมาจากทอง) ในเศรษฐกิจของรัฐที่เป็นผู้ผลิต และทำการหนุนหลังสกุลเงินต่างๆนั้น สำหรับบิทคอยน์ ไม่มีการคุ้มครอง และไม่มีอำนาจใดที่จะจัดระบบในการผลิตและคุ้มครอง จึงไม่มีการคุ้มครองและดูแล และบิทคอยน์ไม่มีลักษณะทางกายภาพ
 

 

     5. บิทคอยน์ไม่ครบเงื่อนไขของการเป็นเงินตามหลักบทบัญญัติ ดังต่อไปนี้

     ♣ เงินตามบทบัญญัติถูกตั้งเงื่อนไขว่า เงินจะต้องเป็นตัววัดมูลค่าของสินค้า การบริการ ด้วยโครงสร้างทั่วไป ดังนั้น สาเหตุของการมีค่า จึงเป็นเงื่อนไขของสกุลเงิน สำหรับบิทคอยน์ ปราศจากการแลกเปลี่ยนกับสินค้า และการบริการ และไม่ใช่เป็นตัววัดมูลค่าสินค้าและการบริการในลักษณะทั่วไปของบิทคอยน์ ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่ขององค์กรการเงินต่าง ไม่ยอมรับในบิทคอยน์ว่าเป็นสกุลเงิน 
 

     ♣ เงินตามบทบัญญัติถูกตั้งเงื่อนไขว่า การผลิตเงินมาจากอำนาจที่เป็นที่รู้กัน (รัฐบาลหรืองค์กร) ดังนั้น การผลิตเงินเกิดขึ้นมาจากอำนาจรัฐ สำหรับบิทคอยน์ ไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาจากอำนาจใดๆ หากแต่ว่า ผลิตมาจากบุคคลต่าง ที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร
 

     ♣ เงินตามบทบัญญัติถูกตั้งเงื่อนไขว่า ต้องเป็นที่นิยมแพร่หลายสำหรับประชาชน สำหรับบิทคอยน์ คือ สกุลเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่มีตัวตน ไม่แพร่หลายสำหรับประชาชน บิทคอยน์มีลักษณะเฉพาะให้กลับบางกลุ่มที่ทำการแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ และเก็บเอาไว้เพื่อมูลค่าของมัน และบิทคอยน์เป็นสิ่งที่ถูกห้ามตามกฎหมายในหลาย ประเทศ เช่นเดียวกันกับปาเลสไตน์  

 

ทัศนะที่สอง บิทคอยน์เป็นสิ่งที่อนุญาต

 

     กลุ่มทัศนะที่กล่าวว่าบิทคอยน์เป็นสิ่งที่อนุญาตนี้ ได้อ้างหลักฐาน 3 ประการ ดังต่อไปนี้

     1. พื้นฐานเดิมในสิ่งต่าง (บิทคอยน์) เป็นสิ่งที่อนุญาต (ไม่ได้มีข้อห้ามระบุ)
 

     2. บิทคอยน์ คือ ทรัพย์สิน ที่มีมูลค่าตามหลักบทบัญญัติ ด้วยกับการตัดสินว่าบิทคอยน์จะเกี่ยวข้องไปยังสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจริง และกำหนดสิทธิให้บิทคอยน์เทียบกับสิ่งอื่น เช่น สกุลเงิน สินค้า และการบริการ
 

     3. บิทคอยน์ มีหน้าที่เป็นเงิน หรือสกุลเงินในภาพรวม ทั้ง ที่ ไม่ได้เกิดมาจากรัฐบาล และไม่มีระเบียบใดทางด้านเศรษฐกิจ และหลักศาสนาในเรื่องเงิน ที่จะห้ามในเรื่องดังกล่าว 

 

     ทัศนะและหลักฐานดังกล่าวได้ถูกตอบโต้ ดังต่อไปนี้ 

     1. คำกล่าวอ้างดังกล่าวถูกต้อง ยังไม่มีข้อห้ามตามหลักบทบัญญัติในเรื่องบิทคอยน์ (เพราะในอดีตไม่เคยมีเรื่องบิทคอยน์มาก่อน) และเมื่อเรื่องบิทคอยน์เกิดขึ้น ความคลุมเครือและการไม่รู้ในผู้ผลิตก็เกิดขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ธุรกรรมในบิทคอยน์นั้นเป็นสิ่งต้องห้าม


