เตรียมใจให้เราะมะฎอน
  จำนวนคนเข้าชม  3201


เตรียมใจให้เราะมะฎอน

 

อับดุลวาเฮด สุคนธา แปลเรียบเรียง

 

         เราะมะฎอน คือ เดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะทั้งชายและหญิงถือศีลอดทั้งเดือน ซึ่งเป็นข้อบังคับทางศาสนาที่ถูกกำหนดเอาไว้ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนบวช นั้นเอง

 

           เราะมะฎอน เป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง เนื่องจากชาวมุสลิมจะต้องปฏิบัติเพราะเป็นศาสนบัญญัติ ด้วยการงดอาหารทุกชนิด รวมถึงน้ำดื่ม ในช่วงเวลา พระอาทิตย์ขึ้นไปจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน รวมทั้ง ให้อดทน หยุดทำความชั่ว และออกห่างจากสิ่งหรือคนที่จะชักนำเราไปสู่การฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าไม่ว่าจะโดย มือ(ทำร้ายหรือขโมย) เท้า (เดินไปสู่สถานที่ต้องห้าม) ตา (ดูสิ่งลามก) หู (เช่นการฟังสิ่งไร้สาระ ,ฟังเรื่องชาวบ้านนินทากัน) ปาก (การนินทาว่าร้ายคนอื่น โกหก )

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพรักทุกท่าน ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เราท่านทั้งหลาย ตลอดจนประชาชาติมุสลิมในทั่วทุกมุมโลก จะได้มีโอกาสต้อนรับอาคันตุกะผู้มีเกียรติผู้หนึ่ง ผู้ซึ่งจะมาเยือน ซึ่งท่านผู้นี้จะแวะมาเยือนเราหนึ่งครั้งในรอบหนึ่งปี เป็นระยะเวลา 29-30 วัน เป็นผู้ที่จะนำมาซึ่งคุณความดีมาสู่พวกเรา อาคันตุกะท่านนี้ มีนามว่า เศามุร่อมาฎอน หรือ การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน เดือนอันประเสริฐ เป็นฤดูกาลที่พระองค์อัลลอฮฺทรงใช้ให้บ่าวของพระองค์ ถือศีลอดในเดือนนี้ ดังที่อัลลอตรัสไว้ในซูเราะห์ อัลบะเกาะเราะห์ อายะห์ที่ 183

 

((يَا أَيّهَا الذِيْنَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذَيْنَ مِنْ قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُوْنَ))

 

     “ โอ้บรรดาผู้ศรัทธาแล้วทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่สูเจ้าทั้งหลาย เช่นเดียวกับที่ได้ถูกบัญญัติแก่ประชาชาติก่อนสูเจ้า เพื่อว่าสูเจ้าจะได้รับความตักวายำเกรง

 

อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า เราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 

أتَاكُمْ رَمَضَانَ، شَهْرٌ مُبَارَكٌ، فَرَضَ اللهُ عَزَّ وَجَلَّ عَلَيْكُمْ صِيَامَهُ

 

     "เดือนเราะมะฏอนได้มาถึงพวกท่าน ซึ่งเป็นเดือนอันดีงามที่อัลลอฮ์ ได้บัญญัติให้พวกท่านถือศีลอด

( บันทึกโดย อะหมัด)

 

          เดือนเราะมะฎอนกำลังใกล้เข้ามาในอีกไม่กี่วันข้างหน้าแล้ว คุณเตรียมตัวต้อนรับเดือนอันประเสริฐนี้แล้วหรือยัง วันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสู่เดือนเราะมะฎอน

 

การเตรียมใจสู่เดือนเราะมะฎอน

 

1. แสดงความยินดีกับการมาถึงของเราะมะฎอน

 

         อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า เราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 

أتَاكُمْ رَمَضَانَ، شَهْرٌ مُبَارَكٌ، فَرَضَ اللهُ عَزَّ وَجَلَّ عَلَيْكُمْ صِيَامَهُ، تُفْتَحُ فِيْهِ أَبْوَابُ السَّمَاءِ، وَتُغْلَقُ فِيْهِ أَبْوَابُ الْجَحِيْمِ، وَتُغَلُّ فِيْهِ مَرَدَةُ الشَّيَاطِيْنِ، للهِ فِيْهِ لِيْلَةٌ هِيَ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ، مَنْ حُرِمَ خَيْرَهَا فَقَدْ حُرِمَ

 

     “เราะมะฎอนได้มาเยือนพวกเจ้าแล้ว เดือนแห่งความประเสริฐ อัลลอฮฺทรงบัญชาให้พวกเจ้าถือศิยามในเดือนนี้ เดือนที่บรรดาประตูสวรรค์ถูกเปิดอ้า และประตูนรกถูกลงกลอน เดือนที่บรรดามารร้ายชัยฏอนที่ดื้อดีงจะถูกล่ามโซ่

     สำหรับอัลลอฮฺในเดือนนี้ มีอยู่คืนหนึ่งที่ ประเสริฐกว่า หนึ่งพันเดือน ผู้ใดที่ถูกห้ามจากความดีของมัน(หมายถึงไม่ได้รับประโยชน์จากเราะมะฎอน) แท้จริงเขาก็จะ (เป็นผู้ที่) ถูกห้าม” 

(บันทึกโดย อะหมัด)

 

     อิบนุเราะญับกล่าวว่าอุละมาอ์บางท่านระบุว่า หะดีษนี้เป็นพื้นฐานหลักของการแสดงความยินดี ต่อการมาเยือนของเราะมะฎอน

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

 

«قُلْ بِفَضْلِ ٱللهِ وَبِرَحْمَتِهِ فَبِذَلِكَ فَلْيَفْرَحُواْ هُوَ خَيْرٌ مّمَّا يَجْمَعُونَ»

 

     “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า (เหล่านั้นเป็นเพราะ) ด้วยความกรุณาของอัลลอฮฺ และความเมตตาของพระองค์ ดังนั้น ด้วยการดังกล่าว พวกเขาจงแสดงความดีใจ สิ่งนั้น(ความกรุณาและเมตตาของพระองค์นั้น)ย่อมดียิ่งกว่าสิ่ง (บรรดาทรัพย์สินบนโลกนี้) ที่พวกกำลังเขาสะสมอยู่

(ยูนุส 58)

 

2. ขอบคุณต่ออัลลอฮฺที่มอบโอกาสกับชีวิตในเราะมะฎอน

 

           การต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์อัลลอฮฺทรงโปรดประทานชีวิตและสุขภาพจนมีโอกาสเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนและทำอิบาดะฮฺอีกปีหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเกียรติอันล้ำค่าที่บ่าวของอัลลอฮฺได้รับโอกาสถวายความดีในเดือนอันประเสริฐนี้

 

     อิมามนะวะวียฺกล่าวว่า พึงทราบว่า เป็นสิ่งที่ชอบให้กระทำสำหรับทุกคน เมื่อได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ให้สุญูดเพื่อขอบคุณพระองค์ หรือสรรเสริญต่อพระองค์

 

          การที่เราได้รับโอกาสถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนอีกปี ถือเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ที่ควรกล่าวคำขอบคุณต่ออัลลอฮฺด้วยการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมกับโอกาสที่ได้รับ มันคือโอกาสเพิ่มพูนความดีของผู้ศรัทธาและเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่ทำความผิดจะได้กลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์

 

          ความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับบรรดามุสลิม ก็คืออัลอิสลาม การที่อัลลอฮฺประทานอิสลามมาให้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของเรา ถือว่าเป็นความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นความดีงามที่อัลลอฮฺให้แก่เรามีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะต่างๆในร่างกาย หู ตา จมูก มือ เท้า ลมหายใจ สุขภาพที่ดี ความรู้ ลูกหลาน สมบัติ หน้าที่การงาน ผู้ที่ขอบคุณต่ออัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่ศรัทธาต่อพระองค์เท่านั้น การกล่าวสรรเสริญด้วยลิ้น ปฏิบัติด้วยร่างกาย เช่น การละหมาด ถือศิลอด

 

ดุอา ขอให้เป็นบ่าวที่ชุโกร ขอบคุณต่ออัลลอฮฺ...