 
     2. ถ้าหากเรายอมรับมูลค่าตามที่เปิดเผยอยู่นั้น เราจะไม่สามารถยอมรับสิ่งนั้นในความเป็นจริงได้ เพราะผู้คนผู้ซึ่งทำธุรกรรมบิทคอยน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คลุมเครือให้กับพวกเขา และพวกเขาไม่ได้ตระหนักถึงความเสี่ยง ไม่รู้ว่าใครผลิตบิทคอยน์ และความสามารถควบคุมการผลิตเงินสกุลนี้


 
     3. บิทคอยน์อาจทำหน้าที่ได้เหมือนเงิน หรือสกุลเงิน หากแต่ว่า ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ผลิต ทำให้ละเมิดต่อบทบาทของธนาคารกลางของรัฐ ดังนั้น จึงทำให้ธุรกรรมบิทคอยน์ จึงเป็นสิ่งต้องห้าม

 

 

คำตัดสิน .ดร.อาลี มะห์ยุดดีน อัล-กอเราะห์ ดาฆี (أ.د. علي محى الدين القرة داغي)

 

 

          ศ.ดร.อาลี มะห์ยุดดีน อัล-กอเราะห์ ดาฆี นักวิชาการการเงินอิสลามระดับโลก เลขาธิการสหพันธ์นักวิชาการมุสลิมนานาชาติ (The International Union of Muslim Scholars)  มีความคิดเห็น และสามารถพอจะสรุปใจความได้ว่า 

     ♦ บิทคอยน์ เป็นสิ่งต้องห้าม ไม่อนุญาตให้ซื้อ-ขาย และการเปลี่ยนมือ 
 

     ♦ บิทคอยน์ ปัจจุบันยังไม่ถือว่าเป็นสกุลเงินที่แท้จริง ไม่อนุญาตให้มีการเก็งกำไร เพราะเงื่อนไขของการเป็นสกุลเงิน คือ การยอมรับของประชาชนทั้งหมด เป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ เป็นสื่อในการใช้แลกเปลี่ยน สามารถเก็บเอาไว้เพื่อเป็นมูลค่า และจะต้องเป็นสิ่งที่มีความมั่นคง
 

     ♦ บิทคอยน์ เป็นสิ่งต้องห้าม แต่เป็นสิ่งต้องห้ามเพราะการเป็นสื่อไม่ใช่ที่เจตนารมย์หรือตัวของบิทคอยน์  กล่าวคือ การเป็นสื่อ คือ เป็นสื่อที่จะนำพาไปยังสิ่งที่ฮารอม ดังนั้น บิทคอยน์จะเป็นสิ่งที่อนุญาต ถ้าหากไม่มีการนำพาไปยังเป้าหมายที่ต้องห้าม (ฮารอม) ซึ่งบิทคอยน์ไม่ใช่ฮารอมที่เจตนารมย์หรือตัวของบิทคอยน์ เช่นเดียวกันกับ ริบา หรือสุรา เป็นต้น
 

     ♦ ถ้าหากการสร้างบิทคอยน์มา เพื่อเป็นสกุลเงินรองของรัฐบาล เสมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศจีน และบราซิล ทั้ง 2 ประเทศได้ออกเงินสกุลดิจิตอลที่ถูกคุ้มครองโดยรัฐ ถ้าหากเป็นลักษณะเช่นนี้ ก็สามารถที่จะทำธุรกรรมในเงินสกุลดิจิตอล ดังกล่าวได้

 

ข้อสรุปคำตัดสิน

 

           คำตัดสินขององค์กรศาสนานานาชาติในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า บิทคอยน์ เป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการของอิสลาม แต่ก็ยังมีบางองค์กรในบางประเทศที่ถือว่า บิทคอยน์เป็นสิ่งที่อนุญาต ซึ่งก็ต้องพิจารณาการอ้างหลักฐานของแต่ละองค์กรนั้น

 

           ข้อสุดท้ายในคำฟัตวาของ ศ.ดร.อาลี มะห์ยุดดีน อัล-กอเราะห์ ดาฆี เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และควรพิจารณา คือ ถ้าหากรัฐเป็นผู้ผลิตและให้การรับรองในสกุลเงินดิจิตัลนั้น ก็จะอนุญาตให้ทำธุรกรรมกับสกุลเงินดิจิทัลนั้น ๆ ได้ ซึ่งมีนักวิชาการท่านอื่นก็เห็นว่าหลักฐานในข้อนี้เป็นหลักฐานที่แข็งแรงและเป็นปัจจัยใหญ่ที่ทำให้บิทคอยน์เป็นสิ่งต้องห้าม