 

رَبِّ أَوْزِعْنِي أَنْ أَشْكُرَ نِعْمَتَكَ الَّتِي أَنْعَمْتَ عَلَيَّ وَعَلَىٰ وَالِدَيَّ وَأَنْ أَعْمَلَ صَالِحًا تَرْضَاهُ وَأَدْخِلْنِي بِرَحْمَتِكَ فِي عِبَادِكَ الصَّالِحِينَ

 

     “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดประทานแก่ข้าพระองค์ เพื่อให้ข้าพระองค์ขอบคุณต่อความโปรดปรานของพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงโปรดปรานแก่ข้าพระองค์ และบิดามารดาของข้าพระองค์ และให้ข้าพระองค์กระทำความดีเพื่อให้พระองค์ทรงพอพระทัยมัน และทรงให้ข้าพระองค์เข้าอยู่ในความเมตตาของพระองค์ ในหมู่ปวงบ่าวของพระองค์ที่ดีทั้งหลาย

 

3. ตั้งเจตนาที่ดี และวางแผนทำความดี

 

          ทุกๆกิจการขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์จำเป็นสำหรับมนุษย์ที่จะต้องมีเจตนาอันบริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮ ในทุกๆการทำอิบาดะฮฺของเขา เเละจะต้องไม่มีเจตนาเพื่อสิ่งอื่นใดนอกจากหวังในพระพักตร์แห่งอัลลอฮฺ เเละโลกอาคิเราะฮฺ ดังกล่าวนี้คือสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺ ได้ทรงมีบัญชาใช้ในดำรัสของพระองค์ที่ว่า :

 

وَمَآ أُمِرُوٓا۟ إِلَّا لِيَعْبُدُوا۟ ٱللَّهَ مُخْلِصِينَ لَهُ ٱلدِّينَ

 

     “และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใดนอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์

 (อัล-บัยยินะฮฺ : 5)

 

          รายงานจาก อุมัร บิน อัลค็อตฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอะนฮุ ท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ยินท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

 

إنَّمَا الأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ، وَإِنَّمَا لِكُلِّ امْرِئٍ مَا نَوَى،

 

     “แท้จริงทุกๆการงานจะขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา และแท้จริงทุกๆคนจะได้รับ (การตอบแทน) ตามที่เขาได้เจตนา

( บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ มุสลิม)

 

     อิหม่ามอันนะวะวี ได้กล่าวว่า ที่บ่งชี้ว่าการตั้งเจตนานั้น ที่ของมันคือหัวใจ และแท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้ดียิ่งถึงเจตนาของบ่าว ซึ่งบางทีเขาอาจจะปฏิบัติการงานอย่างเปิดเผยต่อหน้าผู้คนว่ามันเป็นการงานที่ดี แต่มันกลับเป็นการงานที่เสียหาย ซึ่งเจตนานี่แหละได้ทำให้มันเสียหาย เพราะว่าอัลลอฮฺทรงรอบรู้ถึงสิ่งที่อยู่ในหัวใจ

 

     ท่านอิม่ามอะหมัด ได้สั่งเสียลูกตัวเองว่า โอ้ลุกเอ๋ย เจ้าจงตั้งเจตนาที่จะทำความดี และเจ้ายังคงได้รับความดีในสิ่งที่เจ้าตั้งเจตนาเอาไว้

 

          แล้ววันนี้เราต้องถามตัวเองว่า เราะมะฎอนปีนี้ เราจะทำความดีอะไรบ้าง

 

ตั้งใจว่าจะอ่านกรุอ่านหนึ่งจบ

ตั้งใจว่าจะไปละหมาดตะรอเวียะห์ที่มัสยิด

ตั้งใจว่าจะเลี้ยงอาหารละศิลอด

ตั้งใจว่าจะบริจาค

 

          แต่สิ่งที่เรามักจะเห็นในสังคมปัจจุบัน เมื่อเข้าใกล้เดือนเราะมะฎอน สิ่งที่เราต่างคนต่างตระเตรียมมากที่สุดเรื่องของการกิน และสิ่งที่ตัวเองจะได้ประโยชน์มากที่สุด นั้นคือ การค้าขาย

 

ตั้งใจว่าปีนี้จะขายอะไรได้กำไรดีๆ

ตั้งใจว่าตระเตรียมอาหารที่อร่อยไว้ละศิลอด

ตั้งใจว่าปีนี้จะขายอินทผาลัม หรือจะทำอย่างไรขายดีๆ

 

อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

وَاللَّهُ يُرِيدُ أَن يَتُوبَ عَلَيْكُمْ وَيُرِيدُ الَّذِينَ يَتَّبِعُونَ الشَّهَوَاتِ أَن تَمِيلُوا مَيْلًا عَظِيمًا

 

     “และอัลลอฮฺ ทรงปรารถนาที่จะอภัยโทษให้แก่พวกเจ้าและบรรดาผู้ที่ปิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำนั้นปรารถนาที่จะให้พวกเจ้าเอนเอียงออกไปอย่างมากมาย

( อัลนิสาฮ์ 27)

     ฉะนั้นความยุติธรรม ความโปรดปราน ของอัลลอฮฺที่มีต่อบ่าวของพระองค์นั้นมีมากมายเหลือเกิน

 

          จากท่านอิบนุอับบาสเราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา- จากท่านเราะสูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ท่านเล่าจากดำรัสแห่งพระผู้อภิบาลของท่านตะบาเราะกะ วะตะอาลา- พระองค์ได้ตรัสว่า:

 

«إنَّ اللَّهَ كَتَبَ الْحَسَنَاتِ وَالسَّيِّئَاتِ، ثُمَّ بَيَّنَ ذَلِكَ، فَمَنْ هَمَّ بِحَسَنَةٍ فَلَمْ يَعْمَلْهَا كَتَبَهَا اللَّهُ عِنْدَهُ حَسَنَةً كَامِلَةً، وَإِنْ هَمَّ بِهَا فَعَمِلَهَا كَتَبَهَا اللَّهُ عِنْدَهُ عَشْرَ حَسَنَاتٍ إلَى سَبْعِمِائَةِ ضِعْفٍ إلَى أَضْعَافٍ كَثِيرَةٍ، وَإِنْ هَمَّ بِسَيِّئَةٍ فَلَمْ يَعْمَلْهَا كَتَبَهَا اللَّهُ عِنْدَهُ حَسَنَةً كَامِلَةً، وَإِنْ هَمَّ بِهَا فَعَمِلَهَا كَتَبَهَا اللَّهُ سَيِّئَةً وَاحِدَةً».

 

     “แท้จริงอัลลอฮฺได้บันทึกความดีและความชั่วทั้งหลาย แล้วพระองค์ก็ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าว ใครก็ตามที่ปรารถนาจะทำความดีอย่างหนึ่ง แต่แล้วเขาไม่ได้ทำ อัลลอฮฺจะทรงบันทึก ณ พระองค์ซึ่งหนึ่งความดีอย่างสมบูรณ์ 

     และถ้าหากเขาปรารถนาที่จะทำมัน แล้วเขาก็ได้ทำ อัลลอฮฺจะทรงบันทึก ณ พระองค์ซึ่งสิบความดี และพระองค์จะทรงเพิ่งพูนอีกถึงเจ็ดร้อยเท่าจนถึงหลายๆ เท่าอย่างมากมาย 

     และถ้าหากเขาปรารถนาที่จะทำความชั่วอย่างหนึ่ง แต่แล้วเขาไม่ได้ทำ อัลลอฮฺจะทรงบันทึก ณ พระองค์ซึ่งหนึ่งความดีอย่างสมบูรณ์ และถ้าหากเขาปรารถนาที่จะทำมัน แล้วเขาก็ได้ทำ พระองค์จะทรงบันทึก ณ พระองค์ซึ่งหนึ่งความผิดเท่านั้น"

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม)

 

4. การกลับเนื้อกลับตัว

 

          การต้อนรับเดือนเราะมะฎอนด้วยความตั้งใจที่จะออกห่างและละทิ้งความผิดทุกอย่าง พร้อมทั้งมีจิตใจที่บริสุทธิ์ เพราะบรรดาผู้ศรัทธามีหน้าที่ต้องกลับเนื้อกลับตัวในทุกเวลาอยู่แล้ว เมื่อถึงเดือนเราะมะฎอนก็เป็นโอกาสทองที่เราต้องเตาบะฮฺตัว เพราะถ้าหากไม่สามารถกลับเนื้อกลับตัวในเดือนนี้ แล้วเมื่อไหร่จะกลับเนื้อกลับตัว อัลลอฮฺ ตรัสไว้ว่า

 

﴿وَتُوبُوا إِلَى اللهِ جَمِيعاً أَيُّهَا الْمُؤْمِنُونَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ﴾

 

     “และพวกเจ้าทั้งหลายจงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺเถิด โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เพื่อพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ

 (อันนูร 31)

     ท่านนบี กล่าวว่า

 

(يَا أَيُّهَا النَّاسُ تُوبُوا إِلَى اللَّهِ فَإِنِّي أَتُوبُ فِي الْيَوْمِ إِلَيْهِ مِائَةَ مَرَّةٍ )

 

     “โอ้มนุษย์ เอ๋ย พวกท่านทั้งหลาย จงกลับเนื้อกลับตัวต่ออัลลอฮฺ แท้จริง ฉันขออภัยโทษต่อพระองค์วันละ หนึ่งร้อยครั้ง

(บันทึกโดยมุสลิม)

 

          เดือนเราะมะฎอนเป็นโอกาสดีจะเปลี่ยนแปลงและเริ่มชีวิตใหม่อันขาวบริสุทธิ์และปราศจากมลทิน หากว่าบาปของคุณยังไม่ถูกลบล้างแน่นอนความดีต่างๆในเดือนเราะมะฎอนจะไม่ได้รับ เพราะว่าบาปนั้นคือตัวจะมาปิดกั้นความดีต่างๆของท่านเอง ในเดือนเราะมะฎอน ฉะนั้นท่านอย่าปิดประตูแห่งความดีด้วยความชั่ว แต่จงเปิดประตูแห่งความดีด้วยการกลับเนื้อกลับตัว

 

         ตัวอย่างเช่น ท่านนบีสุลัยมาน อะลัยฮิสลาม ก่อนจะขออำนาจมากมายจากอัลลอฮฺ ท่านนบีสุลัยมานยังขออภัยโทษจากพระองค์ก่อน ฉะนั้นเราหากจะประสงค์ความดีใดๆก็ตามจงลบล้างบาปเสียก่อน ดังที่อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า

 

قَالَ رَبِّ اغْفِرْ لِي وَهَبْ لِي مُلْكًا لَّا يَنبَغِي لِأَحَدٍ مِّن بَعْدِي إِنَّكَ أَنتَ الْوَهَّابُ

 

     เขากล่าวว่าข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงอภัยให้แก่ข้าพระองค์ด้วย ขอพระองค์ทรงประทานอำนาจอันกว้างขวางแก่ข้าพระองค์ ซึ่งไม่คู่ควรแก่ผู้ใดนอกจากข้าพระองค์ แท้จริงพระองค์เท่านั้นเป็นผู้ทรงประทานให้อย่างมากมาย” 

(ศอด 35)

 

5. จะต้องศึกษาความสำคัญและความประเสริฐของถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม

 

หนึ่ง บรรดาประตูของสวรรค์จะถูกเปิด และบรรดาประตูของนรกจะถูกปิด

     ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

إِذَا جَاءَ رَمَضَانُ فُتِّحَتْ أَبْوَابُ الْجَنَّةِ وَغُلِّقَتْ أَبْوَابُ النَّارِ وَصُفِّدَتْ الشَّيَاطِينُ

 

     “เมื่อเราะมะฎอน มาถึง บรรดาประตูของสวรรค์จะถูกเปิด และบรรดาประตูของนรกจะถูกปิดและชัยฏอนถูกล่าม

(รายงานโดยมุสลิม)

 

สอง การถือศิลอดจะลบล้างความผิด

     ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า

 

مَنْ صَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ

 

     “ใครที่ถือศิลอดด้วยกับความศรัทธาและหวังในผลตอบแทนความผิดของเขาที่ผ่านมานั้นจะถูกลบล้าง

(บันทึกโดย อะหมัด ติรมีซีย์)

     ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า

 

الصَّلَوَاتُ الْخَمْسُ وَالْجُمُعَةُ إِلَى الْجُمُعَةِ وَرَمَضَانُ إِلَى رَمَضَانَ مُكَفِّرَاتٌ مَا بَيْنَهُنَّ إِذَا اجْتَنَبَ الْكَبَائِرَ