 

          ดร.ฆอซซาน มูฮัมหมัด เชค ท่านกล่าวเอาไว้ในการประชุมสัมนานานาชาติ ครั้งที่ 15 มหาวิทยลัยช้ารอะห์  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในหัวข้อเงินเสมือนจริงในหลักบัญชีท่านเห็นด้วยในเรื่องบิทคอยน์เป็นสิ่งต้องห้าม แต่ไม่เห็นด้วยกับการอ้างหลักฐานต่าง ๆ  ของทัศนะที่กล่าวว่าบิทคอยน์เป็นสิ่งต้องห้าม โดยท่านมีความเห็นว่าหลักฐานที่บรรดาองค์กรต่าง ๆ อ้างนั้น เป็นหลักฐานที่มีสถานะที่อ่อน ไม่ถูกต้อง และสามารถถูกตอบโต้ได้ ยกเว้น หลักฐานเดียวที่อ้างว่า บิทคอยน์ไม่ได้รับการับรองและการคุ้มครองจากรัฐ ท่านได้กล่าวไว้ว่าการทำธุรกรรมด้วยบิทคอยน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประเทศนั้น ๆ หรือธนาคารกลาง ซึ่งมีอำนาจประกาศระเบียบนโยบายทางการเงินในรัฐสมัยใหม่ จะถือว่าบิทคอยน์ละเมิดระเบียบของรัฐบาล และละเมิดเจตนาประชาชาติซึ่งผู้พิพากษาได้ตัดสินว่าเป็นสิ่งที่น่าตำหนิในการพิจารณาทั่วไปซึ่งหลักฐานดังกล่าวนี้ ถือว่าแข็งแรง และเป็นปัจจัยสำคัญที่บิทคอยน์เป็นสิ่งต้องห้าม

 

          ด้วยเหตุนี้เอง เงินสกุลดิจิทัลในปัจจุบันมีมากมาย ไม่ได้มีเพียงแค่บิทคอยน์ ซึ่งอาจมีบางสกุลเงินดิจิตอลมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกับบิทคอยน์ ดังนั้น ข้อตัดสินตามหลักการศาสนาในเรื่องสกุลเงินดิจิทัลในคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) จำเป็นจะต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อค้นหาข้อตัดสินตามแต่ลักษณะเฉพาะของสกุลเงินดิจิทัลนั้น ๆ

 



 

(เนื้อหาบางส่วนนำมาจากหนังสือหุ้น ตราสารการเงินตามหลักอิสลาม (ดร.สมีธ อีซอ)”

 

 

 

 

 


 

 

อ้างอิง

  •  บิทคอยน์ (Bitcoin) สกุลเงินเหมือนจริงแห่งอนาคต, เอกสารทางวิชาการ Academic Focus, (กรุงเทพ: สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2561)
  •  . بيان منتدى الاقتصاد الإسلامي بشأن مشروعية البيتكوين الرقم (2018/1) بتاريخ (2018/1/11), ص 20-21.

 

  •  فتوى الهيئة العامة للشؤن الإسلامية والأوقاف في دبي

https://www.awqaf.gov.ae/ar/Pages/FatwaDetail.aspx?did=89043

http://www.darifta.ps/majles2014/showfile/show.php?id=289

  •  أ.د.علي محي الدين القرة داغي, الأمين العام للاتحاد العالمي لعلماء المسلمين ونائب رئيس المجلس الاوربي للافتاء والوبحوث , فتوى حول: الحكم الشرعي للعملات الرقمية الإلكترونية
  •  حرَّم الأمين العام للاتحاد العالمي لعلماء المسلمين د. علي القرة داغي ,التداول والمضاربة بالعملة الرقمية      المشفرة مثل البتكوين وعن سبب التحريم
  1. https://bit.ly/3dkSkFl
  •  كتاب وقائع المؤتمر الدولي الخامس عشر لكلية الشريعة والدراسات الإسلامية بجامعةالشارقة،,الإمارات العربية المتحدة ,بعنوان: العملات الافتراضية في الميزان ,غسان محمد الشيخ ,التأصيل الفقهي للعملات الرقمية – البتكوين ,المبحث الرابع حقيقة البتكوين والعمالت اإللكرتونية وحكمها الشرعي.,16-17 ابريل 2019 ,ص 36-41.