 

     “ช่วงเวลาระหว่าง การละหมาดห้าเวลา และระหว่างวันศุกร์หนึ่งไปยังอีกศุกร์หนึ่ง และระหว่างเราะมะฎอน หนึ่งไปยังอีกเราะมะฎอน หนึ่ง จะลบล้างความผิดในช่วงระยะเวลาระหว่างนั้น หากว่าเขาออกห่างจากการทำบาปใหญ่

(โดยมุสลิม)

 

สาม การถือศิลอดเพียงหนึ่งวันทำให้เขานั้นออกห่างจากไฟนรกถึง เจ็ดสิบปี

     ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า

 

مَنْ صَامَ يَوْمًا فِي سَبِيلِ اللهِ بَعَّدَ اللهُ وَجْهَهُ، عَنِ النَّارِ سَبْعِينَ خَرِيفًا

 

     “ใครที่ถือศิลอดหนึ่งวันเพื่ออัลลออฺ ตะอาลา พระองค์ทรงทำให้ใบหน้าของเขานั้นออกห่างจากไฟนรก ถึง เจ็ดสิบปี” 

(บันทึกโดย บุคครีย์และมุสลิม)

     จากหะดีษอัล กุดซีย์ อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า

 

قال اللهُ : كلُّ عملِ ابنِ آدمَ لهُ إلا الصيامَ ، فإنَّه لي وأنا أُجْزي بهِ

 

     “การงานทุกอย่างของมนุษย์นั้นเป็นของเขา นอกจากการถือศีลอด แท้จริงมันเป็นของข้า และข้าจะตอบแทนมันเอง” 

(โดยบุคอรีย์และมุสลิม)

 

สี่ ผลบุญของการละหมาดตะรอวีหฺ

     นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า

 

مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِه

 

     “ผู้ใดที่ลุกขึ้น (ละหมาดหรือประกอบอิบาดะฮฺ) ในค่ำคืนเราะมะฎอน ด้วยเปี่ยมศรัทธาและหวังในความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากความผิด (บาป) ที่ผ่านมา

( บันทึกโดย บุคครีย์และมุสลิม)

     อิมาม อันนะวะวีย์กล่าวว่าคำว่า (ละหมาดในค่ำคืนเราะมะฎอน) ในที่นี้หมายถึงละหมาดตะรอวีหฺ

 

ห้า ผลบุญจากการเลี้ยงอาหารละศีลอด

     นบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

 

«مَنْ فَطَّرَ صَائِمًا كَانَ لَهُ مِثْلُ أَجْرِهِ غَيْرَ أَنَّهُ لاَ يَنْقُصُ مِنْ أَجْرِ الصَّائِمِ شَيْئًا»

 

     “ผู้ใดเลี้ยงอาหารละศิยามแก่ผู้ศิยาม เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับผลบุญของผู้ถือศิยามคนนั้น โดยที่ผลบุญของผู้ถือศิยามคนนั้นไม่ได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด” 

(บันทึกโดย ติรมีซีย์ ท่านอิม่าม อัลบานีย์ หะดิษศอเฮียะฮฺ)

 

6. การวิงวอน(ดุอาอฺ)

 

          บรรดาสะละฟุศศอและฮฺมักจะวิงวอนเป็นเวลาหกเดือน เพื่อจะได้บรรลุถึงเดือนเราะมะฎอน และวิงวอนอีกห้าเดือนหลักจากนั้นเพื่อให้อัลลอฮฺ ตอบรับความดีงามที่ได้กระทำไว้ในเดือนเราะมะฎอน

 

        สมควรมุสลิมทุกคนนั้น จะต้องวิงวอนต่ออัลลอฮฺให้เรานั้นใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอน เพื่อจะปฏิบัติคุณงามความดีต่างๆเพื่อความพอพระทัยจากพระองค์และขอให้พระองค์ทรงตอบรับการงานต่างๆในเดือนนี้

 

 


         เนื่องในโอกาสวาระการมาถึงของเดือนเราะมะฎอน ผมขออวยพรให้พี่น้องมุสลิมทุกคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงในการประกอบคุณงามความดีและถูกตอบรับในเดือนเราะมะฎอน ด้วยเถิด